ศูนย์ KRAC ตั้งเป้าสร้าง “ระบบนิเวศน์” ต้านโกงในประเทศไทย [อ้ายคนใจสัตย์ – Integrity Way]

ที่มาภาพ : อ้ายคนใจสัตย์ - Integrity Way

สำนักงานงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) จับมือคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ จัดตั้ง “ศูนย์ความรู้เพื่อความร่วมมือในการต่อต้านคอร์รัปชันและส่งเสริมธรรมาภิบาลในระดับภูมิภาค” (Knowledge hub for Regional Anti-corruption and good governance Collaboration: KRAC) ตั้งเป้าสร้างระบบนิเวศน์ต้านโกงในเมืองไทย โดยบูรณาการความรู้ทางวิชาการไปสู่การปฏิบัติ และการสร้างเครือข่ายความร่วมมือนานาชาติ

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ต่อภัสสร์ ยมนาค ผอ.ศูนย์ความรู้เพื่อความร่วมมือในการต่อต้านคอร์รัปชันและส่งเสริมธรรมาภิบาลในระดับภูมิภาค คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 24 เม.ย. ที่ผ่านมา สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการจัดตั้ง “ศูนย์ความรู้เพื่อความร่วมมือในการต่อต้านคอร์รัปชัน และส่งเสริมธรรมาภิบาลในระดับภูมิภาค” (Knowledge hub for Regional Anti-corruption and good governance Collaboration: KRAC) โดยมีเป้าหมายในการสร้างระบบนิเวศน์การต้านโกงในประเทศไทย ภายใต้ฐานขององค์ความรู้ทางวิชาการสู่การปฏิบัติ และการสร้างเครือข่ายความร่วมมือนานาชาติผ่านโครงการและกิจกรรมต่อต้านคอร์รัปชันของศูนย์ KRAC

เป้าหมายการสร้างระบบนิเวศน์การต้านโกงในประเทศไทย ไม่ได้จำกัดวงแค่ภาครัฐ แต่ต้องรวมถึงภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และประชาชน อย่างไรก็ดีศูนย์ KRAC นับเป็นจุดเริ่มต้นที่จุดประกายความหวังของสังคมไทยและสร้างบุคลากรที่จะเข้ามามีส่วนร่วมการต่อต้านคอร์รัปชันและการส่งเสริมธรรมาภิบาลของสังคมไทย

โครงการที่จะดำเนินงานในปี 2566 ได้แก่ หลักสูตรการต่อต้านคอร์รัปชันและส่งเสริมธรรมาธิบาลออนไลน์ หลักสูตรการต่อต้านคอร์รัปชันเชิงปฏิบัติการสำหรับข้าราชการ ฐานข้อมูลองค์ความรู้ด้านการต่อต้านคอร์รัปชัน และกิจกรรมการส่งเสริมการลงมือต้านโกงกับเครือข่ายระดับนานาชาติ โดยวันที่ 16 มิ.ย. 2566 ศูนย์ KRAC จะจัดการประชุมเชิงวิชาการระดับนานาชาติ ครั้งที่ 1 เพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ งานวิชาการ และนวัตกรรมการต่อต้านคอร์รัปชัน พร้อมขับเคลื่อนงานร่วมกันในระยะยาว

ศูนย์ KRAC มีกลไกการทำงาน 4 ด้าน ได้แก่ 1.ศูนย์กลางความรู้ (Knowledge) ด้านการต่อต้านคอร์รัปชัน 2.ศูนย์กลางเครือข่าย (Network) ที่จะพัฒนาและขยายเครือข่ายการต่อต้านคอร์รัปชันที่เป็นรูปธรรมสู่ระดับนานาชาติ 3.ศูนย์กลางความร่วมมือ (Join) ที่จะพัฒนาระบบสนับสนุนและส่งเสริม
การต่อยอดองค์ความรู้ให้ทางผู้ปฏิบัติงานในระดับพื้นที่ชุมชน และสังคม และ 4.ศูนย์กลางการเรียนรู้ (Learn) ที่จะมุ่งเน้นการพัฒนาศักยภาพการ ต่อต้านคอร์รัปชันด้วยการให้บริการกิจกรรมทางวิชาการและเผยแพร่องค์ความรู้สู่สังคม
และกลไกทั้ง 4 ด้านจะเชื่อมโยงเครือข่าย 3 ระดับความร่วมมือการทำงานต่อต้านคอร์รัปชันในภูมิภาค อาเซียน ได้แก่

  1. เครือข่ายความร่วมมือระหว่างองค์ความรู้ (Knowledge) และการลงมือปฏิบัติจริง (Action)
  2. เครือข่ายความร่วมมือระหว่างผู้เชี่ยวชาญด้านการต่อต้านคอร์รัปชัน (Anti-corruption experts) และประชาชนที่เป็นบุคคลทั่วไป (Ordinary people)
  3. เครือข่ายความร่วมมือในระดับสากล ไม่ว่าจะเป็นทั้งในระดับประเทศภูมิภาคและนานาชาติ

ผอ.ศูนย์ KRAC กล่าวว่า การทุจริตคอร์รัปชันเป็นปัญหาที่มีความซับซ้อนอย่างมาก ในต่างประเทศมีการศึกษาแตกแขนงไปในวงกว้าง ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงเรื่องการตรวจสอบและบทลงโทษ แต่ยังมีเรื่องพฤติกรรมหรือแรงจูงใจในการกระทำความผิด หรือเครื่องมือในการแก้ปัญหาอีกเป็นจำนวนมาก
ซึ่งการจะแก้ปัญหาอย่างมีประสิทธิภาพจำเป็นต้องใช้องค์ความรู้ทางวิชาการเข้ามาสนับสนุนการทำงานของภาคส่วนต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานของรัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และประชาชน

การขับเคลื่อนเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าวต้องอาศัยการเรียนรู้ แนวทาง สร้างความร่วมมือ และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ของประเทศต่าง ๆ เพื่อตรวจสอบและจัดการกับปัญหาการทุจริตให้ได้ เนื่องจากโลกทุกวันนี้เมื่อเกิดการทุจริตในประเทศหนึ่งสามารถเคลื่อนย้ายเงินทุจริตไปในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกได้ จึงต้องมีความร่วมมือเพื่อช่วยกันจัดการคนโกง

ผศ.ดร.ต่อภัสสร์ กล่าวย้ำว่า การแก้ปัญหาคอร์รัปชันอย่างยั่งยืนต้องเน้นไปที่การป้องกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเปิดเผยข้อมูลของภาครัฐ (Open Data) จะเป็นจุดเริ่มต้นในการป้องกันปัญหาการคอร์รัปชันได้ ซึ่งองค์กรตรวจสอบต่าง ๆ ที่จะส่งเสริมในเรื่องการป้องกันจะต้องปรับเปลี่ยนตัวเองด้วยเช่นกัน

นอกจากจะทำงานวิชาการภายใต้คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ แล้ว ผศ.ดร.ต่อภัสสร์ ยังได้ร่วมกับเพื่อนนักวิชาการก่อตั้งกลุ่ม Hand Social Enterprise เพื่อนำงานวิจัยที่เป็นองค์ความรู้ทางวิชาการในเรื่องการแก้ปัญหาคอร์รัปชันมาสู่การปฏิบัติโดยประสานความร่วมมือกับคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (กพร.) องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) หรือ ACT มูลนิธิเพื่อคนไทย รวมทั้งแนวร่วมต่อต้านคอร์รัปชันของภาคเอกชนไทย (Private Sector Collective Action against Corruption: CAC) และกองทุนธรรมาภิบาลไทย

ผลงานของกลุ่ม Hand Social Enterprise ได้แก่ การทำระบบ Open Data ด้วยการจัดทำเครื่องมือต้านโกง หรือ ACT AI ที่รวบรวมข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐย้อนหลัง 5 ปีมารวมอยู่ในเว็บไซต์ให้ประชาชนหรือผู้ที่สนใจเข้ามาติดตามตรวจสอบโครงการต่าง ๆ ปัจจัยคาดการณ์โครงการที่มีความเสี่ยงในการทุจริต พร้อมเชื่อมโยงระบบการร้องเรียนไปยังหน่วยงานตรวจสอบ การทำโครงการนำร่องในการให้คะแนนการบริการของหน่วยงานภาครัฐซึ่งสำนักงาน ก.พ.ร. ได้นำไปดำเนินการต่อ นอกจากนี้ Hand Social Enterprise ยังได้เข้าไปช่วยกองทุนธรรมาภิบาลไทย พิจารณาสนับสนุนงบให้แก่องค์กรที่ทำงานต่อต้านคอร์รัปชัน

You might also like...