จากที่ผมได้รับเกียรติให้เข้าร่วมเป็นกรรมาธิการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2569 ในนามนักวิชาการอิสระที่ไม่สังกัดพรรคการเมืองใด
ผมถือว่าหน้าที่นี้คือโอกาสสำคัญที่จะได้ตรวจสอบการใช้งบประมาณแผ่นดินให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ และทรัพยากรของประเทศมีอยู่อย่างจำกัด
สิ่งหนึ่งที่ผมให้ความสนใจเป็นพิเศษคือ “งบก่อสร้าง” เพราะเป็นที่รู้กันดีว่า โครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ของภาครัฐคือหนึ่งในพื้นที่เสี่ยงต่อการทุจริตมากที่สุดในระบบราชการไทย และยังเป็นงบประมาณก้อนใหญ่ที่กินสัดส่วนมหาศาลในทุกปี
ความน่ากังวลไม่ได้อยู่แค่ตัวเลขที่อาจรั่วไหลจากการคอร์รัปชัน แต่ยังรวมถึงคำถามพื้นฐานที่สุดว่า “โครงการนี้จำเป็นจริงหรือไม่?” เพราะตลอดหลายปีที่ผ่านมา เราพบว่าหลายโครงการที่ใช้เงินภาษีมหาศาลนั้น ไม่ได้ตอบโจทย์ประชาชนจริงๆ บางแห่งสร้างถนนซ้ำซ้อน บางแห่งสร้างอาคารไว้แต่ไม่มีคนใช้งาน บางแห่งเปิดใช้งานได้ไม่นานก็ชำรุดเสียหาย
เพื่อทำความเข้าใจปัญหานี้ให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น ผมจึงขอความรู้จากผู้เชี่ยวชาญด้านการก่อสร้างและการตรวจสอบการทุจริตในภาครัฐ ซึ่งบังเอิญว่าเป็นคนใกล้ตัวที่สุดของผมเอง -พ่อของผม คุณต่อตระกูล ยมนาค
บทสนทนาระหว่างเราสองคนในครั้งนี้ไม่ได้มีแค่เรื่องเทคนิคการก่อสร้าง แต่ยังเปิดมุมมองให้ผมเข้าใจถึง “สูตรสำเร็จ” ของการทุจริตในวงการก่อสร้างไทยได้ชัดเจนขึ้น ซึ่งผมขอสรุปสิ่งที่ได้เรียนรู้มาแบ่งปันไว้ ณ ที่นี้ เพื่อให้สังคมไทยเห็นภาพร่วมกันว่า ปัญหาไม่ได้เกิดจากผู้รับเหมาอย่างเดียว แต่คือระบบที่เปิดช่องให้เกิดการแสวงหาประโยชน์จากงบประมาณของประเทศ
รูปแบบการทุจริตในงานก่อสร้างภาครัฐที่พบบ่อย
1. การฮั้วประมูล – ผู้รับเหมาหลายรายตกลงกันล่วงหน้า กำหนดว่ารายใดจะชนะ พร้อมตั้งราคาประมูลที่ไม่สะท้อนการแข่งขันจริง และมักมีเจ้าหน้าที่รัฐบางคนรู้เห็นเป็นใจ
2. การเรียกรับสินบน – เจ้าหน้าที่ภาครัฐเรียกรับเงินหรือผลประโยชน์แลกกับการอนุมัติให้ผ่านการตรวจรับงาน หรือเร่งรัดขั้นตอนการเบิกจ่ายงบประมาณ
3. การล็อกสเปก – การกำหนดรายละเอียดในข้อกำหนดทางเทคนิค (TOR) ให้เฉพาะบางบริษัทที่สามารถเข้าประมูลได้ หรือกำหนดสเปกวัสดุเกินความจำเป็นเพื่อเอื้อรายใดรายหนึ่ง
4. การแก้แบบ/เพิ่มงานโดยไม่จำเป็น -มีการปรับแก้แบบแปลนหรือเพิ่มปริมาณงานโดยไม่มีเหตุผลเชิงวิศวกรรม เพื่อขยายงบประมาณและเปิดช่องให้มีเงินส่วนต่าง
5. การลดคุณภาพวัสดุ – แม้ได้รับงบประมาณเต็มจำนวน แต่ผู้รับเหมาลดคุณภาพวัสดุหรือขั้นตอนการก่อสร้างเพื่อประหยัดต้นทุนแล้วนำส่วนต่างมาเป็นกำไร
6. การทิ้งงาน – รับงานแล้วหยุดก่อสร้างกลางคัน โดยเฉพาะในกรณีที่ผู้รับเหมาถูกใช้เป็น “นอมินี” ให้บุคคลอื่น และไม่มีความสามารถดำเนินงานจริง
ปัญหาเหล่านี้นำมาซึ่งความเสียหายที่มากกว่าตัวเงิน เพราะส่งผลให้โครงสร้างพื้นฐานที่สร้างขึ้นไม่มีคุณภาพ ไม่ตอบโจทย์ประชาชน ล่าช้า หรือใช้งานไม่ได้จริง ขณะที่ประชาชนเสียความเชื่อมั่น และธุรกิจที่โปร่งใสจริงๆ ก็หมดโอกาสแข่งขัน
สิ่งที่ผมเรียนรู้จากพ่อครั้งนี้ ทำให้ผมเห็นชัดว่า การตั้งคำถามกับ “ความจำเป็นของโครงการ” และ “ความคุ้มค่าของงบประมาณ” ไม่ใช่การจับผิดอย่างไร้เหตุผล หากแต่คือหัวใจของหน้าที่กรรมาธิการที่ยึดผลประโยชน์ของประชาชนเป็นหลัก
ผมจะนำความรู้และมุมมองเหล่านี้ไปใช้ในการทำงานในกรรมาธิการฯ อย่างรอบคอบ และขออนุญาตเล่าเรื่องนี้ไว้ตรงนี้ เพื่อให้ประชาชนที่ติดตามการทำงานของรัฐ ได้เข้าใจมากขึ้นว่า เบื้องหลัง “งบก่อสร้าง” ที่ดูเหมือนจะเป็นเรื่องเทคนิคและตัวเลขนั้น จริงๆ แล้วเกี่ยวพันกับโครงสร้างอำนาจผลประโยชน์ และความโปร่งใสของบ้านเมืองโดยตรง
เพราะทุกบาทของงบประมาณแผ่นดิน ควรถูกใช้เพื่อสร้างถนนให้คนเดิน ไม่ใช่เพื่อสร้างรายได้พิเศษให้ใครบางคนเดินนำหน้าประชาชนตลอดเวลา
- รศ.ดร.ต่อภัสสร์ ยมนาค
- รศ.ดร.ต่อตระกูล ยมนาค
หัวข้อ
แนวหน้าต่อต้านคอร์รัปชัน : โอปป้า เพื่อระบบที่ดีสร้างสังคมยั่งยืน
โอปป้าจ๋าช่วยด้วยยยย ! ทำไมคอร์รัปชันยังไม่หมดไปสักที หลาย ๆ คนอาจจะสงสัยว่า ทำไมเราถึงอยากปฏิรูปการศึกษาก็ทำไม่ได้ อยากป้องกันทรัพยากรธรรมชาติก็ทำได้ยากเพราะมีคนแย่งหาผลประโยชน์กันเต็มไปหมด หรือแม้แต่การสร้างสวัสดิการที่ดีให้กับประชาชนก็ดันไม่ถึงมือประชาชนอีก ซึ่งส่วนหนึ่งอาจมาจากการคอร์รัปชันที่ยังไม่สามารถแก้ไขให้หมดไปได้นั่นเอง
แนวหน้าต่อต้านคอร์รัปชัน : เวทีต้านโกงระดับโลก เขาพูดคุยอะไรกัน
4 ประเด็นน่าสนใจจาก “Summit for Democracy 2023” การประชุมระดับโลกเมื่ออาทิตย์ที่ผ่านมา ผศ. ดร.ต่อภัสสร์ ยมนาค ผู้ร่วมก่อตั้งและที่ปรึกษา HAND Social Enterprise HANDSocialEnterprise ได้รับเชิญจากรัฐบาลเกาหลีใต้ให้ไปร่วมเสวนาในงาน Summit for Democracy 2023 หัวข้อหลักงานปีนี้คือ “การต่อต้านคอร์รัปชัน” เชื่อมโยงคำอธิบายว่า การคอร์รัปชันบ่อนทำลายประชาธิปไตย ในทางกลับกันประเทศที่ประชาธิปไตยไม่เข้มแข็งจะทำให้คอร์รัปชันสูงขึ้น
แนวหน้าต่อต้านคอร์รัปชัน : เรามีคนโกงเพิ่มขึ้น หรือ เราจับคนโกงได้มากขึ้น
แจ้งไม่เยอะแน่นะวิ ! ปี 65 พบการแจ้งเรื่องทุจริตเกือบ 10,000 เรื่องในไทย เคยสงสัยกันบ้างไหมว่าทั้งๆ ที่มีหน่วยงานปราบโกงที่มีอำนาจทางกฎหมายล้นเหลืออยู่หลายหน่วยงาน ทำไมระดับการคอร์รัปชันของไทยยังดูจะแย่ลงเรื่อยๆ