ซีรีส์ “The Auditors: ออดิตปิดคอร์รัปชัน” นับเป็นอีกหนึ่งซีรีส์ที่เป็นทางถนัดของเกาหลีในการหยิบเอาอาชีพต่างๆ มาวางเส้นเรื่องให้น่าสนใจผ่านแนวที่หลากหลายให้คนดูได้เรียนรู้เรื่องราวของอาชีพเหล่านั้นได้อย่างไม่น่าเบื่อ โดยสำหรับเรื่องนี้เป็นคิวของอาชีพ“นักตรวจสอบภายใน” โดยนำเสนอเรื่องราวของทีมตรวจสอบภายในที่ต้องเผชิญกับการทุจริตและความไม่โปร่งใสในบริษัทก่อสร้างขนาดใหญ่ แม้จะเป็นเรื่องสมมุติและมีบริบทต่างจากประเทศไทย แต่ซีรีส์นี้ได้สะท้อนประเด็นที่มีความเกี่ยวข้องกับการคอร์รัปชันในสังคมไทยอย่างน่าสนใจ ผ่านเรื่องราวต่างๆ ที่เกิดขึ้นตลอดทั้งเรื่อง รวมถึงวิธีการทำงาน ลักษณะนิสัยต่างๆของตัวละคร ที่ถึงแม้จะจำลองมาจากสังคมบริษัท แต่ก็สามารถสะท้อนภาพรวมปัญหาของสังคมใหญ่ระดับประเทศไทยได้
เรื่องราวการทุจริตในซีรีส์เรื่องนี้มีตั้งแต่ระดับเล็กอย่างการรับสินบนประมูลร้านอาหารในโรงอาหารของบริษัทจนทำให้อาหารมีปริมาณไม่คุ้มราคาและไม่มีคุณภาพ การขาดความรอบคอบในการพิจารณาคัดเลือกพนักงาน เรื่องการใช้เส้นสายในการทำงานจนทำให้เกิดข้อสงสัยในคุณสมบัติของพนักงานที่เหมาะสม จนไปถึงการยักยอกเงินบริษัทและการเลือกใช้วัสดุก่อสร้างที่ไม่ได้มาตรฐานจนทำให้เกิดอุบัติเหตุในการก่อสร้างอันตรายถึงชีวิตของผู้ที่เกี่ยวข้อง เรื่องราวเหล่านี้แม้จะเป็นเหตุการณ์สมมุติในสังคมบริษัทแต่ก็เถียงไม่ได้เลยว่าเรื่องราวกลับคุ้นๆเหมือนเคยได้ยินในข่าวบ้านเราอยู่บ่อยๆ เราลองย้อนดูเรื่องราวในบ้านเรากันสักนิด
ขนมจีนน้ำปลา เมนูอาหารกลางวันชื่อดังของนักเรียนไทย จากภาพอาหารกลางวันสุดไวรัล เด็กอนุบาลได้ทานแค่เส้นขนมจีนคลุกน้ำปลา จนเกิดคำถามทั่วโลกโซเชียลว่าเมนูนี้ใครอิ่ม เด็กนักเรียน หรือผู้บริหาร นำไปสู่การตรวจสอบจนสุดท้ายได้ความว่า ผอ.โรงเรียนอนุบาล ใช้อำนาจหน้าที่เบียดบังเอาผลประโยชน์ที่ไม่ควรได้ทำให้เด็กนักเรียนในปกครองไม่ได้รับอาหารกลางวันที่มีคุณภาพ และจำนวนที่เพียงพอต่อการพัฒนาทางร่างกายและย่อมส่งผลเสียในระยะยาว
สืบสันดาน ข้าราชการไทย คงเป็นอีกหนึ่งเรื่องคอร์รัปชันในสังคมไทย คงไม่พ้นเรื่องการใช้เส้นสายที่มีมาตั้งแต่ระดับฝากลูกเข้าโรงเรียน จนถึงฝากลูกหลานเข้าทำงานข้าราชการ ปัญหาอาจมาจากกระบวนการคัดเลือกบุคลากรเข้ารับราชการของไทยน่าจะมีช่องโหว่อยู่ตรงไหนสักที่ จนทำให้ยัดเด็กเส้นเข้าช่องนั้นกันได้อยู่ตลอด ปัญหาที่ตามมาของกระบวนการคัดเลือกที่ไร้ประสิทธิภาพ ส่งผลให้เราไม่สามารถได้บุคลากรที่มีคุณภาพ เหมาะสมกับการทำงานนั้นมาปฏิบัติหน้าที่ได้จริง สุดท้ายจึงส่งผลทำให้ระบบราชการของไทยไร้ประสิทธิภาพอย่างที่เราเห็นกัน อย่างกรณีล่าสุด “ครูเบญ” กับการสอบบรรจุข้าราชการครู จ.สระแก้ว ที่อยู่ดีๆ ก็หลุดจากอันดับ 1 อย่างไร้ร่องรอยจน “ครูเบญ” ต้องออกมาโพสต์ถามหาความรับผิดชอบของหน่วยงานราชการผ่านทางโซเชียลถึงแม้อาจจะยังไม่ใช่ข้อสรุปว่าเกิดมาจากการใช้เส้นสาย แต่จากการให้เหตุผลถึงความผิดพลาดในการใส่ชื่อประกาศผิดคนนั้นย่อมสะท้อนถึงความบกพร่องของระบบการคัดเลือกของหน่วยงานรัฐได้อย่างชัดเจน
ระบบเงินทอนในการก่อสร้างเป็นอีกหนึ่งประเด็นที่ซีรีส์นำเสนอ สะท้อนให้เห็นถึงการทุจริตในโครงการก่อสร้างภาครัฐซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ที่ทำให้รัฐสูญเสียงบประมาณมหาศาล ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดในสังคมไทยคือ กรณีการทุจริตในการจัดซื้อรถดับเพลิงของกรุงเทพมหานคร ที่มีการกำหนดสเปกเฉพาะเจาะจงเพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับบริษัทใดบริษัทหนึ่งเมื่อปี 2547 หรือเหตุชวนน่าสงสัยในการจัดซื้อเครื่องออกกำลังกายของกรุงเทพฯ เมื่อไม่นานนี้เช่นกันว่าคุ้มค่างบประมาณหรือไม่ รวมถึงเรื่องฮิตอย่างการทุจริตก่อสร้างถนน ที่หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช อดีตนายกรัฐมนตรี เคยกล่าวไว้ว่า “ถ้านักการเมืองไทยหยุดโกงเพียง 2 ปี ถนนประเทศไทยจะปูด้วยทองคำก็ยังได้”เป็นถ้อยคำที่เปรียบเปรยถึงปัญหาทุจริตคอร์รัปชันที่ได้กอบโกยเอาภาษีของประชาชนไป จนเป็นเรื่องตลกร้ายว่าหากไม่มีการโกง ถนนไทยคงปูด้วยทองคำก็ยังได้
นอกจากเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในบริษัทแห่งนี้จะคล้ายๆ กับเรื่องทุจริตที่เกิดขึ้นได้ทั่วไปในสังคมไทยบ้านเราแล้ว ลักษณะนิสัยของตัวละครในซีรีส์ก็สะท้อนความเป็นคนทั่วไปในสังคม ที่อาจเป็นส่วนหนึ่งของการก่อให้เกิดการคอร์รัปชันได้ ทั้งลักษณะนิสัยจริงจังตรวจสอบหมดไม่สนลูกใคร มุ่งใช้ความถูกต้องเป็นหลักในการทำงานตรวจสอบของหัวหน้าทีมชินชาอิล หรือนิสัยขี้สงสาร เห็นอกเห็นใจเพื่อนมนุษย์ ใช้ความถูกใจในการตัดสินคนของกูฮันซูนักตรวจสอบน้องใหม่ไฟแรงของทีม รวมถึงบทบาทของระดับหัวหน้าองค์กรที่ทำให้เห็นความต่างระหว่างคนสุขุมนุ่มลึกดูเป็นคนดีของท่านประธาน กับคนที่มีลักษณะเหมือนนักเลงไม่เอาไหน ขัดใจคนไปทั่วอย่างรองประธาน ที่สุดท้ายแล้วต้องตามดูว่าแท้จริงทั้ง 2 บทบาทนี้จะเป็นคนดี หรือคนร้ายตรงไปตรงมาอย่างบุคลิกที่เราเห็นหรือไม่ ซึ่งลักษณะนิสัยทั้งหมดของตัวละครนั้น สะท้อนความเป็นจริงของสังคมได้ 2 เรื่องหลักๆ ทั้งเรื่องของการตรวจสอบการทำงานที่เราจะใช้ความถูกต้อง หรือถูกใจมาเป็นตัวนำ หรือจะสามารถผสมผสานทั้ง 2 แบบนี้ให้สามารถทำงานตรวจสอบได้อย่างมีประสิทธิภาพได้ และสุดท้ายภาพลักษณ์ของคนที่เราเห็นอาจจะไม่ได้เป็นอย่างนั้นเสมอไปก็เป็นได้
แม้ว่าซีรีส์จะนำเสนอวิธีการแก้ปัญหาผ่านการตรวจสอบอย่างเข้มงวดและการเปิดโปงการทุจริต แต่ในบริบทของสังคมไทย การแก้ปัญหาอาจต้องทำในหลายมิติ เช่น การเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับหน่วยงานตรวจสอบอิสระ การส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคมในการตรวจสอบการทำงานของภาครัฐผ่านกระบวนการปลอดภัย และเครื่องมือที่สะดวกกับผู้ใช้ และการปรับปรุงระบบการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐให้มีความโปร่งใสมากขึ้นผ่านการเปิดเผยข้อมูลต่างๆ
อย่างไรก็ตาม การนำแนวคิดจากซีรีส์มาปรับใช้ในสังคมไทยยังคงมีข้อจำกัดและความท้าทายมากมาย ไม่ว่าจะเป็นโครงสร้างอำนาจที่ซับซ้อน การขาดการคุ้มครองผู้แจ้งเบาะแสการทุจริตที่มีประสิทธิภาพ หรือแม้แต่ทัศนคติของสังคมที่ยังมองว่าการทุจริตคอร์รัปชันเป็นเรื่องปกติ แม้จะเผชิญกับความท้าทายมากมาย แต่ซีรีส์ “The Auditors” ก็สามารถสร้างแรงบันดาลใจและกระตุ้นการเปลี่ยนแปลงในสังคมไทยได้ โดยการสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับผลกระทบของการทุจริตคอร์รัปชัน ส่งเสริมให้ประชาชนเห็นความสำคัญของการตรวจสอบและการมีส่วนร่วมในการต่อต้านการทุจริต ตลอดจนสร้างแรงบันดาลใจให้กับเจ้าหน้าที่รัฐที่ต้องการทำงานอย่างซื่อสัตย์และโปร่งใส
ในท้ายที่สุด แม้ว่าการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันในสังคมไทยจะเป็นเรื่องท้าทาย แต่ซีรีส์เช่น “The Auditors” ก็สามารถเป็นจุดเริ่มต้นในการสร้างความเปลี่ยนแปลง โดยการปลุกจิตสำนึกและสร้างความหวังว่าการต่อสู้กับการทุจริตเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ หากทุกภาคส่วนในสังคมร่วมมือกัน การเปลี่ยนแปลงอาจไม่เกิดขึ้นในชั่วข้ามคืน แต่ทุกก้าวย่อมนำเราเข้าใกล้สังคมที่โปร่งใสและเป็นธรรมมากขึ้น
นันท์วดี แดงอรุณ
หัวข้อ
แนวหน้าต่อต้านคอร์รัปชัน : อัปเดตประชุมวิชาการโลกเรื่องคอร์รัปชัน
เมื่อช่วงต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา ผศ. ดร.ต่อภัสสร์ ยมนาค Co-Founder บริษัท HAND Social Enterprise ได้รับเชิญไปบรรยายในงานประชุมทางวิชาการ Cambridge Economic Crime ที่จัดขึ้นเป็นปีที่ 40 แล้ว ซึ่งงานนี้ถือได้ว่าเป็นงานประชุมวิชาการระดับนานาชาติที่เกี่ยวข้องกับเรื่องคอร์รัปชันที่ใหญ่ที่สุดงานหนึ่ง โดยผศ. ดร.ต่อภัสสร์ ยมนาค ได้เข้าร่วมบรรยายเกี่ยวกับผลงานวิจัยเรื่องประสิทธิภาพที่แท้จริงของความโปร่งใสในการต่อต้านคอร์รัปชัน ผ่านการศึกษาผลกระทบจากโครงการความโปร่งใสในการก่อสร้างภาครัฐ (Infrastructure Transparency: CoST)
แนวหน้าต่อต้านคอร์รัปชัน : อยากแก้ปัญหาปากท้องก่อน แต่ถ้าไม่ปฏิรูปตำรวจ ก็แก้ยาก !
ซับซ้อน ซ่อนเงื่อน มืดเทา อาจเป็นคำนิยามวงการตำรวจไทยในปัจจุบัน ? หากเราพูดถึงวงการตำรวจ หลาย ๆ คนคงจะนึกถึงเรื่องที่ตำรวจดันไปเป็นผู้ที่มีส่วนร่วมกับการทุจริต ไม่ว่าจะเป็นกรณีหมูเถื่อน กำนันนก ทุนจีนสีเทา หรือข่าวอาชญากรรมต่าง ๆ แทนที่จะมองว่า ตำรวจคือผู้ที่รักษาความสงบให้บ้านเมือง และคุ้มครองประชาชนให้รู้สึกปลอดภัย
แนวหน้าต่อต้านคอร์รัปชัน : สติ๊กเกอร์ส่วย…แก้ได้ ?
จะแก้ปัญหาอย่างไรให้ชีวิตปลอดภัยจากผลกระทบของสินบน ? ประเด็นร้อนทุจริตเร็ว ๆ นี้คงหนีไม่พ้นเรื่อง “ส่วยสติกเกอร์” หลังว่าที่ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกลวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ออกมาแฉตั้งแต่กลไกไปจนถึงราคาอย่างที่หลายคนคงได้ยินมาบ้างแล้ว แต่ที่สำคัญกว่านั้น รู้หรือไม่ว่าเรื่องของส่วยรถบรรทุกที่ดูเหมือนเป็นเรื่องไกลตัว จริง ๆ แล้วใกล้ตัวกว่าที่เราคิด