ศึกษาสภาพปัญหาและปัจจัยที่ก่อให้เกิดการทุจริตคอร์รัปชัน ตลอดจนรูปแบบและช่องทางการแก้ไขปัญหาในการดำเนินกิจกรรมในชุมชน โดยมีชุมชนเป็นหัวใจในการขับเคลื่อน
การศึกษานี้ให้ความสำคัญกับชุมชน ซึ่งเป็นหัวใจในการขับเคลื่อน เพื่อให้ชุมชนมีความเข้มแข็ง สามารถจัดการตนเองได้อย่างยั่งยืน นำไปสู่การปลอดทุจริตคอร์รัปชันในชุมชนได้อย่างแท้จริง โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาสภาพปัญหา สาเหตุ และปัจจัยที่ก่อให้เกิดการทุจริตคอร์รัปชัน ตลอดจนรูปแบบและช่องทางการแก้ไขปัญหาการดำเนินโครงการหรือกิจกรรมในชุมชน
สรุปประเด็นจากงานวิจัย
- ผลจากการศึกษา พบว่าปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันในชุมชนมีรูปแบบและช่องทางที่หลากหลายและคล้ายคลึงกัน โดยรูปแบบที่พบมากที่สุด ได้แก่ การยักยอกเงินของสมาชิกชุมชน เพื่อใช้จ่ายส่วนตัว โดยใช้ตำแหน่งหน้าที่ที่ขาดการถ่วงดุลโดยบุคคลอื่น การทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้างของเจ้าหน้าที่รัฐ โดยมีการฮั้วระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐและผู้ประกอบการ การละเลยไม่ปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการชุมชนที่ต้องทำให้เกิดความโปร่งใสในการทำงาน และไม่มีการชี้แจงบัญชีรายรับรายจ่ายของชุมชน รวมทั้ง ไม่มีการจัดทำบัญชีสิ่งของบริจาคจากหน่วยงานภายนอก
- ผลจากการศึกษา พบว่าปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันในชุมชนที่มาจากการระดมความเห็นร่วมกันของชุมชน คือ การยักยอกเงินของสมาชิกชุมชน เพื่อใช้จ่ายส่วนตัว โดยใช้ตำแหน่งหน้าที่ที่ขาดการถ่วงดุลโดยบุคคลอื่น จึงนำมาสู่ความจำเป็นที่ชุมชนต้องมีระบบและกลไกในการป้องกันและแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันอย่างเป็นรูปธรรม ด้วยการให้คณะกรรมการชุมชน กำหนดระเบียบชุมชนในเรื่องที่เป็นความเสี่ยงของการทุจริตคอร์รัปชัน และหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องต้องมีการกำกับดูแลและติดตามการใช้จ่ายงบประมาณที่สนับสนุนชุมชนตามกฎระเบียบอย่างเคร่งครัด
- ผลจากการศึกษา ได้เสนอแนวทางการออกแบบระบบและกลไก เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันในชุมชนเมืองของกรุงเทพมหานคร โดยระบุให้มีการกำหนดหมวดด้านองค์ประชุมของคณะกรรมการชุมชนไว้ในระเบียบชุมชนให้ชัดเจน เช่น ต้องมีกรรมการเข้าร่วมประชุมเกินกึ่งหนึ่ง ให้คณะกรรมการชุมชนเปิดเผยข้อมูลด้านการเงิน ทั้งรายรับและรายจ่ายของกิจกรรมที่จัดขึ้นในชุมชน และต้องจัดให้มีระบบบัญชีชุมชน ด้วยการจัดทำแบบฟอร์มการเบิกจ่ายเงินของชุมชน และกำหนดกติกาของกรรมการผู้มีอำนาจลงนามเบิกจ่าย เป็นต้น นอกจากนี้ คณะกรรมการชุมชน ต้องเปิดโอกาสและผลักดันให้สมาชิกชุมชนเข้าร่วมกิจกรรมของชุมชน ตั้งแต่เริ่มต้นจนสิ้นสุดโครงการอย่างจริงจังและจริงใจ
- สำหรับผลการศึกษาจากกรณีศึกษาของชุมชนตัวอย่าง พบว่าชุมชนของพื้นที่ศึกษาได้ระบุแนวปฎิบัติที่ดี เพื่อป้องกันความเสี่ยงในการทุจริตคอร์รัปชัน โดยใช้ระบบการตรวจสอบบัญชีแบบตรวจสอบถ่วงดุลจากเครือข่ายชุมชนภายนอก โดยเป็นการตรวจสอบระบบบัญชีรายรับ รายจ่ายทั้งการตรวจสอบภายในระหว่างคณะกรรมการชุมชนด้วยกันเอง และการตรวจสอบจากเครือข่ายชุมชนภายนอก
อมรรัตน์ กุลสุจริต, เพ็ญประภา ภัทรานุกรม, สุจิตรา สามัคคีธรรม, ปรีชา ปิยจันทร์ และหฤทัย กมลศิริสกุล. (2561). แนวทางการพัฒนาระบบและกลไกเพื่อพัฒนาชุมชนให้เป็นสังคมที่ปลอดคอร์รัปชันโดยการมีส่วนร่วมของชุมชน: กรณีศึกษา ชุมชนในเขตบางเขน เขตสายไหม เขตดอนเมือง และเขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร. สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.).
- อมรรัตน์ กุลสุจริต
- เพ็ญประภา ภัทรานุกรม
- สุจิตรา สามัคคีธรรม
- ปรีชา ปิยจันทร์
- หฤทัย กมลศิริสกุล
โครงการวิจัยและประสานงานเพื่อสังคมไทยไร้คอร์รัปชัน
เพื่อออกแบบงานวิจัยสำหรับแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันบนฐานการมีส่วนร่วมของประชาชนและภาคส่วนต่าง ๆ รวมถึงพัฒนาระบบและเครื่องมือใหม่ในการป้องกันและลดคอร์รัปชันในระดับพื้นที่
โครงการวิจัยเพื่อสังคมไทยไร้คอร์รัปชัน ระยะที่ 2
จัดทำข้อเสนอการมีส่วนร่วมของประชาชนเพื่อต่อต้านการคอร์รัปชัน โดยเน้นแนวทางการวิจัยเพื่อทำความเข้าใจปัญหาคอร์รัปชันจากมุมมองของประชาชน ด้วยกระบวนการวิจัยเชิงปฏิบัติการอย่างมีส่วนร่วม (PAR) และกระบวนการ Design Thinking เต็มรูปแบบ
โครงการวิจัยการสังเคราะห์รูปแบบ กลไกและแนวทางการปลูกฝังเจตคติและวัฒนธรรมสุจริตเพื่อการป้องกันและปราบปรามการทุจริต
ศึกษาพัฒนาการของรูปแบบ กลไก และแนวทางการปลูกฝังเจตคติ และวัฒนธรรมสุจริตที่มีผลต่อการป้องกันการทุจริตของไทย และศึกษากรณีของต่างประเทศ เพื่อจัดทำเป็นข้อเสนอแนะต่อไป
โครงการวิจัยการศึกษาแนวทางความร่วมมือกับภาครัฐ ภาคเอกชนและภาคประชาชนในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต
นำเสนอแนวคิดและกิจกรรมที่ช่วยเสริมประสิทธิภาพการดำเนินงานของ ป.ป.ช. ในการแก้ไขปัญหาการทุจริต และเสนอแนวทางการพัฒนาระบบการเชื่อมโยงข้อมูลร่วมกันผ่านกระบวนการประสานข้อมูลระหว่างหน่วยงานเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด