คอร์รัปชัน (s) มีอะไรบ้าง

ประเภทของการคอร์รัปชันนั้น ถูกจำแนกไว้อย่างหลากหลาย โดยผ่านเกณฑ์ที่มีการคำนึงถึงขนาดมูลค่าและความสำคัญ ลักษณะและอำนาจของผู้ที่เกี่ยวข้อง กิจกรรมที่เกี่ยวข้อง มุมมองที่เป็นรูปธรรมต่อผู้เสียหาย รวมถึงบริบทความรุนแรงของการคอร์รัปชันที่มีผลในแต่ละสังคม ซึ่งการจำแนกประเภทและรูปแบบของการคอร์รัปชันในรูปแบบต่าง ๆ เหล่านี้ จะช่วยให้ผู้ออกแบบนโยบายสามารถเลือกใช้คำอธิบายที่เหมาะสมกับบริบทของการคอร์รัปชันในแต่ละสังคม เพื่อออกแบบนโยบายที่จะสามารถแก้ไขปัญหาการคอร์รัปชันได้อย่างตรงจุดและมีประสิทธิภาพ

การคอร์รัปชันสามารถจำแนกได้หลายประเภท โดยเกณฑ์ที่มักถูกกล่าวอ้างในงานวิจัย และในการปฏิบัติงานของหน่วยงานต่อต้านคอร์รัปชันต่าง ๆ มีอยู่ 2 รูปแบบ คือ หนึ่ง จำแนกตามขนาดมูลค่าและความสำคัญของการคอร์รัปชัน และ สอง จำแนกตามลักษณะและอำนาจของผู้ที่เกี่ยวข้องกับการคอร์รัปชัน โดยสามารถจำแนกลักษณะของการคอร์รัปชันโดยละเอียดได้ ดังนี้

การคอร์รัปชันที่จำแนกตามขนาดของมูลค่าการคอร์รัปชัน สามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ การคอร์รัปชันขนาดเล็ก (Petty Corruption) หมายถึง การคอร์รัปชันที่มีมูลค่าต่อครั้งไม่มาก เกี่ยวข้องกับคนจำนวนน้อย ซึ่งมี 2 รูปแบบย่อย คือ การเรียกเงินหรือค่าตอบแทน (Extortion) ต่อการให้บริการที่รัฐจัดให้ประชาชน นอกเหนือจากค่าบริการที่กำหนดไว้แล้ว และ การทุจริตทางการบริหาร (Administrative Capture) ที่เกี่ยวข้องกับการออกเอกสาร หรือการให้อำนาจต่าง ๆ ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และ การคอร์รัปชันขนาดใหญ่ (Grand Corruption) หมายถึง การคอร์รัปชันที่มีมูลค่าต่อครั้งสูง และอาจเกี่ยวข้องกับคนจำนวนมาก เช่น การคอร์รัปชันของโครงการขนาดใหญ่

ส่วนการจำแนกประเภทการคอร์รัปชันตามผู้ที่เกี่ยวข้อง จะพิจารณาในเรื่องของอำนาจและความสัมพันธ์แบบอุปถัมภ์ โดยสามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ การคอร์รัปชันโดยข้าราชการ (Bureaucratic Corruption) หมายถึง การคอร์รัปชันที่มีข้าราชการเข้ามาเกี่ยวข้อง เพื่อแสวงหาผลประโยชน์จากการปฏิบัติงาน ซึ่งมี 2 รูปแบบย่อย คือ Corruption Without Theft เป็นการที่เจ้าหน้าที่รัฐเรียกร้องสินบนจากประชาชน เพื่อแลกกับการบริการที่ดีขึ้นหรือรวดเร็วขึ้น และ Corruption With Theft เป็นการที่เจ้าหน้าที่รัฐเรียกร้องให้ประชาชนจ่ายสินบน แม้ว่าจะไม่ได้มีการเรียกเก็บเงินค่าบริการในเรื่องนั้น ๆ ก็ตาม และ การคอร์รัปชันทางการเมือง (Political Corruption) หมายถึง การคอร์รัปชันที่มีผู้ที่มีอำนาจทางการเมืองมาเกี่ยวข้อง ซึ่งมี 2 รูปแบบย่อย คือ การคอร์รัปชันทางการเมืองโดยตรง (Political Direct Corruption) ที่ใช้อำนาจรัฐในการออกกฎหมายหรือนโยบายเพื่อเอื้อประโยชน์ต่อตนเองและพวกพ้อง และการคอร์รัปชันทางการเมืองโดยอ้อม (Political Indirect Corruption) ที่เกิดจากการใช้ช่องว่างทางกฎหมายและดุลพินิจที่ไม่มีความชัดเจน เพื่อแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตน

นอกจากนี้ ในปัจจุบันยังมีการจำแนกประเภทของการคอร์รัปชันที่หลากหลายมากขึ้น เพื่อให้สามารถวัดระดับการคอร์รัปชันได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยธนาคารโลก (World Bank) ได้จำแนกกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการคอร์รัปชันออกเป็น 5 ประเภท ได้แก่ การคอร์รัปชันทางตรง ที่เป็นการการเสนอ การให้ การรับ หรือการเรียกร้องสิ่งใดก็ตามที่มีมูลค่า ทั้งทางตรงและทางอ้อม เพื่อให้มีอิทธิพลที่ไม่เหมาะสมต่อการกระทำของผู้อื่น การฉ้อฉล ที่เป็นการพยายามหลอกล่อเพื่อให้ได้รับผลประโยชน์ทางการเงิน หรือผลประโยชน์อื่น หรือเพื่อหลีกเลี่ยงข้อบังคับ การฮั้ว ที่เป็นความร่วมมือในการดำเนินการระหว่างสองคนหรือสองกลุ่มขึ้นไป เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ที่ไม่เหมาะสม การบีบบังคับ ที่เป็นการสร้างความเสียหาย การทำร้าย หรือการข่มขู่ ทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อผู้อื่นหรือทรัพย์สินของผู้อื่น และ การขัดขวางกระบวนการยุติธรรม ที่มุ่งให้การสืบสวนเกิดความชะงัก

สำหรับมุมมองที่เป็นรูปธรรมของผู้เสียหายต่อการจำแนกประเภทการคอร์รัปชัน ยังสามารถแบ่งการคอร์รัปชันออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ การคอร์รัปชันทางตรง (Hard Corruption) ที่สอดคล้องกับ “การฉ้อราษฎร์บังหลวง” ของประเทศไทย โดยแบ่งเป็น 2 กลุ่มย่อย คือ การจ่ายสินบน (Bribery) และการใช้งบประมาณที่ไม่ถูกต้องและไม่เหมาะสม (Budget Misallocation) และ การคอร์รัปชันทางอ้อม (Soft Corruption) ที่มีรูปแบบซับซ้อนและไม่ชัดเจน โดยแบ่งเป็น 2 กลุ่มย่อย คือ การใช้อำนาจโดยมิชอบ (Power Distortion) และการใช้ทรัพย์สินของทางราชการเพื่อผลประโยชน์ส่วนตน (Asset Misappropriation)

ในประเทศไทย คณะกรรมการวิสามัญพิจารณาสอบสวนและศึกษาเรื่องเกี่ยวกับการทุจริตของวุฒิสภา ได้แบ่งรูปแบบของการคอร์รัปชันที่สำคัญในประเทศไทย ออกเป็น 5 ประเภท ได้แก่ การคอร์รัปชันเชิงนโยบาย โดยอาศัยรูปแบบของกฎหมายหรือมติเป็นเครื่องมือในการแสวงหาผลประโยชน์ การคอร์รัปชันต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ในการใช้อำนาจและหน้าที่ในในฐานะของเจ้าหน้าที่ของรัฐเอื้อประโยชน์ให้แก่ตนเองหรือพวกพ้อง การคอร์รัปชันในการจัดซื้อจัดจ้าง ที่อาศัยช่องโหว่ของกระบวนการในการทุจริต การคอร์รัปชันในการให้สัมปทาน โดยแสวงหาหรือเอื้อประโยชน์โดยมิชอบจากโครงการหรือกิจการในลักษณะสัมปทานผูกขาด แและ การทุจริตโดยการทำลายระบบตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ ที่เป็นความพยายามในการแทรกแซงอำนาจขององค์กรอิสระ และทำให้ไม่สามารถตรวจสอบการใช้อำนาจของรัฐได้อย่างมีประสิทธิภาพ

จะเห็นว่าการจำแนกประเภทและรูปแบบของการคอร์รัปชันที่หลากหลายนี้ เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เห็นถึงความคล้ายคลึงกันในเชิงหลักการว่าการคอร์รัปชันนั้นเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการทุจริต แต่จะมีความแตกต่างกันในรายละเอียดของลักษณะและประเภทของกิจกรรมที่ไม่เหมือนกัน ซึ่งจะช่วยทำให้ผู้ออกแบบนโยบายสามารถเลือกใช้คำอธิบายเหล่านี้ เพื่อออกแบบนโยบายที่สามารถมุ่งเป้าหมายในการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันได้อย่างชัดเจน และทำให้นโยบายเหล่านั้นมีประสิทธิภาพในการต่อต้านคอร์รัปชันเพิ่มขึ้น

เอกสารอ้างอิง
รูปแบบ APA

ต่อภัสสร์ ยมนาค และสุภัจจา อังค์สุวรรณ. (2566). (ต่อต้าน) คอร์รัปชัน 101 ((Anti) Corruption 101). กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

ปีที่แต่ง (พ.ศ.)
กุมภาพันธ์ 2567
ผู้แต่ง
  • ศูนย์ความรู้เพื่อความร่วมมือในการต่อต้านคอร์รัปชัน และส่งเสริมธรรมาภิบาลในระดับภูมิภาค
หน่วยงานสนับสนุน
05_โลโก้ KRAC
หัวข้อ
Related Content

แล้วอะไรคือคอร์รัปชัน

การศึกษานิยามของคำว่า “คอร์รัปชัน” มีต้นกำเนิดและความหมายที่ถูกอธิบายผ่านองค์ความรู้ในการมองเรื่องของการคอร์รัปชันที่แตกต่างหลายหลาย แต่จุดร่วมที่สำคัญประการหนึ่งของการให้คำนิยามการคอร์รัปชัน คือ…

หันมองสถาบันและการคอร์รัปชันที่เป็นอยู่

แนวคิดเกี่ยวกับ “สถาบัน” เป็นแนวคิดที่สามารถใช้อธิบายถึงปรากฏการณ์คอร์รัปชันที่มีความซับซ้อน
และเกี่ยวข้องกับมิติทั้งในด้านเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม …

รู้จัก CPI เพื่อเข้าใจสถานการณ์คอร์รัปชัน

ในปัจจุบัน ดัชนีภาพลักษณ์การคอร์รัปชัน หรือ Corruption Perceptions Index (CPI) นับว่าเป็นดัชนีที่ได้รับการยอมรับมากที่สุดจากรัฐบาล ภาควิชาการ และนักลงทุนทั่วโลก …

You might also like...

KRAC Hot News I ไฟฟ้าไทยแพง เพราะภาคพลังงานยังโปร่งใสไม่พอ

เพราะไฟฟ้าได้กลายเป็นปัจจัยที่ 5 ไปแล้ว แต่ที่น่ากังวล คือไฟฟ้ายังคงเป็นปัจจัยเดียวที่ราคาไม่ได้เป็นไปตามกลไกตลาด ที่สำคัญยังเหมือนจะแพงขึ้นเรื่อย ๆ ด้วย…ทำไมค่าไฟฟ้าของไทยยังแพง และมีบทเรียนจากต่างประเทศอะไรบ้าง

บทความวิจัย : ปัญหาการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานเจ้าหน้าที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติประจำจังหวัด ในการรวบรวมพยานหลักฐานในความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ในองค์การบริหารส่วนตำบล

ความล่าช้าในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่สำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัด มีปัญหาหลักมาจากการขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกฎหมาย และการดำเนินการ

บทความวิจัย : รูปแบบการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนตามแนววิถีพุทธในงานต่อต้านการทุจริต และการสร้างเครือข่ายต่อต้านการทุจริตอย่างยั่งยืน

การพัฒนากิจกรรมสำหรับต่อต้านการทุจริตควรมีการประยุกต์หลักพุทธธรรมและปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ร่วมกับการส่งเสริมการสร้างเครือข่ายความร่วมมือ