แนวหน้าต่อต้านคอร์รัปชัน : ภาพลักษณ์ตำรวจไทย – มุมมองที่ต้องเร่งแก้ไข

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ภาพลักษณ์ของตำรวจไทยทั้งในสายตาประชาชนและชาวต่างชาติได้รับผลกระทบอย่างหนัก ไม่ว่าจะมองจากมุมไหน ก็ดูเหมือนว่าจะมีแต่เรื่องที่ไม่ค่อยจะดีนัก ทั้งกรณีปัญหาความขัดแย้งของผู้บริหารระดับสูงภายในองค์กรไปถึงการทุจริตและการกรรโชกทรัพย์ทั้งต่อคนในประเทศและนักท่องเที่ยวที่ได้รับการเผยแพร่เป็นข่าวอย่างกว้างขวาง ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของประชาชนและนักท่องเที่ยวรวมถึงภาพลักษณ์ของประเทศไทยในภาพรวม

สำหรับคนไทย ปัญหาการทุจริตในหน่วยงานตำรวจไม่ใช่เรื่องใหม่ หลายคนมองว่าเป็นเรื่องปกติที่พบเห็นได้ในชีวิตประจำวันผลสำรวจจากสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA) ยิ่งตอกย้ำความจริงข้อนี้ โดยแสดงให้เห็นว่าหน่วยงานตำรวจเป็นหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายที่ได้รับความไว้วางใจน้อยที่สุดในประเทศไทย โดยผู้ตอบแบบสอบถามมากกว่า 70% ไม่ไว้วางใจหน่วยงานตำรวจทั่วไป

ในขณะเดียวกัน มุมมองของชาวต่างชาติก็ไม่ได้ดีไปกว่ากันถ้าท่านผู้อ่านยังจำกันได้ ไม่นานมานี้มีกรณีที่สร้างความสั่นสะเทือนให้กับวงการตำรวจไทยอย่างมาก คือคดีที่เกี่ยวข้องกับชาร์ลีน อัน นักแสดงสาวชาวไต้หวัน เมื่อเธอโพสต์ในโซเชียลมีเดียถึงประสบการณ์ถูกเรียกเก็บเงินจากตำรวจไทยระหว่างมาท่องเที่ยวที่กรุงเทพฯ โดยเล่าว่าถูกเรียกเก็บเงินกว่า 20,000 บาท ในข้อหาครอบครองบุหรี่ไฟฟ้าและไม่พกพาสปอร์ต แม้ว่าเธอจะยืนยันว่าได้แสดงวีซ่าให้เจ้าหน้าที่ตำรวจดูแล้วก็ตาม

เหตุการณ์นี้นำไปสู่การสอบสวนและตั้งข้อหาเจ้าหน้าที่ตำรวจ 6 นาย ในข้อหาติดสินบนและละทิ้งหน้าที่ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาเชิงระบบที่ฝังรากลึกในหน่วยงานตำรวจไทย ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติถึงกับต้องออกมาขอโทษต่อชาร์ลีน อัน และเพื่อนๆ ของเธอ พร้อมยืนยันว่าจะดำเนินการสอบสวนอย่างจริงจัง อย่างไรก็ตาม สุดท้ายประชาชนก็ไม่รู้ว่ามีการลงโทษผู้กระทำผิดจริงหรือไม่ หรือเรื่องดำเนินไปถึงไหนแล้ว

เรื่องปฏิรูปตำรวจมีความซับซ้อนมาก เพราะต่อให้ตำรวจมีความซื่อสัตย์ สุจริต ไม่อยากรับสินบนแต่ถ้าระบบไม่เอื้อให้ตำรวจน้ำดีแบบนี้เจริญเติบโตในหน้าที่การงานได้ เพราะยังมีข่าวเรื่องการซื้อขายตำแหน่งที่ต้องใช้เงินมากออกมาอยู่เรื่อยๆ โดยเฉพาะช่วงฤดูกาลโยกย้ายตำแหน่ง หรือการที่ตำรวจต้องนำเงินส่วนตัวมาใช้จ่ายในการทำงาน ตามที่มีนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่เคยออกมาให้สัมภาษณ์ไม่นานมานี้ ดังนั้นการปฏิรูปต้องดูที่โครงสร้างเชิงระบบ ไม่ใช่ดูแค่การอบรม ปลูกฝังจิตสำนึกเท่านั้น

เมื่อปีที่แล้ว ธานี ชัยวัฒน์ และ ต่อภัสสร์ ยมนาค คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ เคยได้ร่วมกันทำงานวิจัยชิ้นหนึ่งชื่อ Criminal behaviour on detection and penalty: an experimental evidence from drug market game หรือแปลเป็นไทยได้ว่า พฤติกรรมของอาชญากรต่อการตรวจจับและบทลงโทษ: หลักฐานเชิงทดลองจากเกมตลาดยาเสพติด เพื่อศึกษาพฤติกรรมของอาชญากรต่อการเพิ่มการลงโทษหรือเพิ่มการตรวจจับ เมื่อมีการคอร์รัปชันในการบังคับใช้กฎหมาย ผลการวิจัยพบว่า การเพิ่มโอกาสการตรวจจับมีผลกระทบต่อการลดอาชญากรรมอย่างมากตั้งแต่แรก ในขณะที่การเพิ่มบทลงโทษส่งผลให้อาชญากรรมลดลงแบบค่อยเป็นค่อยไป นอกจากนี้ การวิจัยยังพบว่า หากสังคมรับรู้ว่ามีเจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมายที่ไม่ซื่อสัตย์ ประสิทธิภาพในการป้องกันอาชญากรรมจะลดลงอย่างรวดเร็วและมาก

จากผลการวิจัยนี้ สามารถสรุปได้ว่า หากต้องการลดอาชญากรรมในสังคม เราต้องให้ความสำคัญกับผู้บังคับใช้กฎหมายอย่างมากและเป็นลำดับแรกๆซึ่งหมายถึงทั้งตำรวจและหน่วยงานต่อต้านคอร์รัปชันทั้งหลาย เพราะถ้าป้องกันการโกงในกลุ่มผู้บังคับใช้กฎหมายไม่ได้ก่อน ระบบก็จะพังทลาย และการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมและคอร์รัปชันในส่วนอื่นๆ ก็จะเกิดขึ้นได้ยากมาก

สิ่งที่ประชาชนสามารถช่วยกันทำได้ คือ การติดตามการทำงานของตำรวจ ออกมาพูดถึงความไม่พอใจต่างๆ ที่เคยได้รับ หรือชื่นชมการบริการที่ดีที่เคยได้รับ เพื่อใช้กระแสสังคมกดดันให้เกิดการปฏิรูปอย่างจริงจังสักที

สิ่งหนึ่งที่จะช่วยให้ประชาชนสามารถจับตาการทำงานของตำรวจได้คือ การสร้างความโปร่งใส การเปิดเผยข้อมูลต่างๆ อย่างทั่วถึง ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลจัดซื้อจัดจ้างของตำรวจ การดำเนินคดีความต่างๆ ขั้นตอนการดำเนินงาน ผลการปฏิบัติงาน โดยที่ไม่กระทบต่อการดำเนินคดีตามกฎหมาย เพราะข้อมูลเหล่านี้เป็นข้อมูลที่ต้องเปิดเผยตามกฎหมายอยู่แล้ว

นักวิจัยได้เสนอแนวทางในการป้องกันการโกงในกลุ่มผู้บังคับใช้กฎหมาย โดยเน้นการเปิดข้อมูลสาธารณะให้ประชาชน เพื่อให้ประชาชนเข้าร่วมตรวจสอบการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐอีกชั้นหนึ่ง เช่น การติดกล้องที่ตัวตำรวจขณะปฏิบัติหน้าที่ หรือการใช้เทคโนโลยีอย่าง ACT AI ที่รวบรวมข้อมูลจัดซื้อจัดจ้างของรัฐทั้งหมดไว้ ให้ประชาชนสามารถเข้าไปตรวจสอบความผิดปกติได้โดยง่ายและสะดวก

ท้ายที่สุด การแก้ไขปัญหาการทุจริตในประเทศไทย รวมถึงในหน่วยงานตำรวจ จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในสังคม ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ในการร่วมกันสร้างสังคมที่โปร่งใสและปราศจากการทุจริตเพื่อฟื้นฟูความเชื่อมั่นของประชาชนและนักท่องเที่ยวต่อประเทศไทย และเพื่อการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนในระยะยาว

ปีที่แต่ง (พ.ศ.)
2567
ผู้แต่ง
  • ผศ.ดร.ต่อภัสสร์ ยมนาค
  • รศ.ดร.ต่อตระกูล ยมนาค
หน่วยงานสนับสนุน

หัวข้อ
Related Content

แนวหน้าต่อต้านคอร์รัปชัน : โอปป้า เพื่อระบบที่ดีสร้างสังคมยั่งยืน

โอปป้าจ๋าช่วยด้วยยยย ! ทำไมคอร์รัปชันยังไม่หมดไปสักที หลาย ๆ คนอาจจะสงสัยว่า ทำไมเราถึงอยากปฏิรูปการศึกษาก็ทำไม่ได้ อยากป้องกันทรัพยากรธรรมชาติก็ทำได้ยากเพราะมีคนแย่งหาผลประโยชน์กันเต็มไปหมด หรือแม้แต่การสร้างสวัสดิการที่ดีให้กับประชาชนก็ดันไม่ถึงมือประชาชนอีก ซึ่งส่วนหนึ่งอาจมาจากการคอร์รัปชันที่ยังไม่สามารถแก้ไขให้หมดไปได้นั่นเอง

แนวหน้าต่อต้านคอร์รัปชัน : เวทีต้านโกงระดับโลก เขาพูดคุยอะไรกัน

4 ประเด็นน่าสนใจจาก “Summit for Democracy 2023” การประชุมระดับโลกเมื่ออาทิตย์ที่ผ่านมา ผศ. ดร.ต่อภัสสร์ ยมนาค ผู้ร่วมก่อตั้งและที่ปรึกษา HAND Social Enterprise HANDSocialEnterprise ได้รับเชิญจากรัฐบาลเกาหลีใต้ให้ไปร่วมเสวนาในงาน Summit for Democracy 2023 หัวข้อหลักงานปีนี้คือ “การต่อต้านคอร์รัปชัน” เชื่อมโยงคำอธิบายว่า การคอร์รัปชันบ่อนทำลายประชาธิปไตย ในทางกลับกันประเทศที่ประชาธิปไตยไม่เข้มแข็งจะทำให้คอร์รัปชันสูงขึ้น

แนวหน้าต่อต้านคอร์รัปชัน : เรามีคนโกงเพิ่มขึ้น หรือ เราจับคนโกงได้มากขึ้น

แจ้งไม่เยอะแน่นะวิ ! ปี 65 พบการแจ้งเรื่องทุจริตเกือบ 10,000 เรื่องในไทย เคยสงสัยกันบ้างไหมว่าทั้งๆ ที่มีหน่วยงานปราบโกงที่มีอำนาจทางกฎหมายล้นเหลืออยู่หลายหน่วยงาน ทำไมระดับการคอร์รัปชันของไทยยังดูจะแย่ลงเรื่อยๆ

You might also like...

บทความวิจัย : ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับการเสริมสร้างความร่วมมือและการควบคุมคอร์รัปชันขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในจังหวัดเพชรบุรี

เมื่อการกระจายอำนาจกลับกลายเป็นการกระจายการทุจริตสู่ท้องถิ่น เพื่อยับยั้งปัญหาคอร์รัปชันในท้องถิ่น จึงต้องส่งเสริมการปกครองตามหลักธรรมาภิบาล (กรณีศึกษา จังหวัดเพชรบุรี)

KRAC Around เล่าข่าวคอร์รัปชันจากทั่วโลก I UNODC จับมือไนจีเรียจัดทำรายงานการทุจริตในไนจีเรีย ชี้ “การติดสินบนได้รับการยอมรับน้อยลง”

รายงานฉบับนี้มีชื่อว่า “การทุจริตในไนจีเรีย: รูปแบบและทิศทาง (Corruption in Nigeria: Patterns and Trends)” เป็นการสำรวจเกี่ยวกับการรับรู้การทุจริตของประชาชนในประเทศไนจีเรียจากประสบการณ์ของประชาชน นอกจากนี้ยังมีการวิเคราะห์แนวโน้มการทุจริต ประสิทธิภาพของกลยุทธ์ และแนวทางการต่อต้านการทุจริตอีกด้วย

คิดด้วยพลเมือง(See-Think-Cen’) : โกง (เรื่อง) กิน ฉ่ำๆ หม่ำๆ แบดกาย แบดกายหม่ำๆ

เมื่อวันแม่ที่ผ่านมาหลายๆ ท่านคงพาคุณแม่ไปทานข้าว หรืออาจกลับบ้านไปทานข้าวกับคุณแม่และครอบครัว เพราะสำหรับคนไทยแล้ว “อาหารเป็นเรื่องสำคัญ” ดังนั้นในวันสำคัญการนัดรวมตัวกันกินข้าวจึงเป็นเรื่องจำเป็น