คิดด้วยพลเมือง(See-Think-Cen’) : #JUSTICE_FOR_SEUNGHAN ส่องวิกฤติบริษัทที่ว่าด้วยศรัทธาสาธารณะ และภาพมายาความเป็นเจ้าของชีวิต ‘ไอดอล’ ของแฟนคลับ

ปรากฏการณ์สำคัญที่กลายเป็นประเด็นที่ได้รับความสนใจในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา คือ การที่บริษัทค่ายเพลงขนาดใหญ่อย่าง SM Entertainment ได้ออกแถลงการณ์ว่า ‘ฮง ซึงฮัน’ (Hong Seunghan) หนึ่งในสมาชิกของวง ‘RIIZE’ (ไรซ์) ซึ่งถูกพักงานและระงับการเข้าร่วมกิจกรรมของวงเป็นการชั่วคราวเมื่อปีที่ผ่านมา เนื่องจากการมีพฤติกรรมในช่วงก่อนการเดบิวต์ที่ไม่เหมาะสมและขัดต่อภาพลักษณ์ความเป็น ‘ไอดอลที่ดี’ ของกลุ่มแฟนคลับ เช่น การมีภาพที่ถูกเผยแพร่โดยไม่ยินยอมระหว่างซึงฮันและอดีตแฟนสาว จะกลับมาเข้าร่วมกิจกรรมของวงอีกครั้งหนึ่ง โดยภายหลังจากที่มีแถลงการณ์ดังกล่าว ซึงฮันได้ปรากฏตัวอีกครั้งผ่านโซเชียลมีเดียด้วยภาพจดหมายที่เขียนด้วยลายมือซึ่งระบุว่าจะปรับปรุงตัวให้ดีขึ้น รวมถึงมีจดหมายจากสมาชิกของวงคนอื่น ๆ ที่ยืนยันถึงการสนับสนุนและยินดีต่อการกลับมาเข้าร่วมทำกิจกรรมกับวงอีกครั้งหนึ่งของซึงฮัน

หลังจากที่ผ่านไปเพียงแค่ 2 วัน ของการประกาศการกลับมาของซึงฮัน ทาง SM Entertainment ก็ได้มีแถลงการณ์ฉบับใหม่ออกมาอีกครั้ง โดยระบุว่า ‘ภายหลังจากการพูดคุยถึงกระแสวิพากษ์วิจารณ์เชิงลบที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ซึงฮันจึงได้ตัดสินใจที่จะออกจากวงอย่างเป็นทางการ และขอให้ทุกคนยังคงสนับสนุนวงที่จะดำเนินกิจกรรมต่อไปด้วยสมาชิก 6 คน’ ซึ่งท่ามกลางความงุนงงและการกลับคำพูดของบริษัทฯ ในสถานการณ์ดังกล่าวนี้ ได้มีวิดีโอที่เผยแพร่อยู่บนโซเชียลมีเดียต่าง ๆ ถึง ‘ปรากฏการณ์พวงหรีดหน้าตึก’ ที่มีแฟนคลับจำนวนหนึ่งที่ไม่พอใจต่อการกลับมาของซึงฮัน ได้นำพวงหรีดไว้อาลัย พร้อมด้วยข้อความที่แสดงถึงความเกลียดชัง ไปวางไว้บริเวณด้านหน้าของบริษัท SM Entertainment เพื่อต่อต้านการกลับมาของซึงฮัน

จากเหตุการณ์นี้ ได้สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาเรื้อรังที่เกิดขึ้นในวงการอุตสาหกรรม K-POP ตลอดช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นปัญหาในเรื่องการบริหารจัดการของบริษัทฯ ในช่วงวิกฤติที่ขาดประสิทธิภาพ ปัญหาการดูแลสวัสดิภาพของศิลปิน รวมถึงทัศนคติของกลุ่มแฟนคลับไอดอลที่ทำตัวเป็นเหมือนเจ้าของชีวิตของศิลปิน และนำมาสู่เหตุการณ์ที่ทำให้ศิลปินถูกทำให้กลายเป็นสินค้าเพื่อตอบสนองต่อแฟนคลับที่เป็นกลุ่มลูกค้า จนกลายเป็นวัฒนธรรมที่สืบทอดกันในวงการฯ ที่อาจเป็นทั้งพื้นที่ของการไขว่คว้า ‘ทำตามความฝัน’ ของใครหลายคน ในขณะที่ใครบางคนก็อาจที่จะถูก ‘ทำลายความฝัน’ ได้ในเวลาเดียวกัน

#RII7EISSEVEN จากการขับไล่ของ ‘คนใน’ ที่นำไปสู่การเรียกร้องของ ‘คนนอก’

เป็นที่ปฏิเสธไม่ได้ว่าจากแถลงการณ์ของ SM Entertainment ทั้งสองฉบับก่อนหน้านี้ ได้ก่อให้เกิดบทสนทนาที่เป็นที่ถกเถียงกันบนโลกออนไลน์ และเห็นได้ถึงการปะทะกันระหว่างคนสองกลุ่มที่มีมุมมองแตกต่างกัน โดยฝ่ายหนึ่งได้ถูกเรียกว่าเป็นกลุ่ม ‘OT6’ ซึ่งย่อมาจาก One True 6 ที่หมายถึงกลุ่มแฟนคลับที่ยอมรับถึงการมีอยู่ของสมาชิกในวงเพียงแค่ 6 คน และต่อต้านการกลับมาเข้าร่วมกิจกรรมวงของซึงฮัน ในขณะที่อีกกลุ่มหนึ่งจะถูกเรียกว่าเป็น ‘OT7’ หรือ One True 7 ซึ่งหมายถึงกลุ่มที่สนับสนุนสมาชิกทั้ง 7 คน และเห็นด้วยต่อการกลับมาร่วมทำกิจกรรมของซึงฮันในนามวง

ทั้งนี้ เกณฑ์การแบ่งรูปแบบหนึ่งที่น่าสนใจในการแบ่งแยกระหว่างกลุ่ม OT6 และ OT7 ในเหตุการณ์นี้ คือ การนำเอาอัตลักษณ์ความเป็นชาติของกลุ่มบุคคลคนมาใช้เป็นเกณฑ์แบ่งแยกกลุ่มแฟนคลับ (ซึ่งเป็นการแบ่งกลุ่มในภาพรวม) โดยในกลุ่มที่สนับสนุน OT6 มักที่จะเป็นกลุ่มแฟนคลับชาวเกาหลีใต้และแฟนคลับชาวจีนของวง RIIZE ซึ่งมีวัฒนธรรมในการติดตามและสนับสนุนศิลปินที่เข้มข้น และให้ความสำคัญกับการที่ศิลปินจะต้องเป็นไอดอลที่ดีตามอุดมคติที่วางไว้ ในขณะที่แฟนคลับอีกกลุ่มหนึ่งที่สนับสนุน OT7 มักที่จะเป็นกลุ่มแฟนคลับต่างประเทศที่นอกเหนือจากเกาหลีใต้และจีน ซึ่งโดยส่วนใหญ่มักจะให้ความสำคัญกับการมองศิลปินในฐานะที่เป็นมนุษย์คนหนึ่ง และยอมรับในความเป็นจริงที่ว่าเป็นปกติที่ศิลปินซึ่งเป็นมนุษย์ธรรมดาย่อมที่จะมีข้อผิดพลาดหรือมีชีวิตที่ไม่แตกต่างไปจากคนทั่วไปในสังคม

มุมมองของการนำอัตลักษณ์ความเป็นชาติมาผูกโยงเข้ากับแนวทางในการสนับสนุนต่อเหตุการณ์ที่แตกต่างกันนี้ ได้สะท้อนให้เห็นว่าแนวคิดเรื่องความเป็นชาติ ยังคงมีพลังและอำนาจในการใช้จัดแบ่งกลุ่มคนที่มีความแตกต่างกันทางความคิดในสังคมสมัยใหม่ ซึ่งถึงแม้ว่าโลกในปัจจุบันจะเข้าสู่ความเป็นโลกาภิวัตน์ที่ทำให้เส้นพรมแดนของความเป็นชาติในเชิงภูมิศาสตร์ถูกทำให้พร่าเลือนลงไปแล้ว แต่กระแสของความเป็น ‘คนนอก’ และ ‘คนใน’ ของชาติ ยังคงมีอิทธิพลสำคัญและส่งผลต่อการตัดสินใจต่อการกระทำทางสังคมต่อบุคคลใดบุคคลหนึ่งได้ ดังจะเห็นได้จากกรณีข้างต้นเกี่ยวกับท่าทีในการแถลงการณ์กลับคำของ SM Entertainment ภายหลังจากการเผชิญกับข้อเรียกร้องของกลุ่ม OT6 ที่ไม่เห็นด้วยกับการกลับมาของซึงฮัน และโดยส่วนใหญ่เป็นกลุ่มแฟนคลับชาวเกาหลีใต้ที่เป็น ‘คนใน’ ประเทศ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าความเข้มข้นของการยึดถืออัตลักษณ์ความเป็นชาติในประเทศเกาหลีใต้ที่มีอยู่มากนี้ ทำให้น้ำหนักและการส่งผ่านความต้องการและข้อเรียกร้องของกลุ่ม OT6 ไปยังบริษัทฯ มีพลังอำนาจมากกว่าความต้องการและข้อเรียกร้องของกลุ่ม OT7 ที่ถือเป็น ‘คนนอก’ สังคมของประเทศเกาหลีใต้ และมีสัดส่วนต่อการตัดสินใจในการ ‘เลือกที่จะฟัง’ เสียงของกลุ่มแฟนคลับโดยบริษัทฯ ที่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งยังมีเหตุการณ์อีกหลายครั้งในอดีตที่เกิดขึ้นบนประเด็นว่าด้วยเรื่องอัตลักษณ์ทางเชื้อชาติของบุคคลที่ส่งผลต่อการกระทำของบริษัทฯ เช่น กรณีของการที่บริษัทฯ ถูกกล่าวหาว่ามีการเลือกปฏิบัติต่อศิลปินที่เป็นชาวต่างชาติ เป็นต้น

ปรากฏการณ์ ‘พวงหรีดหน้าตึก’ กับสำนึกในความเป็นเจ้าของชีวิตคนอื่นของกลุ่มแฟนคลับ

เหตุการณ์น่าสะเทือนใจอีกอย่างหนึ่งจากกรณีที่เกิดขึ้น คือ ปรากฏการณ์ ‘พวงหรีดหน้าตึก’ ที่กลุ่มแฟนคลับ OT6 ได้นำพวงหรีดสีดำที่มักจะนำไว้ใช้วางในงานศพ มาใช้ในการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์เพื่อต่อต้านการกลับมาของซึงฮัน และได้ปรากฏภาพของถนนบริเวณหน้าบริษัท SM Entertainment ที่เต็มไปด้วยพวงหรีดสีดำ และมีข้อความที่แสดงให้เห็นถึงความเกลียดชังที่กลุ่มแฟนคลับ OT6 มีต่อซึงฮันเป็นจำนวนมาก รวมถึงปรากฏภาพถ่ายของซึงฮันที่เดินทางมายังบริษัทฯ และเดินผ่านกลุ่มพวงหรีดสีดำจำนวนมากที่แฟนคลับนำมาวางไว้ จนเกิดเป็นการตั้งคำถามต่อแนวปฏิบัติของบริษัทฯ ในการปกป้องดูแลศิลปินในสังกัดจากความเกลียดชังของกลุ่มแฟนคลับ รวมถึงวิพากษ์วิจารณ์การกระทำของกลุ่มแฟนคลับที่กระทำเกินกว่าเหตุในการปฏิบัติต่อศิลปินราวกับพวกเขาไม่ใช่มนุษย์คนหนึ่ง

ปัญหาเรื่องมุมมองการเป็น ‘เจ้าของชีวิต’ ศิลปินของกลุ่มแฟนคลับวงไอดอลในอุตสาหกรรมเพลงและดนตรีเกาหลีใต้ ไม่ได้เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นใหม่แต่อย่างใด เพราะตั้งแต่ที่วงการ K-POP ได้รับความนิยมและแพร่หลายในสื่อกระแสหลัก (Mass Media) วัฒนธรรมที่เกิดขึ้นและเติบโตขึ้นมาอย่างเป็นคู่ขนานกัน คือ วัฒนธรรมของการสนับสนุนศิลปินในฐานะแฟนคลับที่รวมตัวกันและเรียกตนเองว่าแฟนด้อม (Fandom) ซึ่งความสำคัญของขนาดและระดับการสนับสนุนศิลปินโดยกลุ่มแฟนคลับที่มากน้อยแตกต่างกันนี้ ได้ส่งผลต่อความนิยมและความอยู่รอดของศิลปินในวงการที่มีการแข่งขันกันอย่างดุเดือด และกลายเป็นสภาวะพึ่งพิงกันระหว่างศิลปินกับกลุ่มแฟนคลับที่เป็นความสัมพันธ์ที่ขาดกันไม่ได้ในอุตสาหกรรมเพลงและดนตรีเกาหลีใต้

แต่ในอีกด้านหนึ่ง สภาวะของการพึ่งพิงกันระหว่างศิลปินกับกลุ่มแฟนคลับนี้ ก็ได้นำมาสู่การเกิดสำนึกในความเป็นเจ้าของชีวิตคนอื่นของกลุ่มแฟนคลับ ผ่านกระบวนการสร้างทัศนคติด้วยการมองศิลปินในฐานะที่ถูกทำให้เป็นสินค้า (Commodification) และเมื่อมีเหตุการณ์ที่ศิลปินมีพฤติกรรมหรือคำพูดที่ไม่ตรงกับภาพจำของความเป็นไอดอลตามอุดมคติที่ยึดถือโดยกลุ่มแฟนคลับ กลุ่มแฟนคลับที่มีสำนึกว่าตนเองนั้นมีอำนาจต่อความคาดหวังที่อยู่เหนือความเป็นมนุษย์ของศิลปินเหล่านี้ ก็จะเกิดการต่อต้านศิลปินอย่างรุนแรง และนำไปสู่วัฒนธรรมการคว่ำบาตร (Cancel Culture) ที่อาจเป็นการจบเส้นทางอาชีพและความฝันของศิลปินได้ในชั่วพริบตา รวมถึงอาจเป็นการทำลายทั้งชีวิตที่เหลืออยู่ของตัวศิลปินได้ด้วยเช่นเดียวกัน

#SMSupportsBullying วิกฤติของศรัทธาที่ส่งผลต่อความเชื่อมั่นสาธารณะของบริษัท

อย่างไรก็ตาม นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ศิลปินในวงการ K-POP ต้องพบเจอกับเหตุการณ์ในลักษณะดังกล่าวที่สะท้อนให้เห็นถึงความบกพร่องและปัญหาจากการบริหารจัดการของบริษัทฯ ในสภาวะวิกฤติ รวมถึงปัญหาในเรื่องของการดูแลสวัสดิภาพของศิลปินในฐานะที่เป็นพนักงานคนหนึ่งของบริษัท ตลอดจนถึงปัญหาในเรื่องของการไม่สามารถดูแลศิลปินให้ได้รับความปลอดภัยจากการถูกคุกคามโดยกลุ่มแฟนคลับได้ ซึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นเหล่านี้ไม่ได้จำกัดอยู่แค่เฉพาะกับบริษัท SM Entertainment เท่านั้น แต่ยังมีบริษัทฯ หรือค่ายเพลงอีกหลายแห่งทั้งที่มีขนาดเล็กและใหญ่ในเกาหลีใต้ ที่ต้องเผชิญกับกระแสวิพากษ์วิจารณ์ต่อความบกพร่องของบริษัทที่ไม่สามารถบริหารจัดการสภาวะวิกฤติ (Crisis Management) ที่เกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ และส่งผลกระทบต่อทั้งชีวิตและความรู้สึกของศิลปินและกลุ่มแฟนคลับ รวมถึงกระทบต่อความเชื่อมั่น (Trust) ที่สาธารณชนมีต่อบริษัทฯ จนนำมาสู่ภาวะถดถอยและการเสื่อมความนิยมของวงการอุตสาหกรรมเพลงและดนตรีเกาหลีใต้ จากปัญหาที่สั่งสมและเป็นแผลเรื้อรังขนาดใหญ่ของวงการมาเป็นระยะเวลานาน และยังไม่มีทีท่าว่าปัญหาเหล่านี้จะได้รับการแก้ไขในเร็ววัน

ไม่ว่าบทสรุปของกระแสการเรียกร้องให้ซึงฮันกลับมาเข้าร่วมกิจกรรมของวง RIIZE ผ่านแฮชแท็ก #JUSTICE_FOR_SEUNGHAN #RII7EISSEVEN และ #BringBackSeunghan จะออกมาในรูปแบบหรือทิศทางใด แต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ จะเป็นส่วนหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์ที่สำคัญของวงการ K-POP ที่สะท้อนถึงความไม่ยุติธรรมที่เกิดขึ้น รวมถึงการกระทำของกลุ่มบุคคลบางกลุ่มที่ลดทอนคุณค่าและละเมิดสิทธิของมนุษย์คนหนึ่งที่มีความฝันและความหวังในชีวิตไม่ต่างไปจากตนเอง

และสุดท้ายนี้ เราจะต้องตระหนักอยู่เสมอว่า ‘อย่าให้ความต้องการและความคาดหวังของเราที่มีต่อใครบางคน ไปทำลายชีวิตและความฝันของคนอื่น’

ปีที่แต่ง (พ.ศ.)
2567
ผู้แต่ง

เจษฏา จงสิริจตุพร

หน่วยงานสนับสนุน

หัวข้อ
Related Content

แนวหน้าต่อต้านคอร์รัปชัน : อัปเดตประชุมวิชาการโลกเรื่องคอร์รัปชัน

เมื่อช่วงต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา ผศ. ดร.ต่อภัสสร์ ยมนาค Co-Founder บริษัท HAND Social Enterprise ได้รับเชิญไปบรรยายในงานประชุมทางวิชาการ Cambridge Economic Crime ที่จัดขึ้นเป็นปีที่ 40 แล้ว ซึ่งงานนี้ถือได้ว่าเป็นงานประชุมวิชาการระดับนานาชาติที่เกี่ยวข้องกับเรื่องคอร์รัปชันที่ใหญ่ที่สุดงานหนึ่ง โดยผศ. ดร.ต่อภัสสร์ ยมนาค ได้เข้าร่วมบรรยายเกี่ยวกับผลงานวิจัยเรื่องประสิทธิภาพที่แท้จริงของความโปร่งใสในการต่อต้านคอร์รัปชัน ผ่านการศึกษาผลกระทบจากโครงการความโปร่งใสในการก่อสร้างภาครัฐ (Infrastructure Transparency: CoST)

แนวหน้าต่อต้านคอร์รัปชัน : อยากแก้ปัญหาปากท้องก่อน แต่ถ้าไม่ปฏิรูปตำรวจ ก็แก้ยาก !

ซับซ้อน ซ่อนเงื่อน มืดเทา อาจเป็นคำนิยามวงการตำรวจไทยในปัจจุบัน ? หากเราพูดถึงวงการตำรวจ หลาย ๆ คนคงจะนึกถึงเรื่องที่ตำรวจดันไปเป็นผู้ที่มีส่วนร่วมกับการทุจริต ไม่ว่าจะเป็นกรณีหมูเถื่อน กำนันนก ทุนจีนสีเทา หรือข่าวอาชญากรรมต่าง ๆ แทนที่จะมองว่า ตำรวจคือผู้ที่รักษาความสงบให้บ้านเมือง และคุ้มครองประชาชนให้รู้สึกปลอดภัย

แนวหน้าต่อต้านคอร์รัปชัน : สติ๊กเกอร์ส่วย…แก้ได้ ?

จะแก้ปัญหาอย่างไรให้ชีวิตปลอดภัยจากผลกระทบของสินบน ? ประเด็นร้อนทุจริตเร็ว ๆ นี้คงหนีไม่พ้นเรื่อง “ส่วยสติกเกอร์” หลังว่าที่ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกลวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ออกมาแฉตั้งแต่กลไกไปจนถึงราคาอย่างที่หลายคนคงได้ยินมาบ้างแล้ว แต่ที่สำคัญกว่านั้น รู้หรือไม่ว่าเรื่องของส่วยรถบรรทุกที่ดูเหมือนเป็นเรื่องไกลตัว จริง ๆ แล้วใกล้ตัวกว่าที่เราคิด

You might also like...

บทความวิจัย : ทัศนคติของประชาชนและพรรคการเมืองต่อการปฏิรูปประเทศไทย ในระยะเปลี่ยนผ่าน

ทำความเข้าใจทัศนคติของประชาชนและพรรคการเมืองในการปฏิรูปประเทศไทย พบว่า ประชาชนเห็นชอบต่อการจัดตั้งรัฐบาลทหารเพื่อปฏิรูปประเทศ ขณะที่พรรคการเมืองเชื่อว่าพลังในการปฏิรูปมาจากประชาชน

บทความวิจัย : การประเมิน “เครื่องมือประเมิน” พิชิตความโกงของ ป.ป.ช. กรณีศึกษาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในจังหวัดเชียงราย

เมื่อการประเมิน ITA ถูกประเมินเสียเอง พบว่า เครื่องมือประเมินคุณธรรมความโปร่งใสของ ป.ป.ช. ไม่สามารถบรรลุวัตถุประสงค์ที่มุ่งแก้ไขปัญหาทุจริตคอรัปชั่นในหน่วยงานภาครัฐได้ (กรณีศึกษา จังหวัดเชียงราย)