พัฒนาและปรับปรุงมาตรการคุ้มครองผู้แจ้งเบาะแสให้สอดรับกับมาตรฐานสากลและสามารถรองรับ “ต้นทุน” ให้กับผู้แจ้งเบาะแสได้
การแจ้งเบาะแส หรือ “Whistleblowing” เป็นกลไกสำคัญอย่างหนึ่งที่จะช่วยต่อต้านการทุจริตได้อย่างมีประสิทธิผล แต่การจะทำให้ระบบการแจ้งเบาะแสประสบความสำเร็จได้ นับว่าเป็นเรื่องที่มีความท้าทาย ดังนั้น จึงจำเป็นต้องพัฒนา และปรับปรุงมาตรการคุ้มครองผู้แจ้งเบาะแสให้สอดรับกับมาตรฐานสากลและสามารถรองรับ “ต้นทุน” ให้กับผู้แจ้งเบาะแสได้
โครงการวิจัยนี้ จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาแนวปฏิบัติเกี่ยวกับระบบการแจ้งเบาะแสการทุจริตของประเทศที่ประสบความสำเร็จในการแก้ไขปัญหาการทุจริต และเพื่อเปรียบเทียบกับแนวปฏิบัติของประเทศไทย (เฉพาะในส่วนของสำนักงาน ป.ป.ช. และสำนักงาน ป.ป.ท.) รวมทั้งเพื่อศึกษากลไกการเฝ้าระวังการทุจริตในระดับพื้นที่ (เฉพาะจังหวัดสงขลาและพื้นที่ภาคใต้) เพื่อพัฒนาไปสู่ความเป็นพื้นที่ปลอดการคอร์รัปชัน (Corruption Free Area)
สรุปประเด็นจากงานวิจัย
- ผลจากการสัมภาษณ์ผู้ที่เคยออกมาแจ้งเบาะแส หรือกล่าวโทษเกี่ยวกับการทุจริตภายในหน่วยงานภาครัฐ พบว่า ในทางปฏิบัติ ยังมีปัญหาเกี่ยวกับการให้ความคุ้มครองผู้แจ้งเบาะแส/พยาน โดยผู้ให้เบาะแสยังคงถูกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมโดยหน่วยงานต้นสังกัด โดยเฉพาะในกรณีที่ถูกกลั่นแกล้งและปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมโดยหน่วยงานต้นสังกัด ซึ่งทางออกที่ผู้ร้องต้องการมากที่สุด คือ การได้ย้ายสังกัดหน่วยงาน อย่างน้อยก็ในช่วงเวลาที่มีการดำเนินคดี แต่ในทางปฎิบัติ ยังไม่มีแนวปฏิบัติที่ชัดเจนเกี่ยวกับขั้นตอนการโยกย้ายข้าราชการ (นอกเหนือจากการนำเสนอนายกรัฐมนตรีสั่งการ) รวมถึงสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ที่บุคคลพึงได้รับจากการออกมาเเจ้งเบาะเเส
- ผลจากการศึกษาการเเจ้งเบาะเเส พบว่าหนึ่งในปัญหาและอุปสรรคของภาคประชาชนในการแจ้งเบาะแสทุจริตในภาครัฐ คือ ปัญหาเรื่องการคุ้มครองผู้แจ้งเบาะแส โดยผู้ร้องเรียน หรือผู้ออกมาแจ้งเบาะแส มักได้รับผลกระทบทางลบ เช่น การถูกข่มขู่ หรือการที่ผู้ถูกร้องออกมาฟ้องผู้แจ้งเบาะแสกลับ (Anti-SLAPP) รวมถึงการถูกกลั่นแกล้งที่ทำให้ได้รับผลกระทบทางลบ ไม่ว่าจะเป็นทางจิตใจ ทางร่างกาย และหน้าที่การงาน เป็นต้น หรือในกรณีภาคธุรกิจเอกชน การแจ้งเบาะแสการทุจริตยังเกิดขึ้นน้อย เนื่องจากยังขาดมาตรการและกลไกการคุ้มครองผู้ให้เบาะแสจากภาคเอกชนที่ชัดเจน ซึ่งทำให้เกิดความเกรงกลัวถึงผลกระทบทางลบต่อการดำเนินธุรกิจ และที่สำคัญยังมีการให้ความคุ้มครองลูกจ้างเอกชน ซึ่งเป็นผู้ที่มีศักยภาพในการเปิดโปงการกระทำความผิดระหว่างเอกชนและรัฐ เช่น การฮั้วประมูล และการติดสินบนต่าง ๆ เป็นต้น
- ผลจากการศึกษาการเเจ้งเบาะแสในภาคธุรกิจเอกชน พบว่ากลุ่มธุรกิจก่อสร้างอสังหาริมทรัพย์ ยังเข้าร่วมโครงการแนวร่วมต่อต้านคอร์รัปชันของภาคเอกชนไทย (CAC) เป็นจำนวนน้อย และมีการตั้งข้อสังเกตจากผู้ที่เกี่ยวข้อง ว่า บริษัทธุรกิจรับเหมาก่อสร้างขนาดใหญ่ ไม่ได้เข้าร่วมโครงการแต่อย่างใด ซึ่งทำให้บริษัทอื่น ๆ ขาดแรงจูงใจในการเข้าร่วมโครงการ CAC เพราะเกรงว่าจะสูญเสียโอกาสในการแข่งขันทางธุรกิจ และถึงแม้ว่าภาพรวมของความร่วมมือของภาคเอกชนกับการต่อต้านคอร์รัปชันดีขึ้น แต่ปัญหาการเรียกรับสินบนของเจ้าหน้าที่ภาครัฐ ยังคงมีอยู่และรุนแรงมากขึ้นกว่าเดิม
- ผลจากการศึกษาปัญหาและอุปสรรคในระบบการแจ้งเบาะแสของประเทศไทย สามารถสรุปปัญหาได้ ดังนี้ (1) ปัญหาด้านกฎหมายการคุ้มครองผู้แจ้งเบาะแสการทุจริตของประเทศไทยที่ยังขาดการมองภาพรวม (Holistic) และขาดการวางแผนในระยะยาว (Long-term) เพื่อให้เป็นไปในแนวทางเดียวกัน (2) ความไม่ชัดเจนในหลักเกณฑ์การให้กันเป็นพยาน เช่น หลักการความเป็นตัวการ (Principal) และหลักการพ้นความผิด (Mitigation of Culpability) (3) ประสิทธิภาพในขั้นตอนการรับเรื่อง การกระจายเรื่อง และการไต่สวนคดี ทำให้เกิดปัญหาในการประสานงานและการบูรณาการข้อมูลระหว่างหน่วยงานจนเกิดความล่าช้า (4) องค์กรภาคประชาสังคม ยังไม่สามารถเข้าไปมีบทบาทในกระบวนการติดตาม ตรวจสอบการจัดซื้อจ้างภาครัฐได้เท่าที่ควร ซึ่งสาเหตุอาจมาจากการที่ไม่มีอำนาจหน้าที่โดยตรงในการตรวจสอบกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างของรัฐ
- ผลจากการศึกษา สะท้อนว่าประเทศไทย ยังคงต้องเร่งเดินหน้ารณรงค์ เพื่อให้ประชาชนเกิดความตระหนักในความสำคัญของการแจ้งเบาะแส และการเฝ้าระวังการทุจริต โดยหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบการต่อต้านการทุจริต ยังจำเป็นต้องพัฒนาปรับปรุงกลไกต่าง ๆ ให้สอดรับกับแนวปฎิบัติของประเทศที่พัฒนาแล้ว โดยเฉพาะการพิจารณาจัดหมวดหมู่ของบทบัญญัติกฎหมายการคุ้มครองผู้แจ้งเบาะแส (Whistleblowing Law) ให้มีความชัดเจนมากขึ้น มีการปรับปรุงให้มีความทันสมัย เข้ากับสภาวการณ์ และสอดคล้องกับแนวปฏิบัติของประเทศที่ประสบความสำเร็จในการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันต่อไป
- คณะผู้วิจัย ได้จัดทำข้อเสนอแนะต่อการพัฒนาขั้นตอนและกระบวนการการไต่สวน เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ดังนี้ (1) ปรับปรุงกฎหมายการคุ้มครองผู้แจ้งเบาะแส (2) ปรับปรุงการให้ความคุ้มครองผู้แจ้งเบาะแส (3) ปรับปรุงเเนวทางการกันพยาน (4) ปกปิดอัตลักษณ์ของผู้แจ้งเบาะแส (5) ส่งเสริมช่องทางการแจ้งเบาะแส (6) เพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการรับเรื่องและการไต่สวน (7) ส่งเสริมการแจ้งเบาะแสโดยสจุริต (8) การให้รางวัล (9) การหนุนเสริมบทบาทของภาคประชาสังคม เอกชน สื่อมวลชน และเครือข่ายประชาชน และ (10) การประชาสัมพันธ์อย่างต่อเนื่อง เพื่อทำให้ประชาชนเกิดความตระหนักเป็นวงกว้างถึงความสำคัญในการช่วยกันเป็นหูเป็นตาให้กับหน่วยงานภาครัฐในการต่อต้านและเฝ้าระวังการทุจริต
วิษณุพงษ์ โพธิพิรุฬห์, อังศุธร ศรีสุทธิสอาด, ศิริรักษ์ สิงหเสม และปริญ นิทัศน์. (2561). การเสริมสร้างประสิทธิผลของระบบการให้เบาะแสในประเทศไทยและการส่งเสริมความร่วมมือในระดับพื้นที่ภาคใต้เพื่อป้องกันปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชันในภาครัฐ. สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.).
- วิษณุพงษ์ โพธิพิรุฬห์
- อังศุธร ศรีสุทธิสอาด
- ศิริรักษ์ สิงหเสม
- ปริญ นิทัศน์เอก
ราชการไทยไร้คอร์รัปชัน : การสำรวจความคิดเห็นของเจ้าหน้าที่รัฐต่อการแจ้งเบาะแสการทุจริต
ศึกษาปัญหาการแจ้งเบาะแสการทุจริตในราชการไทย โดยใช้กลุ่มตัวอย่างขนาดใหญ่จากหน่วยงานรัฐส่วนกลาง และส่วนท้องถิ่น เพื่อสำรวจความเห็นของเจ้าหน้าที่รัฐและพฤติกรรมการแจ้งเบาะแสการทุจริต
มาตรการคุ้มครองผู้แจ้งเบาะแสคอร์รัปชัน
ศึกษากลไกการคุ้มครองผู้แจ้งเบาะแสคอร์รัปชันและแนวทางเสริมสร้างกลไกการคุ้มครองผู้แจ้งเบาะแสคอร์รัปชันที่สอดคล้องกับสภาพปัญหา ข้อเท็จจริง และสิทธิเสรีภาพ
การเสริมสร้างประสิทธิผลของระบบการให้เบาะแสในประเทศไทยและการส่งเสริมความร่วมมือในระดับพื้นที่ภาคใต้เพื่อป้องกันปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชันในภาครัฐ
พัฒนาและปรับปรุงมาตรการคุ้มครองผู้แจ้งเบาะแสให้สอดรับกับมาตรฐานสากลและสามารถรองรับ “ต้นทุน” ให้กับผู้แจ้งเบาะแสได้
การพัฒนาความร่วมมือและยกระดับการป้องกันการทุจริตในประเทศไทย: ศึกษาประสบการณ์ประเทศญี่ปุ่นและเกาหลีใต้
ศึกษาความร่วมมือในการป้องกันการทุจริตระหว่างคณะกรรมการ ป.ป.ช. กับหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง และศึกษาประสบการณ์ของญี่ปุ่นและเกาหลีใต้เรื่องความร่วมมือและระบบการให้ความคุ้มครองแก่ผู้ให้เบาะแส (whistleblower) เพื่อเสนอแนะแนวทางป้องกันการทุจริตผ่านทางประสบการณ์ของประเทศกรณีศึกษา