สรุปความน่าสนใจจากการเสวนาในประเด็นความท้าทายและโอกาสในการยกระดับคะแนน CPI ปัญหาที่ผ่านมาคืออะไร ? เราจะแก้ปัญหาคอร์รัปชันเพื่อยกระดับ CPI ของประเทศไทยได้อย่างไร ?
- เกณฑ์ของภาครัฐซึ่งไม่สัมพันธ์กับคะแนน CPI : ผศ. ดร.เกียรติอนันต์ ยกสถิติจาก “การสำรวจผลการดำเนินงานตามแผนย่อยด้านป้องกันการทุจริตและประพฤติมิชอบ เป้าหมายที่ 1 ประชาชนมีวัฒนธรรมและพฤติกรรมซื่อสัตย์สุจริต” ของไทยที่พบว่า เด็ก เยาวชน และประชาชนมีพฤติกรรม ยึดมั่น ซื่อสัตย์ ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยปีล่าสุดทั้งเยาวชนและประชาชน ได้คะแนนมากกว่าร้อยละ 90 รวมถึง การประเมินคุณธรรมและความโปร่งใส ในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ (Integrity and Transparency Assessment: ITA) ก็ผ่านเกณฑ์ ซึ่งคะแนนเหล่านี้ไม่สัมพันธ์กับคะแนน CPI ที่ไม่เพิ่มขึ้น
- ระบบนิเวศต่อต้านทุจริตของประเทศไทยที่ยังขาดประสิทธิภาพ : ผศ. ดร.เกียรติอนันต์กล่าวถึงระบบนิเวศต่อต้านทุจริตที่มีอยู่ในปัจจุบัน แต่ไม่มีการจัดสรรทุกส่วนอย่างเท่าเทียมกัน บางส่วนทุ่มงบมาก แต่บางส่วนยังไม่เห็นประสิทธิภาพเท่าที่ควร เช่น ด้านการสร้างจริยธรรมความคิด นักข่าวเชิงสืบสวนลดลงโดยปัจจุบันเน้นการดึงคลิปจากที่แหล่งอื่นมาใช้ ในขณะที่เกาหลีใต้มีการคุ้มครองผู้แจ้งเบาะแส โดยมีการพัฒนาแพลตฟอร์มสำหรับแจ้งเบาะแส และสืบสวนนักการเมือง ซึ่งผู้ให้เบาะแสจะได้รับการปกปิดตัวตน และคุ้มครองความปลอดภัยใต้กฎหมาย แต่อย่างไรกระตามสถานการณ์ในปัจจุบันของไทยก็ยังดีขึ้นกว่าเมื่อก่อน เพียงประเทศไทยจึงต้องมองหาแนวทางใหม่ ๆ เพื่อรับมือกับทางตันที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต
- ค่า CPI ไม่ได้สะท้อนถึงสถานการณ์คอร์รัปชันทั้งหมด : โดยปกติแล้วค่า CPI ในแต่ละปีจะมีการเพิ่มขึ้นแค่ 2-3 คะแนนต่อปี ซึ่งสุดท้ายคะแนน CPI จึงอาจเป็นเพียงเกมตัวเลขที่ไม่ได้แก้ปัญหา คอร์รัปชันโดยตรง ไม่ได้สะท้อนสถานการณ์คอร์รัปชันทั้งหมด หากจะใช้ CPI อาจจะใช้ได้แต่ไม่ใช่รายปี แต่ใช้สำหรับประเมินสถานการณ์ระยะช่วงเวลา 5-10 ปีหรือมากกว่านั้น
- ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายโดย ผศ. ดร.เกียรติอนันต์ :
- การทำโครงการต่อต้านคอร์รัปชันต้องมีการติดตาม และประเมินผล ไม่ใช่แค่เพียงทำโครงการแล้วบอกว่าทำไปทั้งหมดกี่โครงการ แต่ไม่ได้ติดตามว่าก่อให้เกิดผลลัพธ์อย่างไร
- ใช้เทคโนโลยีเพื่อการปรามไม่ใช่การปราบ เพราะหากใช้เทคโนโลยีในการปราบต้นทุนจะสูงและคนที่เดือดร้อนจะสู้ยิบตา แต่ถ้านำไปปรามจะได้ผลมากกว่า เช่น บอกข้าราชการว่าเราสามารถตามเส้นทางการเงินโดยใช้เทคโนโลยีได้ ก็จะไม่มีใครกล้าทำ
- การประเมินคุณธรรมและความโปร่งใส ในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ (Integrity and Transparency Assessment: ITA) ควรมีการยกระดับให้มีความใกล้เคียงประเทศเกาหลีใต้มากขึ้น ให้มีความเข้มข้นและจริงจังมากขึ้น
- คอร์รัปชันเป็นปัญหาที่เราต้องแก้ทีละเรื่อง เริ่มจากการแก้ประเด็นที่ง่าย ๆ ก่อน แก้สักเรื่องให้สำเร็จเพื่อให้คนรู้สึกว่าการคอร์รัปชันได้รับการแก้ไข ให้คนมีศรัทธาซึ่งจะทำให้สามารถขับเคลื่อนสังคมในระยะยาวได้มากกว่า
วิทยากรท่านสุดท้าย Professor Matthew C. Stephenson, Professor of Law at Harvard Law School ได้บรรยายเรื่องของข้อจำกัดของ CPI ในการใช้เป็นเกณฑ์การประเมิน KPI (ตัวชี้วัดในการประเมินความสำเร็จ) และข้อแนะนำในการแก้ปัญหาคอร์รัปชัน โดยมีรายละเอียดดังนี้
- เหตุผลที่เราไม่ควรใช้ CPI มาเป็น KPI ในการประเมิน : Professor Matthew ชี้ว่า แม้ CPI จะเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้เห็นภาพรวมสถานการณ์คอร์รัปชัน แต่ CPI ไม่สามารถสะท้อนความเปลี่ยนแปลงแบบปีต่อปีได้ ซึ่งอาจไม่สะท้อนสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในประเทศ เพราะ CPI สะท้อนเพียงภาพลักษณ์แต่ไม่ได้ถูกออกแบบมาเพื่อวัดสถานการณ์จริงที่มีหลากหลายมิติ เช่นในบราซิลที่มีการคดีลงโทษคดีใหญ่ได้สำเร็จ คนส่วนหนึ่งมองว่าการต่อต้านคอร์รัปชันมีความก้าวหน้า แต่บางส่วนมองว่าประเทศมีปัญหาคอร์รัปชันขนาดใหญ่ การตั้ง CPI เป็น KPI จึงทำให้หน่วยงานมุ่งเน้นไปที่ CPI จนไม่ได้สนใจในแง่มุมอื่นร่วมด้วย ทำให้การทำงานไม่มีประสิทธิภาพจากคะแนน CPI ที่ปรากฏ กลายเป็นการทำลายชื่อเสียงของหน่วยงาน แม้จะทำงานอย่างหนักแค่ไหนก็ตาม
- ข้อเสนอแนะ : Professor Matthew มีความเห็นว่า ประเทศไทยควรมีการสร้างคณะกรรมการอิสระในการวัดผล โดยประกอบไปด้วยผู้เชี่ยวชาญทั้งในไทยและต่างประเทศเพื่อจัดทำรายงานเกี่ยวกับประเทศในลักษณะเดียวกับ CPI โดยที่ภาคประชาสังคมเองก็สามารถมีส่วนร่วมผ่านการทำวิจัยและการทำผลสำรวจ เพื่อตรวจสอบการทำงานระหว่างกัน รวมถึงส่งเสริมมาตรฐานเชิงจริยธรรมองค์กร แรงจูงใจให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในระดับพฤติกรรมได้ ซึ่งในท้ายที่สุดแล้ว ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นก็จะสามารถเปลี่ยนแปลงความคิดและวัฒนธรรมของคนในสังคม และเป็นหนทางที่มีประสิทธิภาพมีประสิทธิภาพกว่าการพึ่งพาการสื่อสารไปที่ในระดับปัจเจกบุคคลว่าต้องเปลี่ยนแปลงความคิดตนเองก่อนถึงจะแก้คอร์รัปชันได้
จะเห็นได้ว่าการจัดการประชุมครั้งนี้เต็มไปด้วยหลากหลายมุมมองและคำแนะนำจากผู้ที่มีประสบการณ์ต่อต้านคอร์รัปชันระดับแนวหน้าที่จะช่วยยกระดับ CPI และยกระดับการต่อต้านคอร์รัปชันไทยให้สูงขึ้น โดยหวังว่านี่จะเป็นประโยชน์สำหรับประชาชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการนำไปพัฒนาต่อให้เกิดผลลัพธ์ที่ดีในการต่อต้านคอร์รัปชันในสังคมต่อไป สำหรับผู้ที่สนใจรับชมเนื้อหาและรับทราบข้อมูลเพิ่มเติม สามารถดูไลฟ์ย้อนหลังได้ที่ https://bit.ly/3vQ8EKd
- Anti-Corruption
1 กุมภาพันธ์ 2567