เวลานี้คงไม่มีใครไม่พูดถึงการแข่งขันกีฬาระดับโลกอย่าง พาราลิมปิกฤดูร้อน 2024 ที่กำลังจัดขึ้นในขณะนี้ ต่อให้คุณจะไม่ใช่คอกีฬาแต่อย่างน้อยในหนึ่งครั้งที่เข้าโซเชียลมีเดียไม่ว่าจะแพลตฟอร์มใด คุณก็จะได้เห็นข่าวนักกีฬาพาราลิมปิกไทยที่ไปสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศอย่างแน่นอน สถิติปัจจุบัน ณ วันที่บทความนี้ถูกเขียนขึ้น ทัพนักกีฬาพาราลิมปิกไทยคว้าเหรียญรางวัลรวมทั้งสิ้น 30 เหรียญ โดยแบ่งเป็น เหรียญทอง 6 เหรียญเงิน 11และเหรียญทองแดง 13 ครองอันดับที่ 21จากผู้เข้าร่วมนับร้อยประเทศ
ปลายทางฝันของการเข้าร่วมการแข่งขันในครั้งนี้คงหนีไม่พ้นการเอาชนะคู่แข่ง สร้างสถิติใหม่เพื่อทำลายสถิติเดิม และคว้าเหรียญรางวัลกลับมา แต่เรื่องราวของเหล่านักกีฬายังทำให้เราได้มองลึกไปกว่านั้น เช่น คุณแวว สายสุนีย์ จ๊ะนะ เธอถูกรถชนจนทำให้ไม่สามารถเดินได้อีก เคยคิดสั้นจนอยากจากโลกนี้ไปแต่เมื่อได้กำลังใจจากครอบครัวและได้เข้าสู่ศูนย์ฟื้นฟูอาชีพคนพิการหยาดฝน สังกัดชมรมล้านนา จังหวัดเชียงใหม่ ทำให้คุณแววกลับมาฮึดสู้อีกครั้งกับเส้นทางชีวิตใหม่จนถูกกลายมาเป็นตำนานพร้อมฉายา “ราชินีวีลแชร์ฟันดาบ” เพราะคุณแววได้ลงแข่งขันพาราลิมปิกมาแล้ว 6 ครั้ง ไม่เคยมีสักครั้งที่เธอพลาดเหรียญ หรือจะเป็นความมหัศจรรย์ของนักกีฬายกน้ำหนักหญิง รุ่น 55 กิโลกรัม อย่างคุณแบม กมลพรรณ กระราชเพชร ที่คว้าเหรียญได้ตั้งแต่ครั้งแรกที่ลงแข่งขันกีฬาพาราลิมปิกปีนี้ ดังนั้นการแข่งขันกีฬาพาราลิมปิกจึงเป็นมากกว่าการสร้างชื่อเสียงและความภาคภูมิใจให้แก่ประเทศชาติ เพราะมันคือการมอบแรงบันดาลใจให้กับผู้พิการอีกหลายต่อหลายคนในประเทศไทยและทั่วโลก พวกเขาคือผู้สร้างหลักประกันชั้นยอดว่าผู้พิการเองก็มีศักยภาพไม่แพ้ใคร มีความพยายามทุ่มเทในการฝึกฝนทักษะอาชีพที่ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ามนุษย์คนไหนเลย มากไปกว่านั้นพวกเขายังต้องพบความเสี่ยงและความท้าทายที่ต้องใช้แรงกายแรงใจมากกว่าคนทั่วไปด้วยซ้ำ ตัวอย่างเช่น วีลแชร์เรซซิ่งที่นักกีฬาต้องใช้กำลังแขนเป็นอย่างมากในการแข่งขันและยังต้องใช้เพื่อเคลื่อนไหวร่างกายในชีวิตประจำวัน จึงส่งผลให้เกิดอาการบาดเจ็บที่ไหล่ได้ รวมไปถึงการกระทบและกระแทกซ้ำๆ ระหว่างแข่งขันที่ส่งผลรบกวนการทำงานของสมองอาจนำมาซึ่งภาวะระบบประสาทเสื่อมขั้นรุนแรงได้
เมื่องานเลี้ยงย่อมมีวันเลิกรา อาชีพนักกีฬาก็เช่นกัน
ความเสี่ยงที่นักกีฬาต้องเผชิญนั้นไม่ได้มีแค่ในสนามแข่งเท่านั้น เพราะสักวันหนึ่งพวกเขาก็จะต้องเกษียณอายุจากอาชีพนักกีฬา หลังจากนั้นสิ่งที่จะเข้ามามีบทบาทสำคัญในการดำรงชีพคือเสถียรภาพทางการเงินและการประกอบอาชีพอื่นแต่เราก็ต้องยอมรับกันแบบไม่อ้อมค้อมว่าสถานการณ์การจ้างงานผู้พิการในประเทศไทยนั้นยังไม่ดีนัก แม้จะมี พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการเข้ามากำกับก็ยังไม่สามารถส่งเสริมคุณภาพชีวิตของผู้พิการได้มากเท่าที่ควรจะเป็นนายจ้างและสถานประกอบการหลายแห่งยังไม่สามารถก้าวข้ามแนวคิดที่ว่าคนกลุ่มนี้ไม่มีประสบการณ์และทักษะที่เพียงพอต่อการทำงาน
รูปแบบการสนับสนุนจากรัฐบาล
หนึ่งในการสนับสนุนอาชีพแก่นักกีฬาผู้พิการในประเทศไทย คือ การให้โควตาในการรับสลากกินแบ่งรัฐบาลเพื่อนำไปขาย แต่ที่น่าตกใจคือเมื่อไปค้นคว้าข้อมูลเพิ่มเติมกลับพบข่าวนักกีฬาคนตาบอดกว่าร้อยคนรวมตัวกันให้สอบสวนสมาคมกีฬาคนตาบอดแห่งประเทศไทย กรณีสงสัยว่ามีการสวมสิทธิ์รับสลากกินแบ่งรัฐบาล สมาคมฯ ได้รับโควตาสลากมากถึงงวดละ 2,647 เล่ม แต่กลับไม่ถึงมือนักกีฬาเลย ยิ่งค้นย้อนหลังไปก็พบว่านี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่เกิดกรณีความไม่โปร่งใสในการกระจายโควตาสลากกินแบ่งรัฐบาลแก่นักกีฬาผู้พิการในเมื่อทางเลือกที่รัฐจัดสรรให้ยังมีปัญหา คำถามที่ตามมา คือ มีหนทางอื่นอีกหรือไม่ที่จะสนับสนุนอาชีพให้แก่นักกีฬาผู้พิการนอกเหนือจากการขายสลากกินแบ่งรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็น 1. การสนับสนุนให้ทำอาชีพที่เกี่ยวข้องกับทักษะกีฬาเดิมของพวกเขาและผลักดันเข้าสู่การเป็นโค้ช ทีมงาน ผู้จัดการทีม ผู้บรรยายรายการกีฬา 2. สนับสนุนการใช้ทักษะจากกีฬาในการปรับตัวเข้าสู่อาชีพอื่นๆ เช่น การทำงานในองค์กรที่เกี่ยวข้องกับกีฬา 3. การจัดการฝึกทักษะที่ใช้ได้จริงและเป็นที่ต้องการขององค์กรในปัจจุบัน
นอกจากการสนับสนุนตัวนักกีฬาผู้พิการแล้ว รัฐและภาคส่วนที่เกี่ยวข้องยังจำเป็นต้องสนับสนุนธุรกิจหรือสถานประกอบการต่าง ๆ ด้วย เช่น จัดอบรมสร้างความรู้ความเข้าใจแก่ธุรกิจหรือสถานประกอบการ ให้คำปรึกษาเพื่อให้นายจ้างและผู้พิการที่เข้าทำงานสามารถทำงานร่วมกันได้อย่างดี รวมไปถึงการมีสิทธิที่จูงใจให้แก่ธุรกิจหรือสถานประกอบการที่มีการจ้างงานผู้พิการ ส่วนภาคธุรกิจสามารถขยายการสนับสนุนไปได้ไกลมากกว่าเดิมด้วยการเชิญชวนบริษัทคู่ค้าของตนให้จ้างงานผู้พิการหรือจัดทำโครงการสนับสนุนทักษะอาชีพแก่ผู้พิการร่วมกัน ก็จะนำมาซึ่งการมอบโอกาสอย่างเท่าเทียมและไม่ทิ้งคนกลุ่มใดไว้ข้างหลังซึ่งเป็นหนึ่งในลักษณะของหลักการบริหารจัดการที่ดีซึ่งทุกองค์กรควรปฏิบัติตามอีกด้วย
หากประเทศเราไปสู่จุดที่เกิดการจ้างงานอย่างเท่าเทียมได้ ผลประโยชน์จะไม่ได้ตกอยู่ที่กลุ่มผู้พิการเพียงอย่างเดียวเท่านั้น เพราะมันหมายความว่าประเทศเรากำลังจะพัฒนาไปด้วยกำลังคนที่มีความสามารถจำนวนมากในตลาดแรงงาน
การสนับสนุนอาชีพหลังเกษียณของนักกีฬาผู้พิการเป็นการส่งเสริมให้พวกเขาอยู่รอดได้ มีความมั่นคงในชีวิต เปิดโอกาสในการพัฒนา และถือเป็นการยกระดับความเป็นคนของพวกเขาให้อยู่ในระนาบเดียวกับสิทธิมนุษยชนที่เราท่องกันอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันด้วย
ทวิตียา บูรณเกียรติศักดิ์
หัวข้อ
แนวหน้าต่อต้านคอร์รัปชัน : อัปเดตประชุมวิชาการโลกเรื่องคอร์รัปชัน
เมื่อช่วงต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา ผศ. ดร.ต่อภัสสร์ ยมนาค Co-Founder บริษัท HAND Social Enterprise ได้รับเชิญไปบรรยายในงานประชุมทางวิชาการ Cambridge Economic Crime ที่จัดขึ้นเป็นปีที่ 40 แล้ว ซึ่งงานนี้ถือได้ว่าเป็นงานประชุมวิชาการระดับนานาชาติที่เกี่ยวข้องกับเรื่องคอร์รัปชันที่ใหญ่ที่สุดงานหนึ่ง โดยผศ. ดร.ต่อภัสสร์ ยมนาค ได้เข้าร่วมบรรยายเกี่ยวกับผลงานวิจัยเรื่องประสิทธิภาพที่แท้จริงของความโปร่งใสในการต่อต้านคอร์รัปชัน ผ่านการศึกษาผลกระทบจากโครงการความโปร่งใสในการก่อสร้างภาครัฐ (Infrastructure Transparency: CoST)
แนวหน้าต่อต้านคอร์รัปชัน : อยากแก้ปัญหาปากท้องก่อน แต่ถ้าไม่ปฏิรูปตำรวจ ก็แก้ยาก !
ซับซ้อน ซ่อนเงื่อน มืดเทา อาจเป็นคำนิยามวงการตำรวจไทยในปัจจุบัน ? หากเราพูดถึงวงการตำรวจ หลาย ๆ คนคงจะนึกถึงเรื่องที่ตำรวจดันไปเป็นผู้ที่มีส่วนร่วมกับการทุจริต ไม่ว่าจะเป็นกรณีหมูเถื่อน กำนันนก ทุนจีนสีเทา หรือข่าวอาชญากรรมต่าง ๆ แทนที่จะมองว่า ตำรวจคือผู้ที่รักษาความสงบให้บ้านเมือง และคุ้มครองประชาชนให้รู้สึกปลอดภัย
แนวหน้าต่อต้านคอร์รัปชัน : สติ๊กเกอร์ส่วย…แก้ได้ ?
จะแก้ปัญหาอย่างไรให้ชีวิตปลอดภัยจากผลกระทบของสินบน ? ประเด็นร้อนทุจริตเร็ว ๆ นี้คงหนีไม่พ้นเรื่อง “ส่วยสติกเกอร์” หลังว่าที่ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกลวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ออกมาแฉตั้งแต่กลไกไปจนถึงราคาอย่างที่หลายคนคงได้ยินมาบ้างแล้ว แต่ที่สำคัญกว่านั้น รู้หรือไม่ว่าเรื่องของส่วยรถบรรทุกที่ดูเหมือนเป็นเรื่องไกลตัว จริง ๆ แล้วใกล้ตัวกว่าที่เราคิด