คิดด้วยพลเมือง(See-Think-Cen’) : มีปัญหา ปรึกษา AI?

ประเด็นสุขภาพจิตไม่ใช่เรื่องใหม่ที่ไม่มีใครเคยรู้มาก่อน หลายๆ คนรู้ ส่วนอีกหลายคนรู้จักเป็นอย่างดีในฐานะคนที่ต้องตื่นมาเผชิญกับมันทุกเช้า ทานยาเพื่อรักษาอาการทุกคืน พบจิตแพทย์ทุกเดือน และยังมีอีกหลายคนที่ไม่รู้ตัวว่าตัวเองกำลังถูกกัดกินอย่างช้าๆ จากปัญหาในใจ โดยธรรมชาติแล้วคงไม่มีใครเริ่มต้นด้วยการคิดว่าตัวเองควรไปหาหมอเมื่อมีอาการป่วยในวันแรกๆ ไม่ว่าจะเจ็บทางกายหรือทางใจ จนเมื่ออาการย่ำแย่เกินกว่าที่ยาในบ้านหรือยาใจจะรักษาไหว เมื่อนั้นเองหลายคนถึงตัดสินใจได้ว่าควรเป็นหน้าที่ของหมอ ซึ่งนี่ไม่ใช่เรื่องผิดแต่อย่างใดเพราะทุกคนมีเงื่อนไขในชีวิตต่างกัน บ้างมีข้อจำกัดด้านเวลา ความสะดวกในการเดินทาง หรือที่พบได้มากที่สุด คือ เรื่องเงิน

ข้อจำกัดด้านบนจึงอาจนำมาสู่การหาหนทางที่อาจบรรเทาปัญหาในใจได้เท่าที่ทรัพยากรจะเอื้ออำนวย ซึ่งที่ผ่านมาการระบายกับคนใกล้ตัวเป็นทางที่ยอดนิยมแต่เมื่อมีความเกรงใจหรือมีความรู้สึกที่ว่าปัญหามันใหญ่เกินกว่าที่มนุษย์จะรับมือได้ไหว หลายคนก็เลือกที่จะมองหาสิ่งที่สามารถให้ความช่วยเหลือได้ราวกับว่ารวบรวมมันสมองของคนจำนวนมากไว้ สิ่งที่สามารถเข้าถึงได้อย่างง่ายดายและไม่ต้องเป็นห่วงแม้ว่าปัญหาจะหนักหน่วงหรือซับซ้อนเพียงใด ดังนั้น เราจึงได้เห็นคนในยุคนี้เริ่มหันหน้าเข้าหาปัญญาประดิษฐ์หรือ AI (Artificial Intelligence) ในการปรึกษาปัญหาต่างๆ มากขึ้น ซึ่ง AI ยอดนิยมคงหนีไม่พ้น Chat GPT แต่ที่น่าตกใจ คือ นี่อาจเป็นการแก้ปัญหาด้วยการสร้างปัญหาใหม่ให้วงการจิตแพทย์และนักจิตวิทยาด้วยการทำให้เข้าใจว่าการปรึกษา AI สามารถทดแทนการรักษาด้วยมนุษย์จริงๆ ได้

การเติบโตของเทคโนโลยี AI (Artificial Intelligence) ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาได้ส่งผลกระทบต่อสังคมในหลายแง่มุมรวมถึงในวงการสุขภาพจิตด้วย แน่นอนว่าตัวมันเองไม่ใช่ผู้ร้ายเพราะอันที่จริงแล้วเราสามารถใช้ AI ในการให้คำแนะนำเบื้องต้นได้ โดย AI สามารถให้ข้อมูลพื้นฐานและคำแนะนำเบื้องต้นเกี่ยวกับสุขภาพจิตหรือการดูแลสุขภาพจิตให้แก่ผู้ใช้งานได้ แต่หลายครั้งผู้ใช้งานก็ไม่ได้เข้าไปเพื่อปรึกษาในสิ่งที่สามารถชี้ชัดได้ทันทีว่านี่ คือ อาการป่วย AI จึงทำหน้าที่ของมัน คือ สร้างคำตอบกลับมาให้ผู้ใช้งานแต่ไม่ได้มีการแนะนำให้ไปหาผู้เชี่ยวชาญอย่างจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยา ในขณะที่ผู้ใช้งานก็รู้สึกว่าสิ่งที่ AI พิมพ์ออกมา คือ คำปลอบโยนที่ช่วยบรรเทาความหนักอึ้งในใจได้

การได้รับคำดี ๆ มันง่ายเพียงปลายนิ้ว แน่นอนว่าต้องเป็นอย่างนั้นเพราะ AI จะพิมพ์ในโทนกลาง ๆ และอิงจากคำถามของเรา พิมพ์หาได้ตลอดเวลาไม่ต้องรอคิวที่ยาวเหยียดจนอาจไม่ทันท่วงที ไม่ต้องกระเป๋าฉีกจากค่าใช้จ่าย เราต้องยอมรับว่าค่าปรึกษาและค่ารักษาสุขภาพจิตเกือบจะเป็นของหรูหราถ้าเทียบกับรายได้ขั้นต่ำของมนุษย์เงินเดือนทั่วๆ ไปซึ่งจากข้อมูลจากสายด่วน 1323 ของกรมสุขภาพจิต ปี 2566 พบว่า วัยแรงงานขอรับบริการเรื่องความเครียด วิตกกังวล ไม่มีความสุขในการทำงานมากถึง 5,989 สาย จากทั้งหมด 8,009 สาย ไม่มีประวัติการรักษาที่อาจทิ้งร่องรอยไว้แล้วเป็นปัญหาในอนาคตเนื่องจากบริษัทประกันหลายๆ แห่งมีเงื่อนไขที่ค่อนข้างเข้มงวดกับผู้ที่มีประวัติการรักษาสุขภาพจิตและส่วนใหญ่มักทำประกันไม่ผ่าน

แม้ว่าเหมือนจะมีข้อได้เปรียบมากมายอย่างไร แต่สิ่งสำคัญที่เราลืมไม่ได้ คือ AI ไม่สามารถเข้าใจความรู้สึกและอารมณ์ที่ซับซ้อนของมนุษย์ได้หรือพูดง่าย ๆ AI ยังไม่สามารถส่งมอบความเข้าอกเข้าใจ (Empathy) ซึ่งมันมากกว่าการให้คำปลอบโยน และ AI ไม่มีความพยายามในการมองด้วยเลนส์เดียวกันกับผู้ที่เป็นเจ้าของปัญหาหรือเจ้าของเรื่องราวกับความพยายามสวมรองเท้าคู่เดียวกันในการเดินบนถนนเส้นเดียวกันในสถานการณ์เดียวกัน ในแง่ของการวินิจฉัยและการรักษา จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องการสื่อสารกับผู้เชี่ยวชาญโดยตรง การได้บอกเล่าอาการอย่างครบถ้วนและถูกรับฟังอย่างเข้าอกเข้าใจนี้มีเพียงจิตแพทย์และนักจิตวิทยาเท่านั้นที่สามารถทำได้ เราอาจจะรู้สึกว่าการไปหาหมอก็แค่ไปนั่งเล่าเรื่องและตอบคำถาม จากนั้นก็รับยากลับบ้านเพียงเท่านั้น แต่อันที่จริงบุคลากรเหล่านี้ถูกฝึกฝนมาอย่างดี ทุกคำถามและคำตอบล้วนแล้วแต่ผ่านการคิดมาอย่างดี ทั้งหมดคือกระบวนการรักษาที่ไม่ได้ทำให้เรารู้สึกผิดปกติและต้องมาตอกย้ำตัวเองว่าป่วยไปมากกว่าเดิมเพราะแค่ต้องก้าวขาเข้าไปในโรงพยาบาลหรือแค่ต้องรับรู้ว่ามีนัดกับ “หมอ”ก็อาจจะทำให้เรารู้สึกแย่พอแล้วสำหรับบางคน

ทั้งนี้ย้ำอีกครั้งว่า AI ไม่ใช่ผู้ร้ายและผู้ที่ใช้ AI ในการปลอบโยนหัวใจนั้นไม่ได้ทำผิดหรือทำไม่ถูกไม่ควรแต่อย่างใด แต่อย่าลืมว่าจนแล้วจนรอดอย่างไร เรายังต้องเข้ารับการวินิจฉัยเพื่อให้รู้แน่ชัดว่าเป็นอะไรจากจิตแพทย์ ต้องได้รับการทำกิจกรรมที่จะช่วยปรับพฤติกรรม ฝึกการรับมือการปัญหาอย่างยั่งยืนจากนักจิตวิทยาอยู่ดีเพื่อให้ความคิด จิตใจ และพฤติกรรมของเราได้รับการดูแลอย่างดีไปพร้อมๆ กัน

เมื่อมองกลับมาที่วงการสุขภาพจิตและหน่วยใหญ่กว่านั้นซึ่งก็คือรัฐบาล ก็พบว่ามีการบ้านที่ต้องทำเช่นกัน เพราะข้อมูลจากสถิติกองบริหารระบบบริการสุขภาพจิต กรมสุขภาพจิตระบุว่าในปี 2565 ทั้งประเทศเรามีจิตแพทย์เพียง 845 คน นักจิตวิทยา(คลินิก) รวม 1,037 คน พยาบาลจิตเวช รวม 4,064 คน ซึ่งไม่สอดคล้องอย่างรุนแรงกับจำนวนผู้ป่วยทั้งที่เข้ารับการรักษาและที่ยังไม่ได้รับการรักษา เรามีผู้ป่วยเข้ารับการรักษาเพียง 2.9 ล้านคน จากข้อมูลความชุกของประชาชนผู้มีปัญหาสุขภาพจิตสูงถึง 10 ล้านคน หมายความว่าเรายังมีประชากรอีก 7 ล้านคนที่ยังต้องเผชิญปัญหาโดยขาดความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญ ปัญหาคนไม่พอเป็นโจทย์ใหญ่ของรัฐที่จะต้องแก้ให้ครบทุกปมตั้งแต่เริ่ม เช่น จำนวนผู้สอนไม่เพียงพอจนไม่สามารถผลิตบุคลากรจิตแพทย์ออกมาได้ ซึ่งการจะมีจิตแพทย์สักคนก็ไม่สามารถมองเพียงแค่เรื่องของจำนวนคนได้ จำนวนต้องมาพร้อมกับคุณภาพด้วย จึงเป็นโจทย์ที่ต้องแก้ ต่อมาคือการจัดสรรจิตแพทย์อย่างเหมาะสมกับจำนวนประชากร ในแต่ละพื้นที่โดยเฉพาะพื้นที่นอกกรุงเทพฯ และยังต้องจัดการภาระงานของจิตแพทย์ไม่ให้หนักไปที่ส่วนอื่นมากกว่าการรักษาด้วย

ปัญหาในวงการสุขภาพจิตข้างต้นก็ต้องได้รับการผลักดันไปพร้อมๆ กับการจัดการให้ประชากรอีกกว่า 7 ล้านคนได้เข้าถึงการรักษาและความช่วยเหลือ สังคมรอบข้างก็ต้องได้รับความรู้ความเข้าใจต่อประเด็นสุขภาพจิต ปัจจัยที่ก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพจิตก็ต้องได้รับการแก้ไขเช่นเดียวกัน เพราะเราไม่สามารถทำเพียงอย่างเดียวเพื่อแก้ไขปัญหาที่ละเอียดอ่อนนี้ได้ ทั้งระบบนิเวศนี้ควรทำงานอย่างเชื่อมโยงไปพร้อมๆ กัน ถ้าอยากเห็นสังคมที่มีความสุขก็ต้องเริ่มจากประชากรที่มีความสุขและสภาพแวดล้อมที่เอื้อให้คนมีความสุข

ปีที่แต่ง (พ.ศ.)
2567
ผู้แต่ง

ญาณิกา โกมลสิงห์

หน่วยงานสนับสนุน

หัวข้อ
Related Content

แนวหน้าต่อต้านคอร์รัปชัน : อัปเดตประชุมวิชาการโลกเรื่องคอร์รัปชัน

เมื่อช่วงต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา ผศ. ดร.ต่อภัสสร์ ยมนาค Co-Founder บริษัท HAND Social Enterprise ได้รับเชิญไปบรรยายในงานประชุมทางวิชาการ Cambridge Economic Crime ที่จัดขึ้นเป็นปีที่ 40 แล้ว ซึ่งงานนี้ถือได้ว่าเป็นงานประชุมวิชาการระดับนานาชาติที่เกี่ยวข้องกับเรื่องคอร์รัปชันที่ใหญ่ที่สุดงานหนึ่ง โดยผศ. ดร.ต่อภัสสร์ ยมนาค ได้เข้าร่วมบรรยายเกี่ยวกับผลงานวิจัยเรื่องประสิทธิภาพที่แท้จริงของความโปร่งใสในการต่อต้านคอร์รัปชัน ผ่านการศึกษาผลกระทบจากโครงการความโปร่งใสในการก่อสร้างภาครัฐ (Infrastructure Transparency: CoST)

แนวหน้าต่อต้านคอร์รัปชัน : อยากแก้ปัญหาปากท้องก่อน แต่ถ้าไม่ปฏิรูปตำรวจ ก็แก้ยาก !

ซับซ้อน ซ่อนเงื่อน มืดเทา อาจเป็นคำนิยามวงการตำรวจไทยในปัจจุบัน ? หากเราพูดถึงวงการตำรวจ หลาย ๆ คนคงจะนึกถึงเรื่องที่ตำรวจดันไปเป็นผู้ที่มีส่วนร่วมกับการทุจริต ไม่ว่าจะเป็นกรณีหมูเถื่อน กำนันนก ทุนจีนสีเทา หรือข่าวอาชญากรรมต่าง ๆ แทนที่จะมองว่า ตำรวจคือผู้ที่รักษาความสงบให้บ้านเมือง และคุ้มครองประชาชนให้รู้สึกปลอดภัย

แนวหน้าต่อต้านคอร์รัปชัน : สติ๊กเกอร์ส่วย…แก้ได้ ?

จะแก้ปัญหาอย่างไรให้ชีวิตปลอดภัยจากผลกระทบของสินบน ? ประเด็นร้อนทุจริตเร็ว ๆ นี้คงหนีไม่พ้นเรื่อง “ส่วยสติกเกอร์” หลังว่าที่ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกลวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ออกมาแฉตั้งแต่กลไกไปจนถึงราคาอย่างที่หลายคนคงได้ยินมาบ้างแล้ว แต่ที่สำคัญกว่านั้น รู้หรือไม่ว่าเรื่องของส่วยรถบรรทุกที่ดูเหมือนเป็นเรื่องไกลตัว จริง ๆ แล้วใกล้ตัวกว่าที่เราคิด

You might also like...

KRAC Hot News I ไฟฟ้าไทยแพง เพราะภาคพลังงานยังโปร่งใสไม่พอ

เพราะไฟฟ้าได้กลายเป็นปัจจัยที่ 5 ไปแล้ว แต่ที่น่ากังวล คือไฟฟ้ายังคงเป็นปัจจัยเดียวที่ราคาไม่ได้เป็นไปตามกลไกตลาด ที่สำคัญยังเหมือนจะแพงขึ้นเรื่อย ๆ ด้วย…ทำไมค่าไฟฟ้าของไทยยังแพง และมีบทเรียนจากต่างประเทศอะไรบ้าง

บทความวิจัย : ปัญหาการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานเจ้าหน้าที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติประจำจังหวัด ในการรวบรวมพยานหลักฐานในความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ในองค์การบริหารส่วนตำบล

ความล่าช้าในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่สำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัด มีปัญหาหลักมาจากการขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกฎหมาย และการดำเนินการ

บทความวิจัย : รูปแบบการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนตามแนววิถีพุทธในงานต่อต้านการทุจริต และการสร้างเครือข่ายต่อต้านการทุจริตอย่างยั่งยืน

การพัฒนากิจกรรมสำหรับต่อต้านการทุจริตควรมีการประยุกต์หลักพุทธธรรมและปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ร่วมกับการส่งเสริมการสร้างเครือข่ายความร่วมมือ