คิดด้วยพลเมือง(See-Think-Cen’) : เมื่อปลายทางการเรียกร้องไม่สมหวัง แล้วประชาชนได้อะไร

10 20 30 40 (รู้นะ ว่ามีคนร้องเป็นทำนอง) นี่ไม่ใช่เนื้อเพลงคุ้นหูที่เคยเป็นไวรัลในโลกอินเตอร์เน็ตเมื่อหลายปีก่อน แต่เป็นจำนวนปีของการออกมาขับเคลื่อนประเด็นปัญหาต่างๆ และยืนหยัดในอุดมการณ์ของผู้คนในประเทศนี้ บางปัญหามีผู้รับฟังและได้คลี่คลายไปแล้ว ในทางกลับกันก็มีอีกหลายเรื่องที่แม้จะมีผู้รับฟังแต่ก็ยังไม่คลี่คลายจนกินระยะเวลานับสิบปี หากเทียบอย่างหยาบๆ มันคือระยะเวลาที่สามารถเปลี่ยนให้นักเรียนมัธยมต้นกลายมาเป็นพนักงานออฟฟิศได้ แต่กลับไม่นำพาชัยชนะใดๆ มาสู่ผู้เรียกร้องเลย

การเดินบนทางสายยาวที่ไม่ได้โรยด้วยกลีบแต่เป็นหนามกุหลาบคงดูท้อแท้และเจ็บปวดไม่น้อย แต่ก็มีคนที่เห็นอะไรบางอย่างจากการเดินทางครั้งนี้ และปลายทางที่ไม่สมหวังไม่อาจพรากความหวังไปจากเขาได้ เพราะถึงแม้จะไม่ได้มีชัยชนะรออยู่แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าสิ่งที่ทำไปนั้นสูญเปล่า

ประชาชนได้อะไรจากสิ่งนี้ “เขื่อนไซยะบุรี”ที่ผู้มีส่วนได้เป็นรัฐ แต่ผู้มีส่วนเสียคือประชาชน

เริ่มจากกรณี 10 ปี คดีเขื่อนไซยะบุรีที่เครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขงฟ้องหน่วยงานรัฐโดยมีมูลเหตุยื่นฟ้องเป็นเรื่องของสัญญาซื้อขายไฟฟ้าที่ไม่สมบูรณ์ ละเลยต่อข้อปฏิบัติและกฎหมายในประเทศ และการอนุมัติของคณะรัฐมนตรีให้ลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าไซยะบุรีไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่เพียงเท่านั้นการมาของเขื่อนไซยะบุรียังบดขยี้ทุกสมดุลของแม่น้ำโขงอย่างไม่มีวันหวนคืน ถึงแม้เขื่อนจะสร้างที่ลาวแต่ลุ่มน้ำโขงไม่ได้แยกจากกัน นั่นจึงทำให้สิ่งแวดล้อมและชุมชนกำลังเผชิญกับผลกระทบที่ไม่ควรเจอ เช่น การลดลงของพันธ์ุปลา ความหลากหลายทางชีวภาพที่กำลังถดถอย ความมั่นคงทางอาหารที่กำลังสั่นคลอน รวมไปถึงน้ำแล้งที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อการประกอบอาชีพของชุมชนกว่าพันแห่งที่มีวิถีชีวิตยึดโยงกับแม่น้ำโขง ประชาชนไม่เคยต่อต้านการพัฒนาแต่ก็ไม่เคยเรียกร้องเอาโรงไฟฟ้าพลังน้ำที่ถูกขนานนามว่า “แบตเตอรี่แห่งอีสาน” นี้เช่นกัน

ท้ายที่สุดเมื่อ 2565 ที่ผ่านมาศาลได้พิจารณายกฟ้องโดยให้เหตุผลว่าไม่ได้มีการละเลยหน้าที่แต่อย่างใด และไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าการดำเนินโครงการ หรือกิจกรรมในเรื่องการจัดซื้อไฟฟ้าจากโครงการไซยะบุรีก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง

แม้ระยะเวลา 10 ปีที่ต้องต่อสู้ผ่านกระบวนการทางกฎหมายจะไม่ได้นำความยุติธรรมคืนสู่ประชาชน มิหนำซ้ำยังต้องผวากับการข่มขู่จากมือที่มองไม่เห็นอีก แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าความพยายามครั้งนี้ไร้ความหมาย หากมองในฐานะพลเมืองเราพบว่ามีสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วจากพวกเขานั่นก็ คือ การสร้างแรงกระเพื่อมให้คนอีกมากมายได้รับรู้ว่ามีความอยุติธรรมที่เกิดขึ้นจากการรู้เห็นเป็นใจของผู้มีอำนาจให้ละเมิดสิทธิ์เสียงของประชาชน สร้างมาตรฐานใหม่ว่าไม่ว่าคุณจะเป็นใครแต่หากละเมิดสิทธิ์ข้ามพรมแดนเช่นนี้ก็สามารถถูกฟ้องได้ และสิ่งสุดท้ายคือการดำเนินคดีในครั้งนี้ทำให้เกิดการชี้แจงข้อมูลจากผู้เกี่ยวข้อง เกิดการเปิดเผยข้อมูลที่ประชาชนควรได้รับทราบ นี่เป็นเพียงสิ่งที่มองเห็นจากคนคนเดียวแต่เชื่อว่ายังมีอีกมากมายที่เครือข่ายประชาชน 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขงได้สร้างไว้

จากลุ่มแม่น้ำโขงสู่นิคมอุตสาหกรรมจะนะ เมืองต้นแบบแห่งสามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ที่คนจะนะไม่ได้เลือก

“นิคมอุตสาหกรรมจะนะ ต้นแบบแห่งอนาคต” คำถามคืออนาคตของใครกันแน่ ในเมื่อนิคมอุตสาหกรรมดังกล่าวเต็มไปด้วยความไม่ชอบมาพากล ถ้าหากจะให้เอาปากกามาวงก็คงต้องเหมายกโหล เริ่มตั้งแต่การวางเป้าหมายโครงการว่าจะเป็นการขยายรายได้ให้กับคนในพื้นที่ด้วยการประกาศเป็นเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจที่หมายถึงว่าจะได้รับการยกเว้นจากกฎหมายหลายฉบับ จากนั้นหวยก็มาออกที่การสร้างนิคมอุตสาหกรรมซึ่งถ้าหากมีการค้นคว้าสักนิดก็จะทราบว่ารายได้ส่วนใหญ่ของประชาชนในพื้นที่นั้นมาจากการทำประมง การเกษตร และการท่องเที่ยว อีกทั้งทักษะของคนในพื้นที่ยังเอื้อต่อการทำอาชีพที่พึ่งพาฐานทรัพยากรอันอุดมสมบูรณ์มากกว่าการไปเป็นแรงงานอุตสาหกรรม และที่สำคัญคือไม่เคยมีการรับฟังเสียงของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหรือชุมชนซึ่งเป็นกลุ่มที่รัฐบาลในตอนนั้นบอกว่าจะเข้าไป “ขยายรายได้” เลย

ยังไม่รวมถึงผลกระทบต่อในเชิงกายภาพจากทั้งท่าเรือน้ำลึกที่จะเปลี่ยนสภาพพื้นที่ตรงนั้นไปตลอดกาล ปัญหาที่จะตามมาคือความแออัดโดยรอบดังที่เคยเกิดขึ้นกับท่าเรืออื่นๆ ในประเทศ อีกทั้งยังมีโรงไฟฟ้า และอุตสาหกรรมประเภทอื่นๆ ที่จะนำมาซึ่งการสูญเสียฐานทรัพยากรชายฝั่งที่ไม่สามารถประเมินค่าออกมาเป็นตัวเลขได้ ผืนน้ำ แผ่นดิน และอากาศจะถูกปกคลุมด้วยมลพิษจากโรงงานอุตสาหกรรม เมื่อประชาชนไม่สามารถเลือกกลั้นหายใจได้ก็ต้องทนสูดอากาศพิษเข้าไปสัตว์น้ำเองก็เช่นกันเพราะพวกมันไม่สามารถตีตั๋วย้ายถิ่นที่อยู่ได้ก็ต้องทนอาศัยในแหล่งน้ำสกปรกและค่อยๆ ทยอยลดจำนวนลงในที่สุด

แน่นอนว่าชาวจะนะภายใต้ชื่อ “เครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น”และภาคีก็ไม่ได้นิ่งเฉยต่อสถานการณ์นี้เฉกเช่นเดียวกับเครือข่ายประชาชน 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง พวกเขาออกมาคัดค้านโครงการนิคมอุตสาหกรรมนี้โดยมีการยื่นข้อเรียกร้องต่อรัฐและพยายามหาทางออกร่วมกันมากมายจนมีคนให้ความสนใจและร่วมแสดงความเห็นผ่านแฮชแท็ก #saveจะนะ อย่างล้นหลาม แต่ถึงอย่างนั้นเองสิ่งที่ชาวจะนะได้รับกลับเป็นการใช้กำลังสลายการชุมนุมและยังถูกแจ้งข้อหาโดยอาศัย พ.ร.ก.ฉุกเฉินอีกด้วย ปัจจุบันได้มีการชะลอโครงการเอาไว้เท่านั้น

ชาวจะนะในวันนี้เป็นอย่างไร และกำลังทำอะไรอยู่

ชาวจะนะไม่เคยหยุดหรือชะลอการขับเคลื่อนแต่อย่างใดในทางกลับกันได้มีการพัฒนาแนวทางการขับเคลื่อนและพัฒนาชุมชนร่วมกับภาคีมากมายทั้งภายในและภายนอกพื้นที่อยู่เสมอ จนอาจกล่าวได้ว่านำหน้าภาครัฐไปแล้วด้วยซ้ำ เช่น การจัดทำฐานข้อมูลเปิดชุมชนโดยชุมชนเองบนแพลตฟอร์ม Notion ร่วมกับกลุ่ม Around the Room Studio ผู้จัดทำโครงการส่งเสริมความเข้มแข็งแก่ชุมชนอย่างมีส่วนร่วมเพื่อสร้างธรรมาภิบาลในระดับท้องถิ่นที่นำเอาหลักการบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพมาเชื่อมโยงชุมชน สังคม และการรักษาฐานทรัพยากรเข้าด้วยกัน การรวมข้อมูลเข้ามาไว้ที่เดียวและทำให้เข้าถึงได้ง่ายทำให้เรื่องราวของจะนะถูกสื่อสารออกไปได้ง่ายขึ้น ทำให้สังคมภายนอกได้เห็นว่าจะนะมีค่าเกินกว่าจะเป็นพื้นที่รองรับอุตสาหกรรมที่ไม่ได้ร้องขอ อีกทั้งยังเป็นประโยชน์แก่การพัฒนาต่อยอดและสร้างความเปลี่ยนแปลงเชิงบวกแก่พื้นที่ด้วย

จากทั้งสองกรณีดังกล่าวทำให้เราเห็นว่าประชาชนใช้สิทธิ์และทำตามหน้าที่ของพลเมืองอย่างเต็มที่แล้ว ทุกความพยายามไม่เคยสูญเปล่า แต่อันที่จริงไม่ควรใครต้องพยายามอยู่ฝ่ายเดียว เพราะเราทุกคนไม่ว่าจะรัฐบาล ประชาชน หรือหน่วยงานอื่นๆ ต่างก็เป็นเจ้าของประเทศร่วมกัน ดังนั้นจะเป็นการดีกว่านี้หรือไม่หากเรามีพื้นที่และโอกาสให้แบ่งปันมุมมองต่อปัญหาและทางออกร่วมกัน การรับฟังกันอย่างจริงจังและจริงใจ รวมไปถึงการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจและความเชื่อมั่นต่อกันซึ่งอาจเป็นสิ่งที่ยังขาดไปในกลไกการขับเคลื่อนประเทศนี้ ไม่ใช่แค่เพียงรัฐที่จะช่วยประชาชนได้ แต่ในหลายๆ ครั้งประชาชนเองก็สามารถเป็นเพื่อนคู่คิดกับรัฐได้เช่นเดียวกัน โดยเฉพาะปัญหาที่เกี่ยวเนื่องกับพื้นที่และฐานทรัพยากรชุมชนเพราะคงไม่มีใครรู้จักพื้นที่ดีไปกว่าคนในชุมชนที่เฝ้าดูแลรักษาพื้นที่มานับชั่วอายุคนอยู่แล้ว ประชาชนไม่เคยอยากเป็นศัตรูกับรัฐเพราะพวกเราเองก็ต้องการขับเคลื่อนประเทศไปสู่การพัฒนาเช่นเดียวกันเพียงแต่การพัฒนานั้นควรคำนึงถึงทุกเสียงอย่างครอบคลุมและเสมอภาคที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้เท่านั้นเอง

ปีที่แต่ง (พ.ศ.)
2567
ผู้แต่ง

ทวิตียา บูรณเกียรติศักดิ์

หน่วยงานสนับสนุน

หัวข้อ
Related Content

แนวหน้าต่อต้านคอร์รัปชัน : อัปเดตประชุมวิชาการโลกเรื่องคอร์รัปชัน

เมื่อช่วงต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา ผศ. ดร.ต่อภัสสร์ ยมนาค Co-Founder บริษัท HAND Social Enterprise ได้รับเชิญไปบรรยายในงานประชุมทางวิชาการ Cambridge Economic Crime ที่จัดขึ้นเป็นปีที่ 40 แล้ว ซึ่งงานนี้ถือได้ว่าเป็นงานประชุมวิชาการระดับนานาชาติที่เกี่ยวข้องกับเรื่องคอร์รัปชันที่ใหญ่ที่สุดงานหนึ่ง โดยผศ. ดร.ต่อภัสสร์ ยมนาค ได้เข้าร่วมบรรยายเกี่ยวกับผลงานวิจัยเรื่องประสิทธิภาพที่แท้จริงของความโปร่งใสในการต่อต้านคอร์รัปชัน ผ่านการศึกษาผลกระทบจากโครงการความโปร่งใสในการก่อสร้างภาครัฐ (Infrastructure Transparency: CoST)

แนวหน้าต่อต้านคอร์รัปชัน : อยากแก้ปัญหาปากท้องก่อน แต่ถ้าไม่ปฏิรูปตำรวจ ก็แก้ยาก !

ซับซ้อน ซ่อนเงื่อน มืดเทา อาจเป็นคำนิยามวงการตำรวจไทยในปัจจุบัน ? หากเราพูดถึงวงการตำรวจ หลาย ๆ คนคงจะนึกถึงเรื่องที่ตำรวจดันไปเป็นผู้ที่มีส่วนร่วมกับการทุจริต ไม่ว่าจะเป็นกรณีหมูเถื่อน กำนันนก ทุนจีนสีเทา หรือข่าวอาชญากรรมต่าง ๆ แทนที่จะมองว่า ตำรวจคือผู้ที่รักษาความสงบให้บ้านเมือง และคุ้มครองประชาชนให้รู้สึกปลอดภัย

แนวหน้าต่อต้านคอร์รัปชัน : สติ๊กเกอร์ส่วย…แก้ได้ ?

จะแก้ปัญหาอย่างไรให้ชีวิตปลอดภัยจากผลกระทบของสินบน ? ประเด็นร้อนทุจริตเร็ว ๆ นี้คงหนีไม่พ้นเรื่อง “ส่วยสติกเกอร์” หลังว่าที่ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกลวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ออกมาแฉตั้งแต่กลไกไปจนถึงราคาอย่างที่หลายคนคงได้ยินมาบ้างแล้ว แต่ที่สำคัญกว่านั้น รู้หรือไม่ว่าเรื่องของส่วยรถบรรทุกที่ดูเหมือนเป็นเรื่องไกลตัว จริง ๆ แล้วใกล้ตัวกว่าที่เราคิด

You might also like...

KRAC Hot News I ปลดล็อกรังนกจากถ้ำสู่บ้านอย่างไร ให้โปร่งใสไร้ทุจริต

การส่งออกรังนกไทยมีมูลค่าสูงขึ้นเรื่อย ๆ ตามความต้องการของผู้บริโภค ธุรกิจรังนกจึงสร้างรายได้มหาศาลให้กับเศรษฐกิจไทยในปัจจุบัน แต่หากขาดการกำกับดูแลให้โปร่งใส อาจจะก่อให้เกิดผลเสียมหาศาลกับธุรกิจไทยได้

KRAC คัดสรร เล่างานวิจัยไทย | “ธรรมาภิบาล” หลักการที่ยืดหยุ่น พร้อมสร้างประสิทธิภาพ

เคยสงสัยไหมว่าทำไมหลักธรรมาภิบาลของแต่ละองค์กรถึงดูไม่เหมือนกัน บางองค์กรมี 6 หลัก บางองค์กรมี 8 หลัก ความจริงแล้วหลากหลายองค์กรทั่วโลกล้วนมีการวางแนวคิดเกี่ยวกับธรรมาภิบาลที่ต่างกัน โดยงานวิจัยเรื่อง “โครงการวิจัยพัฒนาฐานข้อมูล องค์ความรู้ด้านธรรมาภิบาล (ระยะที่ 2)” (2563) ได้ศึกษาเรื่องนี้เอาไว้

โครงการวิจัยพัฒนาฐานข้อมูลองค์ความรู้ด้านธรรมาภิบาล (Phase 2)

การศึกษาเพื่อสร้างตัวชี้วัดสำหรับการประเมินและติดตามการนำหลักธรรมาภิบาลไปใช้ในการบริหารจัดการขององค์กรในประเทศไทย พบว่า มีความเหมาะสมในการนำไปใช้ในระดับมาก และยังสามารถปรับปรุงดัชนีชี้วัดบางตัวเพื่อให้สอดคล้องการทำงานของแต่ละหน่วยงานได้