คิดด้วยพลเมือง(See-Think-Cen’) : มรสุมของภาวะผู้นำและความเห็นอกเห็นใจ

“สำหรับฉัน สิ่งที่ผู้นำควรมีคือความเห็นอกเห็นใจ เพราะไม่ว่าคุณจะเก่งแค่ไหน เรียนอะไรมา ท้ายที่สุด คุณต้องมีความเห็นอกเห็นใจต่อคนของคุณและชีวิตที่ดีของพวกเขา และฉันเชื่อว่าไม่ใช่แค่ผู้นำที่ควรมีสิ่งนี้ แต่ทุกคนก็ควรมีความเห็นอกเห็นใจต่อกันเพื่อให้เราเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันได้”

– โอปอล สุชาตา ช่วงศรี รองอันดับ 3 Miss Universe 2024 –

คำตอบที่ทรงพลังและเต็มไปด้วยความหวังของผู้คนข้างต้นนี้ ได้จุดประกายให้ผู้เขียนนึกถึงเรื่องราวมากมายของ “ผู้นำ” ที่เกิดขึ้นในช่วงนี้ ไม่ว่าจะเป็นการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐคนที่ 47 การเลือกตั้ง อบจ. ที่จะเกิดขึ้นในปี 2568 และเรื่องราวอีกมากที่ผู้เขียนเชื่อว่า หลายท่านอาจเคยผ่านหรือกำลังเผชิญกับมรสุมจาก “ผู้นำ” ที่เดี๋ยวร้อนเดี๋ยวหนาว แถมบางครั้งก็เป็นฝน ซึ่งไม่เพียงแต่ทำให้ร่างกายเจ็บป่วย แต่ยังส่งผลอย่างรุนแรงต่อสภาพจิตใจที่หากยังไม่ได้รับการใส่ใจด้วย “ความเห็นอกเห็นใจ” อย่างแท้จริง มรสุมลูกนี้อาจพรากอะไรไปมากกว่าที่เราจะนึกคิด

ฟังเผินๆ คำพูดของโอปอล สุชาตา ช่วงศรี อาจเป็นเพียงความคิดเห็นของคนคน หนึ่งที่มีต่อผู้นำในอุดมคติ แต่จากกระแสตอบรับอย่างล้นหลามทั่วโลกต่อคำตอบของเธอนั้นได้แสดงให้เห็นถึง จุดร่วมของประชาชนจำนวนมากที่ต้องการให้ผู้นำมี “ความเห็นอกเห็นใจ” อันสะท้อนได้จากเหตุการณ์มากมาย อย่างกรณีการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐคนที่ 47 ระหว่าง Donald Trump จาก Republican และ Kamala Harris จาก Democrat ที่มีการแสดงทัศนคติและนโยบายอันมีพื้นฐานมาจากความเห็นอกเห็นใจที่แตกต่างกัน เช่น นโยบายด้านการต่างประเทศที่แตกต่างกันอย่างชัดเจน โดย Kamala Harris เน้นให้สหรัฐอเมริกาได้มีบทบาทในเวทีโลกมากขึ้น รวมถึงสนับสนุนให้มีพันธมิตรและการรวมกลุ่มกันมากขึ้น แต่ Donald Trump นั้นมากับนโยบายที่หลายคนรู้จักกันดีอย่าง “American First” และสนใจการรวมกลุ่มกับกับประเทศอื่นๆ ให้น้อยลง สิ่งเหล่านี้ทำให้เราเห็นว่า ด้านหนึ่งอาจใช้ความเห็นอกเห็นใจไปกับประเทศอื่นๆ มาก แต่อีกด้านเลือกที่จะใช้กับผู้ที่มีสิทธิเลือกตั้งภายในประเทศของตนที่แสดงให้เห็นถึงภาวะผู้นำที่มีความเห็นอกเห็นใจคนในชาติอย่างมากซึ่งอาจเป็นหนึ่งเหตุผลสำคัญที่ในครั้งนี้ Donald Trump เป็นฝ่ายชนะการเลือกตั้งและได้เป็นประธานาธิบดีสหรัฐคนที่ 47

อีกประเด็นที่ใกล้ตัวพวกเราอย่างมาก คือ การเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ที่จะจัดขึ้นในวันเสาร์ที่ 1 กุมภาพันธ์ 2568 ที่สำคัญอย่างมากต่อการกำหนดทิศทางของแต่ละจังหวัดว่าจะถูกพัฒนาไปในรูปแบบไหน ซึ่งก็เกิดข้อถกเถียงกันเป็นวงกว้างตั้งแต่เรื่องการวินิจฉัยคุณสมบัติของผู้สมัคร กติกาการนับคะแนนหลังการเลือกตั้งเสร็จเรียบร้อยแล้ว และประเด็นวันที่จัดให้มีการเลือกตั้งเป็นวันเสาร์ที่มีทางคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เป็นผู้นำซึ่งหากมองจากหลักความเห็นอกเห็นใจแล้วการจัดให้มีการเลือกตั้งในวันเสาร์อาจดูไม่ได้เห็นอกเห็นใจประชาชนมากนัก เพราะประชาชนจำนวนมากเดินทางออกมาทำงานที่ต่างจังหวัดกับพื้นที่ภูมิลำเนาที่มีสิทธิเลือกตั้ง ส่งผลให้ต้องมีการเดินทางเพื่อกลับไปใช้สิทธิที่กินทั้งเงินและเวลา รวมถึงการที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งมีแนวโน้มที่จะทำงานในวันเสาร์มากกว่าวันอาทิตย์ สิ่งนี้อาจทำให้เกิดการตัดสินใจไม่ไปใช้สิทธิของตนเพราะมีต้นทุนที่สูงเกินไป

อย่างไรก็ตาม ผู้นำสำคัญในการเลือกตั้ง อบจ. ที่จะถึง ไม่ได้มีเพียง กกต. แต่ยังมีผู้สมัครหน้าเดิมหน้าใหม่ และผู้ช่วยหาเสียง ที่อาจมีข้อพิพาทอย่างคุณทักษิณ และคุณพิธา ที่มีบทบาทอย่างมากในการช่วยหาเสียงให้ผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทยและพรรคประชาชน ทั้งนี้ การต่อสู้บนความหวังของประชาชนที่ต้องการผู้นำที่เข้าใจและเห็นใจคนในพื้นที่ด้วยใจจริงผ่านนโยบายที่จะจัดทำ หากแต่ทั้ง 2 ฝ่ายยังคงต้องสู้กับวิกฤตศรัทธาจากความขัดแย้งทางการเมืองหรือการท้าทายโครงสร้างอำนาจเดิมๆ ที่อาจทำให้ความเห็นอกเห็นใจถูกบิดเบือนไปด้วยความต้องการในส่วนอื่น ซึ่งอาจไม่ต่างจากการขัดแย้งกันซึ่งผลประโยชน์ (conflict of interest) มากนัก แต่หากลองมองอีกด้าน สิ่งนี้อาจเป็นเรื่องที่ดีของประชาชน เพราะประชาชนจะมีโอกาสได้รับนโยบายที่ตอบสนองความต้องการของพวกเขาอย่างเห็นอกเห็นใจได้มากขึ้น อันจะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในพื้นที่ได้อย่างยั่งยืน

และในฐานะที่ผู้เขียนก็อยู่ในวัยทำงานเหมือนกับผู้อ่านหลายๆ ท่าน จึงคิดว่าปัญหาเหล่านี้ไม่ได้เกิดเพียงในระดับโลกหรือระดับประเทศ แต่อาจเกิดขึ้นตั้งแต่ระดับครอบครัวไปจนถึงที่ทำงาน ซึ่งมีตำแหน่งหน้าที่ที่แตกต่างกันออกไป บางแห่งอาจทำงานในระดับที่เท่ากันแต่แยกส่วนกันไปตามความถนัด บางแห่งอาจทำงานในระดับที่ไม่เท่ากันแต่ทำงานร่วมกันอย่างเป็นระบบ แต่ในบางแห่งอาจจะเป็นทั้งการทำงานในระดับที่ไม่เท่ากัน แยกส่วนกันแม้จะถนัดหรือไม่ถนัด และไม่เป็นระบบ ซึ่งในที่ทำงานเหล่านั้นอาจเกิดจากการที่ผู้นำมีแนวคิดด้านความเห็นอกเห็นใจที่ต่างไป ทำให้เกิดความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่ไม่เท่าเทียมกันระหว่างสองฝ่าย (Power Dynamic) ที่เอื้อให้เกิดโครงสร้างทางอำนาจที่ผู้อยู่ในระดับที่ต่ำกว่ามีทางเลือกไม่มากในการทำงาน เพราะถูกกดดันจากการใช้อำนาจหรือมีความรู้สึกที่ไม่มั่นคงในอาชีพ เสมือนลอยอยู่ท่ามกลางมรสุมทางอารมณ์ที่มักมาพร้อมกับการใช้อำนาจด้วยความเคยชินผสมโรงด้วยการแสดงความเห็นอกเห็นใจที่มิอาจทำลายมรสุมที่ก่อตัวขึ้นแล้วได้ และมีความเป็นไปได้สูงที่จะกลายเป็นวัฒนธรรมขององค์กรในระยะยาว

การที่ผู้เขียนหยิบยกเรื่องราวของภาวะผู้นำและความเห็นอกเห็นใจมาเล่าในครั้งนี้ เพียงแค่ต้องการชี้ให้เห็นถึงการที่ “ผู้นำ” มักจะใช้หลักความเห็นอกเห็นใจ “ของตัวเอง” มาเป็นอาวุธเพื่อซื้อใจผู้คนที่จำเป็นต้องเดินตามทางที่ผู้นำชี้นิ้วไป หากแต่ผู้ตามทุกคนควรมีสิทธิในการเลือกเส้นทางของตัวเองอย่างเต็มที่โดยไม่ถูกความเห็นอกเห็นใจของผู้นำกดทับ สุดท้ายนี้ ขอมอบบทความฉบับนี้ให้แก่เหล่าผู้นำที่ยังเชื่อมั่นว่าความเห็นอกเห็นใจของตัวเองเป็นสิ่งที่ดี แม้สถานการณ์ตรงหน้าจะย่ำแย่เพียงใด และขออุทิศให้แก่เหยื่อของความเห็นอกเห็นใจเหล่านี้ที่ถูกกระทำเพียงเพราะมีอำนาจต่ำกว่าผู้นำตามที่เขาบอก หวังว่าคุณจะสามารถยืนหยัดอย่างเข้มแข็งเพื่อตัวเองที่ไม่ได้เป็นเพียงผู้ตามแต่ยังเป็นบุคคลที่น่าทึ่งคนหนึ่งที่โลกควรจดจำ

ปีที่แต่ง (พ.ศ.)
2567
ผู้แต่ง

วสุพล ยอดเกตุ

หน่วยงานสนับสนุน

หัวข้อ
Related Content

แนวหน้าต่อต้านคอร์รัปชัน : โอกาสและความสำคัญของการกลับคืนเป็นภาคี TI Thailand

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา กรุงเทพมหานครได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมระดับภูมิภาคของ Transparency International (TI) การเลือกประเทศไทยเป็นสถานที่จัดงานครั้งนี้มีนัยสำคัญ แม้ปัจจุบันไทยจะไม่มีภาคีประจำประเทศอย่างเป็นทางการ …

แนวหน้าต่อต้านคอร์รัปชัน : อัปเดตประชุมวิชาการโลกเรื่องคอร์รัปชัน

เมื่อช่วงต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา ผศ. ดร.ต่อภัสสร์ ยมนาค Co-Founder บริษัท HAND Social Enterprise ได้รับเชิญไปบรรยายในงานประชุมทางวิชาการ Cambridge Economic Crime ที่จัดขึ้นเป็นปีที่ 40 แล้ว ซึ่งงานนี้ถือได้ว่าเป็นงานประชุมวิชาการระดับนานาชาติที่เกี่ยวข้องกับเรื่องคอร์รัปชันที่ใหญ่ที่สุดงานหนึ่ง โดยผศ. ดร.ต่อภัสสร์ ยมนาค ได้เข้าร่วมบรรยายเกี่ยวกับผลงานวิจัยเรื่องประสิทธิภาพที่แท้จริงของความโปร่งใสในการต่อต้านคอร์รัปชัน ผ่านการศึกษาผลกระทบจากโครงการความโปร่งใสในการก่อสร้างภาครัฐ (Infrastructure Transparency: CoST)

แนวหน้าต่อต้านคอร์รัปชัน : อยากแก้ปัญหาปากท้องก่อน แต่ถ้าไม่ปฏิรูปตำรวจ ก็แก้ยาก !

ซับซ้อน ซ่อนเงื่อน มืดเทา อาจเป็นคำนิยามวงการตำรวจไทยในปัจจุบัน ? หากเราพูดถึงวงการตำรวจ หลาย ๆ คนคงจะนึกถึงเรื่องที่ตำรวจดันไปเป็นผู้ที่มีส่วนร่วมกับการทุจริต ไม่ว่าจะเป็นกรณีหมูเถื่อน กำนันนก ทุนจีนสีเทา หรือข่าวอาชญากรรมต่าง ๆ แทนที่จะมองว่า ตำรวจคือผู้ที่รักษาความสงบให้บ้านเมือง และคุ้มครองประชาชนให้รู้สึกปลอดภัย

You might also like...

KRAC คัดสรร เล่างานวิจัยไทย | ท้องถิ่นอาจช้ำ เมื่อความเหลื่อมล้ำถูกซ้ำด้วยการจัดสรรงบประมาณที่ไม่มีประสิทธิภาพ

รู้หรือไม่ ? การจัดสรรเงินอุดหนุนจากรัฐบาลกลางที่ไม่เป็นธรรม ไม่โปร่งใส และขาดเป้าหมายชัดเจน อาจกลายเป็นการเพิ่มปัญหาความเหลื่อมล้ำในท้องถิ่น แทนที่จะช่วยลดช่องว่างทางเศรษฐกิจ แล้วเราจะแก้ปัญหานี้ได้อย่างไร ?

KRAC คัดสรร เล่างานวิจัยไทย | โควิด-19 ส่งผลอย่างไรต่อสถานการณ์คอร์รัปชันและธรรมาภิบาล ?

การแพร่ระบาดของโควิด-19 ไม่ได้ส่งผลกระทบแค่สุขภาพและเศรษฐกิจ แต่ยังทำให้การต่อต้านคอร์รัปชันและธรรมาภิบาลเผชิญความท้าทายใหม่ ๆ เช่น การใช้อำนาจพิเศษของรัฐ ความไม่เท่าเทียมที่เพิ่มขึ้น และการจัดซื้อจัดจ้างแบบฉุกเฉินที่เสี่ยงต่อการทุจริต แล้วเราจะฟื้นฟูผลกระทบเหล่านี้ได้อย่างไร ?

KRAC The Experience | EP 8: Networks is in every way, Offline and Online Against Corruption

“การทำงานเป็นเครือข่ายจะช่วยเสริมสร้างการทำงานต่อต้านคอร์รัปชันอย่างไร ?” เรามีคำตอบมาให้จากแนวทางการขับเคลื่อนการต่อต้านคอร์รัปชันที่เกิดขึ้นในระดับโลก🌏 ร่วมไขข้อสงสัยได้ที่ KRAC The Experience ตอน Networks is in every way, Offline and Online Against Corruption