“ฉันอยากทำงาน ฉันอยากก้าวหน้า และอยากพาหมาไปเดินเล่น…” ประโยคดังกล่าว อาจจะเป็นความต้องการง่ายๆ ของใครหลายคน แต่เมื่อต้องเข้ามาหาโอกาสในเมืองสิ่งเหล่านี้กลับลำบาก จนเหมือนจะเป็นได้แค่ฝันเท่านั้น และหากจะให้หาความเชื่อมโยงของคำว่า “เมือง” กับโอกาส และความก้าวหน้า ทุกท่านคงได้คำตอบที่หลากหลายต่างกันไป แล้วทาโร่มาเกี่ยวอะไรกับเรื่องนี้ล่ะ?
“ทาโร่” ซึ่งไม่ใช่ชื่อ ขนมหรือปลาเส้นแต่อย่างใด แต่เป็นสุนัขพันธุ์หูยาวอายุ 8 ขวบของผู้เขียนที่เพิ่งจากไปเมื่อปลายปี 2566 ที่ผ่านมา ทาโร่และผู้เขียนเติบโตมาพร้อมกันในบ้านที่ต่างจังหวัด ผ่านหลายช่วงสำคัญของชีวิต อาทิ การสอบเข้ามหาวิทยาลัย จนถึงการเข้าทำงานครั้งแรกที่บริษัทแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ มาด้วยกัน ก่อนที่ทาโร่จะนอนหลับไปอย่างสงบในวันที่ผู้เขียนกำลังเตรียมตัวบินกลับบ้านในช่วงปีใหม่หลังผ่านการประเมินงานได้ไม่กี่วัน
ช่วงเวลาดังกล่าวนับเป็นจังหวะที่ทำให้ผู้เขียนได้กลับมาทบทวนถึงเรื่องโอกาสในการทำงานที่เพิ่งได้รับมา และความก้าวหน้าในอาชีพที่เคยวางแผนไว้ต่างมีต้นทุนค่าเสียโอกาสที่ถูกละเลยไปซึ่งในกรณีของผู้เขียนคงจะเป็นโอกาสที่จะได้อยู่กับครอบครัวและทาโร่ ซึ่งเมื่อย้อนไปแล้วเวลาที่ได้ใช้ร่วมกันกับทั้งคู่ก็น้อยลงมาเรื่อยๆ นับตั้งแต่ผู้เขียนต้องย้ายจากต่างจังหวัดเข้ามาเรียนในเมือง จนถึงการเริ่มทำงานที่ยังไม่มีเวลาแน่ชัดว่าเป็นระยะเวลาอีกเท่าไร ปฏิเสธไม่ได้ว่าการย้ายเข้าในเมือง ทำให้ได้รับโอกาสหลายอย่างทั้งด้านการศึกษาและการทำงานมากมาย แต่โอกาสที่ผู้เขียนเสียไปซึ่งมีครั้งเดียวในชีวิตที่จะได้อยู่กับทาโร่ในวันสุดท้าย หรือต่อไปก็คาดเดาไม่ได้เลยว่ามีสิ่งใดที่จะต้องเสียไปอีกจนย้อนกลับมาเป็นคำถามติดอยู่ในหัวผู้เขียนเองว่า เรากลับมาใช้ชีวิตที่ต่างจังหวัดจะดีกว่าหรือไม่ “แล้วใครบังคับให้เข้ามาทำงานในกรุงเทพฯ ล่ะ” แต่จริงๆ แล้วไม่มีใครหรืออะไรมาบังคับเราจริงหรือ?
หลังจากเรียนจบในระยะการหางานสำหรับเด็กต่างจังหวัดคนหนึ่งคงจะผ่านหูมาบ้างกับประโยคแนะนำยอดฮิตอย่าง “ลองหางานในกรุงเทพฯมั้ย มันมีงานเยอะกว่าบ้านเราอยู่แล้วโอกาสเติบโตมันก็เยอะกว่า” แล้วทำไมถึงเป็นอย่างนั้นได้ ย้อนกลับไปในคำถามแรกถึงความเชื่อมโยงของ “เมือง” และ “โอกาส” ซึ่งเมื่อเทียบกับในต่างจังหวัดแล้วเมืองมี “โอกาสที่มากกว่า” เสียด้วย หนึ่งในสิ่งที่ทำให้เกิดความเชื่อมโยงที่ผู้เขียนยกมา คือ การกระจุกตัวของความเจริญในเมือง
หากให้ลองไล่สิ่งที่เมืองหลวงมีหรือมีมากกว่าในต่างจังหวัด คำตอบคงออกมาได้หลากหลายอีกเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นห้างพื้นที่สาธารณะ ระบบการศึกษาหรือระบบคมนาคมที่ดีซึ่งต่อยอดไปถึงเศรษฐกิจที่เติบโตไม่ว่าจะเป็นการท่องเที่ยว และการลงทุนที่ส่งผลให้เกิดการจ้างงานที่มากขึ้น เนื่องจากกรุงเทพฯ เป็นเมืองหลวงที่มีลักษณะเติบโตแบบเมืองโตเดี่ยว (Primate city) คือ เมืองที่ใหญ่และมีความเจริญมากกว่าเมืองอื่นๆ แบบก้าวกระโดดทั้งในด้านเศรษฐกิจ วัฒนธรรม โครงสร้างพื้นฐานต่างๆ และระบบคมนาคม ซึ่งเกิดจากการมีนโยบายของรัฐที่มุ่งพัฒนาโดยมีเมืองหลวงเป็นจุดศูนย์กลาง ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำทั้งในด้านคุณภาพชีวิตและรายได้ จนนำไปสู่การกระจุกตัวของประชากรที่ทำให้เมืองมีความหนาแน่นทางประชากรสูงจากการย้ายถิ่นฐานเข้าสู่เมืองเพื่อหาทั้งงาน และโอกาสมากขึ้น
คนต่างจังหวัดมีสิทธิมั้ยคะ มีระบบคมนาคมที่สะดวกให้ใช้มั้ยคะ
เมื่อพูดถึงการคมนาคมในกรุงเทพฯ ที่มีทางเลือกที่หลากหลายไม่ว่าจะเป็นรถไฟฟ้า รถประจำทาง เรือโดยสาร ที่คลอบคลุมในหลายพื้นที่ ซึ่งถึงแม้หากถามจากผู้อาศัยในกรุงเทพฯ หรือแม้แต่ตัวผู้เขียนเองก็ยังรู้สึกว่ายังไม่ครอบคลุมขนาดนั้น เพราะยังมีพื้นที่ที่มีความยากลำบากในการเดินทางอยู่หลายแห่งหากไม่มีรถส่วนตัว แต่ถ้าพูดถึงความสะดวกและความปลอดภัยก็ยังเอื้อต่อประชาชนมากกว่าการคมนาคมในต่างจังหวัด ซึ่งการเดินทางภายในอำเภอเมืองที่ครอบคลุมที่สุดคงเป็นรถสองแถว แต่ก็มีอุปสรรคในการใช้งานเนื่องจากในแต่ละสายก็มีจุดแวะจุดจอดรับต่างกันเช่นเดียวกับรถเมล์ แต่กลับไม่มีช่องทางหลักในการหาข้อมูลดังกล่าว และไม่เกินสองทุ่มรถก็หมดแล้ว นอกจากนี้ถ้าพูดถึงในเรื่องความปลอดภัยสำหรับการเป็นเด็กผู้หญิงหากไม่มีความจำเป็นหรือไม่มีคนไปด้วยก็คงเลี่ยงการเดินทางนี้ไปเลย นอกจากจะเห็นว่าเด็กส่วนใหญ่เริ่มขับขี่จักรยานยนต์กันแล้ว เพราะถูกบังคับทางอ้อมเนื่องจากขาดระบบการคมนาคมที่ทั่วถึง
เมือง งาน ความก้าวหน้า
จากเศรษฐกิจที่เติบโต การจ้างงานและฐานเงินเดือนที่มากกว่าต่างจังหวัดในสายงานโดยตรงที่ผู้เขียนสำเร็จการศึกษามานั้น ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าในกรุงเทพฯ มีตัวเลือกในการทำงานที่เยอะกว่า การเก็บประสบการณ์ การทำงานต่อยอดไปสู่โอกาสในการก้าวหน้าในสายงานอยู่มาก แต่เมื่อเทียบกับค่าครองชีพที่สูงของกรุงเทพฯ การทำงานในต่างจังหวัดอาจเป็นการประหยัดค่าใช้จ่ายในบางส่วนได้ แต่ไม่ใช่ในทุกสายงานที่จะมีงานกระจายอยู่ตามต่างจังหวัด ยกตัวอย่าง สายงานด้านสังคมศาสตร์ หรือ NGOs ที่ผู้เขียนสนใจจากการหาข้อมูลกว่าร้อยละ 80 ต่างมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่กรุงเทพฯ หรืออาจเป็นในสายงานอื่นที่ด้วยตัวเนื้องาน กิจกรรมต่างๆ ของงาน ภาคีที่ทำงานร่วมกัน หรือแม้กระทั่งการติดต่อกับหน่วยงานราชการต่างมีสำนักงานใหญ่ที่กรุงเทพฯ เช่นเดียวกัน จึงปฏิเสธไม่ได้เลยว่าหากต้องการความก้าวหน้าหรือประสบการณ์ในสายงานใดสายงานหนึ่งการเข้ามาทำงานในกรุงเทพฯ จึงกลายมาเป็นตัวเลือกหลักที่อาจหลีกเลี่ยงไม่ได้
ดังนั้น หากจะบอกว่าเราต่างมีสิทธิในการเลือกเข้าทำงานในบริษัทต่างๆ แต่ความเป็นจริงนั้น การที่โอกาสส่วนใหญ่ยังกระจุกตัวอยู่ที่เมืองหลวงก็ทำให้เราปฏิเสธไม่ได้เช่นกันว่า ทุกคนจะมองข้ามโอกาสเหล่านี้ไปได้ แม้จะต้องอดทนกับค่าครองชีพ การมีประชากรมากเกินไปในเมืองหลวง และความแออัดที่เกิดขึ้นก็ตาม
เมือง ทาโร่
เราต้องมีเงินเท่าไรถึงจะเช่าคอนโดฯที่กรุงเทพฯได้ และเราอาจต้องมีเงินมากกว่านั้นถึง 2 เท่าเพื่อเช่าคอนโดฯที่เลี้ยงสัตว์ได้ จากข้อบังคับของคอนโดฯส่วนมากที่ห้ามเลี้ยงสัตว์และจากความแออัดของประชากรที่เยอะขึ้น ที่พักที่เลี้ยงสัตว์ได้จึงเป็นที่ต้องการสูงขึ้นสวนทางกับจำนวนที่มีอยู่และยังมีข้อกำหนดในขนาดหรือพันธุ์ที่สามารถเลี้ยงได้อีก ทำให้มีราคาสูงขึ้นเป็นอย่างมาก จากทั้งภาระงานและค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้นจากการเลี้ยงสัตว์ และสภาพแวดล้อมพื้นที่สาธารณะ การคมนาคมที่ไม่เอื้อต่อการเดินทางของสัตว์เลี้ยง ทำให้การเริ่มใช้ชีวิตพร้อมกับสัตว์ในกรุงเทพฯ ค่อนข้างลำบากเป็นอย่างมาก และนี่จึงเป็นหนึ่งในโอกาสที่คนรักสัตว์เลี้ยงต้องเสียไปแลกกับงานหรือความก้าวหน้าในที่ได้รับมา
สุดท้ายนี้หากรัฐสามารถแก้ปัญหาการกระจุกตัวของความเจริญนี้ได้ จากการกระจายความเจริญสู่ท้องถิ่นต่างๆ พัฒนาระบบราชการแบบรวมศูนย์ซึ่งทำให้ท้องถิ่นไม่มีอำนาจและงบประมาณในการพัฒนาท้องที่ของตนเองให้มีความเจริญอาทิ การจัดทำให้มีสาธารณูปโภคพื้นฐานที่เพียงพอเพื่อเศรษฐกิจเติบโตขึ้นนำไปสู่การจ้างงาน เพื่อโอกาสในหลายๆ ด้าน และให้ทุกท่านเห็นถึงโอกาสที่ทั่วถึงกันทั้งในการศึกษาและการทำงานในทั่วประเทศ มีงาน มีการศึกษา มีระบบคมนาคมที่ดีรองรับในจังหวัดของตน ทำให้มีต้นทุนค่าเสียโอกาสจากการต้องย้ายถิ่นฐานที่น้อยลง มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และผู้เขียนเองอาจได้ทำงานใกล้บ้านและได้พาทาโร่ไปวิ่งเล่นหลังเลิกงานที่สวนทุกวันก็เป็นได้
อันดา ซ่อนกลิ่น
หัวข้อ
แนวหน้าต่อต้านคอร์รัปชัน : อัปเดตประชุมวิชาการโลกเรื่องคอร์รัปชัน
เมื่อช่วงต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา ผศ. ดร.ต่อภัสสร์ ยมนาค Co-Founder บริษัท HAND Social Enterprise ได้รับเชิญไปบรรยายในงานประชุมทางวิชาการ Cambridge Economic Crime ที่จัดขึ้นเป็นปีที่ 40 แล้ว ซึ่งงานนี้ถือได้ว่าเป็นงานประชุมวิชาการระดับนานาชาติที่เกี่ยวข้องกับเรื่องคอร์รัปชันที่ใหญ่ที่สุดงานหนึ่ง โดยผศ. ดร.ต่อภัสสร์ ยมนาค ได้เข้าร่วมบรรยายเกี่ยวกับผลงานวิจัยเรื่องประสิทธิภาพที่แท้จริงของความโปร่งใสในการต่อต้านคอร์รัปชัน ผ่านการศึกษาผลกระทบจากโครงการความโปร่งใสในการก่อสร้างภาครัฐ (Infrastructure Transparency: CoST)
แนวหน้าต่อต้านคอร์รัปชัน : อยากแก้ปัญหาปากท้องก่อน แต่ถ้าไม่ปฏิรูปตำรวจ ก็แก้ยาก !
ซับซ้อน ซ่อนเงื่อน มืดเทา อาจเป็นคำนิยามวงการตำรวจไทยในปัจจุบัน ? หากเราพูดถึงวงการตำรวจ หลาย ๆ คนคงจะนึกถึงเรื่องที่ตำรวจดันไปเป็นผู้ที่มีส่วนร่วมกับการทุจริต ไม่ว่าจะเป็นกรณีหมูเถื่อน กำนันนก ทุนจีนสีเทา หรือข่าวอาชญากรรมต่าง ๆ แทนที่จะมองว่า ตำรวจคือผู้ที่รักษาความสงบให้บ้านเมือง และคุ้มครองประชาชนให้รู้สึกปลอดภัย
แนวหน้าต่อต้านคอร์รัปชัน : สติ๊กเกอร์ส่วย…แก้ได้ ?
จะแก้ปัญหาอย่างไรให้ชีวิตปลอดภัยจากผลกระทบของสินบน ? ประเด็นร้อนทุจริตเร็ว ๆ นี้คงหนีไม่พ้นเรื่อง “ส่วยสติกเกอร์” หลังว่าที่ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกลวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ออกมาแฉตั้งแต่กลไกไปจนถึงราคาอย่างที่หลายคนคงได้ยินมาบ้างแล้ว แต่ที่สำคัญกว่านั้น รู้หรือไม่ว่าเรื่องของส่วยรถบรรทุกที่ดูเหมือนเป็นเรื่องไกลตัว จริง ๆ แล้วใกล้ตัวกว่าที่เราคิด