ลงมือสู้โกง : องค์กรจะลดความเสี่ยงการทุจริตภายในได้ ต้องเริ่มที่ฝ่ายทรัพยากรบุคคล

เมื่อพูดถึงการจัดการความเสี่ยง สิ่งหนึ่งที่ทุกองค์กรต้องนึกถึงได้ทันทีคือความเสี่ยงการทุจริตและคอร์รัปชันแต่ในทางกลับกันหากพูดถึงแนวทางการลดความเสี่ยง หลายองค์กรอาจนึกไม่ถึงว่าตัวแปรสำคัญที่จะเพิ่มหรือลดความเสี่ยงการทุจริตภายในองค์กรได้ มาจากการบริหารจัดการของฝ่ายทรัพยากรบุคคล

ในปี 2014 สมาคมต่อต้านการทุจริตสากล หรือ AFCE (Association of Certified Fraud Examiners) ได้รายงานผลการสำรวจศึกษาจากกรณีสอบสวนคดีฉ้อโกงต่างๆ ทั่วโลก กว่า 1,483 คดี ตั้งแต่ปี 2012 ถึง ปี 2013 พบว่า ร้อยละ 22 ขององค์กรที่พบปัญหาการฉ้อโกงโดยบุคคลภายใน รวมความเสียหายคิดเป็นมูลค่าสูงถึง 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และที่น่าตกใจไปกว่านั้นคือ กว่าองค์กรจะพบว่าเกิดปัญหาการฉ้อโกงโดยคนในก็กินเวลาให้ผู้กระทำการทุจริตได้อิ่มหมีพีมันไปแล้วกว่า 18 เดือน ซึ่งลักษณะการทุจริตโดยการฉ้อโกงที่พบเจอมักเป็นพฤติกรรมการยักยอกทรัพย์สิน การคอร์รัปชันด้วยการรับ-ให้สินบนหรือฮั้วประมูล และการตกแต่งงบการเงินหรือข้อมูลบัญชี

จากข้อมูลดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันโดยคนใน มีโอกาสที่จะเกิดขึ้นได้กับทุกองค์กร โดย AFCE ได้อธิบายเพิ่มเติมว่าผู้ที่กระทำการทุจริตภายในองค์กรมักมีพฤติกรรมน่าสงสัยหรือผิดสังเกตไปจากเดิม ก่อนที่พวกเขาเหล่านั้นจะถูกจับได้ว่ากระทำการทุจริต เช่น มีลักษณะการใช้จ่ายเกินตัว มีความใกล้ชิดหรือสนิทสนมกับลูกค้าหรือคู่ค้าคนใดคนหนึ่งเป็นพิเศษ หรือ มีปัญหาทางการเงิน เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยจาก Harvard Business Review ยืนยันว่า สังคมเพื่อนร่วมงานและสิ่งแวดล้อมในที่ทำงานมีส่วนกระตุ้นให้บุคลากรในองค์กรกระทำการทุจริตด้วยเช่นกัน กล่าวคือหากมีใครคนใดคนหนึ่งในกลุ่มเพื่อนร่วมงานกระทำการทุจริต ความเสี่ยงที่เพื่อนร่วมงานคนอื่นจะกระทำการทุจริตเหมือนกันก็มีสูงตามไปด้วย หรือที่เรียกว่า “The Rotten Apple” แปลเป็นภาษาไทยเข้าใจง่ายๆ ก็คือ “ปลาเน่าตัวเดียวเหม็นไปทั้งห้อง”

ดังนั้น ฝ่ายทรัพยากรบุคคล (HR) จึงเปรียบเสมือนฟันเฟืองสำคัญขององค์กรในการบริหารจัดการทรัพยากรคนให้อยู่ในกรอบความเข้าใจที่มีต่อแนวทางการปฏิบัติงาน เป้าหมาย และคุณค่าขององค์กรที่เหมือนกัน โดยทั่วไปการบริหารทรัพยากรบุคคลจะประกอบด้วยหลักการบริหารจัดการ 3 หลักที่สำคัญ ได้แก่ หนึ่ง การสรรหาและพิจารณาปรับตำแหน่งพนักงาน สอง การดูแลปกป้องวาระตำแหน่งของพนักงานให้พ้นจากการถูกแทรกแซงโดยอำนาจที่มิชอบ และสาม การสร้างกรอบมาตรฐานในการจ่ายค่าตอบแทนและเงื่อนไขต่างๆ ที่เกี่ยวข้องให้กับพนักงานอย่างเป็นธรรม ซึ่งทั้ง 3 หลักการสำคัญนี้ หากมีการบริหารจัดการที่ไม่ดี ขาดความชัดเจนและโปร่งใสของกระบวนการ หรือไม่สามารถชี้แจงที่มาที่ไปได้ ก็จะส่งผลต่อความเสี่ยงปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันภายในองค์กรที่เพิ่มมากขึ้นด้วย

ข้อมูลจากศูนย์ข้อมูลการต่อต้านคอร์รัปชันโดยสถาบันมิเชลเซน (Chr. Michelsen Institute) ประเทศนอร์เวย์ อธิบายไว้ในรายงานเรื่อง Corruption and anti-corruption practices in human resource management in the public sector (2015) ว่า ความเสี่ยงการเกิดทุจริตคอร์รัปชันจากการบริหารจัดการทรัพยากรบุคคลมีความสัมพันธ์กับแนวคิดและพฤติกรรมการเล่นพรรคเล่นพวก (Nepotism) การเลือกที่รักมักที่ชัง (Favoritism) และการใช้อำนาจในทางมิชอบของฝ่ายทรัพยากรบุคคลในกระบวนการสรรหาและคัดเลือกพนักงาน การจัดฝึกอบรม การปรับเลื่อนตำแหน่ง หรือการโยกย้ายพนักงาน ลักษณะพฤติกรรมดังกล่าว จึงนำไปสู่การกระทำการทุจริต เช่น การจ่ายเงินหรือให้สินบนเพื่อให้ได้ตำแหน่งงานระดับสูง การยักยอกเงินเดือน และการใช้เส้นสายเครือข่ายความสัมพันธ์เพื่อให้ได้ตำแหน่งงาน เป็นต้น

เพื่อป้องกันปัญหาการทุจริตในการบริหารทรัพยากรบุคคลดังกล่าว องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติแห่งสหราชอาณาจักร (Transparency International: UK) ได้เผยแพร่คู่มือแนวปฏิบัติในการบริหารทรัพยากรบุคคลเพื่อต่อต้านการทุจริตโดยการรับ-ให้สินบน ชื่อ Human Resources Controls: Anti-Bribery Guidance Chapter 7 (2017) โดยนำเสนอหัวใจสำคัญของแนวปฏิบัติที่ดีของฝ่ายทรัพยากรบุคคล ที่ “ต้อง” ปฏิบัติ ซึ่งสามารถสรุปได้เป็น 4 ต้อง ดังนี้ ต้องที่หนึ่ง ต้องมีการจัดรับสมัครและแต่งตั้งพนักงานด้วยความสุจริต พร้อมทั้งดูแลพนักงานใหม่ให้มีความเข้าใจต่อคุณธรรม จริยธรรมและวัฒนธรรมต่อต้านการทุจริตขององค์กร รวมถึงแนวปฏิบัติงานต่อต้านการให้-รับสินบนขององค์กร ต้องที่สอง ต้องมีส่วนร่วมออกแบบและให้คำแนะนำในการกำหนดแผนงานต่อต้านการให้-รับสินบนที่มีความสอดคล้องกับการบริหารงานด้านบุคลากร ต้องที่สาม ต้องสร้างแรงจูงใจ หรือผลประโยชน์ที่พนักงานจะได้รับเมื่อพวกเขาร่วมปฏิบัติตามแนวทาง หรือร่วมสนับสนุนแผนงานต่อต้านการให้-รับสินบน และต้องที่สี่ ต้องกำหนดและบังคับใช้บทลงโทษอย่างเหมาะสม เป็นธรรม กับผู้ที่กระทำการทุจริตให้-รับสินบนทุกคน

การสนับสนุนให้พนักงานภายในองค์กรมีส่วนร่วมต่อต้านการทุจริตการให้-รับสินบนที่มีประสิทธิผลมากที่สุด คือ การจัดให้มีระบบการแจ้งเบาะแส หรือ Whistle Blowing ที่พนักงานสามารถมีส่วนร่วมให้เบาะแสการให้-รับสินบนหรือการทุจริตอื่นๆได้อย่างปลอดภัย รวมถึงระบบมีความเอื้ออำนวยให้ผู้แจ้งสามารถติดตามการดำเนินงาน และรับทราบผลการสอบสวนในท้ายที่สุด ฝ่ายทรัพยากรบุคคลจึงมีบทบาทสำคัญอย่างมากในการร่วมออกแบบระบบการแจ้งเบาะแสภายในองค์กรให้ช่องทางการรับเรื่องมีความเหมาะสมสอดคล้องกับการทำงานของทุกภาคส่วน การคำนึงถึงความปลอดภัยและการปกป้องข้อมูล สิทธิส่วนบุคคลของผู้แจ้งตลอดการดำเนินการ รวมถึงการควบคุมดูแลกระบวนการทางวินัยกับผู้ที่ถูกตัดสินว่ากระทำการทุจริตอย่างเป็นธรรม

ตัวอย่างหนึ่งที่น่าสนใจมากมาจากประเทศแอฟริกาใต้ เป็นการสนับสนุนให้พนักงานออกมาแจ้งเบาะแสผ่านเครื่องมือ Corruption Watch ที่เปิดรับเบาะแสการทุจริตคอร์รัปชันในวงกว้างครอบคลุมทั้งภาครัฐ บริษัทหรือองค์กรเอกชน ผ่านช่องทางที่หลากหลายทั้งรูปแบบออนไลน์ สายด่วน หรือการส่งข้อความ SMS ติดต่อกลับ โดยระบบให้ความสำคัญกับความปลอดภัยของผู้แจ้งและมีการรายงานติดตามผลให้กับผู้แจ้งผ่านทางข้อความ SMS อีกด้วย

นอกจากนี้ การสร้างเสริมวัฒนธรรมองค์กรให้มีความสุจริต โปร่งใส และไม่ยอมรับต่อการทุจริต คอร์รัปชันก็เป็นหน้าที่รับผิดชอบที่ฝ่ายทรัพยากรบุคคลสามารถช่วยปลูกฝังให้กับพนักงานภายในมีความรับรู้ที่ตรงกันได้ ผ่านการจัดฝึกอบรมและการทำกิจกรรมร่วมกัน เพื่อร่วมกำหนดแนวทางปฏิบัติและจรรยาบรรณขององค์กร ในประเทศไทยมีตัวอย่างเครื่องมือ “องค์กรคุณธรรม” ที่มุ่งเน้นการสร้างจรรยาบรรณองค์กรที่มาจากการมีส่วนรวมของทั้งองค์กร มีขั้นตอนในการดำเนินการ 6 ขั้นตอน คือ หนึ่ง การสร้างการรับรู้และการยอมรับของทุกภาคส่วนในองค์กร สอง รวมกันระดมความคิดจัดทำบัญชีพฤติกรรมพึงประสงค์และพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ สาม ร่วมกันกำหนดคุณธรรมหลัก สี่ แปลงคุณธรรมหลักให้เป็นนโยบายหรือแนวปฏิบัติ ห้า นำไปปฏิบัติจริงในองค์กร และ หก ประเมินผลภายหลังการนำนโยบายหรือแนวปฏิบัติไปใช้

ด้วยเหตุนี้ หลักการบริหารทรัพยากรบุคคลทั้ง 3 หลักในข้างต้นจึงจำเป็นต้องได้รับการให้ความสำคัญตั้งแต่ในกระบวนการสรรหาและคัดเลือกพนักงาน การพิจารณาประเมินผลงานปรับเลื่อนตำแหน่ง และการดูแลสวัสดิการ ค่าตอบแทนที่ควรมีความโปร่งใส ชัดเจน ตรวจสอบ และชี้แจงที่มาที่ไปของการดำเนินงานได้ อีกทั้งในการกำหนดกรอบมาตรฐาน หลักเกณฑ์ หรือเงื่อนไขใดๆ ในกระบวนการบริหารทรัพยากรบุคคลจะต้องเป็นไปตามหลักกฎหมายและสิทธิแรงงานที่พนักงานควรได้รับ ตลอดจนการปกป้องพนักงานจากการถูกแทรกแซงโดยอำนาจที่มิชอบ การรับประกันความปลอดภัยของพนักงานจากการมีส่วนร่วมแจ้งเบาะแสผู้มีความเสี่ยงกระทำการทุจริต หรือการบังคับใช้บทลงโทษกับผู้กระทำการทุจริตภายในองค์กรอย่างจริงจัง ก็นับเป็นส่วนหน้าที่รับผิดชอบที่สำคัญของฝ่ายทรัพยากรบุคคลที่จะช่วยยกระดับการรับรู้ด้านคุณธรรม จริยธรรม และคุณค่าขององค์กรให้กับพนักงานได้ ส่งผลต่อการสร้างสังคมและวัฒนธรรมองค์กรที่ไม่ยอมรับต่อการทุจริต การมีแนวทางปฏิบัติงานที่ให้ความสำคัญกับความโปร่งใสตรวจสอบได้ นำไปสู่การลดความเสี่ยงการทุจริตคอร์รัปชันภายในองค์กรที่ยั่งยืน

ปีที่แต่ง (พ.ศ.)
2565
ผู้แต่ง

ธิดาภรณ์ แป๊ะสมัน

หน่วยงานสนับสนุน

หัวข้อ
Related Content

แนวหน้าต่อต้านคอร์รัปชัน : เวทีต้านโกงระดับโลก เขาพูดคุยอะไรกัน

4 ประเด็นน่าสนใจจาก “Summit for Democracy 2023” การประชุมระดับโลกเมื่ออาทิตย์ที่ผ่านมา ผศ. ดร.ต่อภัสสร์ ยมนาค ผู้ร่วมก่อตั้งและที่ปรึกษา HAND Social Enterprise HANDSocialEnterprise ได้รับเชิญจากรัฐบาลเกาหลีใต้ให้ไปร่วมเสวนาในงาน Summit for Democracy 2023 หัวข้อหลักงานปีนี้คือ “การต่อต้านคอร์รัปชัน” เชื่อมโยงคำอธิบายว่า การคอร์รัปชันบ่อนทำลายประชาธิปไตย ในทางกลับกันประเทศที่ประชาธิปไตยไม่เข้มแข็งจะทำให้คอร์รัปชันสูงขึ้น

แนวหน้าต่อต้านคอร์รัปชัน : เปิดตัว KRAC ศูนย์ความรู้ต้านโกง

คอร์รัปชันเป็นปัญหาที่มีความซับซ้อนอย่างมาก ถ้าไม่แก้ไขทุกมิติอย่างครอบคลุมผลที่ตามมาอาจกลายเป็นเพิ่มปัญหาให้สังคมได้ จึงต้องใช้วิธีที่มีประสิทธิภาพ หนึ่งในนั้นคือการใช้ความรู้ทางวิชาการ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติจึงได้ร่วมมือกับคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ จัดตั้ง “ศูนย์ความรู้เพื่อความร่วมมือในการต่อต้านคอร์รัปชัน และส่งเสริมธรรมาภิบาลในระดับภูมิภาค” (Knowledge hub for Regional Anti-corruption and good governance Collaboration: KRAC) ขึ้น เมื่อ 24 เมษายนที่ผ่านมา

แนวหน้าต่อต้านคอร์รัปชัน : สื่อสารต้านโกงอย่างไร ถึงได้ผล

ในหลายๆ ครั้งที่ผมได้มีโอกาสไปบรรยายเรื่องการต่อต้านคอร์รัปชันให้กับผู้ฟังซึ่งเป็นทั้งเจ้าหน้าที่รัฐ นิสิต นักศึกษา และประชาชนทั่วไป ข้อแนะนำหนึ่งที่มักจะได้มาคือ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรสื่อสาร นำเสนอเรื่องราวของผลกระทบจากการคอร์รัปชันที่รุนแรง เพื่อให้สังคมหวาดกลัวการคอร์รัปชันและรังเกียจคนคอร์รัปชัน เป็นการใช้พลังสังคมเพื่อกดดันให้ “คนโกงไม่มีที่ยืนในสังคม”

You might also like...

บทความวิจัย : ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับการเสริมสร้างความร่วมมือและการควบคุมคอร์รัปชันขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในจังหวัดเพชรบุรี

เมื่อการกระจายอำนาจกลับกลายเป็นการกระจายการทุจริตสู่ท้องถิ่น เพื่อยับยั้งปัญหาคอร์รัปชันในท้องถิ่น จึงต้องส่งเสริมการปกครองตามหลักธรรมาภิบาล (กรณีศึกษา จังหวัดเพชรบุรี)

KRAC Around เล่าข่าวคอร์รัปชันจากทั่วโลก I UNODC จับมือไนจีเรียจัดทำรายงานการทุจริตในไนจีเรีย ชี้ “การติดสินบนได้รับการยอมรับน้อยลง”

รายงานฉบับนี้มีชื่อว่า “การทุจริตในไนจีเรีย: รูปแบบและทิศทาง (Corruption in Nigeria: Patterns and Trends)” เป็นการสำรวจเกี่ยวกับการรับรู้การทุจริตของประชาชนในประเทศไนจีเรียจากประสบการณ์ของประชาชน นอกจากนี้ยังมีการวิเคราะห์แนวโน้มการทุจริต ประสิทธิภาพของกลยุทธ์ และแนวทางการต่อต้านการทุจริตอีกด้วย

คิดด้วยพลเมือง(See-Think-Cen’) : โกง (เรื่อง) กิน ฉ่ำๆ หม่ำๆ แบดกาย แบดกายหม่ำๆ

เมื่อวันแม่ที่ผ่านมาหลายๆ ท่านคงพาคุณแม่ไปทานข้าว หรืออาจกลับบ้านไปทานข้าวกับคุณแม่และครอบครัว เพราะสำหรับคนไทยแล้ว “อาหารเป็นเรื่องสำคัญ” ดังนั้นในวันสำคัญการนัดรวมตัวกันกินข้าวจึงเป็นเรื่องจำเป็น