คิดด้วยพลเมือง(See-Think-Cen’) : The Single Age: เพราะอะไรการแต่งงานมีลูกจึงไม่ใช่คำตอบของคนยุคใหม่?

“เมื่อไรจะแต่งงาน” 

“แต่งงานแล้วรีบมีลูกให้อุ้มไวๆ นะ” 

“ทำไมถึงไม่อยากมีลูกล่ะ? ลูกเป็นโซ่ทองคล้องใจนะ” 

ในชีวิตของใครหลายๆ คนคงเคยถูกถามด้วยประโยคเหล่านี้กันใช่ไหม เพราะถ้าพูดถึงการแต่งงานก็ถือได้ว่าเป็น “ความฝัน” ของใครหลายๆ คน และเป็นค่านิยมที่สังคมให้ความสำคัญมาตั้งแต่ยุคก่อน งานแต่งจึงเปรียบเสมือนเป้าหมายสำคัญในชีวิตเลยก็ว่าได้ และหากนึกถึงคำว่า “ครอบครัว” ภาพของการมีพ่อแม่ลูกพร้อมหน้าพร้อมตาคงเป็นสิ่งที่สะท้อนภาพจำของคำว่าครอบครัวได้ชัดมากที่สุด จึงไม่แปลกที่ผู้ใหญ่ในสังคมไทยส่วนใหญ่จะมองว่าเมื่อถึงช่วงอายุหนึ่งลูกหลานก็จะต้องแต่งงาน และถ้าแต่งงานแล้วก็ควรจะมีลูกเป็นโซ่ทองคล้องใจเพราะคิดว่าถ้ามีลูกแล้วจะทำให้ความรักในครอบครัวแน่นแฟ้นขึ้น และลูกหลานจะได้มาเลี้ยงดูพ่อแม่เมื่อยามแก่เฒ่าถึงจะครบสูตร และเรียกได้ว่าเป็น “ครอบครัวที่สมบูรณ์” ผู้เขียนเองก็เคยคิดแบบนั้น แต่เมื่อไม่นานมานี้ผู้เขียนได้มีโอกาสคุยกับคนในวัยเดียวกันว่า พวกเราวัยรุ่น Gen Z มีความฝันอะไรกันบ้าง หรือมองเป้าหมายของตัวเองไว้อย่างไรคำตอบที่ได้ก็จะเป็นแค่การมีงานที่มั่นคง ได้ใช้ชีวิตในแบบที่ตัวเองอยากใช้ มีเงินเก็บไปใช้ซื้อความสุขซื้อเวลาที่เสียไปในระหว่างทางที่เติบโต หรือการมีสุขภาพจิตที่ดีไม่ต้องมีเรื่องปวดหัวในแต่ละวันซึ่งข้อสังเกต คือ คำตอบของการแต่งงานมีลูกแทบจะไม่มีใครพูดถึง และถ้ามีก็มักจะเป็นเรื่องท้ายๆ ที่ถูกพูดถึง และจากข้อมูลของสถาบันวิจัยประชากร และสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ได้มีการเปิดเผยสถิติสถานการณ์จำนวนเด็กเกิดในไทยที่ลดลงในระยะเวลา 6 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ปี 2560 ที่จำนวนเด็กเกิดลดต่ำลงจนแตะหลัก 7 แสนคน และอีกเพียง 4 ปีต่อมา จำนวนเด็กเกิดลดลงจนมาแตะที่หลัก5 แสนคน แล้วอะไรที่ทำให้ใครหลายๆ คนอยากอยู่เป็นโสด หรือถึงมีคู่ก็ไม่ได้อยากแต่งงาน และมีลูก ? 

เพราะการแต่งงานมีลูกไม่ใช่แค่เรื่องของคนสองคน 

ในความเป็นจริงการแต่งงานมีลูกก็คงเป็นเรื่องที่คนสองคนต้องตัดสินใจเป็นหลัก แต่เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่าหนึ่งในตัวแปรสำคัญที่มีผลต่อการตัดสินใจในเรื่องนี้ คือ เงื่อนไขทางเศรษฐกิจ สภาพแวดล้อม สภาพสังคม และอีกหลากหลายปัจจัยที่เป็นข้อจำกัด และส่งผลกระทบให้เรารู้สึกถึงความไม่ปลอดภัยหรือไม่มั่นคงในการดำเนินชีวิตจนแนวโน้ม
ที่คนยุคใหม่เริ่มมีความต้องการในการแต่งงาน และมีลูกลดลงเรื่อยๆ เพราะถ้าเราลองคิดดูว่าการที่เราต้องพยายามหารายได้เพื่อเลี้ยงปากเลี้ยงท้องในขณะที่ค่าครองชีพในตอนนี้ก็สูงเสียเหลือเกินจนทำให้ต้องใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการทำงาน มันแทบจะจินตนาการถึงชีวิตที่ต้องดูแลรับผิดชอบเด็กอีกคนหนึ่งไม่ออกเลย เพราะจากเดิมที่การทำงานก็กินเวลาส่วนตัวในการทำกิจกรรมอื่นๆ ไปมากแล้วอย่างการใช้เวลากับตัวเอง และครอบครัว แล้วถ้าแต่งงานมีลูกก็เท่ากับว่าอิสระในการใช้ชีวิตก็จะหายไป แถมการเลี้ยงดูเด็กหนึ่งคน ตัวเราก็ต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายมหาศาลเป็นเวลานานหลายปีกว่าที่เขาจะเติบโตจนสามารถเลี้ยงดูตัวเองได้ ซึ่งจากข้อมูลที่ธนาคารแห่งประเทศไทยที่ได้ทำการประเมินค่าใช้จ่ายทางการศึกษาสำหรับเด็กวัยเรียน ตั้งแต่ระดับอนุบาลถึงระดับปริญญาตรี ถ้าเด็กเข้าศึกษาในสถาบันการศึกษาของรัฐบาล จะมีค่าใช้จ่ายสูงถึง 1.6 ล้านบาท แต่หากเข้าเรียนในสถานศึกษาของเอกชนค่าใช้จ่ายก็จะเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว และนี่ยังไม่รวมค่าใช้จ่ายในส่วนอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น ค่าอาหาร ค่าเสื้อผ้า ค่ารักษาพยาบาล และอื่นๆ อีกมากมายที่หลายคนอาจไม่สามารถแบกรับค่าใช้จ่ายตรงนี้ได้ในยุคที่เศรษฐกิจยังเป็นเช่นนี้  

ในขณะที่สวัสดิการพื้นฐานก็ยังมีไม่เพียงพอต่อการเลี้ยงดูให้เด็กให้เติบโตอย่างมีคุณภาพ เช่น เงินอุดหนุนที่ไม่สอดคล้องกับค่าใช้จ่าย และค่าครองชีพในปัจจุบัน อย่างเงินอุดหนุนเด็กแรกเกิดจนถึงอายุ 6 ปี จะได้รับอยู่ที่ 600 บาท/เดือน แต่ในความเป็นจริงค่าใช้จ่ายเด็ก 1 คนต่อเดือนมากถึงหลักพันไปจนถึงหลักหมื่น รวมไปถึงการให้เงินอุดหนุนเด็กแรกเกิดที่ยังจำกัดเฉพาะครอบครัวผู้มีรายได้น้อย หรือความครอบคลุมในการคุ้มครองการใช้สิทธิวันลาเพื่อเลี้ยงดูลูกหลังคลอดของแรงงานนอกระบบที่ตอนนี้ยังไม่มีสิทธิลาคลอดแม้แต่วันเดียว นี่ยังไม่รวมโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ สำหรับเด็ก เช่น พื้นที่สาธารณะที่ให้เด็กได้มีพื้นที่ในการทำกิจกรรมพัฒนาทักษะ การมี play space รวมถึงศูนย์รับเลี้ยงเด็กที่มีคุณภาพเพราะไม่ใช่ทุกคนที่จะมีเวลาเลี้ยงลูกได้เช่นในขณะที่พ่อแม่ต้องออกไปทำงานหาเลี้ยงครอบครัว ซึ่งสิ่งเหล่านี้ควรได้รับการลงทุนจากภาครัฐมากขึ้นผู้อ่านคงจะเห็นได้ว่าการจะมีลูกในยุคที่สภาพสังคมที่ยังไม่มีความพร้อมเช่นนี้เป็นเรื่องไม่ง่ายเลย 

แล้วเมืองแบบไหนที่จะทำให้เราอยากแต่งงานมีลูก? 

ปัญหาหลายมิติกลายเป็นเหตุผลที่ทำให้คนไม่อยากแต่งงานมีลูกเพราะคงไม่มีใครอยากให้ลูกตัวเองเกิดมาในสภาพแวดล้อมที่ยังไม่พร้อม ซึ่งบทบาทความเป็นพ่อแม่ที่ต้องเลี้ยงดูลูกและคนทำงานสามารถเกิดขึ้นควบคู่กันได้ เพราะถ้าบอกว่าอยากให้ “มีลูกเพื่อชาติ” คำถามคือ แล้วชาติทำอะไรเพื่อเราบ้าง ภาครัฐควรให้ความสำคัญในการผลักดันเชิงนโยบายสำหรับการสนับสนุน และเตรียมสภาพแวดล้อมให้มีความเหมาะสมมากขึ้นไหม เพราะสิ่งเหล่านี้อาจเป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้คนตัดสินใจแต่งงานมีลูกได้ง่ายขึ้น เช่น นโยบายการเพิ่มวันลาคลอดแต่ยังได้รับค่าจ้าง การมีเงินอุดหนุนเด็กแรกเกิดที่เหมาะสม และสอดคล้องกับค่าครองชีพในปัจจุบัน หรือปัจจัยแวดล้อมอื่นๆ ที่จะทำให้เรามั่นใจมากขึ้นได้ว่าจะทำให้เขาเติบโตในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม และมีคุณภาพชีวิตที่ดีด้วยรัฐสวัสดิการต่างๆ อย่างในประเทศเกาหลีใต้ที่กำลังประสบปัญหาอัตราการเกิดน้อยที่สุดในโลก ได้มีนโยบายในการแก้ไขปัญหานี้ คือ การเพิ่มศูนย์รับเลี้ยงเด็กที่มีมาตรฐาน และให้ความสำคัญกับคุณภาพชีวิตของแม่ทั้งในช่วงตั้งครรภ์ และหลังคลอด โดยเกาหลีใต้ได้กำหนดให้นายจ้างลดชั่วโมงการทำงานในช่วงแรกของการตั้งครรภ์และใกล้คลอด ลง 2 ชั่วโมง/วัน รวมถึงให้สิทธิลาโดยไม่รับเงินเดือนได้ถึง 1 ปี ซึ่งสามารถแบ่งลาเป็นช่วงได้จนเด็กมีอายุครบ 8 ปี แต่ถึงอย่างไรนโยบายเพิ่มประชากรก็จำเป็นจะต้องทำอย่างรอบคอบเพราะผลกระทบที่เกิดขึ้น คือ การจ้างงานผู้หญิงจะลดน้อยลง และอาจจะมีคนที่ยังไม่พร้อมแต่ตัดสินใจมีลูกเพียงเพื่อต้องการเงินช่วยเหลือจากภาครัฐเท่านั้นก็ได้ 

และทุกวันนี้ขนาดตัวเราเองยังรู้สึกว่าเมืองนั้นอันตราย และไม่เป็นมิตรแม้กระทั่งผู้ใหญ่แบบเรา ที่ทำให้ใช้ชีวิตได้อย่างยากลำบาก แล้วมันจะเหมาะสมสำหรับการเติบโตของเด็กๆ ได้อย่างไร ซึ่งการที่เรามีเมืองหรือพื้นที่ทำให้เรารู้สึกปลอดภัยก็อาจจะเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ทุกคนอาจจะอยากมีสมาชิกในครอบครัวตัวน้อยๆ มาวิ่งเล่น และได้พาพวกเขาออกไปใช้ชีวิตในเมืองที่จะเป็นพื้นที่ปลอดภัยทั้งสำหรับตัวเรา และตัวเด็ก เราจึงควรกลับมามองที่โครงสร้างพื้นฐานอย่างการมีเมืองที่ดีที่เราสามารถพาเด็กๆ ไปทำกิจกรรมต่างๆ ได้ มีทางเท้าที่ไม่ต้องคอยเดินหลบหลุมหลบบ่อ การเดินทางที่ปลอดภัยที่ไม่ใช่ต้องคอยระวังว่าจะมีรถฝ่าไฟแดงมาเมื่อไร มีอากาศที่ดีโดยไม่ต้องมองหาหน้ากากอนามัย หรือ จ่ายเงินแพงๆ ในการซื้อเครื่องฟอกอากาศเพื่อป้องกันตัวเองจากฝุ่นพิษ 

ดังนั้น ก่อนที่เราจะตั้งคำถามว่า “ทำไมหลายๆ คนถึงไม่อยากมีลูก ?” เราอาจจะต้องลองมองย้อนกลับไปก่อนว่า แล้วโครงสร้างทางเศรษฐกิจ และสังคมของเราเอื้ออำนวยให้คนอยากที่จะแต่งงานมีลูกไหม แล้วรัฐจะเข้ามาช่วยสนับสนุนไม่ให้ใครต้องตัดสินใจไม่มีลูกเพราะสภาพแวดล้อม นโยบาย และเมืองที่ไม่เอื้ออำนวยได้หรือไม่  นอกจากปัญหาต่างๆ ที่ได้พูดถึงแล้วผู้เขียนก็มีความเห็นว่าอีกสาเหตุหนึ่งที่คนเริ่มไม่อยากแต่งงานมีลูกคงเพราะคำว่า “ครอบครัว” ของพวกเขาอาจจะเปลี่ยนไปแล้วก็ได้ เมื่อการแต่งงานมีลูกต้องแลกมาด้วยรายจ่ายที่เยอะจนอาจแบกรับไม่ไหว เพราะในช่วงที่เศรษฐกิจถดถอย และสภาพแวดล้อมที่ไม่เอื้ออำนวย การมีลูกอาจจะไม่ได้มีคุณค่าในแบบเดิมอีกต่อไป แต่ถ้าเรามีสวัสดิการอะไรบางอย่างที่ทำให้รู้สึกมั่นคงปลอดภัยได้ ท้ายที่สุดผู้เขียนก็เชื่อว่าหลายๆ คนอาจจะอยากแต่งงานหรือมีลูกมากยิ่งขึ้นก็ได้

ปีที่แต่ง (พ.ศ.)
2567
ผู้แต่ง

ฤทัยชนก สิงหเสนี

หน่วยงานสนับสนุน

หัวข้อ
Related Content

แนวหน้าต่อต้านคอร์รัปชัน : อัปเดตประชุมวิชาการโลกเรื่องคอร์รัปชัน

เมื่อช่วงต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา ผศ. ดร.ต่อภัสสร์ ยมนาค Co-Founder บริษัท HAND Social Enterprise ได้รับเชิญไปบรรยายในงานประชุมทางวิชาการ Cambridge Economic Crime ที่จัดขึ้นเป็นปีที่ 40 แล้ว ซึ่งงานนี้ถือได้ว่าเป็นงานประชุมวิชาการระดับนานาชาติที่เกี่ยวข้องกับเรื่องคอร์รัปชันที่ใหญ่ที่สุดงานหนึ่ง โดยผศ. ดร.ต่อภัสสร์ ยมนาค ได้เข้าร่วมบรรยายเกี่ยวกับผลงานวิจัยเรื่องประสิทธิภาพที่แท้จริงของความโปร่งใสในการต่อต้านคอร์รัปชัน ผ่านการศึกษาผลกระทบจากโครงการความโปร่งใสในการก่อสร้างภาครัฐ (Infrastructure Transparency: CoST)

แนวหน้าต่อต้านคอร์รัปชัน : อยากแก้ปัญหาปากท้องก่อน แต่ถ้าไม่ปฏิรูปตำรวจ ก็แก้ยาก !

ซับซ้อน ซ่อนเงื่อน มืดเทา อาจเป็นคำนิยามวงการตำรวจไทยในปัจจุบัน ? หากเราพูดถึงวงการตำรวจ หลาย ๆ คนคงจะนึกถึงเรื่องที่ตำรวจดันไปเป็นผู้ที่มีส่วนร่วมกับการทุจริต ไม่ว่าจะเป็นกรณีหมูเถื่อน กำนันนก ทุนจีนสีเทา หรือข่าวอาชญากรรมต่าง ๆ แทนที่จะมองว่า ตำรวจคือผู้ที่รักษาความสงบให้บ้านเมือง และคุ้มครองประชาชนให้รู้สึกปลอดภัย

แนวหน้าต่อต้านคอร์รัปชัน : สติ๊กเกอร์ส่วย…แก้ได้ ?

จะแก้ปัญหาอย่างไรให้ชีวิตปลอดภัยจากผลกระทบของสินบน ? ประเด็นร้อนทุจริตเร็ว ๆ นี้คงหนีไม่พ้นเรื่อง “ส่วยสติกเกอร์” หลังว่าที่ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกลวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ออกมาแฉตั้งแต่กลไกไปจนถึงราคาอย่างที่หลายคนคงได้ยินมาบ้างแล้ว แต่ที่สำคัญกว่านั้น รู้หรือไม่ว่าเรื่องของส่วยรถบรรทุกที่ดูเหมือนเป็นเรื่องไกลตัว จริง ๆ แล้วใกล้ตัวกว่าที่เราคิด

You might also like...

บทความวิจัย : การสร้างความเข้มแข็งภาคประชาสังคมกับปัญหาการทุจริตขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในจังหวัดภูเก็ต

การสร้างความเข้มแข็งของเครือข่ายประชาชนในจังหวัดภูเก็ตเพื่อให้สามารถติดตามปกป้อง ตรวจสอบการทุจริตได้ ต้องอาศัยการทำกิจกรรมร่วมกัน เพื่อให้ความรู้สึกร่วมในการต่อต้านการทุจริต

บทความวิจัย : การพัฒนารูปแบบป้องกันการทุจริตเพื่อสร้างอนาคตร่วมกันของประชาชน ในอำเภอเมือง จังหวัดเลย

การพัฒนารูปแบบการป้องกันการทุจริตอย่างยั่งยืน ควรการสร้างค่านิยมด้านจริยธรรมวิชาชีพร่วมกันของพนักงาน โดยการจัดสวัสดิการอย่างเท่าเทียม และยึดหลักความโปร่งใสและความสามารถของพนักงาน เพื่อให้ภาครัฐและประชาชนสามารถตรวจสอบได้ รวมถึงมีกระบวนการที่ให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการตัดสินใจตามหลักธรรมาภิบาล

บทความวิจัย : กลไกป้องปรามการทุจริตของภาคประชาชนผ่านการสอดส่องและเสนอแนะ

การดำเนินกลไกป้องปรามการทุจริตผ่านคณะกรรมการธรรมาภิบาลจังหวัดที่เน้นการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน ภาคธุรกิจเอกชน และสมาชิกสภาท้องถิ่นที่ไม่ใช่ผู้บริหารในการตรวจสอบและติดตามการดำเนินโครงการจะทำให้เกิดความโปร่งใสและความคุ้มค่าของการดำเนินโครงการ