สวัสดีปีใหม่ พ.ศ. 2566 ครับท่านผู้อ่าน ในบทความแรกของปีนี้ เราได้ไอเดียจากที่หลายๆ ท่านโพสรีวิวชีวิตตัวเองในปีที่ผ่านมา วันนี้เราจึงขอมารีวิวชีวิตของเรา 2 คนในเรื่องการต่อต้านคอร์รัปชัน ผ่าน 14 บทความในปีที่ผ่านมานะครับ โดยท่านสามารถเปิดอ่านบทความทั้ง 14 บทความย้อนหลังจากคลังบทความของแนวหน้าได้ที่ https://www.naewna.com/columnist/1233
ปีที่แล้วเราเริ่มต้นกันด้วยความหวังกับเครื่องมือต้านโกงใหม่สำหรับประชาชนที่มีชื่อว่า ACT Ai ซึ่งรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับการใช้จ่ายเงินงบประมาณของรัฐ ข้อมูลการเข้าประมูล และผลของการประมูลโครงการก่อสร้างต่างๆ ทั่วประเทศ มูลค่ารวมนับเป็นหลายล้านล้านบาท และใช้ระบบประมวลผลชี้หาความสุ่มเสี่ยงต่อการคอร์รัปชัน ทำข้อมูลเปรียบเทียบในรูปของกราฟต่างๆ ให้เห็น ชัดเจนขึ้นได้ช่วยอำนวยความสะดวกและปลอดภัยของประชาชนในการเข้ามาร่วมร้องเรียน และต่อสู้กับการคอร์รัปชันได้อย่างมากขึ้นกว่าเดิมมาก ไม่ต้องลงหนังสือพิมพ์หน้าหนึ่งเพื่อให้ตกเป็นเป้าการล้างแค้นเอาคืนของคนโกงอีกต่อไป ซึ่งท่านผู้อ่านสามารถเข้าไปใช้งานได้แล้ววันนี้ที่ https://actai.co/
เดือนต่อมาองค์กรเพื่อความโปร่งใสระหว่างประเทศ (Transparency International) ก็ประกาศผลดัชนีภาพลักษณ์คอร์รัปชัน เราจึงเขียนบทความอธิบายผลและการตีความผลว่า โดยจากจำนวนประเทศ 180 ประเทศทั่วโลกนั้น ประเทศไทย ได้ 35 คะแนน จัดอยู่ในอันดับที่ 110 ของโลก แปลสั้นๆ ได้ว่าอาการยังหนักอยู่ครับ ต้องต่อสู้กันอีกเยอะ แต่นี่ไม่ได้หมายความว่าที่เราสู้กันแทบตายที่ผ่านมาไม่มีประโยชน์นะครับแค่หมายความว่าต้องทำต่อไป อย่าเพิ่งหยุด และอย่าเพิ่งเสียกำลังใจ อีกสิ่งหนึ่งที่เรารับทราบจากผลคะแนนนี้ก็คือ การคอร์รัปชันที่ยังรุนแรงอยู่มากนั้นอยู่ที่ภาคการก่อสร้าง เพราะได้รับการประเมินว่าเป็นหนึ่งในภาคอุตสาหกรรมที่มีความสุ่มเสี่ยงต่อการคอร์รัปชันมากที่สุดเลยทีเดียว
ด้วยเหตุนี้ ทำให้ช่วงต้นปี เราให้ความสำคัญกับการต่อต้านคอร์รัปชันในการก่อสร้างมากเป็นพิเศษ ด้วย 2 บทความต่อกันเรื่อง ราคากลาง เรื่องสำคัญเพื่อต้านโกง และ ทำไมถึงใช้เวลาถึง 16 ปี กับคดีทุจริตบ้านเอื้ออาทร เราแนะนำว่า ทางลัดการแก้ไขปัญหานี้มีอยู่ คือการขยายผลกระทบโครงการข้อตกลงคุณธรรม (Integrity Pact) ที่ ACT ผลักดันให้เกิดขึ้นแล้ว โดยส่งประชาชนที่มีความเชี่ยวชาญในแต่ละด้าน เข้าไปเป็นผู้สังเกตการณ์อิสระในการจัดซื้อจัดจ้างต่างๆ ซึ่งพบว่าหากผู้สังเกตการณ์เข้าไปตั้งแต่ขั้นตอนการกำหนดเงื่อนไขและราคากลางแล้ว จะสามารถช่วยป้องกันคอร์รัปชันได้อย่างมาก ดูได้จากตัวเลขงบประมาณที่ลดลงกว่า 30% ของแต่ละโครงการที่เข้าร่วมข้อตกลงคุณธรรม รวมๆ แล้ว คิดเป็นเงินหลักแสนล้านบาทเลยทีเดียว และอีกโครงการหนึ่งคือ CoST (Construction Sector Transparency Initiative) ที่กำหนดให้เปิดข้อมูลสำคัญต่างๆ ต่อสาธารณะ เพื่อให้ประชาชนช่วยกันตรวจสอบว่ามีความสุ่มเสี่ยงต่อการคอร์รัปชันบ้างหรือไม่ ซึ่งท่านผู้อ่านสามารถเข้าไปดูข้อมูลได้แล้ววันนี้ที่ https://costthailand.org/
โดยในเรื่องมาตรฐานรหัสต้นทุนก่อสร้างงานอาคารนั้นต้องขอกล่าวถึงคุณสุชิน สุขพันธ์ จากวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ หรือ วสท. ซึ่งเป็นบุคคลสำคัญจากภาคเอกชนมาร่วมเป็นคณะกรรมการจัดทำมาตรฐานรหัสต้นทุนก่อสร้าง ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2552 จนสามารถสร้างมาตรฐานรหัสต้นทุนก่อสร้าง วสท. ด้านงานอาคารที่สอดคล้องกับรหัสต้นทุนสากล โดยใช้งานได้ง่ายกับการปฏิบัติจริงในวงการก่อสร้างไทย ดีกว่าการที่จะนำเอารหัสต้นทุนของต่างประเทศมาใช้ ซึ่งทำเสร็จและพิมพ์ออกมาเผยแพร่ครั้งแรกแล้วตั้งแต่ปี 2555 และมีการปรับปรุงเรื่อยมาจนถึงการปรับปรุงครั้งที่ 2 ปี 2562 ซึ่งครั้งนี้เป็นการปรับปรุงมาตรฐานรหัสต้นทุนอาคารครั้งใหญ่ให้สอดคล้องกับ International Construction Measurement Standards (ICMS) ที่ได้รับการยอมรับจากสมาคมด้านราคาของนานาชาติทั่วโลก
แต่เป็นที่น่าเสียดายอย่างยิ่งที่คุณสุชิน สุขพันธ์ ได้ถึงแก่กรรมด้วยโรคมะเร็งปอด ไปเสียแล้วตั้งแต่ปลายเดือน พฤศจิกายนในปีที่ผ่านมา นับเป็นการสูญเสียครั้งสำคัญในการต่อสู้กับการทุจริตประมูลโก่งราคาค่าก่อสร้างของรัฐ โดยการจัดระบบมาตรฐานวิธีแยกหมวดหมู่และการกำหนดหัวข้อรายการ เพื่อให้ได้ราคากลางก่อสร้างที่ออกมาเป็นธรรมที่ยอมรับได้จากทุกฝ่าย
ต่อกันด้วยช่วงกลางปี ที่เราเริ่มหันมามองคอร์รัปชันทางการเมืองบ้าง ด้วยบทความ ตราบใดที่นักการเมืองต้องซื้อเสียง ตราบนั้นก็ต้องเข้าไปทุจริตหาเงินเอาไว้หาเสียงอีก ใช่ไหม? ตอนนี้เราถกเถียงกันเล็กน้อยว่า สรุปปัจจุบันยังมีการซื้อเสียงในการเลือกตั้งกันอยู่ไหม เพราะจากงานวิจัยของศาสตราจารย์ผาสุก พงษ์ไพจิตร ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์การเมืองและปัญหาการคอร์รัปชัน แห่งคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ เมื่อต้นปี 2557 พบว่า “มีคนเพียง 5 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ที่คิดว่าเงินซื้อเสียงมีผลต่อการตัดสินใจ” แต่ก็ยอมรับว่ายังมีการซื้อเสียงกันอยู่ทั่วไปในประเทศไทย จนกลายเป็นการจ่ายค่าธรรมเนียมการเลือกตั้งไปแล้ว ซึ่งเงินนี้มันเป็นภาระและต้นทุนที่ไม่จำเป็นให้นักการเมืองอย่างชัดเจน ทำให้นักการเมืองต้องไปแสวงหาเงินมาจ่ายด้วยวิธีการต่างๆ รวมถึงการคอร์รัปชันด้วย
บทความนี้เป็นตัวเปิดสำหรับการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ในเดือนพฤษภาคม ที่เราเขียนบทความต่อเนื่องกันจนเลือกตั้งเสร็จสิ้นเพื่อรณรงค์ว่า ผู้ว่าฯ กทม. เป็นตัวอย่างที่ดีในการต่อต้านคอร์รัปชัน ทั้งไม่ไปยุ่งเกี่ยวเองและมีนโยบายที่ดีในการป้องกันและปราบปรามการคอร์รัปชัน จัดการให้ กทม.ใสสะอาด
จนในที่สุดก็ได้ รศ.ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ เป็นผู้ว่าฯกทม. คนใหม่ ซึ่งก็ได้แสดงความจริงใจและจริงจังด้วยการเดินทางมาพบองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) หรือ ACT ตั้งแต่สัปดาห์แรกที่เข้ารับตำแหน่ง และประกาศนโยบายต่อต้านคอร์รัปชันอย่างชัดเจนไว้หลายข้อ รวมทั้งข้อตกลงคุณธรรมและ CoST ที่เราเคยนำเสนอไว้ด้วย ซึ่งเราก็ต้องติดตามกันต่อไปโดยเฉพาะ คำมั่นที่ว่าจะบริหารแบบ “โปร่งใส ไม่ส่วย ไม่เส้น” นั้นจะทำอย่างไรให้เป็นจริงใน กทม. ได้ เพราะในระดับรัฐบาล มีเรื่องฉาวที่ผู้บริหารระดับอธิบดี ทั้งรับส่วย และใครไม่เส้น ไม่ส่งส่วย จะอยู่ไม่ได้ ทำเป็นเรื่องปกติ ซึ่งอาจจะมีอยู่เป็นปกติธรรมดาของผู้มีอำนาจในราชการทั่วไปอยู่ในขณะนี้
ค่อนมาทางท้ายปี เริ่มมีข่าวเกี่ยวกับวงการสีกากีมากขึ้น เช่น กรณี “ตู้ห่าว” ซึ่งถูกตำรวจจับคดีตั้งบ่อนและคลับบริการยาเสพติด แต่คดีไม่คืบหน้า แม้ประชาชนและสื่อจะติดตามกันอย่างเข้มข้น ว่ามีอดีตนายตำรวจระดับสูงมีส่วนเกี่ยวข้องด้วยทำให้มีอิทธิพลคุ้มครอง จนอัยการสูงสุด ต้องเข้ามาควบคุมการสอบสวนเอง ทำให้เราขยับไปเขียนเรื่องวงการผู้บังคับใช้กฎหมาย ด้วยบทความ วิจัยพบถ้าตำรวจโกง ต่อต้านคอร์รัปชันพังเลย และ เรามีคนโกงเพิ่มขึ้น หรือ เราจับคนโกงได้มากขึ้น โดยเราพยายามอธิบายผ่านงานวิจัยว่า คนทั่วไปกลัวการถูกจับและกลัวการถูกลงโทษจริง แต่ถ้ามีวิธีการที่สามารถทำให้ผู้กระทำผิดหลีกเลี่ยงการถูกจับและการถูกลงโทษได้ เช่น จ่ายสินบนเมื่อถูกจับ หรือ ให้ผลประโยชน์เพื่อขอลดโทษ จะทำให้เสมือนว่า สังคมนั้นไม่มีตำรวจ ไม่มีการบังคับใช้กฎหมายเลยทีเดียว หรือ พูดง่ายๆ ก็ตามชื่อบทความเลยคือ ถ้าตำรวจโกง ต่อต้านคอร์รัปชันพังเลย
รู้อย่างนี้แล้ว จะทำอย่างไรดี ผู้รักษากฎหมายจึงจะมีความสุจริต หรือ ไม่สามารถรับสินบน ไม่สามารถคอร์รัปชันได้ง่าย ก็กลับไปเรื่องเดิมที่เราคุยกันตั้งแต่บทความแรกของปี นั่นคือการเปิดเผยข้อมูล สร้างความโปร่งใส สร้างพื้นที่ให้ประชาชนมีส่วนร่วมได้อย่างปลอดภัยและต้นทุนต่ำที่สุด เราจึงปิดท้ายปีที่แล้วด้วยบทความ ข้อมูลเปิดกับการต่อต้านคอร์รัปชัน ที่อธิบายกระบวนการและผลของการเปิดเผยข้อมูลต่อการต่อต้านคอร์รัปชันที่มีประสิทธิภาพและมีประสิทธิผล เป็นการย้อนกลับไปเรื่องเดิมตั้งแต่ต้นปีแบบมีข้อมูลมากขึ้น มีตัวอย่างมาให้เห็นภาพชัดมากยิ่งขึ้นด้วย
ดังนั้นเราจึงขอสรุปการรีวิวเรื่องราวการต่อต้านคอร์รัปชันของเราในปีที่ผ่านมาว่า คอร์รัปชันในประเทศไทยยังมีอยู่และยังรุนแรงอยู่ แต่ภายใต้ความมืดดำจากข่าวการโกงต่างๆ ที่เราเห็นเป็นประจำ เราอยากบอกท่านผู้อ่านว่า อย่าเพิ่งหมดหวังไปนะครับ เรายังพอจะเห็นแสงสว่างจากภาคประชาชนได้บ้าง ด้วยเครื่องมือเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่สร้างความโปร่งใสผ่านการเปิดเผยข้อมูลสาธารณะและสร้างพื้นที่ให้ประชาชนมีส่วนร่วมมากขึ้น ดังนั้น ไทยเรามีหวังจะแก้โกงได้อยู่นะครับ
- รศ.ดร.ต่อตระกูล ยมนาค
- ผศ.ดร.ต่อภัสสร์ ยมนาค
หัวข้อ
แนวหน้าต่อต้านคอร์รัปชัน : เรามีคนโกงเพิ่มขึ้น หรือ เราจับคนโกงได้มากขึ้น
แจ้งไม่เยอะแน่นะวิ ! ปี 65 พบการแจ้งเรื่องทุจริตเกือบ 10,000 เรื่องในไทย เคยสงสัยกันบ้างไหมว่าทั้งๆ ที่มีหน่วยงานปราบโกงที่มีอำนาจทางกฎหมายล้นเหลืออยู่หลายหน่วยงาน ทำไมระดับการคอร์รัปชันของไทยยังดูจะแย่ลงเรื่อยๆ
แนวหน้าต่อต้านคอร์รัปชัน : เปิดตัว KRAC ศูนย์ความรู้ต้านโกง
คอร์รัปชันเป็นปัญหาที่มีความซับซ้อนอย่างมาก ถ้าไม่แก้ไขทุกมิติอย่างครอบคลุมผลที่ตามมาอาจกลายเป็นเพิ่มปัญหาให้สังคมได้ จึงต้องใช้วิธีที่มีประสิทธิภาพ หนึ่งในนั้นคือการใช้ความรู้ทางวิชาการ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติจึงได้ร่วมมือกับคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ จัดตั้ง “ศูนย์ความรู้เพื่อความร่วมมือในการต่อต้านคอร์รัปชัน และส่งเสริมธรรมาภิบาลในระดับภูมิภาค” (Knowledge hub for Regional Anti-corruption and good governance Collaboration: KRAC) ขึ้น เมื่อ 24 เมษายนที่ผ่านมา
แนวหน้าต่อต้านคอร์รัปชัน : เดินทางไกลเพื่อเรียนรู้การต้านโกง
สวัสดีจากซานฟรานซิสโก คุณอยู่กับต่อภัสสร์และนี่คือแก้โกงไกลบ้าน…ชวนอ่านว่าในต่างประเทศมีการพัฒนาเกี่ยวกับการเปิดเผยข้อมูลเพื่อการต่อต้านคอร์รัปชันอย่างไร ? แล้วการเปิดเผยข้อมูลมีความสำคัญอย่างไร ?