คอร์รัปชันเป็นปัญหาที่ทุกประเทศทั่วโลกกำลังเผชิญ เพราะนอกจากจะส่งผลกระทบถึงการบริหารประเทศที่ขาดประสิทธิภาพแล้ว ยังสะท้อนถึงความไม่เท่าเทียมในการจัดสรรงบประมาณเพื่อการพัฒนาสังคม ซึ่งการแก้ปัญหาคอร์รัปชันที่มีประสิทธิภาพแนวทางหนึ่ง คือ การส่งเสริมและการจัดการข้อมูลภาครัฐ เพื่อสร้างความโปร่งใส ความรับผิดชอบ และส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน
สรุปการเสวนาหัวข้อ การใช้ข้อมูลเปิด เพื่อส่งเสริมธรรมาภิบาลและคุณธรรม (Using Open Data to improve Governance and Integrity) ภายใต้การประชุมเชิงวิชาการด้านการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันในระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ครั้งที่ 1 (International Conference on Anti-Corruption Innovations in Southeast Asia)
ผู้ดำเนินรายการ: คุณ Cynthia Gabriel Founding Director of the Center to Combat Corruption and Cronyism จากประเทศมาเลเซีย
ผู้ร่วมเสวนา:
- คุณศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่ากรุงเทพมหานคร จากประเทศไทย
- คุณ Wana Alamsyah Indonesia Corruption Watch and Opentender.net จากประเทศอินโดนีเซีย
- คุณ Khairil Yusof The Programme Consultant of Sinar Project จากประเทศมาเลเซีย
สรุปประเด็นการนำเสนอของคุณศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่ากรุงเทพมหานคร จากประเทศไทย
คุณศานนท์ หวังสร้างบุญ ได้เล่าเรื่องการทำงานของกลไกการเปิดข้อมูลภายใต้โครงการ “Open Bangkok” รวมถึงความท้าทายจากการริเริ่มโครงการเพื่อเปิดเผยข้อมูลของทางกรุงเทพมหานคร สรุปประเด็นที่น่าสนใจได้ ดังนี้
กรุงเทพมหานคร ได้ใช้กลไกข้อมูลเปิด และการสร้างการมีส่วนร่วมของพลเมืองผ่านหลักการในการดำเนินงาน (Key Drivers) 5 ส่วน เพื่อสร้างความโปร่งใสในการบริหารงาน ดังนี้
- การสนับสนุนโครงการหลัก และโครงการเส้นเลือดฝอย (Arterials and capillaries projects) เพื่อกระจายความเจริญ
- หลักการดำเนินงานโดยมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง
- การใช้เทคโนโลยี และชุดข้อมูล เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการ
- การยึดหลักความซื่อสัตย์ของเจ้าหน้าที่ในการดำเนินงาน
- การเสริมสร้างความร่วมมือและการมีส่วนร่วมของประชาชนในการดำเนินงาน
ปัจจุบัน กรุงเทพมหานครกำลังดำเนินโครงการ “Open Bangkok” ซึ่งโครงการนี้ มุ่งมั่นที่จะใช้ข้อมูลเปิดในการส่งเสริมความมีประสิทธิภาพ ความโปร่งใส และความรับผิดชอบของกรุงเทพมหานคร โดยแบ่งการดำเนินงานออกเป็น 5 ส่วนย่อย ดังนี้
- การเปิดเผยข้อมูล (Open Data) : กรุงเทพมหานครได้เปิดข้อมูลงบประมาณ และสำรวจความคิดเห็นของผู้ที่มาใช้งานแพลตฟอร์ม พบว่าข้อมูลที่กรุงเทพมหานครเปิดอยู่นั้น ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของประชาชน กรุงเทพมหานคร จึงได้ทำการเปิดเผยข้อมูลเพิ่มจาก 400 ชุด เป็น 720 ชุดข้อมูล นอกจากนี้ กรุงเทพมหานครได้ดำเนินการจัดอบรมเชิงปฏิบัติการแก่เจ้าหน้าที่ เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับความสำคัญของการเปิดเผยข้อมูล และการเปลี่ยนรูปแบบของวิธีการเก็บข้อมูล เพื่อให้หน่วยงานภายในกรุงเทพมหานครสามารถแบ่งปันข้อมูลกันได้ง่ายขึ้น
- การให้บริการแบบเปิด (Open Service): กรุงเทพมหานครได้เปิดแพลตฟอร์มเพื่อรับเรื่องร้องเรียนจากประชาชน ชื่อ “Traffy Foudue” โดยนับตั้งแต่เปิดช่องทางการให้บริการนี้ กรุงเทพมหานครได้รับเรื่องร้องเรียนเข้ามาในระบบและแก้ไขไปแล้ว มากกว่า 220,000 รายการ ซึ่งการแก้ปัญหาเรื่องร้องเรียนนี้ มีแนวโน้มว่าจะใช้ระยะเวลาน้อยลงเรื่อย ๆ
- การจัดทำสัญญาเปิด (Open Contract) : กรุงเทพมหานครได้ทำงานร่วมองค์กรเครือข่าย เช่น โครงการความโปร่งใสในการก่อสร้างภาครัฐ (CoST) หรือ Open Contracting Partnership เพื่อพัฒนามาตรฐานและการเปิดเผยข้อมูลสัญญาโครงการจัดซื้อจัดจ้าง โดยข้อมูลสัญญาโครงการถูกเปิดเผยผ่านเว็บไซต์ egp.bangkok.go.th
- การจัดทำนวัตกรรมเปิด (Open Innovations) : กรุงเทพมหานครได้ทำงานร่วมกับประชาชน และองค์กรต่าง ๆ ที่ต้องการสนับสนุนการสร้างนวัตกรรมร่วมกับกรุงเทพมหานคร โดยมีตัวอย่างโครงการ คือ Vulcan Coalition ที่ส่งเสริมการสร้างอาชีพของผู้พิการแบบทำงานที่บ้านผ่านการใช้เทคโนโลยี โดยแพลตฟอร์มนี้ ได้จ้างงานผู้พิการให้เป็นผู้ช่วยตอบแชต หรือเป็นผู้ช่วยตอบข้อสงสัยแก่ประชาชนเกี่ยวกับการให้บริการของกรุงเทพมหานคร
- การจัดทำนโยบายเปิด (Open policy) : กรุงเทพมหานครได้จัดทำแพลตฟอร์มเปิดเผยนโยบาย ชื่อ openpolicy.bangkok.go.th ซึ่งเปิดโอกาสให้ประชาชนสามารถตรวจสอบความคืบหน้าในการดำเนินงานตามนโยบายได้ นอกจากนี้ ยังเปิดให้มีการระดมความคิดจากประชาชนที่อยากมีส่วนร่วมออกแบบนโยบาย รวมถึงการใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการเข้าถึงบริการต่าง ๆ ของกรุงเทพมหานคร
ข้อท้าทายในการเปิดเผยข้อมูลของกรุงเทพมหานคร
- ข้อจำกัดด้านความรู้ความเข้าใจของเจ้าหน้าที่ในการใช้ข้อมูลเปิดได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ
- การจัดเก็บข้อมูลที่ยังไม่มีความเชื่อมโยงระหว่างหน่วยงาน และไม่เป็นมาตรฐานเดียวกัน ซึ่งปัจจุบันกรุงเทพมหานครกำลังดำเนินการสร้างความร่วมมือระหว่างหน่วยงาน เพื่อแลกเปลี่ยนชุดข้อมูลอยู่
- ข้อจำกัดของการเข้าถึงข้อมูลที่สามารถเข้าถึงได้เพียงข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้าง และค่าตอบแทนเท่านั้น ทำให้เห็นช่องว่างที่จะนำไปสู่การพัฒนาวิธี เพื่อให้ได้ข้อมูลอย่างครบถ้วน
สรุปประเด็นการนำเสนอของคุณ Wana Alamsyah ตัวแทนจาก Indonesia Corruption Watch และ Opentender.net จากประเทศอินโดนีเซีย
คุณ Wana Alamsyah ได้ถอดบทเรียนการทำงาน เพื่อติดอาวุธให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการต่อสู้กับปัญหาคอร์รัปชันในอินโดนีเซีย โดยมีตัวอย่างความสำเร็จที่น่าสนใจ สรุปได้ ดังนี้
ที่ผ่านมา อินโดนีเซีย มีการสร้างมาตรการและการออกกฎหมาย เพื่อแก้ไขปัญหาการคอร์รัปชันภายในประเทศอย่างต่อเนื่อง โดยการออกมาตรการในการแก้ปัญหาการคอร์รัปชัน จำเป็นต้องมีการปรับเปลี่ยนให้เท่าทันรูปแบบและความซับซ้อนของการคอร์รัปชัน โดย คุณ Wana ได้ยกตัวอย่างการติดตามสถานการณ์คอร์รัปชันในการจัดซื้อจัดจ้างสาธารณะจากข้อมูลตั้งแต่ปี 2004 ซึ่งเป็นปีที่เริ่มก่อตั้ง Corruption Eradication Commission (CEC) พบว่าการคอร์รัปชันมีอัตราที่สูงขึ้นเรื่อย ๆ จนปี ค.ศ. 2010 รัฐบาลได้เริ่มใช้กฎหมายและข้อบังคับเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างสาธารณะ ทำให้การคอร์รัปชันในการจัดซื้อจัดจ้างเริ่มน้อยลง อย่างไรก็ตาม ในช่วงปี ค.ศ. 2011 – 2013 ปัญหาการคอร์รัปชันกลับเพิ่มขึ้นอีกครั้ง แสดงให้เห็นว่าเราต้องหาวิธีการใหม่ ๆ เพื่อรับมือกับปัญหาคอร์รัปชันที่เปลี่ยนเเปลงไปตามเวลา
ในส่วนของ Indonesia Corruption Watch (ICW) เล็งเห็นว่าการเปิดเผยข้อมูลและการใช้เทคโนโลยี สามารถช่วยแก้ไขปัญหาการคอร์รัปชันได้ แต่การจะแก้ไขปัญหานี้ได้อย่างยั่งยืน ต้องอาศัยการมีส่วนร่วมของประชาชนและองค์กรต่าง ๆ ด้วยเหตุนี้ Indonesia Corruption Watch จึงได้สร้าง เเพลตฟอร์มที่ชื่อว่า “Opentender.net” ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มแบบเปิดที่มีข้อมูลในรูปแบบของ Dashboard เพื่อให้ประชาชนสามารถเปรียบเทียบมูลค่าและความโปร่งใสของงบประมาณสาธารณะ รวมถึงการประกวดราคาของการจัดซื้อจัดจ้างของรัฐในแต่ละปีได้ ซึ่งหนึ่งในเครื่องมือที่สำคัญของแพลตฟอร์มนี้ คือ Red Flag ซึ่งจะช่วยระบุโครงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐที่มีความเสี่ยงต่อการคอร์รัปชัน
ที่ผ่านมา องค์กร Indonesia Corruption Watch (ICW) ได้จัดกิจกรรมการใช้งานแพลตฟอร์ม เพื่อสนับสนุนการมีส่วนร่วมของหน่วยงานทุกภาคส่วน ในการใช้ข้อมูลเพื่อตรวจสอบและติดตามการทำงานของหน่วยงานภาครัฐ เช่น กิจกรรม Monitoring Marathon ที่เชิญชวนให้ประชาชนจัดทีมเข้ามาแข่งขันในการตรวจสอบโครงการรัฐ หรือกรณีการตรวจพบความผิดปกติของงบประมาณการก่อสร้างมัสยิดที่เป็นไปอย่างล่าช้าแต่ใช้งบประมาณสูงและเพิ่มขึ้นอย่างผิดปกติในทุก ๆ ปี ทั้งที่บริษัทที่รับผิดชอบโครงการไม่สามารถก่อสร้างมัสยิดเสร็จในเวลาที่กำหนด รวมถึงความผิดปกติในการประกวดราคาด้วยเช่นเดียวกัน
จากตัวอย่างนี้ องค์กร Indonesia Corruption Watch (ICW) ได้ชี้ว่าหนึ่งในปัญหาของการเปิดเผยข้อมูลในอินโดนีเซีย ภาครัฐจะทำการเปิดเผยข้อมูลสู่สาธารณะก็ต่อเมื่อเสร็จสิ้นโครงการแล้ว ทำให้ไม่สามารถตรวจสอบความผิดปกติของโครงการที่กำลังดำเนินการอยู่ได้ ส่งผลให้การป้องกันการคอร์รัปชันตั้งแต่เริ่มต้นกระบวนการทำได้ยาก
สำหรับความท้าทายในการใช้ข้อมูลเปิดในการต่อต้านคอร์รัปชันของอินโดนีเซีย คือ การสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อการเปิดเผยข้อมูล การสนับสนุนจากปัจจัยทางการเมือง การสร้างความเชื่อมั่นของผู้ที่มีส่วนได้เสีย และการมีส่วนร่วมของคนในสังคม เช่น ภาคประชาชน สื่อมวลชน นักเรียนนักศึกษา และผู้ตรวจการ
สรุปประเด็นการนำเสนอของคุณ Khairil Yusof Programme Consultant โครงการ Sinar Project จากประเทศมาเลเซีย
คุณ Khairil Yusof ได้นำเสนอความสำคัญของการจัดเรียงข้อมูล เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการเปิดข้อมูล ซึ่งการจะได้ข้อมูลเพื่อนำมาจัดเรียงได้นั้น ควรเริ่มต้นจากการมีส่วนร่วมของประชาชนเสียก่อน
คุณ Khairil Yusof ชี้ว่าการเปิดเผยข้อมูล เป็นกลไกสำคัญในการต่อต้านการคอร์รัปชัน โดยมีปัจจัยความสำเร็จ คือ การจัดทำมาตรฐานการเปิดเผยข้อมูล เช่นตัวอย่างจาก The Infrastructure Transparency Initiative (CoST) ที่ทำ CoST Infrastructure Data Standard ซึ่งช่วยจัดระบบของข้อมูลเปิด และชี้ให้เห็นถึงความสมบูรณ์ของข้อมูลเปิด ในขณะเดียวกันหน่วยงานผู้รับผิดชอบในการจัดทำข้อมูลเปิด ก็จำเป็นจะต้องจัดทำคู่มือการใช้ข้อมูลเปิด เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกให้การค้นหาข้อมูล การเข้าถึงข้อมูล และการใช้ข้อมูลจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียมีความง่ายยิ่งขึ้น
ในส่วนของการสร้างความร่วมมือเชิงของข้อมูลเพื่อการต่อต้านคอร์รัปชัน นอกจากจะใช้เทคโนโลยีในการเปิดเผยข้อมูล และการสร้างมาตรฐานการเปิดเผยข้อมูลแล้ว ยังจำเป็นต้องมีการต่อยอดข้อมูลเหล่านั้น ในกิจกรรมการมีส่วนร่วมต่อต้านคอร์รัปชันทุกภาคส่วน โดยเฉพาะการเข้ามามีส่วนร่วมในด้านที่แต่ละฝ่ายถนัด เช่นคณะนิติศาสตร์สามารถมีส่วนร่วมในการให้ความรู้เรื่องกฎหมาย หรือ การขับเคลื่อนมาตรฐานการเปิดเผยข้อมูลผ่านกระบวนการทางกฎหมายได้
สำหรับความท้าทายในการเปิดเผยข้อมูล ได้เเก่ การรวบรวมข้อมูลชุดต่าง ๆ ที่มีมาตรฐานการเปิดเผยข้อมูลที่แตกต่างกันมารวมกัน ความยุ่งยากในการติดต่อหน่วยงานที่เป็นเจ้าของข้อมูล เพื่อขอให้เปิดเผยข้อมูล และความซับซ้อนของข้อมูลที่มักเป็นข้อมูลเชิงเทคนิคเกินไปสำหรับประชาชน ซึ่งถือเป็นอุปสรรคในการเข้าถึงข้อมูล และการต่อยอดข้อมูลเพื่อใช้ประโยชน์
ข้อแนะนำในการพัฒนา หรือต่อยอดการเปิดเผยข้อมูลในระดับภูมิภาค
- การพัฒนามาตรฐานการเปิดข้อมูลต้องอาศัยความชำนาญเฉพาะด้านเข้ามาช่วย เช่น ข้อมูลเปิดด้านการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (Environmental Impact Assessment หรือ EIA) และข้อมูลเปิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติ เป็นต้น
- การวิเคราะห์ข้อมูล ควรชี้ให้เห็นถึงความเชื่อมโยงของข้อมูล เพื่อช่วยสนับสนุนการนำข้อมูลเปิดไปใช้งานต่อได้สะดวกมากยิ่งขึ้น เช่น การวิเคราะห์ให้เห็นถึงความเชื่อมโยงของข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับผู้ประกอบการในการประเมินความเสี่ยงของโครงการจัดซื้อจัดจ้างได้
- การพัฒนาการใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI : Artificial Intelligence) เพื่อใช้ในการต่อยอดงานด้านการต่อต้านคอร์รัปชัน เช่น การตรวจจับความเสี่ยงการคอร์รัปชัน
- ศูนย์ความรู้เพื่อความร่วมมือในการต่อต้านคอร์รัปชัน และส่งเสริมธรรมาภิบาลในระดับภูมิภาค
หัวข้อ
KRAC คัดสรร เล่างานวิจัยไทย I ในสังคมที่มีความร่วมมือหรือความไว้เนื้อเชื่อใจกันสูง รัฐจะสร้างประโยชน์จากข้อค้นพบนี้อย่างไร ?
มุมมองของประชาชนต่อหน่วยงานรัฐ หนึ่งกลุ่มจ่ายภาษี อีกกลุ่มเข้ามาทำหน้าที่พัฒนาบริการสาธารณะให้เกิดประโยชน์ แต่มีหลายครั้งที่โครงการไม่ตอบสนองความต้องการของประชาชน เช่น ศาลาสร้างทิ้งไว้ไม่มีคนใช้ จนบางครั้งประชาชนต้องลงแรงทำกันเอง
KRAC คัดสรร เล่างานวิจัยไทย | หลังฉากความสำเร็จการพัฒนาโครงการ งบประมาณถึงมือชาวบ้านหรือมือใคร ?
ทราบหรือไม่ว่ายังมีอีกหลายโครงการที่ใช้งบประมาณจำนวนมหาศาลในการพัฒนาชุมชน แต่กลับสูญเปล่า หรือไม่คุ้มค่ากับที่ตั้งใจไว้ ทำให้ชาวบ้านที่ฝันไกลว่าอยากให้ชุมชนพัฒนาแค่ไหน แต่งบประมาณกลับไปไม่ถึง
KRAC คัดสรร เล่างานวิจัยไทย | ท้องถิ่นอาจช้ำ เมื่อความเหลื่อมล้ำถูกซ้ำด้วยการจัดสรรงบประมาณที่ไม่มีประสิทธิภาพ
รู้หรือไม่ ? การจัดสรรเงินอุดหนุนจากรัฐบาลกลางที่ไม่เป็นธรรม ไม่โปร่งใส และขาดเป้าหมายชัดเจน อาจกลายเป็นการเพิ่มปัญหาความเหลื่อมล้ำในท้องถิ่น แทนที่จะช่วยลดช่องว่างทางเศรษฐกิจ แล้วเราจะแก้ปัญหานี้ได้อย่างไร ?