รายละเอียดของ 8 ข้อค้นพบจากงานวิจัยเกี่ยวกับการต่อต้านคอร์รัปชันกว่าหนึ่งพันฉบับ ตลอด 20 ปีที่ผ่านมา โดย ผศ. ดร.ธานี ชัยวัฒน์ สรุปประเด็นได้ ดังนี้
- แยกคำว่าทุจริตคอร์รัปชันออกจากกัน : งานวิจัยเกี่ยวกับการต่อต้านคอร์รัปชันส่วนใหญ่มักใช้คำว่า “ทุจริตคอร์รัปชัน” ติดกัน ซึ่งจริง ๆ แล้วสองคำนี้มีความหมายต่างกัน คำว่า “ทุจริต” คือ Dishonesty ซึ่งหมายถึงคนไม่ดีหรือคนโกง แต่คำว่า “คอร์รัปชัน” คือการพูดถึงระบบที่กำลังมีปัญหา การมองทั้งสองคำนี้เป็นคำเดียวกัน ทำให้สังคมไทยเน้นแก้ปัญหาที่ตัวคนมากกว่าการสร้างระบบที่ดี
- หลักสูตรพัฒนาจริยธรรมที่พอดี : พบว่ามีงานวิจัยและการปฏิบัติการที่เกี่ยวกับหลักสูตรและการอบรมที่เกี่ยวกับจริยธรรมจำนวนมาก จนกลายเป็นภาระและความเหนื่อยล้าของข้าราชการส่งผลให้เกิดการไม่อยากทำ (Reactance bias)
- สังคมไทยจำเป็นต้องสร้างแนวคิดการร่วมมือเพื่อแก้ปัญหาคอร์รัปชัน : การศึกษาวิจัยพบว่าเกิน 95 % ของนิทานเกี่ยวกับการต้านโกงมักจบลงด้วยคำสอนของผู้ใหญ่ สะท้อนวิธีคิดของระบบอุปถัมภ์ในสังคม แต่ไม่มีวิธีคิดเรื่องความร่วมมือกันเพื่อแก้ปัญหา
- การให้ความสำคัญกับทักษะในการต่อต้านคอร์รัปชันในทางปฏิบัติที่จะต้องมุ่งเน้นมากกว่าการส่งเสริมเรื่องความรู้พื้นฐานและทัศนคติ : ปัจจุบันพบว่าสังคมไทยมีงานวิจัยเกี่ยวกับทัศนคติต่อการคอร์รัปชันว่าไม่ดีมากพอแล้ว งานวิจัยหลังจากนี้อาจจะต้องเป็นเรื่องของการสร้างทักษะในการต่อต้านคอร์รัปชันในโลกความเป็นจริงมากกว่านี้
- การขาดการอัปเดตในนิยามและกระบวนทัศน์ความรู้เกี่ยวกับคอร์รัปชันที่เป็นปัจจุบัน : เราจะเห็นว่าในต่างประเทศมีการศึกษาคอร์รัปชันเรื่องใหม่ ๆ เช่น State capture / Rent seeking / Conflict of interests ในขณะที่งานวิจัยในอดีตที่ผ่านมาของไทยมีการศึกษานิยามเกี่ยวกับคอร์รัปชันแบบดั้งเดิม
- การมองเรื่องของสังคมคุณธรรม (Moral Society) ธรรมาภิบาล (Good Governance) และการต่อต้านคอร์รัปชัน (Anti-Corruption) แบบแยกส่วนกัน : ทั้งสามเรื่องนี้คือเรื่องเดียวกัน แต่การให้ทุนวิจัยในปัจจุบันพิจารณาแยกทั้งสามเรื่องเป็นส่วน ๆ ทำให้ผู้วิจัยที่รับทุน และสังคมมองไม่เห็นถึงความเชื่อมโยง เช่น มีส่วนร่วมแล้วได้อะไร โปร่งใสเพื่ออะไร
- จุดเน้นของการศึกษาคอร์รัปชันในแต่ละช่วงเวลาศึกษาของไทยที่มีพลวัต แต่ยังขาดความต่อเนื่อง : จากการศึกษางานวิจัยการต่อต้านคอร์รัปชันในประเทศไทยพบว่ามีพลวัตพอสมควร ซึ่งในแต่ละช่วงปีจะมีการเปลี่ยนความสนใจในการศึกษาไปเรื่อย ๆ การปรับตัวเร็วก็ถือเป็นเรื่องดี แต่ควรมีรากฐานการศึกษาที่ต่อเนื่องในการทำความเข้าใจคอร์รัปชันในเรื่องนั้น ๆ
- เส้นทางผลกระทบ (Impact pathway) ของงานวิจัยที่ควรพัฒนาวิธีการศึกษาวิจัยรูปแบบใหม่ : หากเราไปดูกระบวนการกำหนดนโยบายจะพบว่าส่วนใหญ่จะอยู่เพียงกระบวนการระบุปัญหา (Problem Identification) และข้อเสนอเชิงนโยบาย (Policy Formulation) แต่ยังขาดการประยุกต์ใช้นโยบายในปัจจุบัน (Policy Adoption) การระบุผลลัพธ์ของนโยบาย (Policy Implementation) และการประเมินนโยบาย (Policy Evaluation)
——————————————-
วิดีโอนี้เป็นส่วนหนึ่งในงานเสวนาของโครงการศูนย์ความรู้เพื่อความร่วมมือในการต่อต้านคอร์รัปชัน และส่งเสริมธรรมาภิบาลในระดับภูมิภาค (KRAC) ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 5 มกราคม 2567 ภายใต้งานประชุมระดับชาติ ครั้งที่ 2 เพื่อการส่งเสริมศักยภาพและขยายเครือข่ายความร่วมมือด้านการต่อต้านคอร์รัปชันในระดับภูมิภาค หัวข้อย่อยที่ 1 “Unveiling the Dynamics: Anti-Corruption Trends and Intriguing Research in 2024” ณ ห้องเรียนอัจฉริยะ (Smart Classroom) ชั้น 5 คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
โดยการจัดประชุมครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อนำเสนอและหารือแนวโน้มและแนวทางการศึกษาและการวิจัยด้านคอร์รัปชันในระดับสากลในปี พ.ศ. 2567 ซึ่งในงานประชุมจะมี 3 วิทยากร ผู้เชี่ยวชาญและมีประสบการณ์ในการทำงานด้านการต่อต้านคอร์รัปชันมาอย่างยาวนานมาร่วมบรรยาย ได้แก่
- Professor Matthew C. Stephenson, Professor of Law at Harvard Law School
- ผศ. ดร.ธานี ชัยวัฒน์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมและการทดลอง และอาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- คุณสตตกมล เกียรติพานิช ผู้อำนวยการกองบริหารทุนวิจัยและนวัตกรรม 2 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)
ดำเนินรายการโดย ผศ. ดร.ต่อภัสสร์ ยมนาค ผู้อำนวยการศูนย์ความรู้เพื่อความร่วมมือในการต่อต้านคอร์รัปชันและส่งเสริมธรรมาภิบาลในระดับภูมิภาค และอาจารย์ประจำหลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาเศรษฐศาสตร์การเมือง คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- Anti-Corruption
6 มีนาคม 2567