คิดด้วยพลเมือง(See-Think-Cen’) : พิการ (ไม่) พิเศษ : สำรวจปัญหาความเหลื่อมล้ำของผู้พิการกับการศึกษาในสังคมไทย

ในปัจจุบัน โอกาสในการเข้าถึงการศึกษาที่มีประสิทธิภาพของกลุ่มผู้พิการที่ยังคงเป็นปัญหาทางการศึกษาสำคัญที่เกิดขึ้นในสังคมไทย ซึ่งแม้ว่าในทางกฎหมาย รัฐจะให้ความสำคัญต่อการศึกษาโดยบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญว่าการศึกษาเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ทุกคนจะต้องได้รับและสามารถเข้าถึงได้ แต่ในทางปฏิบัติ การจัดการศึกษาสำหรับกลุ่มผู้พิการนั้นยังคงเป็นเรื่องที่เข้าถึงได้ยากและไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควรจะเป็น เนื่องจากปัญหาที่เกิดขึ้นทั้งในด้านหลักสูตรโครงสร้างพื้นฐานทางการศึกษาสำหรับผู้พิการ ความสามารถในการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ และทัศนคติของบุคลากรในระบบการจัดการศึกษาแบบพิเศษ โดยสถิติรายงานข้อมูลสถานการณ์การศึกษาคนพิการในประเทศไทย ประจำปี พ.ศ. 2565 ไตรมาสที่ 1 ของกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้พิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ พบว่ายังมีผู้พิการที่ยังไม่ได้รับการศึกษา เป็นจำนวน 38,242 คนคิดเป็นร้อยละ 1.82 ของผู้พิการที่มีบัตรประจำตัวผู้พิการ โดยมีสัดส่วนของผู้พิการที่หลุดจากระบบการศึกษาจำนวน 13,155 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 34.40 ของผู้พิการที่ไม่ได้รับการศึกษา ซึ่งยังไม่นับรวมถึงผู้พิการที่ไม่มีบัตรประจำตัวผู้พิการอีกจำนวนหนึ่งในสังคมที่ตกหล่นจากการสำรวจ ที่ยังขาดการเข้าถึงสิทธิในการศึกษาอันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนในสังคมที่พึงได้รับ 

ทั้งนี้ แม้ว่าจะมีผู้พิการจำนวน 1,625,191 คนคิดเป็นร้อยละ 77.30 ของผู้พิการที่มีบัตรประจำตัวผู้พิการ ที่ได้รับการระบุว่าเป็นผู้พิการได้รับการศึกษาในหลายระดับตั้งแต่ ประถมศึกษา มัธยมศึกษา ประกาศนียบัตรวิชาการศึกษา และอุดมศึกษา หากแต่ตัวเลขในเชิงปริมาณเหล่านี้ กลับไม่ได้เป็นการสะท้อนให้เห็นถึงความเหลื่อมล้ำที่ผู้พิการต้องพบเจอจากระบบการศึกษาในรายละเอียดแต่อย่างใด ซึ่งในบทความนี้ ผู้เขียนจะได้ชวนทุกท่านสำรวจถึงปัญหาของผู้พิการกับการศึกษาในสังคมไทยใน 3 ประเด็นสำคัญ ที่ส่งผลให้ความเหลื่อมล้ำของผู้พิการกับการศึกษายังเป็นเรื่องที่น่ากังวลในสังคม 

แบบไหนถึงจะเรียกว่า “พิการ” ในสายตาของการศึกษา 

ในประการแรก คือ เรื่องของการตีตรา (Label) เด็กในระบบการศึกษาว่าผู้พิการคนใดบ้างที่จะถูกมองว่ามีความบกพร่องหรือไม่มีความบกพร่องต่อการเรียนรู้ในระบบการศึกษา โดยแนวคิดของ R.P. McDermott (1993) ได้ชี้ให้เห็นว่าระบบการศึกษาในหลายประเทศ รวมถึงประเทศไทย ยังมีปัญหาในเรื่องของการจัดแบ่งประเภทของผู้ที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้ที่มุ่งเน้นไปที่กลุ่มอาการที่เป็นความพิการทางร่างกาย ได้แก่ อาการตาบอด อาการหูหนวก หรืออาการที่เป็นความผิดปกติทางพันธุกรรม เช่น กลุ่มอาการออทิสติก (Autistic Disorder) และให้ความสำคัญกับการพัฒนาการศึกษาเฉพาะทางของเด็กกลุ่มนี้เป็นหลัก ซึ่งในความเป็นจริงแล้วการศึกษาของผู้ที่มีความบกพร่องในแง่ที่เป็นเชิงจิตวิทยา เช่น กลุ่มเด็กที่มีอาการความบกพร่องทางการคำนวณ การอ่าน หรือการเขียน (Learning Disabilities : LD) ยังเป็นกลุ่มที่ถูกละเลยจากการมองของรัฐในฐานะที่เป็นผู้พิการที่ไม่สามารถเข้าเรียนตามหลักสูตรการศึกษาภาคปกติได้ จึงทำให้เด็กที่มีความบกพร่องดังกล่าวยังถูกบังคับให้ต้องเรียนอยู่ในหลักสูตรการศึกษาแบบทั่วไป และไม่สามารถที่จะเข้าถึงเรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ 

“ความรวย” และ “ความจน” ส่งผลกับ “โอกาส” ในการศึกษาที่ไม่เท่าเทียมกัน 

ในประการที่สอง คือ เรื่องของทุนที่มีผลต่อการผลิตซ้ำทางความเหลื่อมล้ำในสถาบันการศึกษา โดยจากแนวคิดของ Pierre Bourdieu (1986) เกี่ยวกับความเหลื่อมล้ำในสถาบันการศึกษา ได้อธิบายว่าในความเป็นจริง สภาพสังคมที่ในแต่ละครอบครัวของผู้พิการนั้นมีทุนทางเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และสัญลักษณ์ที่แตกต่างกันนี้ แม้ว่ารัฐจะจัดให้มีการศึกษารูปแบบพิเศษขึ้นสำหรับผู้พิการ แต่ทุนที่ไม่เท่ากันทั้งในเรื่องของเงินทองและชื่อเสียง ยังคงทำให้โรงเรียนกลายเป็นพื้นที่ผลิตซ้ำทางความเหลื่อมล้ำของโอกาสในการประสบความสำเร็จทางการศึกษาที่ไม่เท่าเทียมกันในผู้พิการแต่ละคน โดยที่ครอบครัวของผู้พิการแต่มีทุนทรัพย์นั้น อาจสามารถส่งเสริมการเข้าถึงโอกาสในการศึกษาที่ดีกว่าผู้พิการที่ไม่มีทุนทรัพย์ได้มากกว่า 

เพราะ “ครู” ก็เป็นส่วนหนึ่งของความเหลื่อมล้ำในการศึกษาของผู้พิการ 

ในประการสุดท้าย คือ เรื่องของบุคลากรที่อยู่ในระบบการศึกษา โดยจากแนวคิดของ George Dearborn Spindler (1960) เกี่ยวกับการอธิบายและจำแนกประเภทของครูในฐานะที่เป็นผู้ส่งผ่านทางวัฒนธรรม พบว่า ในระบบการศึกษาของไทยจะมีครูที่ปรากฏอยู่ใน 2 รูปแบบ ได้แก่ (1) Reaffirmativetraditionalist หรือครูที่ต้องเผชิญกับระบบคุณค่าและรูปแบบการสอนแบบใหม่ที่ทำให้รู้สึกกดดัน และเกิดภาวะยึดเอาแนวทางการสอนที่ยึดโยงกับตัวผู้สอนเป็นหลัก และ (2) Compensatory Emergentist หรือครูที่เน้นการเรียนการสอนเป็นไปในรูปแบบที่เน้นความสอดคล้องกันของกลุ่มและปิดกั้นความแตกต่างหลากหลายของผู้เรียน ซึ่งครูทั้งสองรูปแบบในข้างต้น มีแนวโน้มที่จะทำให้การเรียนรู้ของกลุ่มผู้พิการในระบบการศึกษาถูกปิดกั้นโอกาสจากการที่ครูไม่มีความเข้าใจต่อวัฒนธรรมในชั้นเรียนของกลุ่มผู้พิการที่ต้องการรูปแบบการเรียนรู้ที่เน้นความเข้าใจเป็นพิเศษ และส่งผลให้การศึกษาในกลุ่มผู้พิการไม่เกิดประสิทธิภาพเท่าที่ควรจะเป็น 

พลิกโฉมการศึกษาไทยที่ใส่ใจ “ผู้พิการ” มากขึ้น 

สำหรับข้อเสนอแนะในการพัฒนาและแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในระบบการศึกษาของกลุ่มผู้พิการในประเทศไทยนั้น ผู้เขียนได้มีข้อเสนอแนะที่จะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาระบบการศึกษาของไทยที่ใส่ใจผู้พิการมากขึ้น ใน 3 ประเด็นสำคัญ ดังนี้ 

(1) รัฐจะต้องจัดให้มีระบบการจัดการศึกษาแบบพิเศษสำหรับกลุ่มผู้พิการที่มีประสิทธิภาพ และเข้าถึงได้โดยกลุ่มผู้พิการทุกคนได้อย่างเท่าเทียมและเสมอภาคกัน ผ่านการอุดหนุนในด้านของงบประมาณด้านการศึกษาและการกระจายบุคลากรที่มีประสิทธิภาพและมีความเฉพาะทางในด้านการศึกษาสำหรับกลุ่มผู้พิการให้เข้าถึงในสถานศึกษาสำหรับผู้พิการในพื้นที่ต่างๆเพื่อลดช่องว่างในเรื่องของทุนที่แตกต่างกันให้ได้มากที่สุดในการเข้าถึงโอกาสทางการศึกษาของกลุ่มผู้พิการ  

(2) การพิจารณาปรับปรุงหลักสูตรโครงสร้างพื้นฐานทางการศึกษาที่จะต้องทำความเข้าใจถึงความแตกต่างหลากหลายของกลุ่มผู้ที่มีความพิการและความบกพร่องในการเรียนรู้ที่แตกต่างกันออกไปในแต่ละกลุ่ม และจัดการเรียนการสอน รูปแบบเนื้อหา และทรัพยากรที่ใช้ในการเรียนรู้ให้สอดคล้องกับความต้องการพิเศษของผู้พิการในแต่ละกลุ่มที่มีความต้องการในการเรียนรู้ที่แตกต่างกันออกไป เช่น ในกลุ่มผู้พิการที่มีภาวะออทิสติก จำเป็นที่จะต้องมีการจัดให้มีการเรียนในเรื่องของพัฒนาการทางด้านอารมณ์ (EQ) ที่เหมาะสม เป็นต้น  

(3) การพัฒนาบุคลากรทางการศึกษา ให้เป็นไปในลักษณะของครูที่สามารถปรับตัวให้เข้ากับระบบการเรียนการสอนและระบบคุณค่าที่เปลี่ยนแปลงและแตกต่างไปจากแบบปกติ ซึ่งครูในลักษณะดังกล่าวจะสามารถเชื่อมโยงและสร้างแนวทางใหม่ในการส่งผ่านวัฒนธรรมและส่งเสริมการเรียนรู้บนพื้นฐานที่ยึดอยู่บนความแตกต่างหลากหลายของผู้เรียนเป็นหลัก และทำให้การเรียนการสอนในระบบของการจัดการศึกษาแบบพิเศษสำหรับกลุ่มผู้พิการเกิดประสิทธิภาพในการเรียนรู้มากที่สุด  

ในท้ายที่สุดแล้ว การพัฒนาทั้งในด้านการเข้าถึงโอกาสทางการศึกษาที่เท่าเทียม การมีหลักสูตรการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับผู้พิการในแต่ละกลุ่ม และการพัฒนาบุคลากรทางการศึกษาให้มีประสิทธิภาพ จะทำให้การพัฒนาทางด้านการศึกษาของกลุ่มผู้พิการในไทยเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น และสร้างสังคมที่มีผู้พิการจะได้รับความสนใจที่ “พิเศษ” มากขึ้นจากคนในสังคม 

ปีที่แต่ง (พ.ศ.)
2566
ผู้แต่ง

เจษฎา จงสิริจตุพร

หน่วยงานสนับสนุน

หัวข้อ
Related Content

แนวหน้าต่อต้านคอร์รัปชัน : เวทีต้านโกงระดับโลก เขาพูดคุยอะไรกัน

4 ประเด็นน่าสนใจจาก “Summit for Democracy 2023” การประชุมระดับโลกเมื่ออาทิตย์ที่ผ่านมา ผศ. ดร.ต่อภัสสร์ ยมนาค ผู้ร่วมก่อตั้งและที่ปรึกษา HAND Social Enterprise HANDSocialEnterprise ได้รับเชิญจากรัฐบาลเกาหลีใต้ให้ไปร่วมเสวนาในงาน Summit for Democracy 2023 หัวข้อหลักงานปีนี้คือ “การต่อต้านคอร์รัปชัน” เชื่อมโยงคำอธิบายว่า การคอร์รัปชันบ่อนทำลายประชาธิปไตย ในทางกลับกันประเทศที่ประชาธิปไตยไม่เข้มแข็งจะทำให้คอร์รัปชันสูงขึ้น

แนวหน้าต่อต้านคอร์รัปชัน : เปิดตัว KRAC ศูนย์ความรู้ต้านโกง

คอร์รัปชันเป็นปัญหาที่มีความซับซ้อนอย่างมาก ถ้าไม่แก้ไขทุกมิติอย่างครอบคลุมผลที่ตามมาอาจกลายเป็นเพิ่มปัญหาให้สังคมได้ จึงต้องใช้วิธีที่มีประสิทธิภาพ หนึ่งในนั้นคือการใช้ความรู้ทางวิชาการ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติจึงได้ร่วมมือกับคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ จัดตั้ง “ศูนย์ความรู้เพื่อความร่วมมือในการต่อต้านคอร์รัปชัน และส่งเสริมธรรมาภิบาลในระดับภูมิภาค” (Knowledge hub for Regional Anti-corruption and good governance Collaboration: KRAC) ขึ้น เมื่อ 24 เมษายนที่ผ่านมา

แนวหน้าต่อต้านคอร์รัปชัน : สื่อสารต้านโกงอย่างไร ถึงได้ผล

ในหลายๆ ครั้งที่ผมได้มีโอกาสไปบรรยายเรื่องการต่อต้านคอร์รัปชันให้กับผู้ฟังซึ่งเป็นทั้งเจ้าหน้าที่รัฐ นิสิต นักศึกษา และประชาชนทั่วไป ข้อแนะนำหนึ่งที่มักจะได้มาคือ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรสื่อสาร นำเสนอเรื่องราวของผลกระทบจากการคอร์รัปชันที่รุนแรง เพื่อให้สังคมหวาดกลัวการคอร์รัปชันและรังเกียจคนคอร์รัปชัน เป็นการใช้พลังสังคมเพื่อกดดันให้ “คนโกงไม่มีที่ยืนในสังคม”

You might also like...

KRAC Hot News I ปลดล็อกรังนกจากถ้ำสู่บ้านอย่างไร ให้โปร่งใสไร้ทุจริต

การส่งออกรังนกไทยมีมูลค่าสูงขึ้นเรื่อย ๆ ตามความต้องการของผู้บริโภค ธุรกิจรังนกจึงสร้างรายได้มหาศาลให้กับเศรษฐกิจไทยในปัจจุบัน แต่หากขาดการกำกับดูแลให้โปร่งใส อาจจะก่อให้เกิดผลเสียมหาศาลกับธุรกิจไทยได้

KRAC คัดสรร เล่างานวิจัยไทย | “ธรรมาภิบาล” หลักการที่ยืดหยุ่น พร้อมสร้างประสิทธิภาพ

เคยสงสัยไหมว่าทำไมหลักธรรมาภิบาลของแต่ละองค์กรถึงดูไม่เหมือนกัน บางองค์กรมี 6 หลัก บางองค์กรมี 8 หลัก ความจริงแล้วหลากหลายองค์กรทั่วโลกล้วนมีการวางแนวคิดเกี่ยวกับธรรมาภิบาลที่ต่างกัน โดยงานวิจัยเรื่อง “โครงการวิจัยพัฒนาฐานข้อมูล องค์ความรู้ด้านธรรมาภิบาล (ระยะที่ 2)” (2563) ได้ศึกษาเรื่องนี้เอาไว้

โครงการวิจัยพัฒนาฐานข้อมูลองค์ความรู้ด้านธรรมาภิบาล (Phase 2)

การศึกษาเพื่อสร้างตัวชี้วัดสำหรับการประเมินและติดตามการนำหลักธรรมาภิบาลไปใช้ในการบริหารจัดการขององค์กรในประเทศไทย พบว่า มีความเหมาะสมในการนำไปใช้ในระดับมาก และยังสามารถปรับปรุงดัชนีชี้วัดบางตัวเพื่อให้สอดคล้องการทำงานของแต่ละหน่วยงานได้