ศึกษาวิธีการที่กลุ่มทุนใช้อำนาจทางการเมืองครอบงำกลไกการกำกับดูแลของภาครัฐ โดยใช้กรณีศึกษาของการบังคับใช้กฎหมายแข่งขันทางการค้า เพื่อหาแนวทางป้องกันไม่ให้กลไกของรัฐที่ให้การคุ้มครองและความเป็นธรรมแก่ประชาชนต้องถูกบิดเบือน
การผูกขาดในทางเศรษฐศาสตร์เป็นสิ่งที่ไม่พึงปรารถนาอย่างยิ่ง เนื่องจากการผูกขาด หมายถึง การที่ธุรกิจสามารถเอาเปรียบผู้บริโภคที่ไม่มีทางเลือกได้ การผูกขาดจึงมีผลทำให้ผู้ผูกขาด ขาดแรงจูงใจที่จะปรับปรุงคุณภาพของสินค้า หรือลดต้นทุน เพื่อแข่งขันกับผู้ประกอบการรายอื่น ทำให้การใช้ทรัพยากรไม่มีประสิทธิภาพ แต่ในทางธุรกิจ การเมือง การผูกขาดกลับหมายถึงขุมทรัพย์มหาศาล เนื่องจากธุรกิจผูกขาดจะสามารถทำกำไรก้อนโต โดยไม่ต้องใช้ความสามารถเท่าไรนัก ด้วยเหตุผลดังกล่าว ประเด็นเรื่องธุรกิจผูกขาดกับการเมือง จึงเป็นเรื่องที่ต้องจับตามองเป็นอย่างยิ่ง
งานวิจัยชิ้นนี้ จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาวิธีการและแนวทางที่กลุ่มทุนที่ใช้อำนาจทางการเมืองครอบงำกลไกการกำกับดูแลของภาครัฐ เพื่อแสวงหาหรือรักษาผลประโยชน์ส่วนตน โดยใช้กรณีศึกษาของการบังคับใช้กฎหมายแข่งขันทางการค้าเพื่อหาแนวทางในการป้องกันไม่ให้กลไกของรัฐที่ให้การคุ้มครองและความเป็นธรรมแก่ประชาชนต้องถูกบิดเบือนดังเช่นที่เป็นมาในอดีต
คณะผู้วิจัย ได้ประมวลรายชื่อผู้ถือหุ้น และกรรมการของบริษัทที่เคยถูกร้องเรียนว่ามีพฤติกรรมการค้าที่ไม่เป็นธรรม หรือที่มีงานวิจัยที่ระบุว่าว่ามีพฤติกรรมที่อาจเป็นการผูกขาด หรือจำกัดการแข่งขัน เพื่อที่จะศึกษาลักษณะความสัมพันธ์ของผู้บริหารระดับสูงของบริษัทเหล่านี้กับพรรคการเมือง นักการเมือง พร้อมกับดูแลกฎหมายการแข่งขันทางการค้า อย่างไรก็ดี คณะผู้วิจัย ได้เน้นย้ำว่างานวิจัยชิ้นนี้ไ ม่ได้แสดงว่าบุคคลดังกล่าวมีการกระทำใด ๆ ที่อาจเป็นการเอื้อประโยชน์ต่อกันและกัน หรือไม่มีความเป็นกลางในการปฏิบัติหน้าที่ เพียงแสดงว่าโครงสร้างทางการเมือง ภาคธุรกิจและฝ่ายปกครอง ซึ่งเป็นผู้กำกับดูแลภาคธุรกิจนั้น มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกันมากน้อยเพียงใดซึ่งอาจทำให้กลไกในการกำกับดูแลของรัฐอาจไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย เนื่องจากผู้ที่ปฏิบัติหน้าที่มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งทางตรง และทางอ้อมกับธุรกิจที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแล
สรุปประเด็นจากงานวิจัย
ผลการศึกษา พบว่าการผูกขาดทางธุรกิจเป็นประเด็นที่ต้องให้ความสนใจอย่างยิ่ง เนื่องจากภายใต้ระบบการเมืองที่ต้องใช้เงินทุนมาก นักการเมืองย่อมต้องแสวงหาทุนใหม่ด้วยการเข้ามามีอำนาจในการกำหนดนโยบาย เพื่อที่จะใช้ในการสร้างฐานเสียงของตนเองให้มีความมั่นคงมากยิ่งขึ้น เพื่อให้สามารถเป็นรัฐบาลได้ต่อไป ด้วยเหตุนี้ กำไรจากการผูกขาด จึงเป็นแหล่งทุนที่สำคัญสำหรับนักการเมืองที่จัดเจนในการประกอบธุรกิจ ซึ่งเป็นแหล่งทุนที่ไม่ผิดกฎหมาย
ผลการศึกษาธุรกิจผูกขาด พบว่าปัญหาการแข่งขันทางการค้าจำนวนมาก จะเกี่ยวโยงกับกลุ่มธุรกิจ 4 กลุ่ม ได้แก่ (1) กลุ่มเจริญโภคภัณฑ์ (2) กลุ่มสุรามหาราษฎร (3) กลุ่มปูนซิเมนต์ไทย และ (4) กลุ่มรัฐวิสาหกิจที่มีอำนาจผูกขาดตามกฎหมาย โดยวงจรความสัมพันธ์ระหว่างธุรกิจผูกขาด และการเมืองในประเทศไทย เป็นการเชื่อมผลประโยชน์ซึ่งกันและกันที่เกิดขึ้นมาอย่างยาวนาน และพบได้ในหลาย ๆ รัฐบาล โดยเฉพาะกับบุคคลในคณะรัฐมนตรีของรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ซึ่งส่วนใหญ่มีรากฐานมาจากกลุ่มธุรกิจ อีกทั้ง จากการศึกษายังพบว่าการเข้ามาของกลุ่มธุรกิจผูกขาด สามารถเข้าถึงอำนาจทางการเมืองได้ทั้งทางตรงและทางอ้อม ทั้งจากการบริจาคเงินให้พรรคการเมือง และการส่งตัวแทนดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรี ซึ่งสามารถแต่งตั้งตัวแทนเข้าไปอยู่ในองค์กรกำกับดูแล เพื่อกำหนดกติกาการแข่งขันในตลาด
ผลการศึกษา พบว่าการที่กลุ่มทุนผูกขาดสามารถแทรกแซงการทำงานของคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า และคณะกรรมการกำหนดราคาสินค้าและบริการ ทำให้การบังคับใช้กฎหมายทั้ง 2 ฉบับในการควบคุมพฤติกรรมที่เป็นการเอาเปรียบคู่แข่งหรือผู้บริโภคไม่สามารถดำเนินการได้ ซึ่งจะเห็นได้ว่าหลังจากกฎหมายบังคับใช้มาแล้ว 7 ปี ก็ยังไม่มีการออกเกณฑ์ของผู้ประกอบการที่มีอำนาจเหนือตลาด และเกณฑ์การควบรวมธุรกิจ ทำให้การแข่งขันในตลาด มีลักษณะของมือใครยาวสาวได้สาวเอามาตลอด
คณะผู้วิจัย จัดทำข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลในการดำเนินการระยะสั้น เพื่อปรับปรุงการทำงานของคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า เช่น ควรกำหนดให้สำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า ต้องเปิดเผยข้อมูลรายละเอียดเกี่ยวกับธุรกิจที่ได้รับการร้องเรียน และการดำเนินงานของสำนักงานในการพิจารณาการร้องเรียนเรื่องเหล่านี้ในเว็บไซต์ เพื่อให้ประชาชนสามารถรับรู้ปัญหาการแข่งขันทางการค้าที่เกิดขึ้น และร่วมตรวจสอบได้ และควรกำหนดระเบียบกำกับการดำเนินงานของกรรมการ เช่น กำหนดให้กรรมการแจ้งการมีส่วนได้ส่วนเสียกับภาคธุรกิจต่อสาธารณชน กำหนดหนดแนวทางปฏิบัติสำหรับกรรมการที่มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งทางตรงและทางอ้อม กับบริษัทที่ถูกร้องเรียน และกำหนดให้ผู้ถือหุ้นในรัฐวิสาหกิจทุกรายต้องแจ้งผู้ถือหุ้นที่แท้จริง (ultimate beneficial owner) เพื่อป้องกันไม่ให้นักการเมือง เข้ามาแสวงหาผลประโยชน์จากธุรกิจผูกขาดของรัฐ ตลอดจนสร้างกระบวนการพิจารณาคดีการแข่งขันทางการค้าให้มีความโปร่งใส เช่น มีการเปิดเผยคำวินิจฉัยรวม
คณะผู้วิจัย มีข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลในการดำเนินการระยะยาว เพื่อปรับปรุงการทำงานของคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า เช่น ควรแก้กฎหมายในส่วนขององค์ประกอบของคณะกรรมการ เพื่อไม่ให้มีผู้แทนจากธุรกิจขนาดใหญ่อยู่ในคณะกรรมการ และให้มีตัวแทนจากองค์กรผู้บริโภคอยู่ในคณะกรรมการ โดยกำหนดคุณสมบัติของกรรมการที่มีประสบการณ์ทางด้านกฎหมายเศรษฐศาสตร์ หรือด้านอื่นที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายแข่งขันและการค้าที่เป็นประจักษ์ต่อสาธารณชนในวงการ สำหรับแนวทางการป้องกันการผูกขาดโดยรัฐวิสาหกิจ ควรแก้ไขพระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้า พ.ศ 2542 ให้มีผลครอบคลุมถึงรัฐวิสาหกิจ เนื่องจากในปัจจุบัน รัฐวิสาหกิจหลายแห่งประกอบธุรกิจผูกขาด และกึ่งผูกขาดในธุรกิจพลังงาน ธุรกิจการบิน ธุรกิจสาธารณูปโภค แต่ผู้บริโภคยังคงไม่สามารถใช้มาตรการทางกฎหมายร้องเรียนได้ หากพบว่ารัฐวิสาหกิจเหล่านั้นมีพฤติกรรมการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม
เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ เเละสุณีพร ทวรรณกุล. (2549). การผูกขาดทางธุรกิจกับการเมือง. สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ).
- เดือนเด่น นิคมบริรักษ์
- สุณีพร ทวรรณกุล
หัวข้อ
โครงการศึกษาเรื่องการแสวงหาผลประโยชน์จากการอนุญาต โดยใช้อำนาจรัฐ
ศึกษาการตรวจสอบดุลพินิจของฝ่ายปกครองในการออกใบอนุญาต และศึกษากฎหมายต่างประเทศเพื่อเสนอแนะมาตรการทางกฎหมายในการป้องกันการแสวงหาผลประโยชน์จากการอนุญาตโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐ
โครงการศึกษามาตรการแทรกแซงตลาดข้าวเพื่อป้องกันการทุจริต: การแสวงหาค่าตอบแทนส่วนเกินและเศรษฐศาสตร์การเมืองของโครงการรับจำนำข้าวเปลือก
เพื่อประมาณการต้นทุน รายรับ การขาดทุน ต้นทุนสวัสดิการสังคมของโครงการรับจํานําข้าวเปลือก และประมาณการผลตอบแทนส่วนเกินที่ตกแก่กลุ่มบุคคลต่าง ๆ เพื่อวิเคราะห์การแสวงหาค่าเช่า และศึกษาการทุจริตของผู้ที่เกี่ยวข้อง
โครงการศึกษาความเหมาะสมและความพร้อมของประเทศไทยในการเข้าเป็นภาคีในอนุสัญญาขององค์การเพื่อความร่วมมือและพัฒนาทางเศรษฐกิจ ค.ศ.1997 ว่าด้วยการต่อต้านการให้สินบนแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐต่างประเทศในการทำธุรกรรมทางธุรกิจระหว่างประเทศ
ศึกษาความพร้อมของไทยในการเข้าเป็นภาคีตามอนุสัญญาองค์การเพื่อความร่วมมือและพัฒนาทางเศรษฐกิจ ค.ศ.1997 ว่าด้วยการต่อต้านการให้สินบนแก่เจ้าหน้าที่รัฐต่างประเทศในการทำธุรกรรมทางธุรกิจระหว่างประเทศ