การวิเคราะห์ผลกระทบในการออกกฎหมาย (Regulatory Impact Analysis)

เพื่อศึกษาสภาพปัญหาและแนวทางการวิเคราะห์ผลกระทบของกฎหมายให้มีประสิทธิภาพ เเละจัดทำแนวทางในการพัฒนาหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการวิเคราะห์ผลกระทบของกฎหมายการบังคับใช้ในประเทศไทยต่อไป

งานวิจัยเรื่องนี้ มุ่งศึกษาวัตถุประสงค์ แนวคิด และความเป็นมาของหลักเกณฑ์การวิเคราะห์ผลกระทบของกฎหมาย (Regulatory Impact Assessment) ของกลุ่มประเทศสมาชิกองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organisation for Economic Co-operation and Development: OECD) รวมทั้งศึกษาแนวปฏิบัติในการนำมาใช้ในการพัฒนากฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการกำกับควบคุมกิจกรรมทางเศรษฐกิจ โดยเน้นระเบียบวิธีการประเมินผลกระทบ ซึ่งสามารคำนวณต้นทุนและผลประโยชน์ในเชิงเศรษฐกิจที่แปลงเป็นตัวเลขได้ และการคำนวณต้นทุนและผลประโยชน์ของผลกระทบในเชิงสังคมด้วย เช่น การคำนวณผลกระทบด้านสุขภาพของมาตรการของภาครัฐ เช่น การก่อตั้งโรงไฟฟ้าพลังงานถ่านหิน เป็นต้น

โดยการประเมินผลกระทบของกฎหมาย (Regulatory Impact Assessment) เป็นกระบวนการที่ใช้ในการตรวจสอบและประเมินผลกระทบที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจากการออกกฎหมาย ซึ่งการประเมินผลกระทบของกฎหมาย มีเป้าประสงค์หลัก 2 ประการ คือ (1) เพื่อพัฒนากระบวนการในการกำหนดกฎกติกาในการกำกับดูแลของภาครัฐ และ (2) เพื่อปรับปรุงคุณภาพของกฎระเบียบของภาครัฐให้มีคุณภาพ อันจะนำไปสู่การเปิดโอกาสให้ผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสีย มีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น และแลกเปลี่ยนข้อมูลกับหน่วยงานภาครัฐที่จัดทำกฎหมายขึ้นมา ตลอดจนผลกระทบที่คาดว่าจะเกิดขึ้น จึงทำให้กระบวนการนี้มีความโปร่งใสและรอบคอบมากขึ้น

ด้วยเหตุนี้ การออกแบบกระบวนการในการจัดทำการประเมินผลกระทบทางกฎหมาย (Regulatory Impact Assessment) ให้ถูกต้อง จึงมีความสำคัญมากต่อการเป็นเครื่องมือที่ช่วยพัฒนาคุณภาพของกฎหมายอย่างแท้จริง 

สรุปประเด็นจากงานวิจัย

  • ผลการศึกษาประสบการณ์การประเมินผลกระทบของกฎหมาย (Regulatory Impact Assessment) มาใช้ในประเทศที่ได้รับความสำเร็จในการปฏิรูปกระบวนการขั้นตอนในการออกกฎหมาย พบว่ามีปัจจัยที่สนับสนุนการดำเนินงาน คือ การกำหนดเป็นนโยบายระดับประเทศ โดยพ่วงการประเมินผลกระทบของกฎหมายเข้ากับโครงการปฏิรูปเศรษฐกิจสังคม หรือส่วนราชการระดับประเทศที่ได้รับการผลักดันโดยรัฐบาล อย่างไรก็ตาม การประเมินผลกระทบของกฎหมาย (Regulatory Impact Assessment) เป็นเครื่องมือที่ต้องการข้อมูล และความเชี่ยวชาญในการนำมาใช้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งประเทศกำลังพัฒนา อาจยังไม่มีความพร้อม ดังนั้น จึงควรมีการเตรียมพร้อมด้านข้อมูล การฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง และการวางระบบการตรวจสอบและติดตามกระบวนการจัดทำการประเมินผลกระทบของกฎหมาย (Regulatory Impact Assessment) ตั้งเเต่เนิ่น ๆ  

  • ผลจากการศึกษา พบว่า แม้ว่าในส่วนของการประเมินผลกระทบของกฎหมาย (Regulatory Impact Assessment) จะมีเกณฑ์ที่เป็นมาตรฐานสากล แต่คุณภาพของรายงานที่ประเทศไทยจัดทำขึ้นในทางปฏิบัติ ยังไม่เป็นไปตามมาตรฐานสากล อันมาจากเหตุผล เช่น การจัดทำรายงานผลกระทบของกฎหมายในประเทศไทย มีเฉพาะในขั้นตอนที่มีร่างกฎหมายออกมาแล้ว และจำกัดเฉพาะกฎหมายที่เป็นพระราชบัญญัติเท่านั้น ทำให้มีกรอบการบังคับใช้ที่จำกัดมาก เนื่องจากกฎระเบียบที่มีผลกระทบต่อธุรกิจ หรือประชาชนส่วนมากจะเป็นกฎหมายรองมากกว่า ประกอบกับยังขาดคู่มือการประเมินผลกระทบของกฎหมาย ซึ่งกำหนดรายละเอียดในการจัดทำรายงานการประเมิน เช่น แบบฟอร์มสำเร็จรูปในการประเมินผลกระทบที่เป็นไปตามมาตรฐาน รวมถึงยังขาดกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และขาดหน่วยงานที่ตรวจสอบคุณภาพของรายงาน ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญของการจัดทำรายงานผลการประเมินกฎหมายที่ดีตามมาตรฐานสากล

  • คณะผู้วิจัย ได้จัดทำข้อเสนอเเนะต่อการปรับปรุงระบบการประเมินผลกระทบของกฎหมาย (Regulatory Impact Assessment) สำหรับประเทศไทย สรุปได้ ดังนี้ 

    1. ข้อเสนอแนะที่เกี่ยวกับกระบวนการประเมินผลกระทบของกฎหมาย : ปัจจัยสำคัญที่สุด คือต้องทำในช่วงระยะเวลาที่ถูกต้อง มีวิธีการในการรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เหมาะสม และมีการประสานงานใกล้ชิดกับภาคเอกชน
    2. ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับเนื้อหาสาระของกฎหมาย : เนื่องจากประเทศไทยยังไม่มีประสบการณ์ในการประเมินผลกระทบของกฎหมายเท่าใดนัก จึงควรที่จะจำกัดกรอบในการประเมินเฉพาะสำหรับกฎหมายในระดับพระราชบัญญัติ และควรมีการปรับแก้กฎหมายร่วมด้วย
    3. ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับยุทธศาสตร์ในการผลักดันให้เกิดการปฏิรูประบบการประเมินผลกระทบของกฎหมาย : ควรให้ความสำคัญกับองค์ประกอบ 3 ด้าน ได้เเก่ (1) การพัฒนา หรือปรับปรุงระบบการประเมินผลกระทบของกฎหมายให้เป็นส่วนหนึ่งของการปฏิรูปประเทศ (2) การพัฒนาระบบการประเมินผลกระทบของกฎหมายที่มีเป้าหมายที่ชัดเจนตรวจสอบได้ และ (3) มีหน่วยงานที่รับผิดชอบในการติดตามและตรวจสอบการประเมินผลกระทบของกฎหมายโดยเฉพาะ ที่สำคัญหน่วยงานจะต้องมีความเป็นอิสระจากฝ่ายบริหาร และส่วนราชการ รวมทั้งเป็นหน่วยงานที่ได้รับความไว้วางใจจากสาธารณชนว่ามีความเป็นมืออาชีพด้วย
เอกสารอ้างอิง
รูปแบบ APA

สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย. (2557). การวิเคราะห์ผลกระทบในการออกกฎหมาย (Regulatory Impact Analysis). สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ).

ปีที่แต่ง (พ.ศ.)
2557
ผู้แต่ง
  • สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย
หน่วยงาน

หัวข้อ
Related Content

โครงการศึกษาเรื่องการแสวงหาผลประโยชน์จากการอนุญาต โดยใช้อำนาจรัฐ

ศึกษาการตรวจสอบดุลพินิจของฝ่ายปกครองในการออกใบอนุญาต และศึกษากฎหมายต่างประเทศเพื่อเสนอแนะมาตรการทางกฎหมายในการป้องกันการแสวงหาผลประโยชน์จากการอนุญาตโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐ

โครงการพัฒนากฎหมายป้องกันและปราบปรามการทุจริต

เพื่อศึกษาเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 244 มาตรา 245 ประกอบมาตรา 221 เกี่ยวกับการวางระบบการร่วมมือกันทำงานขององค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ เพื่อกำหนดมาตรการ และวิธีการทำงานร่วมมือกันของ
องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตเชิงนโยบายอย่างมีประสิทธิภาพ
ประสิทธิผล

โครงการประเมินองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญว่าด้วยการต่อต้านคอร์รัปชัน

ประเมินผลการทำงานขององค์กรอิสระที่มีหน้าที่ต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน ทั้งสำนักงาน ป.ป.ช. คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน และผู้ตรวจการแผ่นดิน ว่าทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพหรือไม่

You might also like...

KRAC Hot News I ปลดล็อกรังนกจากถ้ำสู่บ้านอย่างไร ให้โปร่งใสไร้ทุจริต

การส่งออกรังนกไทยมีมูลค่าสูงขึ้นเรื่อย ๆ ตามความต้องการของผู้บริโภค ธุรกิจรังนกจึงสร้างรายได้มหาศาลให้กับเศรษฐกิจไทยในปัจจุบัน แต่หากขาดการกำกับดูแลให้โปร่งใส อาจจะก่อให้เกิดผลเสียมหาศาลกับธุรกิจไทยได้

KRAC คัดสรร เล่างานวิจัยไทย | “ธรรมาภิบาล” หลักการที่ยืดหยุ่น พร้อมสร้างประสิทธิภาพ

เคยสงสัยไหมว่าทำไมหลักธรรมาภิบาลของแต่ละองค์กรถึงดูไม่เหมือนกัน บางองค์กรมี 6 หลัก บางองค์กรมี 8 หลัก ความจริงแล้วหลากหลายองค์กรทั่วโลกล้วนมีการวางแนวคิดเกี่ยวกับธรรมาภิบาลที่ต่างกัน โดยงานวิจัยเรื่อง “โครงการวิจัยพัฒนาฐานข้อมูล องค์ความรู้ด้านธรรมาภิบาล (ระยะที่ 2)” (2563) ได้ศึกษาเรื่องนี้เอาไว้

โครงการวิจัยพัฒนาฐานข้อมูลองค์ความรู้ด้านธรรมาภิบาล (Phase 2)

การศึกษาเพื่อสร้างตัวชี้วัดสำหรับการประเมินและติดตามการนำหลักธรรมาภิบาลไปใช้ในการบริหารจัดการขององค์กรในประเทศไทย พบว่า มีความเหมาะสมในการนำไปใช้ในระดับมาก และยังสามารถปรับปรุงดัชนีชี้วัดบางตัวเพื่อให้สอดคล้องการทำงานของแต่ละหน่วยงานได้