เพื่อเป็นการต้อนรับวันเด็กแห่งชาติปี 2566 ที่จะมาถึงในวันเสาร์นี้ผู้เขียนในฐานะแม่ลูกอ่อนที่คลุกคลีกับวงการฟันน้ำนม อยากจะชวนท่านผู้อ่านที่มีลูก หลาน หรือน้องๆ หนูๆ ในวัยเรียน ได้ทำความรู้จักกับกิจกรรมยอดนิยมของวัยรุ่นฟันน้ำนมที่ไม่ต้องอาศัยของเล่นราคาแพงขอแค่พ่อแม่ลงแรงให้มากพอ เพื่อเป็นไอเดียให้กับผู้อ่านที่สนใจปลูกฝังด้านคุณธรรมจริยธรรมและวินัยเชิงบวก รวมถึงการสอนเด็กๆ ให้โตไปไม่โกง ได้นำกิจกรรมเหล่านี้ไปประยุกต์ใช้กับเด็กในวัยเรียนได้อย่างสนุกสนาน เพราะปัจจุบันการปลูกฝังเรื่องคุณธรรม จริยธรรมในรูปแบบของการสอนทางตรงให้เด็กทำตามคำสั่งผู้ใหญ่อย่างเดียว ไม่ใช่วิธีที่เหมาะกับการส่งเสริมพัฒนาการทางความคิดของเด็กเล็ก สอดคล้องกับงานวิจัยของ ผศ.ดร.กุลลินี มุทธากลิน เรื่องสื่อกับการปลูกฝังความเข้าใจปัญหาการคอร์รัปชันในเด็ก ที่ชี้ให้เห็นว่า สื่อที่เน้นการสั่งสอนโดยตรงจากผู้ใหญ่อย่างเดียว ทำให้เด็กไทยไม่ค่อยมีโอกาสได้คิดวิเคราะห์และตีความการกระทำต่างๆ อย่างเป็นเหตุเป็นผล เมื่อเจอสถานการณ์จริงที่ไม่ขาวหรือดำชัดเจนอย่างที่อยู่ในบทเรียน จึงตัดสินใจทำสิ่งต่างๆ ไม่ถูกอย่างที่ควรจะทำได้ในวัยนี้
นอกจากนี้ การที่สื่อไทยเน้นแสดงให้เห็นผลจากการทำผิดด้วยการลงโทษ ทำให้เด็กไม่ได้เห็นผลกระทบจริงที่ส่งผลต่อโลกที่เขาอยู่ เช่น รู้ว่าถ้าทิ้งขยะลงคลองแล้วจะโดนตี แต่ไม่รู้ว่าขยะที่ทิ้งลงไปในคลองนั้นส่งผลให้น้ำเน่าเสีย ส่งผลกระทบต่อคนทั้งสังคมอย่างไร ซึ่งเป็นผลสะท้อนของการปลูกฝังแบบจดแล้วท่อง ท่องแล้วจำเป็นนกแก้วนกขุนทองโดยที่ไม่มีการเชื่อมโยงประสบการณ์ของเด็กเข้ากับสิ่งที่เรียนรู้เพื่อหาคำตอบ ซึ่งเป็นการพัฒนาที่ตรงข้ามกับทักษะในศตวรรษที่ 21 ที่เน้นการคิดวิเคราะห์จากการลงมือทำ ซึ่งสอดรับกับหลักการทำงานของสมองในเด็กเล็กคือ “ยิ่งทำยิ่งจำ”
แต่ถ้าไม่ทำ พออายุ 12 ขวบ สิ่งที่ได้เรียนรู้มาก็จะค่อยๆ ฝ่อไป ดังนั้น การปลูกฝังเรื่องคุณธรรม จริยธรรมที่สามารถวางรากฐานของพฤติกรรมที่ดีอย่างยั่งยืนจนเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ จึงต้องเรียนรู้แบบ Active Learning เพื่อให้เด็กมีบทบาทหลักในกระบวนการเรียนรู้ อันจะช่วยให้เด็กได้คิดมากขึ้น ซึ่งเด็กที่ได้คิดบ่อยๆ และได้ลงมือทำอย่างถูกต้อง สมองก็จะสร้างกระบวนการคิดทบทวนเพื่อใช้กำกับควบคุมการกระทำของตัวเองได้ในอนาคต ซึ่งในเด็กเล็กเราจะฝึกฝนเรื่องนี้ผ่าน “การเล่น” นั่นเอง
ธรรมชาติของเด็กเล็กมีหน้าที่หลักคือ “การเล่น” ซึ่งคุณปู่ Jean Piaget นักจิตวิทยาด้านพัฒนาการทางความคิดของเด็ก ได้สรุปความสำคัญของการเล่นไว้ว่า การเล่นของเด็กในวัยแรกเกิด-12 ปี เป็นสิ่งที่มหัศจรรย์มากเพราะช่วยให้เด็กได้พัฒนาทั้งกระบวนการรับรู้และกระบวนการคิด ตลอดจนเข้าใจสิ่งที่เป็นนามธรรม และเกิดการเรียนรู้ทางสังคมที่ช่วยให้เกิดการพัฒนาทางสติปัญญาของเด็กๆ ได้ นอกจากนี้ คุณปู่ได้เน้นย้ำอีกว่า เด็กอนุบาลเขาก็มีกระบวนการคิดเหมือนผู้ใหญ่อย่างพวกเราแล้วนะ เพียงแต่วิธีการเรียนรู้และการจัดการกับความคิดของเด็กเล็กต้องอาศัยแรงกระตุ้นจากคนรอบตัวด้วยการสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมนั่นเอง ดังนั้น ถ้าเราอยากให้เด็กเล็กมีพัฒนาการทางความคิดได้เร็ว ต้องสร้างสภาพแวดล้อมของการเล่นที่ถูกต้องเหมาะสมให้กับเด็ก ไม่ให้เด็กซึมซับสิ่งที่ผิดไปตั้งแต่เริ่มต้น เพราะจะกลับมาแก้ให้ถูกนั้นใช้เวลามากทีเดียว
สภาพแวดล้อมที่เหมาะสมสำหรับเด็กเล็กคือ การสร้างการเล่นให้สนุกสนาน และการเล่นแบบอิสระ เพื่อกระตุ้นสมองของเด็กๆ ให้เปิดรับการเรียนรู้ เพราะสมองของเด็กเล็กจะเรียนรู้ได้เต็มที่ก็ต่อเมื่อเด็กๆ ได้เพลิดเพลินไปกับกิจกรรมที่ชอบ ดังที่คุณตาหมอประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ ผู้วางรากฐานเรื่องทักษะการคิดเชิงบริหาร (EF) ในสังคมไทยได้บอกไว้ว่า “ความสนุกคือ พัฒนาการ เสียงหัวเราะคือ ตัวชี้วัด ตราบเท่าที่สนุกได้ เด็กก็จะพัฒนาได้เอง” เพราะเมื่อรู้สึกสนุก สมองก็เกิดวงจรการเรียนรู้ และพัฒนาการรอบด้าน ทั้งร่างกาย อารมณ์ สังคม จิตใจ สติปัญญา และช่วยเสริม Executive Function (EF) ซึ่งเป็นความสามารถของสมองในการบริหารจัดการชีวิต และกลายมาเป็นทักษะที่สำคัญยิ่งต่อความสำเร็จในการเรียน การงาน การอยู่ร่วมกันในสังคม การคิดสร้างสรรค์ และการจัดการทุกด้านตลอดชีวิต โดยเฉพาะการควบคุมความคิด อารมณ์ และการกระทำเพื่อไปให้ถึงเป้าหมายในวัยผู้ใหญ่ ซึ่งงานวิจัยระดับตำนาน เรื่อง Don’t Eat The Marshmallow ของศาสตราจารย์ Walter Mischel ทำให้ได้ข้อสรุปสำคัญว่าเด็กที่มี EF แข็งแรง จะสามารถกำกับควบคุมตนเองได้ สามารถพัฒนาไปเป็นวัยรุ่นที่มีความสามารถในการเรียนรู้ และเข้าสังคมได้ดี ตลอดจนประสบผลสำเร็จในการเรียน
นอกจากนี้ ทักษะสำคัญที่จะได้จากการเล่นคือ การยั้งคิดไตร่ตรองที่จะช่วยไม่ให้เด็กอยากรู้อยากลองจนตัดสินใจผิดพลาด สามารถคิดชั่งน้ำหนักข้อดีข้อเสียของสิ่งต่างๆ เช่น อบายมุขได้ ซึ่งขั้นตอนนี้เกิดขึ้นเร็วมาก นั่นคือ ช่วงอายุ 5-6 ขวบ ดังนั้น หากเราจะสอนให้เด็กๆ มีพฤติกรรมเชิงบวก เพื่อวางรากฐานของการโตไปไม่โกงก็ควรเริ่มปลูกฝังกันตั้งแต่วัยนี้ได้เลย ไม่ว่าจะเป็นการยึดมั่นในความซื่อสัตย์ และสิ่งที่ถูกต้อง รู้จักแยกแยะถูกผิด ไม่คดโกง เช่น สอนให้ไม่หยิบของคนอื่น สอนให้ซื่อสัตย์ต่อการทำหน้าที่ และสอนคำนึงถึงประโยชน์ของส่วนรวม เพราะปัญหาทุจริตคอร์รัปชันที่เราพบกันบ่อยคือ การไม่ซื่อสัตย์ต่องานที่ทำ และการนึกถึงประโยชน์ส่วนตนมากกว่าส่วนรวม สรุปสั้นๆ ก็คือ ทักษะนี้จะนำไปสู่การควบคุมตัวเองให้ตั้งอยู่บนความถูกต้อง และเป็นการปูพื้นฐานสู่ EF ที่สำคัญมาก เพราะเด็กที่มีทักษะการควบคุมตัวเองดี ก็จะไม่ถูกชักจูงไปกับสิ่งยั่วยุได้ง่าย
พอได้ฟังแบบนี้แล้วก็อยากชวนทุกท่านแบ่งเวลาลงมาทำกิจกรรมกับเด็กกันให้มากขึ้น เพราะเวลาทองของการพัฒนาและวางรากฐานที่มั่นคงให้กับเด็กเล็กมีน้อยจริงๆ ถ้าจะรอให้ถึงชั้นประถมก็คงจะสายเสียแล้ว ดังนั้น จึงไม่มีคำว่า เรื่องนี้ยังเร็วเกินไปที่จะสอนเด็ก แต่ควรจะเร่งทำเร่งสอนกันให้มากขึ้นในช่วงวัยนี้ เพราะทั้งคุณปู่และคุณตาทั้งสามท่านชี้ให้เห็นตรงกันแล้วว่าในวัยไม่เกิน 6 ขวบนี้แหละ ที่เด็กสามารถจดจำได้อย่างง่ายดาย และมันจะฝังเข้าไปในสมองของเด็กๆ เป็นเหมือนหางเสือที่ควบคุมพฤติกรรมของเราในระยะยาว โดยท่านผู้อ่านสามารถนำไอเดียจากกิจกรรมที่ผู้เขียนนำเสนอในบทความนี้ ไปพลิกแพลงเพื่อจัดกิจกรรมในการเรียนรู้ เรื่องการต้านโกงให้กับน้องๆ หนูๆ กันได้เลย รับรองว่าจะต้อง
โดนใจวัยรุ่นฟันน้ำนมแน่นอน
กิจกรรมแรกที่ครองใจเด็กทุกวัยคือ การร้องเพลง และการเต้นประกอบเพลง อย่างที่เรารู้กันว่าประโยชน์ของดนตรีนอกจากจะสร้างความสุขสนุกสนานให้กับเด็กๆ แล้ว ยังเป็นเครื่องมือที่ช่วยกระตุ้นการเรียนรู้ด้านภาษา และการเรียนรู้สิ่งต่างๆ รอบตัวอีกด้วย เพราะเด็กจะสนุกกับเสียงเพลงและจังหวะ เมื่อสนุกก็จะจดจำสิ่งต่างๆ ได้ง่ายขึ้นนี่เอง สังเกตได้จากสื่อการเรียนการสอนในระดับอนุบาลจนถึงชั้นประถมศึกษาตอนต้นก็ใช้ดนตรีเชื่อมโยงเด็กเข้ากับเรื่องที่ต้องการสอนผ่านการร้องเพลง เช่น เพลง ก เอ๋ย ก ไก่ ที่ต้องการสอนเรื่องพยัญชนะไทย หรือเพลงสอนใจที่มีเนื้อหาให้เด็กๆ ยึดมั่นในความซื่อสัตย์ และไม่เห็นแก่ตัว เช่น เด็กเอ๋ย เด็กดี ต้องมีหน้าที่สิบอย่างด้วยกัน รวมถึงการปลูกฝังเรื่องการไม่โกง เช่น เพลงโตไปไม่โกง ที่เชื่อมโยงกับหลักสูตรโตไปไม่โกงอีกด้วย
แต่หลายบ้านอาจจะบอกว่า เด็กบ้านนี้ไม่ฟังหรอกเพลงโตไปไม่โกง จะฟังแต่เพลงทรงอย่างแบดน่ะสิ ซึ่งผู้เขียนก็ไม่แปลกใจเท่าไหร่เพราะว่าเด็กในวัยนี้เอาความสนุกเป็นที่ตั้ง ซึ่งต้องนับว่าโชคดีที่เพลงนี้ไม่ได้มีเนื้อร้องที่ไม่เหมาะสม เพราะวัยนี้เป็นช่วงวัยที่กำลังเรียนรู้และจดจำสิ่งต่างๆ ได้อย่างดี หากได้รับสื่อที่เป็นพฤติกรรมในเชิงลบก็จะทำให้เสียโอกาสในการพัฒนาทักษะทางด้านอารมณ์ สังคมและสติปัญญาของเด็กเองด้วย การเลือกเพลงให้เหมาะสมกับช่วงวัย จึงเป็นสิ่งที่ผู้ปกครองควรให้ความสำคัญ โดยอาจเลือกเพลงที่ส่งเสริมจริยธรรม และทัศนคติที่ดีมาร้องกับเด็กๆ แต่อย่าลืมว่าต้องร้องให้สนุกเหมือนเพลงทรงอย่างแบดด้วยนะ สำหรับเด็กที่โตมาหน่อย แนะนำว่า ให้ลองชวนเด็กแต่งเพลงง่ายๆ ที่เกี่ยวข้องกับคุณธรรม หรือสะท้อนปัญหาสังคมตามความคิดความเข้าใจของตัวเอง ยิ่งถ้าเขาเล่นดนตรีเองได้ หรือออกแบบท่าเต้นได้ จะเพิ่มความสนุกได้มากทีเดียว โดยการใช้เวลาทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งให้สำเร็จภายใต้สภาวะที่ไม่กดดันและหนุนเสริมความคิดสร้างสรรค์ ทำให้เกิดการเรียนรู้ซ้ำๆ สิ่งใดที่ทำซ้ำๆ บ่อยๆ สมองก็จะสร้างเป็นความจำขึ้นมาโดยปริยาย ดังนั้น หากต้องการให้เด็กจดจำเรื่องใดการประยุกต์ใช้กิจกรรมดนตรีก็เป็นทางเลือกที่ดีทีเดียว
กิจกรรมที่สองคือ การอ่านนิทานให้เด็กฟัง เป็นกิจกรรมที่ช่วยกระตุ้นให้สมองของเด็กพัฒนาได้อย่างเต็มประสิทธิภาพที่สุด เพราะเด็กได้ทั้งฝึกคิด ฝึกจินตนาการ ฝึกเชื่อมโยงความหมายของสิ่งต่างๆ เพราะการฟังหรือ การได้ยินเป็นสิ่งที่สร้างการเรียนรู้ได้ง่ายที่สุดเมื่อเทียบกับการอ่าน การเขียนหรือการพูดในเด็กที่อายุไม่เกิน 8 ขวบ แต่ช้าก่อน ไม่ใช่ว่าใครๆ ก็เล่านิทานได้สนุกนะ ผู้เขียนเองก็ต้องฝึกการเล่านิทานใหม่เช่นกัน เพราะการอ่านให้เด็กได้ฝึกคิด ต้องอาศัยเคล็ดลับ 3 ข้อ ด้วยกัน หนึ่ง ต้องเริ่มจากเลือกนิทานที่เหมาะสมกับวัยและนิสัยของเด็กแต่ละคนไว้ที่บ้าน เพื่อเปิดโอกาสให้เขาได้เลือกว่าอยากจะอ่านเล่มไหน เมื่อเขาได้เลือกเองเขาจะยิ่งสนใจและสนุกไปกับเรื่องราวที่เรากำลังจะอ่าน สอง ให้เลือกนิทานที่มีภาพประกอบสีสันสดใสสวยงาม ใช้ภาษาที่เข้าใจง่าย ไม่ซับซ้อน ตัวอักษรบรรยายไม่มากเกินไป เช่น นิทานประกอบภาพที่มีเนื้อที่ว่างในหน้ากระดาษเยอะๆ ให้เด็กได้เติมความคิด และจินตนาการได้ โดยไม่มีเนื้อหาที่ต้องสั่งสอนสักคำเดียว ผู้อ่านลองดูตัวอย่างได้จากนิทานเรื่อง มอม่อนจังเตาะแตะ สำหรับเด็กที่โตขึ้นมาอีกนิด ให้เลือกนิทานที่อิงความจริงอยู่บ้าง เช่น นิทานที่แฝงด้วยคุณธรรม เพื่อให้เด็กได้เรียนรู้คุณลักษณะที่พึงประสงค์ และหลีกเลี่ยงพฤติกรรมเชิงลบ และสุดท้ายเน้นการอ่านนิทานด้วยกันด้วยการชวนเด็กพูดคุยเกี่ยวกับสิ่งที่อ่าน และแบ่งปันความคิดร่วมกันอย่างอิสระ หรือตั้งคำถามกลับไปให้เด็กได้ลองตอบตามความเข้าใจ เพื่อสร้างความเชื่อมโยงของเนื้อหานิทานกับการรับรู้ของเด็ก ซึ่งบ่อยครั้งผู้เขียนมักจะหยิบเอาสิ่งที่เราอยากจะแนะนำให้กับลูก หรือปัญหาที่เกิดขึ้นจริงในสังคมมาสอดแทรกไปกับนิทานที่อ่านด้วย
โดยงานวิจัยของ ผศ.ดร.กุลลินี มุทธากลิน ได้ให้ข้อเสนอแนะที่น่าสนใจต่อการใช้นิทานเป็นสื่อในการปลูกฝังคุณธรรมความซื่อสัตย์ และการต่อต้านคอร์รัปชันไว้ว่า ควรเน้นย้ำบทบาทของเด็กในการต่อต้านคอร์รัปชันให้มากขึ้น รวมถึงการสร้างสมดุลในแนวทางการสอนที่ให้เด็กมีส่วนร่วม โดยให้น้ำหนักกับการคิดอย่างวิพากษ์และการมีส่วนร่วมแก้ปัญหาของเด็ก เพื่อช่วยให้เด็กได้เรียนรู้จากการไตร่ตรองด้วยตนเอง ผ่านการชี้ให้เห็นถึงสาเหตุ และทางเลือกของการกระทำ รวมถึงผลกระทบของการกระทำที่ไม่ซื่อตรงหรือคอร์รัปชันอย่างเป็นรูปธรรม สำหรับตัวอย่างของนิทานตามที่อาจารย์ได้เสนอไว้นั้น ผู้เขียนขอแนะนำนิทานชุดส่งเสริมคุณธรรมต้านโกงสำหรับเด็กประถมศึกษาตอนต้น “คนเก่งไม่โกง คนโกงไม่เก่ง” โดยกลุ่มนิสิตคณะเศรษฐศาสตร์ หลักสูตรนานาชาติ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ภายใต้โครงการ Read to Kid ให้เด็กอ่าน…ให้เด็กคิด โดยได้นำหลักเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม (Behavioral Economic) มาประยุกต์ใช้ในการจัดทำนิทานชุดที่สอดแทรกคุณค่าความดี 5 ประการจากหลักสูตรโตไปไม่โกง และยังออกแบบให้ตัวละครหลักเป็นเด็กๆ ได้เป็นผู้นำในการสอนกันเองภายใต้สถานการณ์ที่ต้องเจอในโรงเรียน ซึ่งจะช่วยให้เด็กๆ รู้สึกมีส่วนร่วมได้ง่ายขึ้น โรงเรียนใดสนใจหนังสือนิทานภาพชุดนี้ สามารถติดต่อได้ที่อีเมล readtokidproject@gmail.com ได้เลยค่ะ
เมื่ออ่านมาถึงย่อหน้านี้แล้ว ทุกท่านจะเห็นได้ว่า การสอนให้เด็กรู้จักคิดเป็น ทำเป็น แก้ปัญหาเป็น ไม่ยากอย่างที่คิดใช่ไหมคะเพราะธรรมชาติของเด็กเล็กคือ การเรียนรู้ผ่านการเล่น ยิ่งไปกว่านั้นเด็กเล็กยังเรียนรู้ได้ไวอีกด้วย โดยเฉพาะเมื่อเขาได้ลงมือทำสิ่งต่างๆ ด้วยตัวเอง เพื่อเรียนรู้โลกและเข้าใจตัวเอง แต่สิ่งที่ไม่ง่ายคือ ทำอย่างไรให้พวกเราสามารถหนุนเสริมให้เด็กๆ มีพัฒนาการที่ดีเต็มศักยภาพเพื่อวางรากฐานความเป็นมนุษย์ที่ยึดมั่นในสิ่งที่ถูกต้อง เป็นธรรม และคำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวมได้ ซึ่งหน้าที่ในการวางรากฐานที่ดีต้องอาศัยผู้ใหญ่อย่างพวกเราเป็นกำลังสำคัญต่อไป ดังนั้น ไม่ว่าท่านผู้อ่านจะยุ่งสักแค่ไหน อย่าลืมแบ่งเวลาในแต่ละวันมาเล่นกับเด็กๆ และอ่านนิทานด้วยกันนะคะ
สุภัจจา อังค์สุวรรณ
หัวข้อ
แนวหน้าต่อต้านคอร์รัปชัน : โอปป้า เพื่อระบบที่ดีสร้างสังคมยั่งยืน
โอปป้าจ๋าช่วยด้วยยยย ! ทำไมคอร์รัปชันยังไม่หมดไปสักที หลาย ๆ คนอาจจะสงสัยว่า ทำไมเราถึงอยากปฏิรูปการศึกษาก็ทำไม่ได้ อยากป้องกันทรัพยากรธรรมชาติก็ทำได้ยากเพราะมีคนแย่งหาผลประโยชน์กันเต็มไปหมด หรือแม้แต่การสร้างสวัสดิการที่ดีให้กับประชาชนก็ดันไม่ถึงมือประชาชนอีก ซึ่งส่วนหนึ่งอาจมาจากการคอร์รัปชันที่ยังไม่สามารถแก้ไขให้หมดไปได้นั่นเอง
แนวหน้าต่อต้านคอร์รัปชัน : โอกาสและความสำคัญของการกลับคืนเป็นภาคี TI Thailand
เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา กรุงเทพมหานครได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมระดับภูมิภาคของ Transparency International (TI) การเลือกประเทศไทยเป็นสถานที่จัดงานครั้งนี้มีนัยสำคัญ แม้ปัจจุบันไทยจะไม่มีภาคีประจำประเทศอย่างเป็นทางการ …
แนวหน้าต่อต้านคอร์รัปชัน : เวทีต้านโกงระดับโลก เขาพูดคุยอะไรกัน
4 ประเด็นน่าสนใจจาก “Summit for Democracy 2023” การประชุมระดับโลกเมื่ออาทิตย์ที่ผ่านมา ผศ. ดร.ต่อภัสสร์ ยมนาค ผู้ร่วมก่อตั้งและที่ปรึกษา HAND Social Enterprise HANDSocialEnterprise ได้รับเชิญจากรัฐบาลเกาหลีใต้ให้ไปร่วมเสวนาในงาน Summit for Democracy 2023 หัวข้อหลักงานปีนี้คือ “การต่อต้านคอร์รัปชัน” เชื่อมโยงคำอธิบายว่า การคอร์รัปชันบ่อนทำลายประชาธิปไตย ในทางกลับกันประเทศที่ประชาธิปไตยไม่เข้มแข็งจะทำให้คอร์รัปชันสูงขึ้น