ลงมือสู้โกง : ปิดปากคนโกง เปิดโปงทุจริต

ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาผู้เขียนมีโอกาสเข้าใช้งานเว็บไซต์สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เพื่อให้ความเห็นต่อร่างพระราชบัญญัติมาตรการป้องกันการฟ้องคดีปิดปากในความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่และประพฤติมิชอบ พ.ศ. …. มีการเปิดรับฟังความคิดเห็นผ่านเว็บไซต์ในช่วงวันที่ 1-15 กุมภาพันธ์ 2565 ที่ผ่านมา ร่างกฎหมายฉบับนี้เป็นการคุ้มครองแก่บุคคลที่ได้แสดงความเห็น ให้ถ้อยคำหรือการแจ้งเบาะแสข้อมูลเกี่ยวกับการทุจริตหรือประพฤติมิชอบของเจ้าหน้าที่รัฐไม่ให้ถูกดำเนินการฟ้องร้องคดีที่มีลักษณะเป็นการฟ้องคดีปิดปาก

ร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ถูกนำเสนอโดยสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ยื่นต่อคณะรัฐมนตรีเพื่ออนุมัติรับหลักการเมื่อวันที่24 มกราคม 2565 ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการตรวจสอบและพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาก่อนนำเสนอต่อรัฐสภาในลำดับต่อไป

เส้นทางที่มาของร่างกฎหมายป้องกันการฟ้องคดีปิดปากฉบับดังกล่าว เริ่มต้นจากกฎหมายรัฐธรรมนูญ พุทธศักราช 2560มีการกำหนดไว้ในมาตรา 63 ว่ารัฐต้องส่งเสริม สนับสนุน และให้ความรู้แก่ประชาชนถึงอันตรายที่เกิดจากการทุจริตและประพฤติมิชอบทั้งในภาครัฐและภาคเอกชน และจัดให้มีมาตรการและกลไกที่มีประสิทธิภาพ เพื่อป้องกันและขจัดการทุจริตและประพฤติมิชอบดังกล่าวอย่างเข้มงวด รวมทั้งกลไกในการส่งเสริมให้ประชาชนรวมตัวกันเพื่อมีส่วนร่วมในการรณรงค์ให้ความรู้ ต่อต้านหรือชี้เบาะแส โดยได้รับความคุ้มครองจากรัฐตามที่กฎหมายบัญญัติ

และประเทศไทยมีการลงนามภาคีความตกลงระหว่างประเทศว่าด้วยการต่อต้านการทุจริต ซึ่งกำหนดให้รัฐภาคีมีหน้าที่ดำเนินการให้มีกฎหมายภายใน และมาตรการที่เหมาะสมในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต นอกจากนี้ตามแผนปฏิรูปประเทศด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ (ฉบับปรับปรุง) ได้กำหนดให้มีกฎหมายเพื่อป้องกันการฟ้องคดีปิดปาก (Anti-SLAPP Law) เป็นการคุ้มครองบุคคลที่แสดงความเห็นหรือเปิดโปงเบาะแสเกี่ยวกับการทุจริตประพฤติมิชอบได้กำหนดให้มีการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายและกำหนดมาตรการฟ้องคดีปิดปากขึ้น

สำนักงาน ป.ป.ช. ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีอำนาจโดยตรงจึงจัดทำร่างพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าวขึ้น ผู้เขียนเห็นว่า หากกฎหมายฉบับนี้มีผลบังคับใช้ย่อมส่งผลดีในการต่อต้านคอร์รัปชันประเทศไทยเป็นอย่างยิ่ง เพราะในปัจจุบันมีประชาชนที่เป็น Active Citizen ไม่ทนต่อการคอร์รัปชัน พร้อมทำงานร่วมกันติดตามตรวจสอบการทุจริตมากขึ้น และประชาชนจำนวนมากมีการแสดงความเห็นบนโซเชียลมีเดียกับประเด็นที่สงสัยว่าอาจมีการทุจริตขึ้น เช่น การก่อสร้างถนนผุพังบ่อยอาจมีสาเหตุจากการก่อสร้างที่ไม่มีมาตรฐานหรือไม่ การใช้งบประมาณในการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐมีความคุ้มค่าหรือไม่ และมีการแจ้งเบาะแสการทุจริตในโครงการต่างๆของรัฐ ดังนั้นการมีกลไกทางกฎหมายให้ความคุ้มครองและช่วยเหลือแก่ประชาชนที่อาจถูกดำเนินคดี เช่น คดีหมิ่นประมาท หรือคดีที่เข้าข่ายลักษณะการฟ้องคดีปิดปาก ถือเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง และกฎหมายฉบับนี้ยังเป็นการส่งเสริมให้ประชาชนสามารถเข้ามามีส่วนร่วมติดตามตรวจสอบการคอร์รัปชันได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ประกอบด้วย 42 มาตรา 5 หมวด ได้แก่ การฟ้องคดีปิดปาก การคุ้มครองบุคคลมิให้ถูกฟ้องคดีปิดปาก การคุ้มครองผู้ถูกฟ้องคดีและการพิจารณาของศาลในการฟ้องคดีปิดปาก มาตรการส่งเสริมการป้องกันการฟ้องคดีปิดปาก และบทกำหนดโทษ ผู้เขียนขอยกบางประเด็นที่เป็นสาระสำคัญของร่างกฎหมายดังนี้ ประการแรก การกำหนดลักษณะการฟ้องคดีปิดปากที่จะได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายไว้ว่า ผู้ทำหน้าที่ตรวจสอบโดยสุจริต หากถูกดำเนินคดีหรือการฟ้องคดีปิดปากที่มีสาเหตุจากการแสดงความเห็น ให้ถ้อยคำ แจ้งเบาะแสหรือการจัดทำคำร้องหรือคำกล่าวหาเกี่ยวกับการกระทำทุจริต หากสามารถพิสูจน์ข้อเท็จจริงได้ว่าผู้ฟ้องใช้สิทธิฟ้องร้องโดยไม่สุจริต ผู้ถูกฟ้องมีสิทธิในการเรียกค่าเสียหายกลับจากผู้ฟ้องคดีได้

ประการที่สอง การกำหนดบทลงโทษที่หนักขึ้นเพื่อเป็นแนวทางการป้องกันไม่ให้ผู้ทำหน้าที่ตรวจสอบโดยสุจริตถูกเจ้าหน้าที่รัฐฟ้องร้องคดี โดยมีการกำหนดไว้ว่าหากผู้ยื่นฟ้องคดีเป็นเจ้าหน้าที่พนักงานของรัฐ เมื่อศาลมีการพิจารณาข้อเท็จจริงและตัดสินยกฟ้องเพราะเข้าข่ายลักษณะเป็นการฟ้องคดีปิดปาก จะส่งผลให้เจ้าหน้าที่รัฐผู้ยื่นฟ้องมีความผิดทางวินัยเป็นเหตุให้สามารถถอดถอนจากตำแหน่งได้ และหลักการลงโทษหากเป็นเจ้าพนักงานของรัฐต้องรับโทษเป็นสองเท่าของโทษที่กำหนดไว้ เพราะจะมีฐานความผิดขัดขวางกระบวนการยุติธรรม มีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือปรับไม่เกิน 200,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ

ประการที่สาม การคุ้มครองผู้ถูกฟ้องคดีและมาตรการส่งเสริมการป้องกันการฟ้องคดีปิดปากมีการกำหนดคณะกรรมการ ป.ป.ช. เข้าให้ความช่วยเหลือผู้ถูกฟ้องคดีปิดปากที่อยู่ในชั้นพิจารณา และมีอำนาจในการให้ความเห็นหรือข้อแนะนำตามสมควร

การกำหนดลักษณะการบังคับใช้กฎหมายที่มีความชัดเจน การกำหนดบทลงโทษที่หนักขึ้น การคุ้มครองผู้ถูกฟ้องคดีและมาตรการส่งเสริมการป้องกันการฟ้องคดีปิดปาก เป็นส่วนหนึ่งสาระสำคัญทางกฎหมายที่ให้การคุ้มครองประชาชนหรือผู้มีความสนใจร่วมกันตรวจสอบการทุจริตได้มั่นใจยิ่งขึ้นว่าเขาจะได้รับการคุ้มครองทางกฎหมาย อย่างไรก็ดีผู้เขียนหวังอย่างยิ่งว่ากฎหมายฉบับนี้เมื่อมีผลบังคับใช้จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการเพิ่มมาตรการป้องกันการดำเนินคดีหรือการฟ้องคดีปิดปาก และส่งเสริมสนับสนุนให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการตรวจสอบคอร์รัปชันยิ่งขึ้น

ปีที่แต่ง (พ.ศ.)
2565
ผู้แต่ง

พัชรี ตรีพรม

หน่วยงานสนับสนุน

หัวข้อ
Related Content

แนวหน้าต่อต้านคอร์รัปชัน : เมื่อผมเรียนรู้การต้านคอร์รัปชัน จากร้านซักผ้า

หรือนี่คือช่างเชื่อมตัวจริง ? เมื่ออาจารย์ต่อภัสสร์พาคุณไปเรียนรู้การต่อต้านคอร์รัปชันจากการตามหาร้านซักผ้าในสหรัฐอเมริกา !

ลงมือสู้โกง : ไข ‘เครื่องมือต้านโกง’จากประเด็นร้อนเสาไฟกินรี

จากการตั้งคำถามด้วยภาพเสาไฟกินรีไม่กี่ต้นในซอยด้วยมือถือเครื่องเดียว ลุกลามสู่การตรวจสอบงบติดตั้งเสาไฟประติมากรรมทั่วประเทศได้อย่างไร

ลงมือสู้โกง : ฟื้นฟูจากโควิด และระบบตรวจสอบภาคประชาชน

จะวางใจได้อย่างไร ว่าเงินของเราถูกนำไปใช้แก้ปัญหาโควิด-19 อย่างคุ้มค่า ?นับตั้งแต่เกิดสถานการณ์โควิด-19 ที่เกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2563 ทำให้ทั่วโลกต้องเผชิญกับปัญหาด้านสาธารณสุขในการป้องกันและรักษาผู้ป่วย ตามมาด้วยปัญหาภาวะเศรษฐกิจถดถอย อัตราการว่างงานและอัตราการเลิกจ้างสูงขึ้น

You might also like...

KRAC Hot News I ปลดล็อกรังนกจากถ้ำสู่บ้านอย่างไร ให้โปร่งใสไร้ทุจริต

การส่งออกรังนกไทยมีมูลค่าสูงขึ้นเรื่อย ๆ ตามความต้องการของผู้บริโภค ธุรกิจรังนกจึงสร้างรายได้มหาศาลให้กับเศรษฐกิจไทยในปัจจุบัน แต่หากขาดการกำกับดูแลให้โปร่งใส อาจจะก่อให้เกิดผลเสียมหาศาลกับธุรกิจไทยได้

KRAC คัดสรร เล่างานวิจัยไทย | “ธรรมาภิบาล” หลักการที่ยืดหยุ่น พร้อมสร้างประสิทธิภาพ

เคยสงสัยไหมว่าทำไมหลักธรรมาภิบาลของแต่ละองค์กรถึงดูไม่เหมือนกัน บางองค์กรมี 6 หลัก บางองค์กรมี 8 หลัก ความจริงแล้วหลากหลายองค์กรทั่วโลกล้วนมีการวางแนวคิดเกี่ยวกับธรรมาภิบาลที่ต่างกัน โดยงานวิจัยเรื่อง “โครงการวิจัยพัฒนาฐานข้อมูล องค์ความรู้ด้านธรรมาภิบาล (ระยะที่ 2)” (2563) ได้ศึกษาเรื่องนี้เอาไว้

โครงการวิจัยพัฒนาฐานข้อมูลองค์ความรู้ด้านธรรมาภิบาล (Phase 2)

การศึกษาเพื่อสร้างตัวชี้วัดสำหรับการประเมินและติดตามการนำหลักธรรมาภิบาลไปใช้ในการบริหารจัดการขององค์กรในประเทศไทย พบว่า มีความเหมาะสมในการนำไปใช้ในระดับมาก และยังสามารถปรับปรุงดัชนีชี้วัดบางตัวเพื่อให้สอดคล้องการทำงานของแต่ละหน่วยงานได้