จัดทำข้อเสนอต่อการมีส่วนร่วมของประชาชนเพื่อต่อต้านการคอร์รัปชัน โดยเน้นแนวทางการวิจัยเพื่อทำความเข้าใจปัญหาคอร์รัปชันจากมุมมองของประชาชน ด้วยกระบวนการวิจัยเชิงปฏิบัติการอย่างมีส่วนร่วม (Participatory Action Research : PAR) และกระบวนการ Design Thinking เต็มรูปแบบ
งานวิจัยเรื่องนี้ มีความพยายามที่จะนำเสนอข้อเสนอในการสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนเพื่อต่อสู้กับการคอร์รัปชัน และเนื่องจากงานศึกษาและงานวิจัยที่เกี่ยวกับเรื่องการต่อต้านคอร์รัปชันมีจำนวนมาก งานวิจัยเรื่องนี้ จึงเน้นแนวทางการวิจัยด้วยกระบวนการที่แตกต่างออกไปจากงานอื่น ๆ ที่ผ่านมา โดยมีวิธีการศึกษา ดังนี้
- งานวิจัยเรื่องนี้ ใช้กระบวนการ Design thinking อย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งเป็นกระบวนการใหม่และยังไม่เคยถูกนำมาใช้ในงานวิจัยที่เกี่ยวกับการแก้ปัญหาการคอร์รัปชันมาก่อน
- งานวิจัยเรื่องนี้ ใช้กระบวนการ Bottom-up Research อย่างแท้จริง เพื่อทำความเข้าใจปัญหาคอร์รัปชันจากมุมมองของประชาชนทั่วไป ด้วยกระบวนการการวิจัยเชิงปฏิบัติการอย่างมีส่วนร่วม (Participatory Action Research: PAR) เพื่อช่วยเสริมพลัง (Empower) ให้ชาวบ้านได้เรียนรู้ความสำคัญของการร่วมมือกันและความสามารถในการทำงานร่วมกันอีกด้วย
- งานวิจัยเรื่องนี้ มีการบูรณาการองค์ความรู้จากหลากหลายสาขาวิชา ทั้งสาขาเศรษฐศาสตร์ รัฐศาสตร์ สังคมวิทยา ภาษาศาสตร์ พัฒนาชุมชน และสาขาวิชาอื่น ๆ รวมทั้งยังเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างทีมวิจัยเชิงวิชาการจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และทีมวิจัยจากท้องถิ่นของ สกสว. ในจังหวัดน่าน นครราชสีมา แม่ฮ่องสอน สงขลา และกรุงเทพมหานคร
- การพัฒนาแนวทางการต่อต้านคอร์รัปชันในสังคมไทย ต้องดำเนินการ 2 ส่วนพร้อม ๆ กัน คือ การวิจัยเชิงปฏิบัติการ (Action Research) เพื่อสร้างและพัฒนากลไกการต่อต้านคอร์รัปชันที่ใช้งานได้จริง ภายใต้การมีส่วนร่วมและการทำงานร่วมกันของทีมวิจัยกับชาวบ้านในทุกขั้นตอน และการวิจัยเชิงวิชาการ (Academic Research) เพื่อพัฒนาองค์ความรู้ใหม่ ๆ เกี่ยวกับการต่อต้านคอร์รัปชัน
- งานวิจัยเรื่องนี้ ตั้งต้นจากกลุ่มเป้าหมายที่ยากที่สุดของสังคม 3 กลุ่มหลัก คือ “ชาวบ้าน” ในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงต่อการถูกคอร์รัปชัน หรือถูกเอาเปรียบสูง กลุ่มที่สอง คือ “นักเรียนนักศึกษา” เนื่องจากเป็นกลุ่มที่ยังมีส่วนร่วมน้อยในการต่อต้านคอร์รัปชัน และกลุ่มที่สาม คือ “ประชาชน” ที่มีต้นทุนทางธุรกรรมต่อหัวสูงมากในการต่อต้านคอร์รัปชัน จึงมีความเสี่ยงในการถูกคอร์รัปได้ง่ายด้วย
ผลการวิจัยนี้ ถูกนำไปออกแบบเป็นข้อเสนอเชิงนโยบายภายใต้โครงการ และข้อเสนอเชิงยุทธศาสตร์การสร้างสังคมไทยไร้คอร์รัปชัน ด้วยการยกระดับการมีส่วนร่วมของประชาชนที่มีความชัดเจน ครอบคลุม ครบถ้วน และมีความสอดคล้องกับบริบทของสังคมไทย รวมทั้งเกิดประโยชน์สูงสุดต่อการสร้างสังคมไทยยุคใหม่ที่ปราศจากการคอร์รัปชัน
สรุปประเด็นจากงานวิจัย
- ผลการศึกษาจากโครงการออกแบบและทดลองต้นแบบเครื่องมือการป้องกันคอร์รัปชันของ “สาธารณะ” เพื่อยกระดับความสนใจเรื่องการต่อต้านการคอร์รัปชันของประชาชน (Attention) พบว่าการเปิดเผยข้อมูลรัฐสภาสู่สาธารณะ เป็นสิ่งสำคัญในการสร้างการมีส่วนร่วมตรวจสอบภาคการเมืองของประชาชน ดังนั้น นอกจากการเปิดเผยข้อมูลอย่างครบถ้วน และมีจำนวนมากแล้ว เว็บไซต์รัฐสภา ควรพิจารณาการจัดหมวดหมู่ตามประเด็นการพิจารณาของกรรมาธิการ เพื่อให้ประชาชนที่สนใจประเด็นนั้น ๆ สามารถติดตามการทำงานของภาคการเมืองได้อย่างต่อเนื่อง และมีประสิทธิภาพ
- ผลการศึกษาจากโครงการภาษากับคอร์รัปชัน เพื่อยกระดับความตระหนักรู้ในการต่อต้านการคอร์รัปชันของประชาชน (Awareness) พบว่าการนำเสนอข่าวของสื่อในประเทศไทย ประสบความสำเร็จในการสร้างความเกลียดชังให้กับการทุจริต และคอร์รัปชันด้วยการใช้คำซ้ำ ในขณะที่มีการนำเสนอ หรือให้ความรู้เกี่ยวกับแนวทางการแก้ปัญหาที่เป็นรูปธรรม หรือกระบวนการแจ้งบาะแสน้อยมาก ดังนั้น การสร้างคู่มือการใช้ภาษาเ พื่อสร้างการมีส่วนร่วมในการต่อต้านคอร์รัปชัน โดยเน้นที่การดำเนินการต่อหากพบเห็นการคอร์รัปชัน รวมถึงการเลือกใช้คำ และจัดวางบริบทในการสื่อสารข้อเท็จจริง และความคิดเห็นเกี่ยวกับการคอร์รัปชันในช่วงเวลาต่าง ๆ ให้เกิดการปฏิบัติได้จริงในการต่อต้านหรือป้องกันการคอร์รัปชัน จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการสื่อสารได้มากขึ้น
- ผลการศึกษาจากโครงการออกแบบและทดลองต้นแบบเครื่องมือการป้องกันคอร์รัปชันของ “เยาวชน” เพื่อสร้างทัศนคติที่ดีในการต่อต้านการคอร์รัปชัน (Attitude) พบว่านักเรียนส่วนใหญ่ มีความรักโรงเรียนเป็นพื้นฐาน และต้องการให้โรงเรียนของตัวเองดีขึ้นในระยะยาว ดังนั้น หน่วยงานภาครัฐ เช่น กระทรวงศึกษาธิการที่ทำหน้าที่ในการประเมินคุณภาพโรงเรียน สามารถสร้างการมีส่วนร่วมของนักเรียนในการประเมินเชิงคุณภาพของครุภัณฑ์และอุปกรณ์การศึกษาเพิ่มเติมจากการประเมินเชิงปริมาณ ที่มีการดำเนินการอยู่แล้วได้ โดยการเปิดโอกาสให้นักเรียนมีส่วนร่วมในการพัฒนาโรงเรียน จะช่วยสร้างจิตสำนึกของการมีส่วนร่วมตรวจสอบภาครัฐด้วยการลงมือทำอย่างเป็นรูปธรรมให้กับนักเรียนในอนาคต
- ผลการศึกษาจากโครงการความรู้ความเข้าใจในการป้องกันคอร์รัปชัน เพื่อสร้างแนวปฏิบัติในการต่อต้านการคอร์รัปชันของประชาชน (Action) พบว่าการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรังเกียจการคอร์รัปชัน เป็นเรื่องสำคัญ และทำได้ค่อนข้างดีในระดับหนึ่งแล้ว แต่การประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกระบวนการร้องเรียน ตรวจสอบ ป้องกันและแก้ไขปัญหาคอร์รัปชัน ก็เป็นเรื่องสำคัญมากเช่นกัน ไม่เช่นนั้นแล้ว ประชาชนจะมีความตระหนักรู้ แต่จะไม่สามารถมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันที่เป็นรูปธรรมได้
- ผลการศึกษาจากโครงการทดลองทางเศรษฐศาสตร์เพื่อทดสอบความร่วมมือของคนในสังคม เพื่อยกระดับความร่วมมือในการต่อต้านการคอร์รัปชันของประชาชน (Aggregate) พบว่า ความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างคนรุ่นใหม่มีอยู่สูง เมื่อเปรียบเทียบกับความไว้เนื้อเชื่อใจที่มีต่อภาครัฐ ดังนั้น การสนับสนุนกิจกรรมต่าง ๆ ที่ต้องการให้เป็นจุดเริ่มต้นที่ดี หรือเป็นต้นแบบที่ประสบความสำเร็จในการร่วมมือกันของประชาชน ควรเน้นไปที่คนรุ่นใหม่ (อายุประมาณ 18-24 ปี) เป็นหลัก
- ผลการศึกษาจากโครงการการออกแบบและทดลองต้นแบบเครื่องมือการป้องกันคอร์รัปชันของชุมชน เพื่อยกระดับกิจกรรมในการต่อต้านการคอร์รัปชันของประชาชน (Activities) พบว่าชาวบ้านมีความพร้อมในการมีส่วนร่วมพัฒนาพื้นที่ของตนเองสูงมาก โดยการดำเนินการเพื่อสร้างการมีส่วนร่วม อาจไม่จำเป็นต้องเริ่มจากการป้องกัน/ต่อต้านการคอร์รัปชันในทันที แต่ควรเริ่มต้นจากสถานการณ์เชิงบวก เช่น การพัฒนาวิสาหกิจชุมชน การจัดสรรการใช้ทรัพยากรร่วมกัน ซึ่งจะเป็นสิ่งที่ประสบความสำเร็จได้ง่าย แล้วจึงค่อยพัฒนาไปสู่กลไก/เครื่องมือการป้องกัน/ต่อต้านการคอร์รัปชันในภายหลัง
- ผลการศึกษาจากโครงการการออกแบบและการทดลองต้นแบบเครื่องมือการป้องกันปัญหาคอร์รัปชันของเครือข่ายต่อต้านคอร์รัปชัน เพื่อหาพันธมิตรร่วมอุดมการณ์มาช่วยสนับสนุนการต่อต้านการคอร์รัปชันของเครือข่าย (Alliance) พบว่าการสร้างระบบการทำงานร่วมกัน มีความสำคัญต่อการเพิ่มศักยภาพการทำงานของการต่อต้านการคอร์รัปชัน โดยระบบดังกล่าวต้องทำหน้าที่เป็นฐานข้อมูลการทำงาน และส่งต่อประเด็นที่สำคัญ หรือต้องการความร่วมมือระหว่างองค์กรต่าง ๆ รวมทั้งต้องสามารถติดตาม (Track) ข้อมูลย้อนหลัง และข้อมูลที่มีการส่งต่อระหว่างกันได้ เพื่อให้เกิดการปรับปรุง และพัฒนาระบบในอนาคต
ธานี ชัยวัฒน์, อดิศักดิ์ สายประเสริฐ, ณัฐภัทร เนียวกุล, นิชาภัทร ไม้งาม, จารุวัฒน์ เอมซ์บุตร, ปกรณ์สิทธิ ฐานา, สุภัจจา อังค์สุวรรณ, เฟื่องวิชญ์ สุวรรณเนตร, เจริญ สู้ทุกทิศ, ธิดาภรณ์ แป๊ะสมัน, ต่อภัสสร์ ยมนาค, ศุภฤกษ์ รักชาติ, ศิวัช พู่พันธ์พานิช, ชนลักษณ์ ชัยศรีลักษณ์, ณัฎฐ์ศุภณ ดำชื่น, นฤดล จันทร์จารุ, พงษ์บดินทร์ อัมรินทร์นุเคราะห์, โกสินทร์ ปัญญาอธิสิน, พลรวี ประเสริฐสม, และญาณินท์ สวนะคุณานนท์. (2563). โครงการวิจัยเพื่อสังคมไทยไร้คอร์รัปชัน ระยะที่ 2. สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.).
- ธานี ชัยวัฒน์
- อดิศักดิ์ สายประเสริฐ
- ณัฐภัทร เนียวกุล
- นิชาภัทร ไม้งาม
- จารุวัฒน์ เอมซ์บุตร
- ปกรณ์สิทธิ ฐานา
- สุภัจจา อังค์สุวรรณ
- เฟื่องวิชญ์ สุวรรณเนตร
- เจริญ สู้ทุกทิศ
- ธิดาภรณ์ แป๊ะสมัน
- ต่อภัสสร์ ยมนาค
- ศุภฤกษ์ รักชาติ
- ศิวัช พู่พันธ์พานิช
- ชนลักษณ์ ชัยศรีลักษณ์
- ณัฎฐ์ศุภณ ดำชื่น
- นฤดล จันทร์จารุ
- พงษ์บดินทร์ อัมรินทร์นุเคราะห์
- โกสินทร์ ปัญญาอธิสิน
- พลรวี ประเสริฐสม
- ญาณินท์ สวนะคุณานนท์
โครงการวิจัยและประสานงานเพื่อสังคมไทยไร้คอร์รัปชัน
เพื่อออกแบบงานวิจัยสำหรับแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันบนฐานการมีส่วนร่วมของประชาชนและภาคส่วนต่าง ๆ รวมถึงพัฒนาระบบและเครื่องมือใหม่ในการป้องกันและลดคอร์รัปชันในระดับพื้นที่
โครงการวิจัยเพื่อสังคมไทยไร้คอร์รัปชัน ระยะที่ 2
จัดทำข้อเสนอการมีส่วนร่วมของประชาชนเพื่อต่อต้านการคอร์รัปชัน โดยเน้นแนวทางการวิจัยเพื่อทำความเข้าใจปัญหาคอร์รัปชันจากมุมมองของประชาชน ด้วยกระบวนการวิจัยเชิงปฏิบัติการอย่างมีส่วนร่วม (PAR) และกระบวนการ Design Thinking เต็มรูปแบบ
โครงการวิจัยการสังเคราะห์รูปแบบ กลไกและแนวทางการปลูกฝังเจตคติและวัฒนธรรมสุจริตเพื่อการป้องกันและปราบปรามการทุจริต
ศึกษาพัฒนาการของรูปแบบ กลไก และแนวทางการปลูกฝังเจตคติ และวัฒนธรรมสุจริตที่มีผลต่อการป้องกันการทุจริตของไทย และศึกษากรณีของต่างประเทศ เพื่อจัดทำเป็นข้อเสนอแนะต่อไป
โครงการวิจัยการศึกษาแนวทางความร่วมมือกับภาครัฐ ภาคเอกชนและภาคประชาชนในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต
นำเสนอแนวคิดและกิจกรรมที่ช่วยเสริมประสิทธิภาพการดำเนินงานของ ป.ป.ช. ในการแก้ไขปัญหาการทุจริต และเสนอแนวทางการพัฒนาระบบการเชื่อมโยงข้อมูลร่วมกันผ่านกระบวนการประสานข้อมูลระหว่างหน่วยงานเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด