จะหนีคอร์รัปชันให้พ้น ต้องเข้าใจ “คน” และ “พื้นที่”

การทำความเข้าใจคอร์รัปชัน ผ่านมุมมองเรื่องทัศนคติและพฤติกรรมของคนในสังคมที่มีต่อการคอร์รัปชันที่หลากหลายตามช่วงอายุและสภาพแวดล้อม เป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยทำให้เข้าใจถึงการคอร์รัปชันที่เกิดขึ้นในบริบทเชิงพื้นที่ที่แตกต่างกันออกไป และนำไปสู่การออกแบบเครื่องมือ หรือกลไกที่มีความสอดคล้องกับบริบททางสังคมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะช่วยให้สามารถแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันได้อย่างมีประสิทธิภาพ

นอกจากการคอร์รัปชันในประเทศไทยจะมีรูปแบบและลักษณะความสัมพันธ์เชิงระบบที่ซับซ้อน และแตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่แล้ว ประชาชนในแต่ละพื้นที่ ยังมีทัศนคติและพฤติกรรมต่อการคอร์รัปชันที่หลากหลายตามช่วงอายุและสภาพแวดล้อมอีกด้วยเช่นกัน โดยจากตัวอย่างงานวิจัยที่เกี่ยวข้องพบว่า ในแต่ละพื้นที่มีความสนใจต่อปัญหาการคอร์รัปชันที่แตกต่างกันออกไป และมีความเกี่ยวโยงกับลักษณะเศรษฐกิจ สังคมและบริบทในพื้นที่ที่อาศัยอยู่ อาทิ ในพื้นที่ชุมชนของกรุงเทพมหานคร ที่ประชาชนในพื้นที่ให้ความสำคัญในเรื่องของการยักยอกเงินของสมาชิกชุมชนเพื่อนำไปใช้จ่ายส่วนตัว โดยใช้ตำแหน่งหน้าที่จากการเป็นคณะกรรมการชุมชน และอาศัยช่องโหว่จากการขาดการตรวจสอบถ่วงดุลโดยบุคคลอื่น รวมถึงการละเลยไม่ปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการชุมชนในการสร้างความโปร่งใสต่อการจัดสรรงบประมาณ และของบริจาคแก่สมาชิกในชุมชน (อมรรัตน์ กุลสุจริต และคณะ, 2560)

หรือในพื้นที่อำเภอบ่อเกลือ จังหวัดน่าน ที่ประชาชนในพื้นที่มีความตื่นตัวต่อปัญหาการคอร์รัปชันของหน่วยงานรัฐ โดยเฉพาะการดำเนินโครงการด้านการจัดการทรัพยากร ซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องกับชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนทั้งทางตรงและทางอ้อม เนื่องจากพื้นฐานของประชาชนในพื้นที่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมที่ต้องอาศัยทรัพยากรธรรมชาติในการหาเลี้ยงชีพ และมีขนบธรรมเนียมประเพณีที่ผูกพันกับธรรมชาติ จึงมีความรักและหวงแหนทรัพยากรธรรมชาติเป็นทุนเดิม (อภิสิทธิ์ ลัมยศ, 2560)

จากตัวอย่างงานวิจัยที่เกี่ยวข้องในข้างต้น จะเห็นได้ว่า ในการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันนั้นจำเป็นที่จะต้องมีการออกแบบเครื่องมือหรือกลไกที่มีความสอดคล้องกับบริบทของสังคมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จึงจะสามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ และได้รับความร่วมมือจากคนในพื้นที่ รวมถึงการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน และภาคประชาสังคมในการแก้ปัญหาการคอร์รัปชัน จะเป็นปัจจัยแห่งความสำเร็จในการต่อต้านการคอร์รัปชัน เนื่องจากประชาชนในพื้นที่ มีบทบาทสำคัญในการทำหน้าที่ตรวจสอบ ติดตาม และแก้ไขปัญหาการคอร์รัปชันได้มากกว่าบุคคลภายนอก

ซึ่งผลจากการทดลองพัฒนาระบบกลไกเสริมสร้างธรรมาภิบาล และการป้องกันการคอร์รัปชันที่สนับสนุนให้ภาคประชาสังคม สามารถมีส่วนร่วมผ่านระบบการแจ้งเบาะแสที่มีประสิทธิภาพ และมีมาตรการรักษาความปลอดภัยให้กับผู้แจ้งข้อมูลข่าวสาร รวมถึงการนําเทคโนโลยีใหม่ ๆ เช่น สื่อสังคมออนไลน์ (Social Media) มาเป็นช่องทางในการชี้เบาะแส การแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร เพื่อสร้างและสนับสนุนเครือข่ายการต่อต้านคอร์รัปชันให้กว้างขวางมากขึ้น จะทำให้ประชาชนที่มีความตระหนักถึงปัญหาและมีความตื่นตัวในการติดตามตรวจสอบการคอร์รัปชันในพื้นที่ของตนมาร่วมกันทำงานที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันคอร์รัปชัน และส่งผลให้กลไกการต่อต้านคอร์รัปชันที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง สามารถเกิดขึ้นได้จริงและมีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น

เอกสารอ้างอิง
รูปแบบ APA

ต่อภัสสร์ ยมนาค และสุภัจจา อังค์สุวรรณ. (2566). (ต่อต้าน) คอร์รัปชัน 101 ((Anti) Corruption 101). กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

ปีที่แต่ง (พ.ศ.)
มีนาคม 2567
ผู้แต่ง
  • ศูนย์ความรู้เพื่อความร่วมมือในการต่อต้านคอร์รัปชัน และส่งเสริมธรรมาภิบาลในระดับภูมิภาค

หน่วยงานสนับสนุน
05_โลโก้ KRAC
หัวข้อ
Related Content

แล้วอะไรคือคอร์รัปชัน

การศึกษานิยามของคำว่า “คอร์รัปชัน” มีต้นกำเนิดและความหมายที่ถูกอธิบายผ่านองค์ความรู้ในการมองเรื่องของการคอร์รัปชันที่แตกต่างหลายหลาย แต่จุดร่วมที่สำคัญประการหนึ่งของการให้คำนิยามการคอร์รัปชัน คือ…

หันมองสถาบันและการคอร์รัปชันที่เป็นอยู่

แนวคิดเกี่ยวกับ “สถาบัน” เป็นแนวคิดที่สามารถใช้อธิบายถึงปรากฏการณ์คอร์รัปชันที่มีความซับซ้อน
และเกี่ยวข้องกับมิติทั้งในด้านเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม …

รู้จัก CPI เพื่อเข้าใจสถานการณ์คอร์รัปชัน

ในปัจจุบัน ดัชนีภาพลักษณ์การคอร์รัปชัน หรือ Corruption Perceptions Index (CPI) นับว่าเป็นดัชนีที่ได้รับการยอมรับมากที่สุดจากรัฐบาล ภาควิชาการ และนักลงทุนทั่วโลก …

You might also like...

บทความวิจัย : มาตรการทางกฎหมายเกี่ยวกับการป้องกันการทุจริตในการสอบเข้ารับราชการ

แนวทางการดำเนินคดีสำหรับผู้ทุจริตการสอบคัดเลือกเข้ารับราชการ และเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาด้านการพัฒนากฎหมายการทุจริตการสอบคัดเลือกเข้ารับราชการ

บทความวิจัย : ทางออกการป้องกันและการปราบปรามทุจริตในสังคมไทย

แนวทางแก้ไขปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันในสังคมไทยต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนของสังคม รวมทั้งภาคประชาชนในการติดตามและตรวจสอบการทุจริตในภาครัฐ

บทความวิจัย : แนวทางพัฒนาจริยธรรมนักการเมืองไทย

การประเมินจริยธรรมของนักการเมืองโดยภาพรวมอยู่ในระดับต่ำ ดังนั้น จึงควรมีมาตรการพัฒนาจริยธรรม มาตรการกำหนดคุณสมบัติด้านจริยธรรม และมาตรการกำหนดบทลงโทษในกรณีทำความผิด เพื่อยกระดับจริยธรรมในนักการเมืองให้สูงขึ้น