“ละครคุณธรรม” สื่อรูปแบบหนึ่งที่เริ่มถูกพูดถึงเมื่อ 2-3 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะช่วงต้นปีที่มีไวรัลประโยค “ฉันเป็นประธานบริษัท” จากละครคุณธรรมที่แม้กระแสดังกล่าวจะหมดลงแล้ว แต่สื่ออย่าง “ละครคุณธรรม” ก็ยังเป็นสื่อรูปแบบหนึ่งที่มีคนดูและติดตามอยู่เรื่อยๆ เช่นใน Facebook เพจ “ดอยแม่สลองสื่อสังคมออนไลน์” ที่มีผู้ติดตาม 9.2 ล้าน หรือใน Youtube “ห้าโมงเย็น แชนแนล” ที่มีผู้ติดตาม 6.9 แสน
จุดเด่นที่ทำให้คนติดกันงอมแงมคงหนีไม่พ้นโครงเรื่องที่ “ใครทำดีได้ดี ใครทำชั่วก็ได้ชั่ว” หรือเป็นตาม “กฎแห่งกรรม” ซึ่งสอดคล้องกับคตินิยมของคนไทย ตัวอย่างเช่น พนักงานบริษัทเดินชนคนทำความสะอาด เลยได้ด่ากราดและดูถูกว่า “แกเป็นแค่คนทำความสะอาดก็หัดเจียมตัวบ้าง” แต่จริงๆ แล้วกลับพบว่าคนคนนั้นคือเจ้าของบริษัทที่ปลอมตัวมาดูพฤติกรรมพนักงาน หรืออาจจะเป็นเหตุการณ์ที่มีคนแก่ล้มลงกลางถนนต่อหน้าคนสองคน คนหนึ่งเลือกจะเดินผ่านพร้อมดูถูกว่า “แก่ก็แก่ยังไม่รู้จักระวังอีก” แต่อีกคนเลือกที่จะช่วยเหลือ ซึ่งมาก็พบว่าคนแก่คนนั้นเป็นเศรษฐี คนที่ช่วยเหลือจึงได้รับการตอบแทนเป็นเงินก้อนใหญ่ซึ่งเนื้อหาส่วนใหญ่ก็แทบจะไปในทางเดียวกัน ทำให้คนดูรู้สึกดีใจหากคนที่ทำดีได้ผลลัพธ์ที่ดี ในขณะที่รู้สึกสะใจหากคนไม่ดีได้ผลลัพธ์ที่ไม่ดีตามสิ่งที่ตัวเองทำ
แต่เมื่อกลับมามองชีวิตจริง มีโอกาสไม่ถึง 1% ที่สถานการณ์นั้นจะเกิดขึ้นจริงๆ เจ้าของบริษัทคงไม่มาทำความสะอาด หรือหาได้ยากที่เศรษฐีจะมาเดินถนนคนเดียวในขณะที่ “กฎแห่งกรรม” ในโลกความจริงอาจดูเหมือนไม่มีจริงหรือทำงานล่าช้า เพราะหลายคนที่เราสงสัยว่าใช้อำนาจในทางที่ผิด ทุจริต คดโกง แต่กลับไม่ถูกตรวจ หรือคนที่ผิดกลับไม่ได้รับบทลงโทษ หนึ่งประโยคประชดประชันสังคมที่เรามักได้ยินคือ “ประเทศนี้คนรวยกับคนมีอำนาจไม่ต้องติดคุก” โดยยกตัวอย่าง “คดีบอส อยู่วิทยา” กรณีขับรถชนนายตำรวจ
เสียชีวิตแต่ไม่ติดคุก หรือ คดีทุจริตที่กว่าจะพบว่ามีการโกงก็เสียหายไปหลายล้านบาท กว่าจะตัดสินคดี คนผิดก็หนีออกนอกประเทศไปแล้ว ในขณะที่วิศวกรวัย 27 ปี ที่ปฏิเสธการทุจริตกลับต้องสังเวยชีวิต เมื่อปีที่แล้วที่จังหวัดหนองบัวลำภู และนี่อาจจะเป็นหนึ่งเหตุผลที่ทำให้คนหลีกหนีจากโลกความเป็นไปอินกับละครคุณธรรม เพราะรู้สึกว่าสังคมมันไม่น่าอยู่และกฎแห่งกรรมในชีวิตเป็นไปได้ยาก
อย่างไรก็ตามแม้ในชีวิตจริงจะไม่ได้เป็นไปอย่างละครคุณธรรม แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าความหวังของสังคมจะหมดไป เราสามารถสร้างละครคุณธรรมที่ “คนทำดีได้ดี คนทำชั่วได้ชั่ว” ให้เกิดขึ้นได้เหมือนกันถ้าประชาชนอย่างเรามีส่วนร่วมกับสังคมมากขึ้น เพราะปัจจุบันทุกภาคส่วนของสังคมร่วมกันสนับสนุนให้ประชาชนเข้ามาร่วม “ทำให้คนผิดได้รับโทษ” ด้วยเทคโนโลยีเอื้ออำนวยต่อการให้ข้อมูลคนทำผิด คนทุจริต คนโกง โดยขอยกตัวอย่างทั้งหมด 3 แพลตฟอร์ม
1.“Corruption Watch ฟ้องโกงด้วยแชทบอต” ถ้าเราได้ยินเรื่องการทุจริต สงสัยโครงการรัฐใกล้บ้าน ถูกเรียกเงินสินบน หรือส่วย ไม่ว่าเรื่องทุจริตอะไรสามารถส่งเรื่องมาที่แชทไลน์ของ Corruption Watch โดยไม่ต้องระบุตัวตน และหลังจากที่ได้รับเรื่องก็มีการตรวจสอบหากมีคนผิดจะถูกดำเนินไปตามกระบวนการ ซึ่งปัจจุบัน “Corruption Watch ฟ้องโกงด้วยแชทบอต” ได้รับแจ้งเรื่องมาแล้วมากถึง 84 เรื่อง และถ้าคนสนใจสามารถแจ้งเรื่องเพิ่มเติมได้โดยสแกนคิวอาร์โค้ดไลน์ในหน้าเว็บไซต์ https://cs.actai.co/about/
2. “ต้องแฉ” เพจ Facebook รับร้องเรียนปัญหาทุจริต ที่เคยมีผลงานอย่างกรณีเสาไฟกินรีที่กลายเป็นไวรัลบนโลกอินเตอร์เนต นอกจากนี้ยังมีกรณีเหตุสงสัยโครงการติดตั้งกล้องวงจรปิด CCTV ขององค์การบริหารส่วนตำบลราชาเทวะราคาสูงเกินจริง และหลายๆ กรณีซึ่งมาจากประชาชนเองช่วยกันตรวจหาข้อมูลและส่งเรื่องมาทางเพจต้องแฉซึ่งไปสู่การตรวจสอบการทุจริต
3. Traffy Fondue หนึ่งในแพลตฟอร์มรับเรื่องร้องเรียนปัญหาใน กทม. ที่ไม่ได้มีไว้แจ้งเฉพาะปัญหาถนน ทางเท้า น้ำท่วม ความสะอาดเท่านั้น แต่ยังสามารถแจ้งปัญหาการทุจริตของเจ้าหน้าที่รัฐได้อีกด้วย โดยถ้าเราแจ้งเรื่องข้อมูลจะถูกส่งให้กับ ป.ป.ท. และ ป.ป.ช. ก่อนจะส่งเรื่องยังเขตพื้นที่ที่เกี่ยวข้องและลงตรวจสอบ ซึ่งหากใครพบเจอปัญหาสามารถร้องเรียนไปได้ไลน์ @traffyfondue
เครื่องมือทั้งหมดที่ยกมาเป็นเพียงตัวอย่างเท่านั้น ปัจจุบันสังคมเรายังมีเครื่องมืออีกหลากหลาย เช่น ACT Ai, Build Better Lives by CoST ที่ช่วยให้เราสามารถตรวจสอบข้อมูลโครงการ การจัดซื้อจัดจ้างเพื่อนำไปสู่เบาะแสการทุจริต และแน่นอนว่าหากคนเหล่านี้ทำผิดจริงก็จะถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย ก่อนจะจบด้วยการถูกลงโทษจำคุกและชดใช้ค่าเสียหาย ซึ่งก็ไม่ต่างละครคุณธรรมที่สุดท้ายแล้วคนทำชั่วก็จะไม่ได้รับสิ่งที่ดีตอบแทน ประชาชนในฐานะที่มีส่วนร่วมก็เป็นเหมือนผู้ที่ทำให้คุณธรรมนั้นเกิดขึ้นจริงไม่ใช่เพียงในละคร
สุรวัฒน์ เดวา
หัวข้อ
แนวหน้าต่อต้านคอร์รัปชัน : เวทีต้านโกงระดับโลก เขาพูดคุยอะไรกัน
4 ประเด็นน่าสนใจจาก “Summit for Democracy 2023” การประชุมระดับโลกเมื่ออาทิตย์ที่ผ่านมา ผศ. ดร.ต่อภัสสร์ ยมนาค ผู้ร่วมก่อตั้งและที่ปรึกษา HAND Social Enterprise HANDSocialEnterprise ได้รับเชิญจากรัฐบาลเกาหลีใต้ให้ไปร่วมเสวนาในงาน Summit for Democracy 2023 หัวข้อหลักงานปีนี้คือ “การต่อต้านคอร์รัปชัน” เชื่อมโยงคำอธิบายว่า การคอร์รัปชันบ่อนทำลายประชาธิปไตย ในทางกลับกันประเทศที่ประชาธิปไตยไม่เข้มแข็งจะทำให้คอร์รัปชันสูงขึ้น
แนวหน้าต่อต้านคอร์รัปชัน : เปิดตัว KRAC ศูนย์ความรู้ต้านโกง
คอร์รัปชันเป็นปัญหาที่มีความซับซ้อนอย่างมาก ถ้าไม่แก้ไขทุกมิติอย่างครอบคลุมผลที่ตามมาอาจกลายเป็นเพิ่มปัญหาให้สังคมได้ จึงต้องใช้วิธีที่มีประสิทธิภาพ หนึ่งในนั้นคือการใช้ความรู้ทางวิชาการ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติจึงได้ร่วมมือกับคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ จัดตั้ง “ศูนย์ความรู้เพื่อความร่วมมือในการต่อต้านคอร์รัปชัน และส่งเสริมธรรมาภิบาลในระดับภูมิภาค” (Knowledge hub for Regional Anti-corruption and good governance Collaboration: KRAC) ขึ้น เมื่อ 24 เมษายนที่ผ่านมา
แนวหน้าต่อต้านคอร์รัปชัน : สื่อสารต้านโกงอย่างไร ถึงได้ผล
ในหลายๆ ครั้งที่ผมได้มีโอกาสไปบรรยายเรื่องการต่อต้านคอร์รัปชันให้กับผู้ฟังซึ่งเป็นทั้งเจ้าหน้าที่รัฐ นิสิต นักศึกษา และประชาชนทั่วไป ข้อแนะนำหนึ่งที่มักจะได้มาคือ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรสื่อสาร นำเสนอเรื่องราวของผลกระทบจากการคอร์รัปชันที่รุนแรง เพื่อให้สังคมหวาดกลัวการคอร์รัปชันและรังเกียจคนคอร์รัปชัน เป็นการใช้พลังสังคมเพื่อกดดันให้ “คนโกงไม่มีที่ยืนในสังคม”