งานประชุมเชิงวิชาการด้านการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันในระดับภูมิภาคเอเชีย ตะวันออกเฉียงใต้ ครั้งที่ 1 (International Conference Anti-Corruption Innovations in Southeast Asia)

ตอกย้ำความพร้อมไทยจับมือกับประเทศภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ร่วมต่อต้านคอร์รัปชันในเวทีระดับโลก เพื่อสร้างความร่วมมือทางวิชาการด้านการแก้ไขปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันระหว่างภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และนำเสนอความก้าวหน้าด้านการต่อต้านคอร์รัปชันของประเทศไทยในเวทีระดับนานาชาติ

KRAC !! ศูนย์ความรู้เพื่อความร่วมมือในการต่อต้านคอร์รัปชัน และส่งเสริมธรรมาภิบาลในระดับภูมิภาคได้จัด “การประชุมเชิงวิชาการด้านการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันในระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (International Conference on Anti – Corruption Innovations in Southeast Asia)” ในวันศุกร์ที่ 16 มิถุนายน 2566 ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จากการสนับสนุนของ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) สำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNODC – United Nations Office on Drugs and Crime) สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (สำนักงาน ป.ป.ช.) คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย Faculty of Law, Chulalongkorn University และ HAND Social Enterprise จํากัด
 
โดยภาคีได้ร่วมกันจัดการประชุมครั้งนี้ขึ้นเพื่อสร้างความร่วมมือด้านการต่อต้านคอร์รัปชัน และแลกเปลี่ยนองค์ความรู้จากผู้เชี่ยวชาญ และผู้ปฏิบัติงานด้านการต่อต้านคอร์รัปชัน จำนวน 12 ท่านจาก สิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย สาธารณรัฐเกาหลี สหรัฐอเมริกา และประเทศไทย ภายในงานมี รศ. ดร.สิทธิเดช พงศ์กิจวรสิน คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ และ ผศ. ดร.ปารีณา ศรีวนิชย์ คณบดีคณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ เป็นผู้กล่าวต้อนรับผู้ร่วมงาน และกล่าวถึงความสำคัญของการที่ศูนย์ความรู้เพื่อความร่วมมือในการต่อต้านคอร์รัปชันฯ หรือ KRAC ได้ผลักดันให้เกิดการจัดงานประชุมเชิงวิชาการในครั้งนี้ เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างเครือข่ายที่สำคัญในทางวิชาการเพื่อการต่อต้านคอร์รัปชันในระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
 
นอกจากนี้ในงานยังได้รับเกียรติจากประธานกรรมการ ป.ป.ช. รักษาการอัครราชทูตที่ปรึกษาสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทยเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐเกาหลีประจำประเทศไทย และรองผู้แทนระดับภูมิภาคของ UNODC ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และแปซิฟิก ซึ่งทุกท่านได้กล่าวเน้นย้ำถึงความสำคัญของการสร้างเครือข่ายความร่วมมือในระดับภูมิภาค อันจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการต่อต้านคอร์รัปชันในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ให้มีประสิทธิภาพเพิ่มยิ่งขึ้น

การประชุมเชิงวิชาการครั้งนี้ มุ่งประเด็นไปที่โครงการริเริ่มสร้างสรรค์หรือนวัตกรรมใหม่ ๆ เพื่อส่งเสริม ธรรมาภิบาลของภาครัฐและองค์กรในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อเร่งแก้ปัญหาการคอร์รัปชัน และสร้างเวทีทางวิชาการที่เปิดโอกาสให้นักวิจัยที่มีความเชี่ยวชาญด้านการต่อต้านคอร์รัปชัน นักปฏิรูปภาคประชาสังคมและภาคเอกชน รวมถึงผู้กำหนดนโยบายสาธารณะจากหลายประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้มีส่วนร่วมถ่ายทอดและแลกเปลี่ยนแนวคิดและองค์ความรู้เชิงนวัตกรรม ตลอดจนประสบการณ์การปฏิบัติงานจริงในพื้นที่ระหว่างองค์กร และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในระดับภูมิภาคและนานาชาติต่อไป

 

ผู้เข้าร่วมประชุม ประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการ ผู้ออกแบบนโยบาย และผู้ปฏิบัติงานด้านการต่อต้านคอร์รัปชันที่มาจากภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคมจากหลากหลายประเทศ การประชุมแบ่งเป็นการเสวนาและอภิปราย 3 ช่วง แต่ละช่วงจะใช้เวลาในการนำเสนอหัวข้อประมาณ 90 นาที โดยมีหัวข้อสำคัญในการอภิปราย ดังนี้ 

 

วงที่ 1 การใช้ข้อมูลเปิดเพื่อส่งเสริมธรรมาภิบาลและคุณธรรม (Using Open Data to improve Governance and Integrity) โดย

 

  • Sanon Wangsrangboon, Deputy Governor of Bangkok, Open Bangkok Initiative, Thailand.
  • Wana Alamsyah, Indonesia Corruption Watch and Opentender.net.
  • Khairil Yusof, the Programme Consultant of Sinar Project, Malaysia.

 

ประกอบด้วยการเสวนาเรื่อง การเปิดเผยข้อมูล ความท้าทายและโอกาสในการเปิดเผยข้อมูล มาตรฐานการเปิดเผยข้อมูล และโอกาสในการต่อยอด หรือการใช้ประโยชน์จากชุดข้อมูลในการพัฒนาประเทศในด้านต่าง ๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตัวอย่างโครงการที่น่าสนใจ อาทิ Open Bangkok ของกรุงเทพมหานคร ประเทศไทย และองค์กร Corruption Watch ในประเทศอินโดนีเซีย เป็นต้น

 

วงที่ 2 การพัฒนาการกำกับดูแลและส่งเสริมการบริหารการเงินที่โปร่งใสและมีความรับผิดชอบ (Initiatives to Promote Transparent and Accountable Financial Management) โดย

 

  • Vichien Pongsathorn, President of the Anti-Corruption Organization of Thailand (ACT).
  • Thanisara Ruangdej, CEO & Co-founder of Punch Up, WeVis.
  • Shreya Basu, Deputy Director, Country Support, Open Government Partnership (OGP)

 

ประกอบด้วยเรื่องอุปสรรค ความท้าทาย และบทเรียนที่ประสบความสำเร็จในงานเฝ้าระวังการทุจริตคอร์รัปชันในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยงานภาครัฐ แนวทางในการเสริมสร้างกระบวนการตรวจสอบการใช้งบประมาณ และการตรวจสอบความโปร่งใสของโครงการจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยงานภาครัฐ เช่น โครงการ CoST ประเทศไทย โครงการข้อตกลงคุณธรรมในประเทศไทย และผู้เชี่ยวชาญจากสมาคมผู้ตรวจสอบการทุจริต (Association of Certified Fraud Examiners : ACFE)

วงที่ 3 การประเมินและแก้ไขปัจจัยเสี่ยงการคอร์รัปชันในการกระบวนการนิติบัญญัติ (Assessing and Addressing Corruption Risk Factors in Legislation) โดย

 

  • Jungoh Son, Director, Public Funds Recovery Division, Anti-Corruption and Civil right Commission (ACRC) of the Republic of Korea.
  • Sirilaksana Khoman, Vice President of the Foundation for Public Policy and Good Governance (PPGG), Former advisor to the NACC Commissioner.
  • Lidya Suryani Widayati, Head of the Legislative Drafting Centre in Indonesia’s Parliamentary Secretariat, Indonesia.

 

เป็นการเสวนาเกี่ยวกับปัญหาและความท้าทายเรื่องการคอร์รัปชันในการออกกฎหมาย โอกาสในการแก้ไขปัญหาการคอร์รัปชันในการออกกฎหมาย และบทเรียนในการแก้ไขปัญหาการคอร์รัปชันในการออกกฎหมาย อาทิ บทเรียนจากสำนักงานคณะกรรมการสิทธิพลเมืองและการป้องกันปัญหาทุจริตคอร์รัปชัน (The Anti-Corruption and Civil Rights Commission: ACRC) ของเกาหลีใต้ และมูลนิธินโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล ประเทศไทย ผู้สนใจสามารถรับชมการถ่ายทอดสดทางออนไลน์และรับชมย้อนหลังได้ที่ Facebook Live: คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

โดยการประชุมเชิงวิชาการระดับนานาชาติครั้งนี้ เป็นจุดเริ่มต้นสำคัญของ KRAC ที่มุ่งมั่นสู่การเป็นศูนย์ความรู้และความร่วมมือในการต่อต้านคอร์รัปชัน ในระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งจะช่วยยกระดับธรรมาภิบาลและสร้างการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์การคอร์รัปชันไปในทางที่ดีขึ้น
 
อ่าน Press Release ได้ที่ : https://bit.ly/3NQxq3s

You might also like...