คิดด้วยพลเมือง(See-Think-Cen’) : ราโชมอนและคอร์รัปชัน : เมื่อภาพยนตร์มีหลายมุมมอง แต่คอร์รัปชันมีความจริงเพียงหนึ่งเดียว

“ราโชมอน (Rashomon)” เป็นคำที่หลายคนอาจเคยได้ยิน โดยเฉพาะในวงการภาพยนตร์ คำนี้มีจุดเริ่มต้นมาจากเรื่องสั้นญี่ปุ่นเรื่อง “ในพุ่มไม้” (ค.ศ.1922) ก่อนจะถูกดัดแปลงเป็นภาพยนตร์ Rashomon (ค.ศ.1950) ที่มีชื่อเสียงและได้รับการยอมรับจากคนทั่วโลกในเวลาต่อมา

เรื่องราวในภาพยนตร์ได้เล่าถึงโศกนาฏกรรมการเสียชีวิตของซามูไรคนหนึ่งในช่วงปลายยุคเฮอัง โดยมีสามตัวละครหลักเป็นพยาน ได้แก่ โจรป่า ภรรยาของซามูไร และวิญญาณของซามูไร (ร่างทรง) แม้ว่าทั้งสามจะอยู่ในเหตุการณ์เดียวกัน แต่กลับมีคำให้การที่ต่างกันจนทำให้ศาลและคนที่มารับฟังคดีนี้ต่างงุนงง 

สรุปภาพยนตร์ Rashomon (ค.ศ.1950) แบบสั้นๆ โดย “โจรป่า” ให้การว่า เขาได้เป็นคนฆ่าซามูไร ซึ่งเป็นการสู้กันอย่างสมศักดิ์ศรี โดยต้นเหตุมาจากการที่โจรป่าต้องการแย่งภรรยาของซามูไรมาครอบครอง ส่วน “ภรรยาของซามูไร” ให้การว่า เธอเป็นคนฆ่าซามูไร เพราะความไม่พอใจที่ซามูไรได้มองเธออย่างเหยียดหยามหลังจากถูกโจรป่าขืนใจ และ “ซามูไร (ร่างทรง)” ให้การว่าเขาจบชีวิตตัวเองเพราะถูกภรรยาทอดทิ้งหลังจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และเขาต้องสูญเสียศักดิ์ศรีจนไม่อาจมีชีวิตอยู่ต่อไปได้

ด้วยความขัดแย้งจากมุมมองของทั้งสามคน สะท้อนแนวคิดที่ว่า “ความจริงไม่ได้มีเพียงหนึ่ง” แต่ขึ้นกับมุมมองของแต่ละคน จนเกิดเป็นข้อถกเถียงในทางปรัชญา และมีอิทธิพลต่อวงการภาพยนตร์, ปรัชญา, กฎหมาย และอื่นๆ ในเวลาต่อมา จนถูกเรียกว่า “Rashomon Effect” 

แนวคิดเรื่องราโชมอนนี้ เมื่อเราลองเชื่อมโยงไปถึงปัญหาสังคม เราจะพบว่า หลาย ๆ ปัญหาก็มีมุมมองจากคนในสังคมที่ต่างกัน หนึ่งในนั้น คือ “ปัญหาคอร์รัปชัน” บางคนอาจจะรับได้ บางคนอาจจะรับไม่ได้ ขึ้นอยู่กับบทบาทหน้าที่ หรือบริบทสังคมที่เติบโตมา ตัวอย่างเช่น  คนบางกลุ่มมองว่า“คอร์รัปชันเป็นประโยชน์ต่อระบบเศรษฐกิจ” แนวคิดนี้เราเรียกว่า Grease the Wheel (น้ำมันหล่อลื่นเครื่องจักร) เปรียบเทียบคอร์รัปชันเป็นเหมือนน้ำมันหล่อลื่นช่วยให้ระบบราชการที่ล่าช้า ดำเนินการได้รวดเร็วขึ้นโดยไม่ต้องติดกฎระเบียบที่ยุ่งยาก ส่วนใหญ่แล้วผู้ที่สนับสนุนทฤษฎีนี้จะเป็นนักลงทุนที่ต้องการทำธุรกรรมกับระบบราชการให้รวดเร็ว เช่น การขอใบอนุมัติ รวมถึงนักเศรษฐศาสตร์บางคนที่มองว่าคอร์รัปชันสามารถแก้ปัญหาประเทศที่มีระบบราชการแข็งตัว เช่น อินเดีย หรือบางประเทศในแอฟริกา 

คนบางกลุ่มมองว่า คอร์รัปชันเป็นเรื่องที่ “ใครๆ ก็ทำกัน”หากสร้างบรรทัดฐานให้การโกงกลายเป็นเรื่องปกติ โดยงานวิจัย Gino, Ayal, และ Ariely (ค.ศ.2009) ได้ศึกษาโดยให้กลุ่มตัวอย่างทําโจทย์เลขภายในเวลาจํากัด โดยแต่ละรอบทีมงานจะแฝงตัวอยู่ในกลุ่มตัวอย่างและทําโจทย์ทั้งหมดเสร็จอย่างรวดเร็วเพื่อเป็นการสร้างบรรทัดฐานเกี่ยวกับการโกง ผลของการวิจัยพบว่า เมื่อบรรทัดฐานด้านคอร์รัปชันของสังคมลดลงก็จะทำให้ระดับการคอร์รัปชันสูงขึ้นตาม แนวคิดนี้ทำให้เราเห็นว่าคนในสังคมจะมองว่าการโกงเป็นเรื่องปกติ ถ้าสังคมมีบรรทัดฐานการต่อต้านคอร์รัปชันต่ำ ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นคนที่เติบโตมาในสภาพแวดล้อมที่มีการคอร์รัปชันอย่างแพร่หลาย 

คนบางกลุ่มมองว่า “คอร์รัปชันเป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้”ตัวอย่างจากงานวิจัย การตลาดเชิงประยุกต์สำหรับการกระตุ้นและจำแนกกลุ่มประชาชนที่มีความตระหนักรู้เกี่ยวกับการต่อต้านคอร์รัปชัน (ค.ศ.2020) ได้สำรวจมุมมองของประชาชนโดยแบ่งประเภทกลุ่มต่างๆ โดยมีกลุ่มหนึ่งที่เรียกว่า Frontline เป็นกลุ่มที่มีค่าเฉลี่ยด้านการต่อต้านคอร์รัปชันสูง คนกลุ่มนี้ ถ้ามีโอกาสก็จะเข้าไปร่วมในการปราบปรามคอร์รัปชัน มองว่าการให้สินบนเป็นเรื่องที่ผิดและมองผลประโยชน์ของส่วนรวมมากกว่าผลประโยชน์ของตัวเอง โดยส่วนใหญ่เป็นคนอายุ 18-34 ปี และเป็นผู้หญิง 55.40% เป็นผู้ชาย 44.60%

เราจะเห็นว่า ในราโชมอนแต่ละตัวละครต่างนำเสนอ “ความจริง”ของตนที่ขัดแย้งกัน เช่นเดียวกันกับปัญหาคอร์รัปชันที่ผู้คนมองมันต่างกัน ขึ้นอยู่กับสถานะทางเศรษฐกิจ สังคม และอุดมการณ์ บางคนมองว่าคอร์รัปชันเป็นสิ่งที่ดีบ้าง แย่บ้าง แต่มีสิ่งหนึ่งที่คอร์รัปชันไม่เหมือนราโชมอน คือ “ความจริงมีเพียงหนึ่งเดียว”

แม้ตอนจบของภาพยนตร์เรื่องราโชมอนไม่ได้เฉลยว่าสุดท้ายแล้วใครพูดจริงหรือใครพูดโกหก ทำให้เกิด “ความจริงอาจมีหลากหลาย” ผู้ชมต้องไปพิจารณาและตัดสินกันเองว่า ซามูไร ภรรยาซามูไร หรือโจรป่า คือคนที่พูดความจริง แต่คอร์รัปชันที่อาจมองได้หลายมุมมองมีข้อมูลที่สามารถพิสูจน์ได้

ตัวอย่างเช่น แนวคิด Grease the Wheels ที่เชื่อว่าคอร์รัปชันทำให้ระบบราชการรวดเร็ว และเป็นกลไกช่วยให้เศรษฐกิจเติบโต แต่งานวิจัยของ Tanzi & Davoodi (ค.ศ.1997) พบว่าคอร์รัปชันทำให้ค่าใช้จ่ายในการผลิตของภาครัฐสูงขึ้น เช่น ในการพัฒนาการศึกษาและสาธารณสุข ซึ่งจะทำให้เกิดการลงทุนไม่มีประสิทธิภาพ และส่งผลเสียต่อประเทศในระยะยาว

นอกจากนี้ยังมีงานวิจัย Aidt (ค.ศ.2009) ที่อธิบายถึงแนวคิดที่ว่าคอร์รัปชันสามารถทำให้ระบบมีประสิทธิภาพมากขึ้นนั้นเป็นเรื่องที่ทำให้เข้าใจผิด เพราะแท้จริงแล้ว การแทรกแซงของรัฐบาลที่ยุ่งยากและไม่มีประสิทธิภาพหลายอย่างเกิดขึ้นจากเจ้าหน้าที่รัฐที่ทุจริตเสียเองตั้งแต่ต้น และที่แย่กว่านั้น การให้เหตุผลแบบนี้อาจเป็นอันตราย เพราะมันส่งเสริมให้ผู้คนยอมรับการทุจริตหรือเพิกเฉยต่อปัญหา

หรือถ้าเราไปดูดัชนีการรับรู้การทุจริต (Corruption Perception Index) ที่มีการให้คะแนนและจัดอันดับความโปร่งใส 180 ประเทศในแต่ละปี เราจะพบว่าประเทศที่คะแนนมี CPI ที่ดี จะมีดัชนีการพัฒนามนุษย์ (HDI) ที่ดีด้วย (ดัชนีการพัฒนามนุษย์ช่วยชี้วัดคุณภาพชีวิตโดยรวมของประชากร เช่น สุขภาพ การศึกษา และโอกาสทางเศรษฐกิจ โดยมีการจัดอันดับจาก 192 ประเทศ) ขอยกตัวอย่างด้วยอันดับของแต่ละประเทศเพื่อเห็นภาพชัดยิ่งขึ้น

ประเทศนอร์เวย์ มีคะแนน CPI อยู่อันดับที่ 5 และคะแนน HDI อยู่อันดับที่ 2

ประเทศเนเธอร์แลนด์ มีคะแนน CPI อยู่อันดับที่ 9 และคะแนน HDI อยู่อันดับที่ 10

ประเทศสิงคโปร์ มีคะแนน CPI อยู่อันดับที่ 3 และคะแนน HDI อยู่อันดับที่ 9

และประเทศอื่นๆ ที่มีคะแนน CPI อยู่ใน 10 อันดับแรกจะมีคะแนน HDI อยู่ใน 10 อันดับแรกเสมอ ยกเว้นเพียงแค่ ฟินแลนด์ที่มีคะแนน HDI อยู่ในอันดับที่ 12 และ ลักเซมเบิร์กที่มีคะแนน HDI อยู่ในอันดับที่ 20 

ความสอดคล้องของความโปร่งใส (CPI) และคุณภาพชีวิตของประชาชน (HDI) สะท้อนให้เห็นว่าประเทศที่สามารถต่อต้านคอร์รัปชันได้ดี ประชากรในประเทศก็มีโอกาสที่จะมีชีวิตที่ดีด้วย และไม่ใช่เพียง HDI เท่านั้น หากเราไปดูดัชนีอื่นๆ เช่น ดัชนีความก้าวหน้าทางสังคม (SPI) ดัชนีความสามารถในการแข่งขันโลก (GCI) จะเห็นว่าการต่อต้านคอร์รัปชันส่งผลดีต่อการพัฒนาประเทศในหลายๆ มิติและเป็นข้อพิสูจน์ที่ทำให้เห็นว่าการคอร์รัปชันที่อาจจะมีหลายมุมมองแบบราโชมอน แต่ข้อมูลทางสถิติก็พิสูจน์ได้ในระดับหนึ่งว่าคอร์รัปชันส่งผลเสียอย่างมากต่อประเทศและคุณภาพชีวิตของเรา 

ปีที่แต่ง (พ.ศ.)
2568
ผู้แต่ง

สุรวัฒน์ เดวา

หน่วยงานสนับสนุน

หัวข้อ
Related Content

แนวหน้าต่อต้านคอร์รัปชัน : โอกาสและความสำคัญของการกลับคืนเป็นภาคี TI Thailand

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา กรุงเทพมหานครได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมระดับภูมิภาคของ Transparency International (TI) การเลือกประเทศไทยเป็นสถานที่จัดงานครั้งนี้มีนัยสำคัญ แม้ปัจจุบันไทยจะไม่มีภาคีประจำประเทศอย่างเป็นทางการ …

แนวหน้าต่อต้านคอร์รัปชัน : อัปเดตประชุมวิชาการโลกเรื่องคอร์รัปชัน

เมื่อช่วงต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา ผศ. ดร.ต่อภัสสร์ ยมนาค Co-Founder บริษัท HAND Social Enterprise ได้รับเชิญไปบรรยายในงานประชุมทางวิชาการ Cambridge Economic Crime ที่จัดขึ้นเป็นปีที่ 40 แล้ว ซึ่งงานนี้ถือได้ว่าเป็นงานประชุมวิชาการระดับนานาชาติที่เกี่ยวข้องกับเรื่องคอร์รัปชันที่ใหญ่ที่สุดงานหนึ่ง โดยผศ. ดร.ต่อภัสสร์ ยมนาค ได้เข้าร่วมบรรยายเกี่ยวกับผลงานวิจัยเรื่องประสิทธิภาพที่แท้จริงของความโปร่งใสในการต่อต้านคอร์รัปชัน ผ่านการศึกษาผลกระทบจากโครงการความโปร่งใสในการก่อสร้างภาครัฐ (Infrastructure Transparency: CoST)

แนวหน้าต่อต้านคอร์รัปชัน : อยากแก้ปัญหาปากท้องก่อน แต่ถ้าไม่ปฏิรูปตำรวจ ก็แก้ยาก !

ซับซ้อน ซ่อนเงื่อน มืดเทา อาจเป็นคำนิยามวงการตำรวจไทยในปัจจุบัน ? หากเราพูดถึงวงการตำรวจ หลาย ๆ คนคงจะนึกถึงเรื่องที่ตำรวจดันไปเป็นผู้ที่มีส่วนร่วมกับการทุจริต ไม่ว่าจะเป็นกรณีหมูเถื่อน กำนันนก ทุนจีนสีเทา หรือข่าวอาชญากรรมต่าง ๆ แทนที่จะมองว่า ตำรวจคือผู้ที่รักษาความสงบให้บ้านเมือง และคุ้มครองประชาชนให้รู้สึกปลอดภัย

You might also like...

KRAC Extract | คอร์รัปชันหลังเเผ่นดินไหว: โอกาสแห่งการฟื้นตัวหรือประตูสู่การทุจริต

คอร์รัปชันหลังแผ่นดินไหว…เมื่อเงินฟื้นฟูหลั่งไหล แต่ความโปร่งใสกลับหายไป! กรณีศึกษาจากตุรกี ที่เผยให้เห็นว่าภัยพิบัติอาจเปิดช่องให้การทุจริตแทรกซึมได้ทุกขั้นตอนของกระบวนการจัดการหลังภัยพิบัติ บทเรียนนี้ไม่ใช่แค่ของต่างประเทศ แต่คือสัญญาณเตือนที่ไทยก็ต้องระวังเช่นกัน!

KRAC Hot News I การท่องเที่ยวไทยสูญเสียอะไรให้กับการคอร์รัปชัน?

ในช่วงสงกรานต์ที่หลายคนออกเดินทางท่องเที่ยวหรือกลับบ้าน เราอยากชวนคุณมามอง “การท่องเที่ยวไทย” ในมุมที่อาจไม่ค่อยถูกพูดถึง นั่นคือ การคอร์รัปชัน ด้วยข้อมูลวิจัยและกรณีศึกษาที่ชี้ให้เห็นว่าปัญหาการคอร์รัปชันมีผลกระทบต่อการท่องเที่ยวไทยมากกว่าที่คิด

KRAC คัดสรร เล่างานวิจัยไทย | การใช้ e-bidding เพื่อแก้ปัญหาคอร์รัปชันในโครงการจัดซื้อจัดจ้าง มีประสิทธิภาพมากแค่ไหน ?

ชวนสำรวจ e-bidding : เทคโนโลยีการจัดซื้อจ้างออนไลน์ลดคอร์รัปชัน โดยจะพาไปดูผลการใช้งานระบบจริงจากทั้ง 3 กรมว่าเป็นอย่างไร ? แล้วเราจะทำอย่างไรให้ระบบ e-bidding มีประสิทธิภาพมากขึ้น