การเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของรัฐ และการต่อต้านคอร์รัปชันในประเทศไทย

เพื่อสำรวจการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของไทยจากอดีตจนถึงปัจจุบัน การเปิดเผยข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้าง และสัญญาสัมปทานผ่านเว็บไซต์ของรัฐวิสาหกิจ เพื่อจัดทำเป็นข้อเสนอแนะต่อการแก้ไขการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของรัฐ

ประสบการณ์ด้านการต่อต้านการคอร์รัปชันในหลายประเทศ ไม่ว่าจะเป็นฮ่องกงหรือเกาหลีใต้ ต่างสะท้อนตรงกัน ว่ากระบวนการต่อต้านคอร์รัปชันที่ประสบความสำเร็จ เกิดจากแรงกดดันของประชาชนที่ไม่ยอมรับการทุจริตคอร์รัปชัน ทำให้นักการเมืองต้องตอบสนองสิ่งที่ประชาชนเรียกร้อง เพื่อที่จะได้มาซึ่งคะแนนเสียงในการเลือกตั้ง

อย่างไรก็ดี การที่คนไทยจะออกมากดดันให้ภาครัฐ ต้องดำเนินการอย่างจริงจังในการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันเหมือนที่ต่างประเทศนั้น ประชาชนต้องสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับพฤติกรรมที่เป็นการทุจริตคอร์รัปชัน และความเสียหายที่เกิดขึ้นทั้งที่เป็นและไม่เป็นตัวเงินเสียก่อน ด้วยเหตุนี้ การเข้าถึงข้อมูลข่าวสารที่อยู่ในครอบครองของหน่วยงานของรัฐ จึงเป็นกุญแจสำคัญสำหรับภาคประชาชนในการตรวจสอบการทุจริตคอร์รัปชันของฝ่ายการเมือง

จึงนำมาสู่วัตถุประสงค์ของการศึกษาในครั้งนี้ ได้เเก่ 

  1. ประเมินผลการบังคับใช้พระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 ในช่วง 16 ปีที่ผ่านมาว่ามีประสิทธิภาพมากน้อยเพียงใด ผ่านการเก็บข้อมูลเชิงประจักษ์ทั้งในเชิงคุณภาพและปริมาณ
  2. วิเคราะห์เหตุปัจจัยที่มีผลต่อการดำเนินงานตามกฎหมาย
  3. เสนอแนะแนวทางในการปรับปรุงกฎหมาย องค์กร และแนวทางในการผลักดันให้มีการบังคับใช้กฎหมายนี้อย่างจริงจัง โดยศึกษาจากประสบการณ์ในต่างประเทศ

ผลการศึกษา พบว่าในช่วง 5 ปีแรกหลังการประกาศใช้พระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 ภาคประชาสังคมและสื่อมวลชน ไม่ค่อยให้ความสนใจเท่าไหร่ เนื่องจากไม่สามารถเรียกดูข้อมูลของรัฐได้อย่างรวดเร็ว และตรงตามความต้องการตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว ในขณะที่รัฐบาลให้ความสำคัญกับการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารต่อประชาชนเเค่เพียงในระดับนโยบายเท่านั้น แต่ในทางปฏิบัติ รัฐบาลไม่ได้ผลักดันให้หน่วยงานของรัฐเปิดเผยข้อมูลตามกฎหมาย รวมทั้งไม่ได้ให้การสนับสนุนด้านงบประมาณอย่างเพียงพอกับสำนักงานคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการ (สขร.) ที่ต้องกำกับดูแลให้เกิดการปฏิบัติตามกฎหมายนี้ด้วย

สรุปประเด็นจากงานวิจัย

  • ผลจากการศึกษา พบว่าประเทศไทยยังขาดกฎหมายแม่บทว่าด้วยการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารเทียบเคียงกับ Freedom of Information Act ในประเทศที่พัฒนาแล้ว เนื่องจากพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 เป็นเพียงกฎหมายที่กำหนดหลักเกณฑ์ในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของหน่วยงานของรัฐ และข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคลที่อยู่ในครอบครองของหน่วยงานของรัฐเท่านั้น ไม่ได้รวมถึงข้อมูลส่วนบุคคลที่อยู่ในครอบครองของหน่วยงานเอกชน หรือข้อมูลส่วนบุคคลที่อยู่กับภาคธุรกิจ ซึ่งในบางกรณี ความเสียหายที่เกิดจากการเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล หรือข้อมูลของธุรกิจเอกชน อาจน้อยกว่าผลประโยชน์ที่สาธารณชนจะได้รับจากการเปิดเผยข้อมูลดังกล่าว 
  • ผลจากการศึกษา ชี้ว่าการไม่บังคับใช้กฎหมายดังกล่าวอย่างจริงจังของฝ่ายบริหาร สะท้อนให้เห็นจากผลการสำรวจการเปิดเผยข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างและสัญญาสัมปทานผ่านเว็บไซต์ของรัฐวิสาหกิจ โดยคณะผู้วิจัย พบว่า ในช่วงเดือนเมษายน พ.ศ. 2556  มีรัฐวิสาหกิจ 13 แห่งจากทั้งหมด 59 แห่ง ไม่เปิดเผยข้อมูลจัดซื้อจัดจ้างอย่างครบถ้วนตามที่กฎหมายและมติคณะรัฐมนตรีกำหนด อีกทั้ง ยังพบว่ารัฐวิสาหกิจ 7 แห่ง จากทั้งหมด 11 แห่ง ไม่เปิดเผยข้อมูลสัญญาสัมปทานทางเว็บไซต์ โดยในจำนวนนั้น มี 4 แห่งที่ต้องให้ประชาชนทำเรื่องร้องขอข้อมูลไปยังหน่วยงานเจ้าของเรื่อง นอกจากนี้ การสำรวจของสำนักงานคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการ (สขร.) ในปี พ.ศ. 2555 พบว่ามีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นถึงร้อยละ 74 ไม่เปิดเผยข้อมูลจัดซื้อจัดจ้างให้ประชาชนทราบผ่านเว็บไซต์
  • ผลจากการศึกษา พบว่าสาเหตุหลักที่การบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารยังขาดประสิทธิภาพ มาจากความไม่สมบูรณ์ทางกฎหมาย และช่องโหว่เชิงสถาบัน 2 ประการ ได้เเก่ 
    1. พระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 ยังคงเปิดช่องให้เจ้าหน้าที่รัฐใช้วิจารณญาณว่าจะเปิดเผย หรือไม่เปิดเผยข้อมูลที่ได้รับการร้องขอ เนื่องจาก “ข้อมูลข่าวสารที่ไม่ต้องเปิดเผย” ซึ่งถูกนิยามในกฎหมาย มีกรอบที่กว้างเกินไป และขาดกรอบหลักเกณฑ์ที่หน่วยงานรัฐจะใช้ในการพิจารณา
    2. กระบวนการพิสูจน์ว่าข้อมูลใดควรเปิดเผยตามกระบวนการของคณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร (กวฉ.) ในกรณีที่หน่วยงานของรัฐปฏิเสธที่จะเปิดเผยข้อมูลที่ประชาชนร้องขอนั้น ใช้เวลาค่อนข้างนาน อีกทั้ง คำวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร (กวฉ.) ก็ไม่ได้เป็นที่สุดในทางปฏิบัติ เนื่องจากสำนักงานคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการ (สขร.) ไม่มีอำนาจลงโทษเจ้าหน้าที่รัฐ หรือออกคำสั่งโดยตรงต่อหน่วยงานของรัฐ
  • คณะผู้วิจัย ได้จัดทำข้อเสนอแนะ ดังนี้ 
    1. ต้องปรับปรุงพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 โดยเพิ่มบทบัญญัติให้ชัดเจนในกฎหมาย เช่น แก้ไขคำว่า “ข้อมูลข่าวสารของราชการ” เป็น “ข้อมูลข่าวสารสาธารณะ” และกำหนดให้มีการคุ้มครองเจ้าหน้าที่ที่เปิดเผยข้อมูลโดยสุจริต และเพิ่มโทษผู้ที่จงใจปกปิดข้อมูลข่าวสารให้สูงกว่าผู้เปิดเผยข้อมูลโดยสุจริต
    2. ต้องมีการปรับปรุงเชิงสถาบัน เช่น ให้สำนักงานคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการ (สขร.) เป็นองค์กรที่เป็นอิสระจากฝ่ายบริหาร หรือฝ่ายการเมือง ดังตัวอย่างของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) หรือสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ซึ่งต้องมีแหล่งเงินทุนและบุคลากรอย่างเพียงพอ ต่อการบังคับใช้กฎหมาย รวมทั้งมีอำนาจเด็ดขาดในการออกบทลงโทษแก่ผู้ที่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร
    3. คณะผู้วิจัย เห็นว่าการสร้างแรงจูงใจให้หน่วยงานของรัฐปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารเป็นสิ่งจำเป็น โดยเสนอให้กระทรวงการคลัง และคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (สำนักงาน ก.พ.) ให้ความสำคัญแก่ดัชนีชี้วัดการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 ในการกำหนดค่าตอบแทน และแรงจูงใจให้แก่พนักงาน และหน่วยงานราชการ หรือรัฐวิสาหกิจ
เอกสารอ้างอิง
รูปแบบ APA

เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ และธิปไตร แสละวงศ์. (2558). โครงการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของรัฐ และการต่อต้านคอร์รัปชันใประเทศไทย. สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ).

ปีที่แต่ง (พ.ศ.)
2558
ผู้แต่ง
  • เดือนเด่น นิคมบริรักษ์
  • ธิปไตร แสละวงศ์
หน่วยงาน

หัวข้อ
Related Content

โครงการศึกษาพรมแดนและช่องว่างความรู้เรื่องคอร์รัปชันและธรรมาภิบาล เพื่อสนับสนุนการจัดทำแผนบูรณาการด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ปี พ.ศ. 2566-2570

ศึกษาพัฒนาการของงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการคอร์รัปชันและธรรมาภิบาลในประเทศไทย เพื่อจัดทำข้อเสนอแนะต่อแนวทางการสนับสนุนการพัฒนางานวิจัยในประเด็นคอร์รัปชัน และธรรมาภิบาลในอนาคต

โครงการวิจัยและประสานงานเพื่อสังคมไทยไร้คอร์รัปชัน

เพื่อออกแบบงานวิจัยสำหรับแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันบนฐานการมีส่วนร่วมของประชาชนและภาคส่วนต่าง ๆ รวมถึงพัฒนาระบบและเครื่องมือใหม่ในการป้องกันและลดคอร์รัปชันในระดับพื้นที่

โครงการวิจัยเพื่อสังคมไทยไร้คอร์รัปชัน ระยะที่ 2

จัดทำข้อเสนอการมีส่วนร่วมของประชาชนเพื่อต่อต้านการคอร์รัปชัน โดยเน้นแนวทางการวิจัยเพื่อทำความเข้าใจปัญหาคอร์รัปชันจากมุมมองของประชาชน ด้วยกระบวนการวิจัยเชิงปฏิบัติการอย่างมีส่วนร่วม (PAR) และกระบวนการ Design Thinking เต็มรูปแบบ

โครงการวิจัยการสังเคราะห์รูปแบบ กลไกและแนวทางการปลูกฝังเจตคติและวัฒนธรรมสุจริตเพื่อการป้องกันและปราบปรามการทุจริต

ศึกษาพัฒนาการของรูปแบบ กลไก และแนวทางการปลูกฝังเจตคติ และวัฒนธรรมสุจริตที่มีผลต่อการป้องกันการทุจริตของไทย และศึกษากรณีของต่างประเทศ เพื่อจัดทำเป็นข้อเสนอแนะต่อไป

You might also like...

บทความวิจัย : ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับการเสริมสร้างความร่วมมือและการควบคุมคอร์รัปชันขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในจังหวัดเพชรบุรี

เมื่อการกระจายอำนาจกลับกลายเป็นการกระจายการทุจริตสู่ท้องถิ่น เพื่อยับยั้งปัญหาคอร์รัปชันในท้องถิ่น จึงต้องส่งเสริมการปกครองตามหลักธรรมาภิบาล (กรณีศึกษา จังหวัดเพชรบุรี)

KRAC Around เล่าข่าวคอร์รัปชันจากทั่วโลก I UNODC จับมือไนจีเรียจัดทำรายงานการทุจริตในไนจีเรีย ชี้ “การติดสินบนได้รับการยอมรับน้อยลง”

รายงานฉบับนี้มีชื่อว่า “การทุจริตในไนจีเรีย: รูปแบบและทิศทาง (Corruption in Nigeria: Patterns and Trends)” เป็นการสำรวจเกี่ยวกับการรับรู้การทุจริตของประชาชนในประเทศไนจีเรียจากประสบการณ์ของประชาชน นอกจากนี้ยังมีการวิเคราะห์แนวโน้มการทุจริต ประสิทธิภาพของกลยุทธ์ และแนวทางการต่อต้านการทุจริตอีกด้วย

คิดด้วยพลเมือง(See-Think-Cen’) : โกง (เรื่อง) กิน ฉ่ำๆ หม่ำๆ แบดกาย แบดกายหม่ำๆ

เมื่อวันแม่ที่ผ่านมาหลายๆ ท่านคงพาคุณแม่ไปทานข้าว หรืออาจกลับบ้านไปทานข้าวกับคุณแม่และครอบครัว เพราะสำหรับคนไทยแล้ว “อาหารเป็นเรื่องสำคัญ” ดังนั้นในวันสำคัญการนัดรวมตัวกันกินข้าวจึงเป็นเรื่องจำเป็น