ตอกย้ำความพร้อมไทยจับมือกับประเทศภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ร่วมต่อต้านคอร์รัปชันในเวทีระดับโลก [คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ]

ที่มาภาพ : จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ตอกย้ำความพร้อมไทยจับมือกับประเทศภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ร่วมต่อต้านคอร์รัปชันในเวทีระดับโลก
 
เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2566 ณ ห้อง ศ.ดร.อุกฤษ มงคลนาวิน ชั้น 5 คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศูนย์ความรู้เพื่อความร่วมมือในการต่อต้านคอร์รัปชัน และส่งเสริมธรรมาภิบาลในระดับภูมิภาค (KRAC) โดยการสนับสนุนของสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ร่วมกับสำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNOCD) สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) คณะเศรษฐศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ และบริษัท แฮนด์วิสาหกิจเพื่อสังคม จํากัด ได้จัด “การประชุมเชิงวิชาการด้านการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันในระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ครั้งที่ 1 (International Conference on Anti – Corruption Innovations in Southeast Asia)” เพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านการต่อต้านคอร์รัปชัน และแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านนวัตกรรมเทคโนโลยีใหม่ ๆ ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการ ผู้ออกแบบนโยบาย และผู้ปฏิบัติงานด้านการต่อต้านคอร์รัปชัน จำนวน 12 ท่านจากหลากหลายประเทศได้แก่ สิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย สาธารณรัฐเกาหลี สหรัฐอเมริกา และประเทศไทย
 
โดยในงานมี รศ. ดร.สิทธิเดช พงศ์กิจวรสิน คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ และ ผศ. ดร.ปารีณา ศรีวนิชย์ คณบดีคณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ เป็นผู้กล่าวต้อนรับผู้ร่วมงาน และกล่าวถึงความสำคัญของการที่ศูนย์ความรู้เพื่อความร่วมมือในการต่อต้านคอร์รัปชันฯ หรือ KRAC ได้ผลักดันให้เกิดการจัดงานประชุมเชิงวิชาการในครั้งนี้ เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างเครือข่ายที่สำคัญในทางวิชาการเพื่อการต่อต้านคอร์รัปชันในระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นอกจากนี้ในงานยังได้รับเกียรติจากประธานกรรมการ ป.ป.ช. รักษาการอัครราชทูตที่ปรึกษาสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐเกาหลีประจำประเทศไทย และรองผู้แทนระดับภูมิภาคของ UNODC ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และแปซิฟิก ซึ่งทุกท่านได้กล่าวเน้นย้ำถึงความสำคัญของการสร้างเครือข่ายความร่วมมือในระดับภูมิภาค อันจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการต่อต้านคอร์รัปชันในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ให้มีประสิทธิภาพเพิ่มยิ่งขึ้น
 
ภายในงานได้เปิดเวทีให้ผู้เชี่ยวชาญในการต่อต้านคอร์รัปชันทั้ง 12 ท่าน ได้ร่วมเสวนาแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และกลยุทธ์ในการต่อสู้กับปัญหาคอร์รัปชัน ทั้งหมด 3 ช่วง นำโดยทีมวิทยากรผู้มีประสบการณ์ที่มาจากองค์กรจากทั่วภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ The Center to Combat Corruption and Cronyism มาเลเซีย Transparency International อินโดนีเซีย และ Harvard Law School สหรัฐอเมริกา โดยเริ่มจากการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้าน “การเปิดเผยข้อมูล” ภายใต้หัวข้อที่หนึ่ง การใช้ข้อมูลเปิดเพื่อส่งเสริมธรรมาภิบาลและคุณธรรม ซึ่งถือเป็นเครื่องมือสำคัญในการปราบปัญหาทุจริต กับกรณีตัวอย่างโครงการ Open Bangkok กรุงเทพมหานคร Opentender.net จาก Corruption Watch อินโดนีเซีย และ Sinar Project จากมาเลเซีย 
 
ช่วงถัดมาเป็นการเสวนาเรื่อง “ลดโอกาสการคอร์รัปชันในการใช้งบประมาณของโครงการต่าง ๆ” ภายใต้หัวข้อที่สอง โครงการริเริ่มสนับสนุนการพัฒนาการกำกับดูแล และส่งเสริมการบริหารการเงินที่โปร่งใส และมีความรับผิดชอบ ด้วยการสนับสนุนให้เกิดการตรวจสอบ และร่วมเฝ้าระวังจากทุกภาคส่วน เพื่อให้รัฐบาลใช้งบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์ต่อสาธารณะสูงสุดอย่างแท้จริง โดยมีผู้พัฒนาโครงการตัวจริงจากองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) บริษัท Punch Up และ WeVis ประเทศไทย และ Open Government Partnership (OGP) สิงคโปร์ มาร่วมแลกเปลี่ยนความสำเร็จในการเฝ้าระวังการทุจริตในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยงานรัฐ 
 
ช่วงสุดท้ายเป็นการเสวนาเรื่อง “คอร์รัปชันในกระบวนการนิติบัญญัติ” ซึ่งถือเป็นอีกปัญหาคอร์รัปชันที่ต้องเร่งแก้ไข โดยมีผู้เชี่ยวชาญจากหน่วยงานการกู้คืนกองทุนสาธารณะของสำนักการต่อต้านทุจริตคอร์รัปชัน Anti-Corruption & Civil Rights Commission (ACRC) สาธารณรัฐเกาหลี มูลนิธินโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล และสำนักร่างกฎหมายแห่งหน่วยงานผู้เชี่ยวชาญ ประจำสภาผู้แทนราษฎรแห่งสาธารณรัฐอินโดนีเซีย ร่วมแลกเปลี่ยนบทเรียนในการเฝ้าระวังตรวจสอบอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้การออกกฎหมายสร้างประโยชน์ต่อประชาชนอย่างแท้จริง
 
การประชุมเชิงวิชาการระดับนานาชาติครั้งนี้ จึงสะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของศูนย์ความรู้เพื่อความร่วมมือในการต่อต้านคอร์รัปชันฯ หรือ KRAC ในการเป็นศูนย์กลางของความรู้ และความร่วมมือในการแก้ปัญหาคอร์รัปชันในระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตลอดจนจุดประกายความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ของคนในสังคมที่จะมีส่วนช่วยยกระดับธรรมาภิบาล และสร้างการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์การคอร์รัปชันในทางที่ดีขึ้นได้ โดยผู้สนใจสามารถติดตามกิจกรรมและโครงการอื่น ๆ ของศูนย์ฯ ได้ที่ Facebook : KRAC Corruption (www.facebook.com/KRACcorruption)

You might also like...