KRAC Public Lecture | สร้างสะพานเพื่อเชื่อมประสานความร่วมมือข้ามภาคส่วนในการต่อต้านคอร์รัปชัน

คอร์รัปชันเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศไทยที่สั่งสมมายาว ถึงขนาดที่หลายคนมองว่าคอร์รัปชันเป็นวัฒนธรรมของสังคมไทย นั่นจึงเป็นเหตุผลที่มันเป็นเรื่องที่แก้ไขได้ยาก แต่มันเป็นความจริงใช่ไหม? เพราะข้อเท็จจริงดูเหมือนจะตรงกันข้ามกับคำกล่าวดังกล่าว เพราะตลอดหลายปีที่ผ่านมาเรามีหลากหลายหน่วยงานที่ทำงานอย่างแข็งขันเพื่อแก้ไขปัญหานี้ 

 

ตลอดหลาย 10 ปีที่ผ่านมาประเทศไทยมีหน่วยงาน กฎหมาย และนโยบายหลากหลายฉบับที่ออกมาอย่างต่อเนื่องเพื่อแก้ไขและป้องกันการเกิดคอร์รัปชันที่มีพลวัตรอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายที่วันนี้ทำงานเชิงรุกมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการสร้างความร่วมมือระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ แต่บางครั้งภาครัฐก็มีข้อจำกัดหลายอย่าง ทำให้ภาคประชาชนและประชาสังคมต้องเข้ามามีบทบาทมากขึ้น 

 

ศูนย์ความรู้เพื่อความร่วมมือในการต่อต้านคอรรัปชัน และส่งเสริมธรรมาภิบาลในระดับภูมิภาค คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สนับสนุนการดำเนินงานโดยสำนักงานการวิจัยเเห่งชาติ (วช.) ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เห็นถึงโอกาสดังกล่าวจึงจัดกิจกรรมบรรยายสาธารณะในหัวข้อ Building Bridges: Strengthening Collaboration Between Law Enforcement and Citizens for an Effective Anti-Corruption Ecosystem” ในวันที่ 16 มกราคม 2568 ณ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตามมาด้วยกิจกรรมหารือความร่วมมือร่วมกันจากหน่วยงานภาครัฐ และภาคประชาสังคม โดยมีหน่วยงานจากทั้งไทยและต่างประเทศเข้าร่วมกว่า 11 หน่วยงาน  

โดยได้รับเกียรติจาก รองศาสตราจารย์ ดร.นพพล วิทย์วรพงศ์ คณบดี คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมงานและขอบคุณวิทยากรในโครงการบรรยายสาธารณะ หัวข้อ “Building Bridges: Strengthening Collaboration Between Law Enforcement and Citizens for an Effective Anti-Corruption Ecosystem” ซึ่งจัดโดย ศูนย์ความรู้เพื่อความร่วมมือในการต่อต้านคอร์รัปชันและส่งเสริมธรรมาภิบาลในระดับภูมิภาค คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยได้รับการสนับสนุนโดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (สำนักงาน ป.ป.ช.) เพื่อหาแนวทางการสร้างระบบนิเวศต่อต้านคอร์รัปชันในสังคมไทย  

 

คุณจันทิรา จิตรชื่น ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ กล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (สำนักงาน...) ขอขอบคุณศูนย์ความรู้เพื่อความร่วมมือในการต่อต้านคอร์รัปชันและส่งเสริมธรรมาภิบาลในระดับภูมิภาค ที่ได้มีความร่วมมือกับสำนักงาน ป.ป.ช. ในด้านการต่อต้านคอร์รัปชันเป็นอย่างดีเสมอมา และงานในครั้งนี้เกิดขึ้นเพื่อเป็นการหาแนวทางในการประสานความร่วมมือเพื่อการต่อต้านคอร์รัปชัน โดยภารกิจของสำนักงาน ป.ป.ช. ในการต่อต้านคอร์รัปชันประกอบไปด้วยการป้องกัน การปราบปราม และการป้องปรามการคอร์รัปชัน ซึ่งในการประสานความร่วมมือระหว่างกันในครั้งนี้ ถือเป็นภารกิจในด้านการป้องกันตามนโยบายของสำนักงาน ป.ป.ช. โดยได้มีการดำเนินงานประสานความร่วมมือ แลกเปลี่ยนข้อมูล และสร้างเครือข่ายเพื่อปลูกฝังความซื่อสัตย์สุจริตในสังคม นอกจากนี้ ทางสำนักงาน ป.ป.ช. ยังได้มีการดำเนินงานในด้านการสืบสวน จากการสร้างเครือข่ายการแจ้งเบาะแสคอร์รัปชันที่เชื่อมโยงมาที่สำนักงาน ป.ป.ช. เพื่อให้เกิดการดำเนินงานตรวจสอบและติดตาม ที่จะส่งผลให้สามารถลดความเสียหายที่อาจเกิดจากการคอร์รัปชันได้ 

 

ในขณะที่ ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กล่าวว่า งานในครั้งนี้ได้สะท้อนถึงควาสำคัญของการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานผู้บังคับใช้กฎหมาย ในการสร้างระบบนิเวศเพื่อการต่อต้านคอร์รัปชันที่มีประสิทธิภาพ รวมถึงการส่งเสริมการเรียนรู้ละการแลกเปลี่ยนทรัพยากรด้านการต่อต้านคอร์รัปชันทั้งจากไทยและต่างประเทศ โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาร่วมกันผลักดันการศึกษาวิจัยด้านการต่อต้านคอร์รัปชันและการส่งเสริมธรรมาภิบาลของประเทศไทย ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญในการเปลี่ยนแปลงสถานการณ์การคอร์รัปชันของประเทศไทยให้ดีขึ้นในอนาคต และทางสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ได้สนับสนุนทุนให้กับศูนย์ความรู้เพื่อความร่วมมือในการต่อต้านคอร์รัปชันและส่งเสริมธรรมาภิบาลในระดับภูมิภาค เพื่อให้เป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ (Hub of Knowledge) ในการต่อต้านคอร์รัปชัน โดยหวังเป็นอย่างยิ่งว่ากิจกรรมในครั้งนี้ จะเป็นโอกาสสำคัญในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และสร้างประสบการณ์ต่อแนวทางการวิจัยใหม่ ๆ ที่สามารถนำไปต่อยอดและพัฒนานโยบายและกลไกการต่อต้านคอร์รัปชัของประเทศไทยต่อไปในอนาคต 

ภายในงาน ได้มีการจัดกิจกรรมบรรยายสาธารณะโดยมี Professor Matthew C. Stephenson, Professor of Law at Harvard Law School เป็นผู้บรรยายหลักในหัวข้อBuilding Bridges: Strengthening Collaboration Between Law Enforcement and Citizens for an Effective Anti-Corruption Ecosystem”  โดย KRAC ได้สรุปประเด็นที่น่าสนใจ ดังนี้ 

 

Professor Matthew C. Stephenson, Professor of Law at Harvard Law School ได้กล่าวถึงความสำคัญของการสร้างความร่วมมือระหว่างหน่วยงานบังคับใช้กฎหมาย (Law enforcement) และหน่วยงานภาคประชาสังคม (Civil society organizations) ในลักษณะของการสร้าง สะพาน ที่เชื่อมโยงระหว่างทั้งสองภาคส่วน และควรมีเป้าหมายที่มุ่งเน้นไปเพื่อทำให้เกิดการปรับปรุงแนวทางและช่องทางที่จะทำให้ดำเนินงานร่วมกันมีประสิทธิภาพที่มากขึ้น 

สำหรับหน่วยงานบังคับใช้กฎหมาย (Law enforcement) การสร้างสะพานที่เชื่อมโยงการทำงานเข้ากับภาคประชาสังคม ซึ่งในที่นี้หมายร่วมถึงสื่อองค์กรเอกชน องค์กรไม่แสวงหาผลกำไร และหน่วยงานสื่อ จะทำให้เกิดประโยชน์ในการดำเนินงานต่อต้านคอร์รัปชันของหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายใน 4 ประเด็นสำคัญ ประกอบด้วย

  1. หน่วยงานภาคประชาสังคมจะเป็นกำลังสำคัญ ที่ช่วยให้การตรวจจับและสืบสวนการคอร์รัปชันที่เกิดขึ้นในสังคมมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปัจจุบันที่ปัญหาคอร์รัปชันในสังคมมีแนวโน้มที่จะเกิดในบริบทของความเป็นท้องถิ่น และมีลักษณะข้ามชาติมากขึ้น ทำให้บทบาทการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคม จะช่วยทำให้เกิดการตรวจสอบติดตามคอร์รัปชันที่มีประสิทธิภาพ และนำไปสู่ความโปร่งใสได้
  2. หน่วยงานภาคประชาสังคมจะเป็นช่องทาง ที่ช่วยให้หน่วยงานบังคับใช้กฎหมายได้รับทราบถึงความต้องการและความคาดหวังของประชาชนและประชาสังคมที่มีต่อแนวทางการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชัน ซึ่งจะส่งผลต่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ข้อมูลระหว่างกัน รวมถึงจะทำให้การดำเนินงานของภาครัฐมีความยึดโยงและตั้งอยู่บนฐานความต้องการของประชาชนเป็นสำคัญ
  3. หน่วยงานภาคประชาสังคมจะเป็นผู้อธิบายสถานการณ์ภาครัฐ ที่จะช่วยบอกเล่าถึงวิสัยทัศน์ พันธกิจ ภารกิจ รวมถึงปัญหาที่หน่วยงานบังคับใช้กฎหมายต้องเจอกับความท้าทายของปัญหาคอร์รัปชันในปัจจุบัน ในลักษณะการสื่อสารที่ไม่เป็นทางการ เข้าใจได้โดยง่าย และมีความเป็นมนุษย์มากขึ้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะส่งผลให้ผู้คนในสังคมเกิดความเข้าใจถึงสิ่งที่หน่วยงานภาครัฐกำลังดำเนินการ รวมถึงความยากลำบากที่ภาครัฐกำลังเผชิญอยู่ และส่งเสริมการเข้ามามีส่วนร่วมในการออกแบบวิธีการแก้ไขปัญหาที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น
  4. หน่วยงานภาคประชาสังคมจะเป็นผู้ปกป้องภาครัฐ ในกรณีที่หน่วยงานบังคับใช้กฎหมายสามารถสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจให้กับภาคประชาสังคมที่มีต่อการทำงานของตน รวมถึงเปิดโอกาสให้ภาคประชาสังคมได้เข้ามารับรู้และทำความเข้าใจถึงสิ่งที่ภาครัฐกำลังดำเนินงานอยู่ ซึ่งหากเมื่อสังคมมีการตั้งคำถามถึงสิ่งที่หน่วยงานภาครัฐกำลังดำเนินการอยู่ ภาคประชาสังคมที่เข้าใจและมีความไว้เนื้อเชื่อใจต่อภาครัฐเหล่านี้ จะให้การสนับสนุนและช่วยเหลือหน่วยงานรัฐในการอธิบายถึงสถานการณ์ที่ภาครัฐกำลังเผชิญอยู่ และทำให้การทำงานตั้งอยู่บนฐานของความร่วมมือและความเข้าใจระหว่างกัน ที่จะนำไปสู่การต่อต้านคอร์รัปชันที่มีประสิทธิภาพและยั่งยืนต่อไปในอนาคต
     

สำหรับหน่วยงานภาคประชาสังคม (Civil society organizations) การสร้างสะพานที่เชื่อมโยงการทำงานเข้ากับหน่วยงานบังคับใช้กฎหมาย จะทำให้เกิดประโยชน์ในการดำเนินงานต่อต้านคอร์รัปชันใน 3 ด้านสำคัญ ได้แก่

  1. การที่หน่วยงานบังคับใช้กฎหมายจะเป็นแหล่งที่มาของข้อมูลที่สำคัญต่อหน่วยงานภาคประชาสังคม ในการนำมาใช้ประโยชน์เพื่อการกำกับติดตามและสืบสวนสอบสวนในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการทุจริตคอร์รัปชัน
  2. การทำความเข้าใจมุมมองและกระบวนการทำงานของหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายที่มีต่อการต่อต้านคอร์รัปชันอย่างรอบด้านและครอบคลุม จะช่วยทำให้หน่วยงานภาคประชาสังคมสามารถหาวิธีการที่จะโน้มน้าวและส่งต่อข้อเสนอแนะเชิงนโยบายของตนเอง ให้สอดคล้องและเป็นไปตามเป้าหมายของหน่วยงานภาครัฐได้
  3.  หน่วยงานบังคับใช้กฎหมายจะเป็นตัวเชื่อมสำคัญที่ทำให้หน่วยงานภาคประชาสังคม สามารถผลักดันร่างกฎหมายและนโยบายที่จะส่งเสริมให้การดำเนินงานต่อต้านคอร์รัปชันของภาคประชาสังคมมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ผ่านการมีเครือข่ายความสัมพันธ์ที่เข้มแข็งและเชื่อมโยงกับหน่วยงานบังคับใช้กฎหมาย 

ทั้งนี้ ในการสร้างสะพานที่จะก่อให้เกิดความร่วมมือหรือสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายและหน่วยงานภาคประชาสังคมในที่นี้ ไม่ได้เป็นการหมายความถึงการที่ทั้งสองภาคส่วนจะต้องมีมุมมองที่เห็นพ้องต้องกันในทุกประเด็น แต่เป็นการสนับสนุนโอกาสที่แต่ละหน่วยงานจะได้พูดคุยระหว่างกันบนฐานของวิพากษ์กันอย่างเคารพและเปิดใจเรียนรู้ซึ่งกันและกัน เพื่อที่จะนำไปสู่การขับเคลื่อนความร่วมมือในการต่อต้านคอร์รัปชันได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืนได้ในสังคม 

สำหรับในส่วนการประชุมเสวนาภายใต้หัวข้อการเชื่อมประสานการทำงานร่วมกันของภาคีเครือข่ายต่อต้านคอร์รัปชันในประเทศไทยได้รับเกียรติจาก  Ms. Annika Wythes ที่ปรึกษาภูมิภาคด้านการต่อต้านคอร์รัปชัน จาก UNODC พันตรีหญิง นิมมาน์ แก่นกำจร สำนักส่งเสริมและบูรณาการการมีส่วนร่วมต้านทุจริต สำนักงาน ป.ป.ช. ดร.มานะ นิมิตมงคล ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) และพันตำรวจตรีหญิงมนัสนันท์ กันทะสี อาจารย์ประจำคณะตำรวจศาสตร์ โรงเรียนนายร้อยตำรวจ ร่วมเเลกเปลี่ยนทิศทางการดำเนินงานด้านการต่อต้านคอร์รัปชันของเเต่ละหน่วยงานในในปี 2568 โดย KRAC ได้สรุปประเด็นที่น่าสนใจ ดังนี้ 

พันตรีหญิง นิมมาน์ แก่นกำจร สำนักส่งเสริมและบูรณาการการมีส่วนร่วมต้านทุจริต สํานักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (สํานักงาน ป.ป.ช.) ได้กล่าวถึงประเด็นด้านการสร้างระบบนิเวศด้านการต่อต้านคอร์รัปชันที่เอื้อต่อการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐและภาคประชาชน โดยภาครัฐจำเป็นที่จะต้องคำนึงถึงการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน โดยให้ประชาชนสามารถรวมกลุ่มกันและสามารถเข้าถึงหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายได้ง่ายและปลอดภัยมากขึ้น ในขณะที่ภาคประชาชนต้องไม่ทำการคอร์รัปชัน และสนับสนุนหรือยอมรับการคอร์รัปชันที่เกิดขึ้นในสังคม

 

นอกจากนี้ สำนักงาน ป.ป.ช. ยังได้ร่วมมือกับกระทรวงศึกษาธิการเพื่อนำเนื้อหาด้านการต่อต้านคอร์รัปชันเข้าไปบรรจุในหลักสูตรการศึกษาและทำให้ประชาชนตระหนักถึงปัญหาคอร์รัปชันตั้งแต่ปี พ.ศ. 2561 ซึ่งพบว่าปัจจุบันภาคประชาชนชนไทยมีการตื่นตัวและมีส่วนร่วมในด้านการต่อต้านคอร์รัปชันมากขึ้น และในด้านการตอบสนองต่อภาคประชาชน สำนักงาน ป.ป.ช. ได้มีการทำงานร่วมกับภาคประชาชน อาทิ ชมรม STRONG และปฏิบัติการหมาเฝ้าบ้าน เพื่อรับแจ้งข้อมูลส่อคอร์รัปชันเพื่อดำเนินการตรวจสอบต่อไป

 

สำหรับแนวทางการดำเนินงานในระยะต่อไปของสำนักงาน ป.ป.ช. จากประสบการณ์การทำงานในระยะที่ผ่านมา ทางสำนักงาน ป.ป.ช. พบว่าการสร้างสะพานด้านการต่อต้านคอร์รัปชันเป็นสิ่งที่ยากและมีความเสี่ยงสูง เนื่องจากในอดีตประชาชนมักมองเรื่องคอร์รัปชันเป็นเรื่องไกลตัวและเป็นเรื่องที่ไม่ได้อยู่ในความสนใจของสังคม แต่เมื่อนำเสนอประเด็นหรือปัญหาที่เป็นเรื่องใกล้ตัวมากขึ้น จะพบว่าประชาชนได้ให้ความสนใจเป็นอย่างมาก และความสนใจดังกล่าวจะนำไปสู่การทำให้ประชาชนเข้าใจปัญหาและผลกระทบของคอร์รัปชันที่มีต่อตนเองและสังคมได้ชัดเจนมากขึ้น

 

ดังนั้น หากต้องการสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนในการต่อต้านคอร์รัปชัน จึงควรเริ่มต้นจากกิจกรรมหรือประเด็นที่ใกล้ตัวประชาชนก่อน และทางสำนักงาน ป.ป.ช. ยังได้เชิญชวนหน่วยงานที่มีเครือข่ายของกลุ่มทำงานในแต่ละท้องถิ่นเพื่อให้มาใช้งบประมาณบูรณาการของสำนักงาน ป.ป.ช. สำหรับการดำเนินกิจกรรมของกลุ่ม และใช้สื่อเป็นช่องทางในการได้มาซึ่งเบาะแสที่เกี่ยวกับการคอร์รัปชัน โดยจัดให้มีเจ้าหน้าที่ที่คอยดูแลด้านความร่วมมือและการติดตามข้อมูลจากสื่อด้านการต่อต้านคอร์รัปชัน รวมถึงมีการปรับปรุงกฎหมายที่ช่วยลดข้อจำกัดในการทำงานต่อต้านคอร์รัปชัน ซึ่งถือเป็นแนวโน้มที่ดีของการทำงานด้านการต่อต้านคอร์รัปชันของประเทศไทยในระยะยาว 

ดร.มานะ นิมิตมงคล ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ได้กล่าวถึงการทำงานขององค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ที่มีการดำเนินการเพื่อสร้างพื้นที่ปลอดภัยในการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน เช่น ปฏิบัติการหมาเฝ้าบ้าน ที่มีการอบรมผู้เข้าร่วมในแต่ละพื้นที่จังหวัด และมีการใช้ช่องทางสื่อออนไลน์เป็นช่องทางในการสื่อสารหลัก

 

โดย ดร.มานะ ได้ชี้ให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงในช่วงระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมา ว่าข้อมูลที่ทางปฏิบัติการหมาเฝ้าบ้านได้รับเกี่ยวกับเบาะแสการคอร์รัปชัน มักจะมาจากประชาชนในพื้นที่ที่รับผลกระทบจากการคอร์รัปชันเป็นหลัก ซึ่งแตกต่างจากในอดีตที่ข้อมูลเหล่านี้มักจะมาจากการสืบเสาะแสวงหาโดยสมาชิกปฏิบัติงานของปฏิบัติการหมาเฝ้าบ้านเอง อันสะท้อนให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงต่อการตระหนักรู้เกี่ยวกับปัญหาการคอร์รัปชันที่เพิ่มขึ้นในสังคม

 

นอกจากนี้ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ยังดำเนินงานในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการผลักดันและปรับปรุงแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เช่น พระราขบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ ที่มีการแก้ไขบทบัญญัติทางกฎหมายให้มีการกำหนดบทบาทของภาคประชาชนให้มีส่วนร่วมในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างฯ เพื่อให้เกิดความโปร่งใส รวมถึงมีการพัฒนาเครื่องมือที่เกี่ยวข้องกับการเปิดเผยข้อมูลภาครัฐ เช่น ACT Ai เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการค้นหาข้อมูลที่เกี่ยวกับการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ

 

ทั้งยังมีการรณรงค์นโยบาย No Gift Policy ที่ในปัจจุบันได้มีการส่งต่อและผลักดันนโยบายดังกล่าวให้กับหน่วยงานภาครัฐ รวมถึงมีการรณรงค์เรื่องการต่อต้านคอร์รัปชันในภาคเอกชนที่เพิ่มมากขึ้น โดยมุ่งเน้นไปที่การส่งเสริมธรรมาภิบาลในภาคเอกชนผ่านกิจกรรมและโครงการต่าง ๆ ซึ่งถึงแม้ว่าในปัจจุบันจะมีอุปสรรคที่เป็นความท้าทายในการต่อต้านคอร์รัปชันที่ทุกภาคส่วนยังต้องเผชิญอยู่เป็นจำนวนมาก แต่การมีสะพานที่จะช่วยสนับสนุนให้เกิดกิจกรรมความร่วมมือขึ้นระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคมเหล่านี้ จะสามารถทำให้การทำงานเพื่อการต่อต้านคอร์รัปชันเกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน 

พันตำรวจตรีหญิง มนัสนันท์ กันทะสี คณะตำรวจศาสตร์ โรงเรียนนายร้อยตำรวจ ได้กล่าวถึงการดำเนินงานของโรงเรียนนายร้อยตำรวจ ซึ่งเป็นสถาบันการศึกษาในสังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ได้มีการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับประเด็นด้านการคอร์รัปชัน และกำลังดำเนินการจัดตั้งศูนย์วิทยาการอาชญากรรมที่มีวัตถุประสงค์เพื่อรวบรวมความรู้และประสบการณ์ในการแก้ไขปัญหาอาชญกรรม

 

ซึ่งปัญหาคอร์รัปชันในมุมมองของหน่วยงานตำรวจถือเป็นอาชญากรรมรูปแบบหนึ่งที่เกิดขึ้นจากการรับสินบนและการใช้อำนาจโดยมิชอบ ทั้งยังเป็นสาเหตุสำคัญต่อการเกิดขึ้นของอาชญากรรมข้ามชาติประเภทอื่น ๆ เช่น การค้ามนุษย์ และการค้ายาเสพติด เป็นต้น

 

นอกจากนี้ การแก้ไขปัญหาการคอร์รัปชัน ยังจำเป็นที่จะต้องอาศัยข้อมูลเปิดภาครัฐ เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้ามามีบทบาทในการตรวจสอบและติดตามการคอร์รัปชันที่เกิดขึ้นในสังคม ซึ่งจะช่วยลดการแทรกแซงกระบวนการทำงานจากภายนอก และทำให้การตรวจสอบเอาผิดการคอร์รัปชันเกิดขึ้นได้อย่างโปร่งใสมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันการเปิดเผยข้อมูลของหน่วยงานภาครัฐที่จะช่วยสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนยังไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร

 

ดังนั้น เจ้าหน้าที่รัฐจึงจำเป็นที่จะต้องมีการพิจารณาเปิดเผยข้อมูลตามที่กฎหมายอนุญาต เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลที่จำเป็นในการตรวจสอบและติดตามปัญหาคอร์รัปชันได้ ตลอดจนเป็นการสร้างความน่าเชื่อถือต่อการทำงานของหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายได้ด้วยเช่นกัน

 

โดยโรงเรียนนายร้อยตำรวจ ยังได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการรวบรวมผู้เชี่ยวชาญด้านอาชญากรรมในประเทศไทยและหน่วยงานสหวิชาชีพ เพื่อวิเคราะห์และประเมินสถานการณ์ปัญหาอาชญากรรมของประเทศไทย รวมถึงมีแผนการดำเนินงานในการขยายความร่วมมือกับต่างประเทศในประเด็นอาชญากรรมข้ามชาติ และมีความสนใจที่จะร่วมดำเนินงานผลักดันการเปิดเผยข้อมูลของภาครัฐ เพื่อส่งเสริมกระบวนการติดตามและตรวจสอบคอร์รัปชันของประชาชน ไปจนถึงการจัดกิจกรรมร่วมกันระหว่างโรงเรียนนายร้อยตำรวจกับหน่วยงานภาคประชาสังคม เพื่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และสร้างเสริมความเข้าใจในแนวทางการดำเนินงานระหว่างกัน

Ms. Annika Wythes Regional Anti-Corruption Advisor, United Nations Office on Drugs and Crime (UNODC) Regional Office for Southeast Asia and the Pacific (ROSEAP) ได้กล่าวถึงหมุดหมายสำคัญของการที่ประเทศไทยได้มีการอนุวัติกฎหมายภายในประเทศที่เกี่ยวข้องให้สอดคล้องกับอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการทุจริต (United Nations Convention against Corruption – UNCAC) และในปัจจุบันปัญหาการคอร์รัปชันได้มีความเกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีที่เพิ่มขึ้น และกลายเป็นความท้าทายที่เกิดขึ้นกับทุกประเทศบนโลก

 

ดังนั้น การดำเนินงานเพื่อการต่อต้านคอร์รัปชัน จึงจำเป็นที่จะต้องคำนึงถึงการพัฒนาวิธีการต่าง ๆ ที่เหมาะสม เช่น กระบวนการติดตามทรัพย์สินคืน (Asset Recovery) รวมถึงการพิจารณาถึงกระบวนการอื่น ๆ ที่ยังเป็นช่องว่างในการทำงานด้านการต่อต้านคอร์รัปชันของประเทศไทย เช่น กระบวนการลงโทษผู้กระทำผิด การคุ้มครองผู้แจ้งเบาะแส และกระบวนการตรวจสอบบุคคลที่ได้รับผลประโยชน์ ซึ่งช่วยเสริมประสิทธิภาพการดำเนินงานและสนับสนุนการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนและประชาสังคมได้มากขึ้น

 

นอกจากนี้ ประเทศไทยยังได้ลงนามในกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก (Indo-Pacific Economic Framework: IPEF) ซึ่งมีหนึ่งในเป้าหมายสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการต่อต้านคอร์รัปชัน โดยเฉพาะในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการฟอกเงิน ซึ่งถ้าหากประเทศไทยมีมาตรการในการต่อต้านคอร์รัปชันที่เข้มแข็ง ก็จะส่งผลให้ประเทศไทยได้รับผลประโยชน์จากการลงทุนทางเศรษฐกิจที่เพิ่มมากขึ้นด้วยเช่นเดียวกัน

 

ทั้งนี้ ในการดำเนินงานด้านการต่อต้านคอร์รัปชันของประเทศไทย ยังจำเป็นที่จะต้องคำนึงถึงการจัดการองค์ความรู้ที่จำเป็นสำหรับการทำงานด้านการต่อต้านคอร์รัปชันที่มีประสิทธิภาพ และการเชื่อมโยงแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างกัน รวมไปถึงการให้ความสำคัญกับภาคเอกชน ภาคสื่อ ภาควิชาการ และเยาวชนรุ่นใหม่ที่จะเป็นผู้นำเพื่ออนาคต (Leaders for Tomorrow) ที่จะเข้ามามีส่วนร่วมในการทำงานด้านการต่อต้านคอร์รัปชันให้มากขึ้น โดยมุ่งเน้นไปที่การมองหาบุคคลหรือกลุ่มคนที่มีปณิธานและความตั้งใจที่จะทำงานด้านการต่อต้านคอร์รัปชัน และมีวิธีการทำงานหรือกระบวนการคิดที่เริ่มต้นจากอุดมการณ์ที่พวกเขายึดถือหรือสิ่งที่พวกเขาสนใจ และทำให้บุคคลเหล่านี้มีพื้นที่และโอกาสที่จะเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น และกลายเป็นกำลังสำคัญในการต่อต้านคอร์รัปชันทีมีประสิทธิภาพมากขึ้นในอนาคต 

กิจกรรมที่เกิดขึ้น KRAC สรุปประเด็นสำคัญเพื่อนำมาต่อยอดการพัฒนาความร่วมมือระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ และภาคประชาสังคมในการป้องกันการคอร์รัปชันเชิงรุก ได้ดังนี้ 

จากการบรรยายสาธารณะ หัวข้อBuilding Bridges: Strengthening Collaboration Between Law Enforcement and Citizens for an Effective Anti-Corruption Ecosystem โดย  Professor Matthew ชี้ให้เห็นว่าการมีสะพานเชื่อมระหว่างหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายและภาคประชาสังคมจะช่วยให้หน่วยงานบังคับใช้กฎหมายได้รับประโยชน์สำคัญคือ

  1. การตรวจจับและสืบสวนมีประสิทธิภาพมากขึ้น 
  2. รับทราบถึงความต้องการและความคาดหวังของประชาชน 
  3. มีกระบอกเสียงช่วยอธิบายสังคม 
  4. มีเกราะกำบังการทำงานของภาครัฐที่มากขึ้นภายใต้ความเชื่อมั่นของภาคประชาสังคม 

ในขณะที่สะพานเชื่อมความร่วมมือนี้ยังให้ประโยชน์สำคัญกับภาคประชาสังคมคือ

  1. ได้รับประโยชน์เชิงข้อมูลที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น
  2. มีวิธีการที่จะโน้มน้าวและส่งต่อข้อเสนอแนะเชิงนโยบายอย่างมีหลักฐานข้อมูลชัดเจนขึ้น 
  3. สามารถผลักดันร่างกฎหมายและนโยบายได้ง่ายขึ้นผ่านความช่วยเหลือของหน่วยงานบังคับใช้กฎหมาย 

ผลจากวงเสวนาภายใต้หัวข้อการเชื่อมประสานการทำงานร่วมกันของภาคีเครือข่ายต่อต้านคอร์รัปชันในประเทศไทย” โดย UNODC สำนักส่งเสริมและบูรณาการการมีส่วนร่วมต้านทุจริต สำนักงาน ป.ป.ช. องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) และคณะตำรวจศาสตร์ โรงเรียนนายร้อยตำรวจ สะท้อนว่าทิศทางการดำเนินงานด้านการต่อต้านคอร์รัปชันของเเต่ละหน่วยงานมีความคาบเกี่ยวกันในหลายมิติ ซึ่งสามารถผนวกกิจกรรมเหล่านี้มาดำเนินการร่วมกันได้ โดยเฉพาะในประเด็นเรื่อง “การฟอกเงิน” และ “ปัญหาสิ่งแวดล้อม” ที่ทั้ง 4 องค์การต้องการผลักดันในปี 2568

 

กิจกรรมในครั้งนี้ถือเป็นอีกหนึ่งความพยายามสำคัญที่ต่อเนื่องมาจากการการประชุมโต๊ะกลมก่อนหน้านี้ ที่ต้องการขยายความร่วมมือข้ามภาคส่วนเพื่อการสร้างระบบนิเวศน์ในการต่อต้านคอร์รัปชันที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นในประเทศไทย เพราะการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันคือเรื่องของทุกคน 

 

ท่านที่สนใจ สามารถรับฟังการบรรยายสาธารณะ เเละกิจกรรมการเสวนาย้อนหลังได้ที่ลิงก์  https://www.facebook.com/share/v/1AocAkKb8g/

You might also like...