คิดด้วยพลเมือง(See-Think-Cen’) : แก้บนอาจไม่ถูกใจ แต่สินบนถูกใจแน่นอน

“Santa doesn’t know you like I do. Maybe this Christmastime you’ll finally realize that I could be the one to give you everything you want.”

สวัสดีปีใหม่และสุขสันต์วันคริสต์มาสแด่นักอ่านแนวหน้าทุกท่าน ในเทศกาลแห่งความสุขนี้ ผู้เขียนขอมอบเพลง Santa Doesn’t Know You Like I Do ของ Sabrina Carpenter เพื่อเป็นหนึ่งในเพลงที่เหมาะสำหรับการฟังในช่วงเวลาพิเศษนี้ เนื้อเพลงได้สื่อถึงความรักของคนคนหนึ่งที่สามารถเติมเต็มความปรารถนาของคนรักได้โดยไม่ต้องพึ่งคุณพ่อฤดูหนาวหรือซานต้า เพราะซานต้านั้นไม่ได้รู้จักตัวตนของเราดีไปกว่าคนใกล้ชิดหรือคนใกล้ตัว

เมื่อผู้เขียนได้ฟังเพลงนี้ ผู้เขียนเกิดคำถามขึ้นมาในใจเกี่ยวกับการฝากความหวังไว้กับสิ่งเหนือธรรมชาติหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เราร้องขอเพื่อให้ประสบความสำเร็จ เราในฐานะมนุษย์นั้นรู้ใจหรือรู้จักสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เรานับถือดีเพียงใด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเราบนบานต่อสิ่งเหนือธรรมชาติ มนุษย์สามารถแน่ใจได้อย่างไรว่าสิ่งที่เราสัญญาไว้จะตรงกับความต้องการของเทพเจ้าหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์อย่างแท้จริง

อีกทั้ง ประเด็นนี้ยังทำให้ผู้เขียนนึกถึงมุมมองที่เชื่อมโยงการบนบานศาลกล่าวกับการติดสินบน ซึ่งหลายคนอาจมองว่าทั้งสองสิ่งนี้มีความคล้ายคลึงกันบนพื้นฐานของการร้องขอให้บุคคลหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์บันดาลให้ความปรารถนาเป็นจริงโดยมีการตอบแทน และยังมีความคิดเห็นหรือข้อถกเถียงว่าสาเหตุของพฤติกรรมการติดสินบนอาจมีที่มาจากวัฒนธรรมความเชื่อเรื่องการบนบานของมนุษย์

อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนไม่เห็นด้วยทั้งหมดกับข้อถกเถียงหรือมุมมองดังกล่าว ผู้เขียนเชื่อว่ามนุษย์ย่อมรู้ใจกันเองดีที่สุด มนุษย์เลือกที่จะติดสินบนบนพื้นฐานของการเข้าใจมนุษย์ว่าสิ่งที่มอบไปนั้นจะทำให้อีกคนยอมกระทำผิดบางอย่างเพื่อผลประโยชน์ของตนได้ ดังนั้นความสำเร็จของการติดสินบนนั้นอาจจะมีมากกว่าการบนบาน ซึ่งอาศัยเพียงความศรัทธาและความหวังโดยปราศจากการยืนยันถึงผลลัพธ์ที่แน่นอน

ในบทความนี้ ผู้เขียนขอนำพาผู้อ่านทุกท่านร่วมกันถกเถียงถึงความหมายและความต่างของการบนบานและการติดสินบน และผู้เขียนขอเชิญผู้อ่านร่วมกันตั้งคำถามถึงสาเหตุที่แท้จริงของการติดสินบนว่ามีที่มาจากการบนบานจริงหรือไหม

นิยามของ “การบนบาน” และ “การติดสินบน”

“บนบาน” ตามพจนานุกรมของราชบัณฑิตยสถาน หมายถึง การขอร้องสิ่งศักดิ์สิทธิ์ให้ช่วย โดยให้คำมั่นว่าจะมอบสิ่งของตอบแทนหรือปฏิบัติตามที่ให้สัญญาไว้เมื่อคำขอนั้นสัมฤทธิผล การบนบานถือเป็นส่วนหนึ่งของความเชื่อพื้นฐานดั้งเดิมของมนุษย์ตั้งแต่สมัยอารยธรรมโบราณ เช่น อารยธรรมกรีกโบราณ ที่มักพบผ่านการบนบานต่อเทพเจ้าโดยมีการถวายเครื่องสังเวยแด่เทพเจ้าแห่งสงครามเพื่ออวยพรให้การทำศึกสงครามลุล่วงไปด้วยดี นอกจากนี้ วัฒนธรรมความเชื่อเกี่ยวกับการบนบานไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะในอารยธรรมตะวันตกเท่านั้น แต่ยังพบได้ในอารยธรรมตะวันออก เช่น อินเดียและจีน เช่นเดียวกัน ดังนั้น การบนบานจึงเป็นส่วนหนึ่งของการประกอบสร้างวิถีชีวิตของมนุษย์มาอย่างยาวนานตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

ในส่วนของการติดสินบนนั้น มีความหมายที่คล้ายคลึงกับการบนบานเป็นอย่างมาก เนื่องจาก “สินบน” หมายถึง ทรัพย์สิน ของขวัญหรือประโยชน์อื่นใดที่ให้แก่บุคคลเพื่อจูงใจให้ผู้นั้นกระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใดในตำแหน่ง ดังนั้น การติดหรือการให้สินบนจึงหมายถึงการเสนอหรือมอบทรัพย์สินเพื่อจูงใจเจ้าหน้าที่รัฐให้กระทำการใดๆ เพื่อเอื้อผลประโยชน์ต่อผู้ติดสินบน โดยลักษณะการกระทำที่เข้าข่ายสินบนไม่ได้ถูกจำกัดแค่ในแวดวงของราชการเท่านั้น แต่ยังนับรวมไปถึงการรับ “เงินแป๊ะเจี๊ยะ” ที่มักเกิดขึ้นในวงการศึกษาด้วยเช่นกัน

“การบนบาน” VS “การติดสินบน” ความเหมือนที่แตกต่าง

แม้ทั้งสองคำจะเป็นการอธิบายถึงพฤติกรรมของการมอบสิ่งของให้แก่บุคคลหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์เพื่อให้ได้มาซึ่งผลประโยชน์ส่วนตน แต่สำหรับผู้เขียน ความแตกต่างอย่างชัดเจนของสองคำนี้คือ “ความเป็นไปได้(possibility)” ของผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจากการติดสินบนและการบนบาน อย่างที่ได้กล่าวไปในส่วนต้นนั้น การบนบานไม่ได้มีการการันตีอย่างชัดเจนว่าผู้ที่ทำการบนบานจะประสบความสำเร็จในทุกครั้ง อีกทั้งยังไม่มีสิ่งใดสามารถการันตีว่าสิ่งของที่นำไปบนบานจะถูกใจเทพเจ้าหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์เหล่านั้น ทำให้ผลลัพธ์ของการบนบานมีโอกาสประสบความสำเร็จได้น้อยกว่าการติดสินบน

แม้ว่าการติดสินบนจะไม่ได้ประสบความสำเร็จในทุกครั้ง แต่ผู้กระทำสามารถเสนอสินบนที่ถูกใจแก่ผู้รับได้มากกว่า โดยเฉพาะอย่าง “ค่าดำเนินการ” และ “ค่าอำนวยความสะดวก” ที่จ่ายให้เจ้าหน้าที่รัฐเพื่อให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการบางอย่างให้อย่างรวดเร็วหรือได้รับสิทธิพิเศษ โดยสินบนเหล่านี้อาจจะมาในรูปแบบของเงินหรือของขวัญพิเศษที่สามารถซื้อใจเจ้าหน้าที่รัฐได้มากกว่าการซื้อใจเทพเจ้าหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ทำให้ความเป็นไปได้ของการติดสินบนมีโอกาสความเป็นไปได้สูงยิ่งขึ้น

นอกจากเรื่องความเป็นไปได้ของผลลัพธ์ที่แตกต่างกันแล้วผลกระทบที่เกิดจากทั้งสองการกระทำนั้นมีความแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัดเช่นกัน การบนบานเป็นการกระทำบนพื้นฐานของความเชื่อและวัฒนธรรม และมีผลกระทบทางจิตใจของผู้ทำการบนบานเป็นหลักดังนั้น แม้ว่าการบนบานนั้นจะประสบความสำเร็จ แต่ผลกระทบที่เกิดขึ้นไม่ได้กระทบต่อระบบทางสังคม เช่น เมื่อมีการบนบานให้สอบติดมหาวิทยาลัย และคำขอนั้นประสบผลสำเร็จ แต่การสอบติดดังกล่าวไม่ได้กระทบต่อสิทธิของผู้สอบท่านอื่นๆ ซึ่งแตกต่างอย่างชัดเจนกับการติดสินบน หรือ การจ่ายเงินแป๊ะเจี๊ยะเพื่อให้สอบติดหรือสามารถเข้าเรียนได้ โดยการจ่ายเงินแป๊ะเจี๊ยะก่อให้เกิดผลกระทบและความเสียหายในวงกว้างต่อสถานศึกษาอย่างชัดเจน

การบนบานนำไปสู่การติดสินบนจริงหรือไม่

หนึ่งในข้อถกเถียงถึงสาเหตุของการเกิดสินบน คือ พฤติกรรมของมนุษย์ที่เคยชินกับการบนบาน จนนำมาสู่การติดสินบนในที่สุดสำหรับข้อถกเถียงดังกล่าว ผู้เขียนไม่ได้เห็นด้วยโดยทั้งหมด เนื่องจากการบนบานเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมที่เกิดขึ้นบนพื้นฐานของความเชื่อ แม้ผลลัพธ์ในสิ่งที่บนบานไปนั้นจะไม่สามารถการันตีได้แต่มนุษย์ยังคงเลือกที่จะบนบานต่อไป เพราะมนุษย์ไม่ได้มองการบนบานเป็นการแลกเปลี่ยนที่ต้องได้รับการตอบแทนในลักษณะของ give and take ดังนั้น ในมุมมองของผู้เขียน การบนบานไม่ได้ทำให้มนุษย์มีนิสัยเอารัดเอาเปรียบหรือเป็นบ่อเกิดของการติดสินบนหรือการทุจริตกับภาครัฐ

อีกทั้ง ในมุมมองของผู้เขียน สาเหตุของการติดสินบนไม่ได้มาจากพฤติกรรมหรือวัฒนธรรมที่เกี่ยวข้องกับการบนบาน แต่เกิดจากสภาพแวดล้อมทางสังคมและระบบที่เอื้อให้เกิดการติดสินบน เช่น เจ้าหน้าที่รัฐเรียกเก็บค่าอำนวยความสะดวกจากประชาชน เนื่องจากเงินเดือนของข้าราชการต่ำเกินไป ทำให้การเรียกสินบนกลายเป็นหนึ่งในวิธีการหารายได้เสริม

การติดสินบนแก้ไขด้วยการปลูกฝังจิตสำนึกที่ดี ?

ผู้เขียนเชื่อว่า เมื่อการติดสินบนไม่ได้เกิดขึ้นจากพฤติกรรมของมนุษย์ที่ชอบการบนบานฉันใด การแก้ไขปัญหาการติดสินบนจึงไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยการปลูกฝังจิตสำนึกที่ดีฉันนั้น แม้ว่าการปลูกฝังค่านิยมที่ดีจะเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญในการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชัน แต่แนวคิดในลักษณะนี้อาจไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ตรงจุด เนื่องจากปัญหาดังกล่าวเกี่ยวข้องกับปัจจัยอื่นๆ เช่น ระบบราชการหรือภาครัฐที่เปิดโอกาสหรือมีช่องว่างให้เจ้าหน้าที่เรียกเก็บสินบนจากประชาชน ดังนั้น การแก้ไขปัญหาการติดสินบนควรเริ่มต้นด้วยการสร้างระบบที่โปร่งใสและมีมาตรการกำกับดูแลภายในองค์กรที่เหมาะสม เพื่อป้องกันการติดสินบนเจ้าหน้าที่ รวมถึงการสนับสนุนให้มีการรายงานการกระทำผิดหรือกรณีที่มีเหตุอันควรสงสัย โดยมาตรการดังกล่าวควรครอบคลุมถึงการคุ้มครองผู้แจ้งเบาะแส (whistleblower) ด้วยเช่นกัน

ท้ายที่สุดนี้ ผู้เขียนยังคงเห็นด้วยกับเนื้อเพลงของ Sabrina ว่ามนุษย์ย่อมรู้ใจกันเองมากที่สุด และมนุษย์ไม่อาจฝากความหวังไว้กับซานต้าให้มาทำให้ความปรารถนาของเราเป็นจริงได้ ดังนั้น ในช่วงเทศกาลแห่งความสุขนี้ ผู้เขียนขออวยพรให้ผู้อ่านทุกท่านได้พบกับความรักที่งดงามและสมหวังในความปรารถนา โดยไม่ต้องพึ่งพาหรือติดสินบนซานต้าอีกต่อไป Merry Christmas and Happy New Year!

ปีที่แต่ง (พ.ศ.)
2567
ผู้แต่ง

ศรันย์ชนก ลิมวิสิฐธนกร

หน่วยงานสนับสนุน

หัวข้อ
Related Content

แนวหน้าต่อต้านคอร์รัปชัน : โอกาสและความสำคัญของการกลับคืนเป็นภาคี TI Thailand

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา กรุงเทพมหานครได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมระดับภูมิภาคของ Transparency International (TI) การเลือกประเทศไทยเป็นสถานที่จัดงานครั้งนี้มีนัยสำคัญ แม้ปัจจุบันไทยจะไม่มีภาคีประจำประเทศอย่างเป็นทางการ …

แนวหน้าต่อต้านคอร์รัปชัน : อัปเดตประชุมวิชาการโลกเรื่องคอร์รัปชัน

เมื่อช่วงต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา ผศ. ดร.ต่อภัสสร์ ยมนาค Co-Founder บริษัท HAND Social Enterprise ได้รับเชิญไปบรรยายในงานประชุมทางวิชาการ Cambridge Economic Crime ที่จัดขึ้นเป็นปีที่ 40 แล้ว ซึ่งงานนี้ถือได้ว่าเป็นงานประชุมวิชาการระดับนานาชาติที่เกี่ยวข้องกับเรื่องคอร์รัปชันที่ใหญ่ที่สุดงานหนึ่ง โดยผศ. ดร.ต่อภัสสร์ ยมนาค ได้เข้าร่วมบรรยายเกี่ยวกับผลงานวิจัยเรื่องประสิทธิภาพที่แท้จริงของความโปร่งใสในการต่อต้านคอร์รัปชัน ผ่านการศึกษาผลกระทบจากโครงการความโปร่งใสในการก่อสร้างภาครัฐ (Infrastructure Transparency: CoST)

แนวหน้าต่อต้านคอร์รัปชัน : อยากแก้ปัญหาปากท้องก่อน แต่ถ้าไม่ปฏิรูปตำรวจ ก็แก้ยาก !

ซับซ้อน ซ่อนเงื่อน มืดเทา อาจเป็นคำนิยามวงการตำรวจไทยในปัจจุบัน ? หากเราพูดถึงวงการตำรวจ หลาย ๆ คนคงจะนึกถึงเรื่องที่ตำรวจดันไปเป็นผู้ที่มีส่วนร่วมกับการทุจริต ไม่ว่าจะเป็นกรณีหมูเถื่อน กำนันนก ทุนจีนสีเทา หรือข่าวอาชญากรรมต่าง ๆ แทนที่จะมองว่า ตำรวจคือผู้ที่รักษาความสงบให้บ้านเมือง และคุ้มครองประชาชนให้รู้สึกปลอดภัย

You might also like...

KRAC Hot News I ปลดล็อกรังนกจากถ้ำสู่บ้านอย่างไร ให้โปร่งใสไร้ทุจริต

การส่งออกรังนกไทยมีมูลค่าสูงขึ้นเรื่อย ๆ ตามความต้องการของผู้บริโภค ธุรกิจรังนกจึงสร้างรายได้มหาศาลให้กับเศรษฐกิจไทยในปัจจุบัน แต่หากขาดการกำกับดูแลให้โปร่งใส อาจจะก่อให้เกิดผลเสียมหาศาลกับธุรกิจไทยได้

KRAC คัดสรร เล่างานวิจัยไทย | “ธรรมาภิบาล” หลักการที่ยืดหยุ่น พร้อมสร้างประสิทธิภาพ

เคยสงสัยไหมว่าทำไมหลักธรรมาภิบาลของแต่ละองค์กรถึงดูไม่เหมือนกัน บางองค์กรมี 6 หลัก บางองค์กรมี 8 หลัก ความจริงแล้วหลากหลายองค์กรทั่วโลกล้วนมีการวางแนวคิดเกี่ยวกับธรรมาภิบาลที่ต่างกัน โดยงานวิจัยเรื่อง “โครงการวิจัยพัฒนาฐานข้อมูล องค์ความรู้ด้านธรรมาภิบาล (ระยะที่ 2)” (2563) ได้ศึกษาเรื่องนี้เอาไว้

โครงการวิจัยพัฒนาฐานข้อมูลองค์ความรู้ด้านธรรมาภิบาล (Phase 2)

การศึกษาเพื่อสร้างตัวชี้วัดสำหรับการประเมินและติดตามการนำหลักธรรมาภิบาลไปใช้ในการบริหารจัดการขององค์กรในประเทศไทย พบว่า มีความเหมาะสมในการนำไปใช้ในระดับมาก และยังสามารถปรับปรุงดัชนีชี้วัดบางตัวเพื่อให้สอดคล้องการทำงานของแต่ละหน่วยงานได้