สวัสดีครับท่านผู้อ่าน เป็นอย่างไรกันบ้างครับช่วงนี้ข่าวสารการเมืองคึกคักไม่เว้นแต่ละวัน บ้างเป็นการแฉเรื่องความเกี่ยวพันระหว่างนักการเมืองกับเรื่องคอร์รัปชัน บ้างเป็นเรื่องทะเลาะกันภายในพรรค การย้ายพรรค บ้างเป็นการประกาศผู้ลงสมัครรับเลือกตั้ง บ้างเป็นการประกาศนโยบาย พวกเราคงจะเริ่มเห็นหลายพรรคเริ่มลงพื้นที่หาเสียงตั้งแต่สภายังไม่ยุบ เห็นป้ายหาเสียงติดตั้งแต่ยังไม่มีหมายเลขผู้สมัคร หรือหมายเลขพรรค ผมสังเกตว่าภาคการเมืองตื่นตัวและเตรียมตัวสำหรับการเลือกตั้งที่จะถึงในเร็ววันนี้มากกว่าครั้งก่อนๆ ว่าแต่ท่านผู้อ่านมีพรรคหรือผู้สมัครที่อยากเลือกในใจหรือยังครับ? และอะไรเป็นสิ่งที่ท่านผู้อ่านใช้ประกอบการพิจารณาเลือกพรรคและเลือกผู้แทนครับ?
ผมเองที่ติดตามข่าวสารการเมืองก็ได้มีโอกาสฟังการแถลงผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนต่อนโยบายต่อต้านคอร์รัปชันของพรรคการเมืองและนักการเมืองไทยในการเลือกตั้ง 2566 ในวันพุธที่ผ่านมา ที่จัดทำโดย มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) และ มูลนิธิ “เพื่อคนไทย” ผลการสำรวจฯ นี้สำรวจความคิดเห็นของประชาชนจำนวน 2,255 ตัวอย่างทั่วประเทศระหว่างวันที่ 5-25 มกราคม 2566วันนี้ผมเลยจะถือโอกาสมาเล่าและวิเคราะห์สิ่งที่น่าสนใจจากผลการสำรวจฯ ในทัศนะของผมครับ
เรื่องแรกที่น่าสนใจคือจากผลสำรวจฯ นั้น ปัญหาคอร์รัปชัน กลายเป็นปัญหาสำคัญของประเทศที่จะต้องแก้ไขมากที่สุด ถึง 25% เลื่อนขึ้นมาจากที่เคยอยู่อันดับสามในปี 2562 รองลงมาเป็นปัญหาด้านการศึกษา 14% ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคม 13% และปัญหาอื่นๆ เกาะกลุ่มกันไม่ว่าจะเป็นปัญหายาเสพติด ปัญหาสังคม ปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาคุณภาพชีวิต ที่ผลเป็นอย่างนี้ เป็นไปได้ว่าคนไทยเริ่มเห็นว่าคอร์รัปชันเป็นปัญหาที่ร้ายแรงและใกล้ตัวมากยิ่งขึ้น รวมไปถึงเริ่มมีความเข้าใจว่าการคอร์รัปชันนั้นเป็นบ่อเกิดให้มีปัญหาสังคมอื่นตามมา หรือทำให้ปัญหาสังคมอื่นๆ ที่มีอยู่แล้วไม่ถูกแก้ไข หรือแก้ไขไม่สำเร็จ โดยในช่วงปลายปีที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่ามีข่าวทั้งในโทรทัศน์หน้าหนังสือพิมพ์ หรือออนไลน์นำเสนอข่าวเรื่องการคอร์รัปชัน หรือความไม่ชอบมาพากลในสังคมอย่างต่อเนื่อง
เรื่องที่สองที่น่าสนใจคือ จากผลสำรวจฯ แสดงว่านโยบายต่อต้านคอร์รัปชันของพรรคการเมือง/ นักการเมือง มีผลต่อการตัดสินใจลงคะแนนในการเลือกตั้ง 2566 ถึง 95% โดยแบ่งเป็น 67% มีผลมาก 28% มีผลปานกลาง ด้วยเหตุผลเพราะว่าประชาชนต้องการพรรคการเมือง/ นักการเมืองที่มีความชัดเจนต่อนโยบายการต่อต้านคอร์รัปชัน ปฏิบัติได้จริง และต้องการพรรคการเมือง/ นักการเมืองที่โปร่งใสและสุจริต สามารถตรวจสอบได้ ส่วนที่เหลือแบ่งเป็นมีผลน้อย 2% และไม่มีผลเลยอีก 3% เพราะจะเลือกคนที่ชื่นชอบอยู่แล้ว และคิดว่านโยบายต่อต้านคอร์รัปชันเป็นเพียงคำโฆษณา ไม่สามารถทำได้จริง
เรื่องที่สาม คือ ปัญหาคอร์รัปชันที่ส่งผลเสียและต้องการให้รัฐบาลเร่งจัดการกับปัญหาคอร์รัปชัน 4 ลำดับแรกคือ 1)ปัญหาทุจริตในระบบราชการ 23.9% 2)กระบวนการยุติธรรม 21.6% 3)เงินบริจาคแก่สถาบันศาสนา 11.8% 4)การศึกษา 11.2% ซึ่งเราจะเห็นได้ว่าในช่วงรัฐบาลที่ผ่านมามีข่าวทุจริตคอร์รัปชันที่เกี่ยวข้องกับระบบราชการจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเงินที่คาดว่าจะเป็นเงินส่วยของกรมอุทยานฯ เรื่องเครือข่ายทุนจีนสีเทาที่จะมาทำมาหากินอย่างผิดกฎหมายไม่ได้เลย หากไม่ได้รับการช่วยเหลือจากเครือข่ายข้าราชการ ข้าราชการในกระบวนการยุติธรรมอย่างตำรวจ ทั้งยังมีเรื่องทุจริตเงินทอนวัดที่เป็นข่าวเสื่อมเสียในสถาบันที่ประชาชนเคารพนับถืออย่างวงการสงฆ์ แต่เรื่องนี้ก็อาจจะมองได้สองมุมคือการทุจริตคอร์รัปชันมีความรุนแรงขึ้น หรือหน่วยงานติดตามตรวจสอบ สื่อมวลชน และภาคประชาชนทำงานร่วมกันได้ดีมากขึ้นเลยสามารถเปิดโปงเรื่องทุจริตที่มีมาอยู่ก่อนแล้วได้มากขึ้น
เรื่องที่สี่คือ ในส่วนของมาตรการ/นโยบายที่รัฐบาลควรให้ความสำคัญในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชันนั้น คะแนนจะค่อนข้างเกาะกลุ่มกันโดยเรียงลำดับดังนี้ 1) ต้องเปิดเผยข้อมูลสาธารณะ ให้ประชาชนเข้าถึงได้ง่าย 2) รับฟังเสียงประชาชน และสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชน 3) สนับสนุนให้องค์กรตรวจสอบ เช่น ป.ป.ช. ได้ทำงานอย่างเป็นอิสระ 4) ต้องมีการกำกับ ควบคุม ถอดถอน ลงโทษหากมีการทุจริตในการทำงานของฝ่ายบริหาร ในข้อนี้แสดงให้เห็นว่าประชาชนมีการตื่นรู้และให้ความสำคัญด้านการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันในเชิงโครงสร้างมากขึ้น ซึ่งอาจจะถึงเวลาที่แต่ละพรรคต้องมีนโยบายว่าจะเปิดเผยชุดข้อมูลอะไรในรูปแบบไหน เพื่อไม่ให้ประชาชนรู้สึกว่าเรื่องที่บอกว่าเปิดเผยเป็นหลัก ปกปิดเป็นข้อยกเว้นนั้นเป็นแค่เพียงลมปากหวานหู มีข้อสังเกตอีกว่าจากผลสำรวจฯ ไม่มีข้อไหนที่ประชาชนเรียกร้องให้แก้ปัญหาด้วยการเอาพระมาเทศน์หรือจับข้าราชการไปนั่งสมาธิปฏิบัติธรรมนะครับ
เรื่องที่ห้า ที่น่าสนใจคือ จากผลสำรวจฯ ประชาชนถึง 81.1% เห็นด้วยหากหน่วยงานราชการนำระบบ e-services มาใช้ในการบริหารจัดการทุกขั้นตอนเช่น การขออนุมัติ การขออนุญาต การประมูล การจัดซื้อจัดจ้าง เพื่อให้เกิดความโปร่งใส โดยให้เหตุผลว่า เป็นการสร้างความสะดวก รวดเร็ว เข้าถึงและตรวจสอบข้อมูลการดำเนินงานของรัฐได้ง่ายขึ้น แหม่ ประชาชนเขาไกด์มาให้ซะขนาดนี้แล้ว เหลือท่านผู้จะเข้าสู่อำนาจทั้งหลายไปสานฝันของพี่น้องประชาชนต่อเท่านั้นเอง
สุดท้ายนี้ จะฝั่งอนุรักษ์นิยมหรือหัวก้าวหน้าถ้ายังไม่มีวิธีจัดการกับคอร์รัปชันแล้วได้รับเลือกเข้าไป ผมคาดเดาเลยว่านอกจากท่านจะทำนโยบายของท่านไม่ได้ผลตามที่ควรจะเป็นแล้ว รัฐบาลในสมัยของท่านจะมีเรื่องด่างพร้อย ของแบบนี้ถ้าไม่มีแผนป้องกันหรือแก้ปัญหาเตรียมไว้ ปัญหาคอร์รัปชันนั้นก็รอเกิดแน่นอน ถึงเวลาหรือยังครับที่พวกเราประชาชนจะได้ทราบนโยบายต้านโกงของท่านและพรรคของท่าน ที่สำคัญนโยบายไหนออกมาแบบพูดลอยๆ ไร้เดียงสา ทำไม่ได้จริง ประชาชนเขาดูออกนะครับ
สุภอรรถ โบสุวรรณ
หัวข้อ
แนวหน้าต่อต้านคอร์รัปชัน : ปฏิวัติไม่ใช่ทางออก : การแก้ปัญหาคอร์รัปชันอย่างยั่งยืนในสังคมไทย
“ถ้ารัฐบาลนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งขึ้นโกง ก็ปฏิวัติเสียดีกว่า เอาคนดีมาจัดการนักการเมืองโกง” วาทกรรมที่คุ้นหูนี้สะท้อนความคิดที่ฝังรากลึกในสังคมไทยมาอย่างยาวนาน แต่เมื่อย้อนดูประวัติศาสตร์ การรัฐประหารที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าในประเทศไทย กลับไม่เคยแก้ปัญหาคอร์รัปชันได้อย่างยั่งยืน ตรงกันข้าม ปัญหากลับทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ สะท้อนให้เห็นว่าการใช้อำนาจเผด็จการเด็ดขาดไม่ใช่คำตอบ แต่กลับเป็นการให้อำนาจประชาชนอย่างแท้จริงผ่านระบอบประชาธิปไตยที่เข้มแข็งต่างหาก
คิดด้วยพลเมือง(See-Think-Cen’) : #JUSTICE_FOR_SEUNGHAN ส่องวิกฤติบริษัทที่ว่าด้วยศรัทธาสาธารณะ และภาพมายาความเป็นเจ้าของชีวิต ‘ไอดอล’ ของแฟนคลับ
ปรากฏการณ์สำคัญที่กลายเป็นประเด็นที่ได้รับความสนใจในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา คือ การที่บริษัทค่ายเพลงขนาดใหญ่อย่าง SM Entertainment ได้ออกแถลงการณ์ว่า ‘ฮง ซึงฮัน’ (Hong Seunghan) หนึ่งในสมาชิกของวง ‘RIIZE’ (ไรซ์) ซึ่งถูกพักงานและระงับการเข้าร่วมกิจกรรมของวงเป็นการชั่วคราวเมื่อปีที่ผ่านมา
คิดด้วยพลเมือง(See-Think-Cen’) : ‘อาหรับสปริง’ จุดเริ่มต้นจาก 1 ประชาชน สู่การปฏิวัติกว่า 15 ประเทศ
ไม่ว่าใครก็อยากเห็นประเทศของตัวเองดีขึ้น… ไม่ว่าใครก็อยากเห็นประเทศตัวเองมีความยุติธรรม… ไม่ว่าใครก็อยากเห็นประเทศตัวเองไม่มีการคอร์รัปชัน… แต่หลายคนมองว่าเราเป็นเพียงประชาชนตัวเล็กๆ คนหนึ่งไม่สามารถเปลี่ยนอะไรได้ การเปลี่ยนแปลงสังคมเป็นเรื่องไกลตัวที่ไม่มีทางที่คนหนึ่งคนจะทำได้จริง แต่เชื่อหรือไม่ว่าในประเทศตูนิเซียมีชายขายผักที่ออกมาเรียกร้องความยุติธรรมจนกลายเป็นจุดเริ่มต้นของเหตุการณ์การลุกฮือปฏิวัติในประเทศอาหรับมากกว่า 15 ประเทศ