ลงมือสู้โกง : รัฐนาฏกรรม : เมื่อรัฐเปรียบดั่งโรงละคร ประชากรเสมือนผู้ชม สู่ความรื่นรมย์แห่งผู้ปกครอง

“โลกคือละคร ทุกตอนต้องแสดง ทุกคนทนไป อย่าอาลัย ยิ้มกันสู้ไปจะได้สบาย”

หลายๆ คนคงเคยได้ยินเนื้อเพลงนี้จากเพลง สุขกันเถอะเรา ขับร้องโดยสุนทราภรณ์ ซึ่งหากฟังเผินๆ แล้ว เนื้อเพลงข้างต้นอาจดูเหมือนประโยคที่ช่วยปลอบประโลมและให้กำลังใจแก่ผู้ฟังอย่างดี แต่หากลองมองผ่านบริบททางประวัติศาสตร์และรัฐพัฒนาการแล้ว เนื้อเพลงเหล่านี้อาจมีความหมายและจุดประสงค์ที่ต่างออกไปอย่างมาก โดยเพลงนี้ถูกประพันธ์ขึ้นราวปีพ.ศ. 2504 ซึ่งถือเป็นช่วงเวลาสำคัญในประวัติศาสตร์การเมือง “แบบไทยๆ” ที่มีรูปแบบของพัฒนาการที่น่าสนใจเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็น รัฐเสนานุภาพ เผด็จการประชาธิปไตย หรือแม้กระทั่งทุนนิยมเหลื่อมล้ำ ซึ่งเป็นนิยามที่นักวิชาการนักวิจัย หรือผู้อยู่ในแวดวงการเมืองใช้อธิบายรูปแบบของรัฐพัฒนาการ “แบบไทยๆ” แต่อีกนิยามหนึ่งซึ่งได้รับความสนใจอย่างมากในช่วงนี้เนื่องจากเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในประเทศไทยนั่นก็คือ“รัฐนาฏกรรม” หรือแนวคิดโรงละครแห่งรัฐ

รัฐนาฏกรรม (Theatre State หรือ Theatrical State) เป็นแนวคิดที่อยู่ในหนังสือ Negara : The Theatre state in Nineteenth-century Bali เขียนโดย Clifford Geertz นักมานุษยวิทยา ชาวอเมริกัน ที่ได้ให้คำจำกัดความและอธิบายรูปแบบทางการเมืองในบาหลีโบราณ ประเทศอินโดนีเซีย รวมไปถึงประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ซึ่งมีลักษณะรัฐที่เป็นไปในรูปแบบที่ใกล้เคียงกันภายใต้บริบทที่แตกต่างกันออกไป โดยศาสตราจารย์ ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ ได้ให้คำอธิบายไว้ว่า “รัฐนาฏกรรม คือการแสดงของรัฐที่ก่อให้เกิดโลกภายนอกที่มนุษย์เราสัมผัสได้ เพื่อให้มีผลกระทบต่อโลกภายในหรือการรับรู้และความรู้สึกของประชาชน” กล่าวคือการแสดงของรัฐนั้นก่อให้เกิดแบบแผนหรือขนบธรรมเนียมปฏิบัติที่ฝังลึกไปถึงจิตใต้สำนึกของประชาชนให้มีความรู้สึกนึกคิดไปในรูปแบบเดียวกับที่รัฐ “กำลังแสดง” ให้เห็น อย่างไรก็ตามความหมายดังกล่าวเป็นเพียงภาพรวมของแนวคิดนี้ แต่ยังมีส่วนประกอบอีกหลายส่วนที่เราต้องรู้จักเพื่อเข้าใจความเป็นรัฐนาฏกรรม “แบบไทยๆ” ให้ได้อย่างแท้จริง

ความเป็นรัฐนาฏกรรมแบบไทยๆ นั้นมีส่วนประกอบที่สำคัญคือ 1) เจ้าของโรงละคร หรือผู้ปกครองที่มีอำนาจสูงสุด 2) ผู้กำกับ หรือขุนนางชนชั้นปกครองทั้งหลายที่ทำหน้าที่กำกับดูแลให้รัฐเป็นไปตามประสงค์ของผู้ปกครอง 3) ตัวแสดง หรือข้าราชการระดับต่างๆที่ต้องแสดงให้อยู่ในกรอบที่ชนชั้นปกครองวางไว้ และ 4) ผู้ชม หรือประชาชน คนทั่วไปที่ต้องรับชมการแสดงนี้ตั้งแต่ต้น บางส่วนอาจได้มีส่วนร่วมในการแสดง และบางส่วนอาจไม่ได้มีส่วนร่วม หากแต่เป็นส่วนสำคัญที่ขาดไปไม่ได้ เพราะการแสดงที่ขาดผู้ชม “ที่ดี” ย่อมไม่ประสบความสำเร็จ ซึ่งทั้ง 4 ส่วนนี้ต่างเชื่อมโยงกันอย่างเหนียวแน่นผ่าน “รัฐพิธี” ที่แฝงอยู่ในสังคมจนเข้าไปจิตใต้สำนึกของประชาชนจำนวนมากให้นึกคิดถึงรัฐพิธีโดยธรรมชาติ

ผมขอยกตัวอย่างให้เห็นภาพง่ายๆ อย่างการเดินทางไปทำงานในสถานที่ต่างๆ ของรัฐที่มักจะมีรูปแบบที่ซ้ำเดิมอยู่เสมอ คือการเดินทางด้วยรถหรู มีรถของผู้ช่วยหรือผู้ติดตามนำหน้าและห้อยท้าย การจัดตั้งสถานที่เพื่อรองรับเจ้าหน้าที่รัฐ
และการต้อนรับอย่างเต็มใจจากประชาชนที่เป็นทั้งตัวประกอบและผู้ชมที่สนับสนุนให้การกระทำในลักษณะนี้เป็นเรื่องปกติ ไม่ผิดแปลกหรือไม่ควร ซึ่งหากดูเพียงผิวเผิน อาจทำให้ประชาชนกลายเป็นผู้สนับสนุนและสร้างวัฒนธรรมเช่นนี้ให้สืบต่อไป แต่หากลองมองให้ลึกลงไปก็จะพบว่า การกระทำเช่นนี้ถูกสืบต่อมาอย่างช้านาน โดยผู้ปกครอง หรือผู้มีอำนาจสูงสุดเป็นคนกำหนดให้สิ่งนี้เกิดขึ้นผ่านการกำกับโดยชนชั้นปกครองที่ได้ประโยชน์จากการกระทำเช่นนี้ในหลายๆ ด้าน แล้วการมีผู้ควบคุมให้รัฐดำเนินไปโดยมีส่วนประกอบของโรงละครแห่งรัฐมันก็ “คงจะดี” ไม่ใช่หรอ

หลายคนคงได้เห็นหรือได้ยินเรื่องราวเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในจังหวัดหนองบัวลำภู ที่ผ่านมาอันเป็นเหตุการณ์ที่สร้างความสะเทือนใจแก่ผู้คนจำนวนมากอย่างรุนแรง หากแต่รัฐยังคงดำเนินการให้เกิดโรงละครแห่งรัฐขึ้น โดยการสร้างรัฐพิธีเพื่อแสดงความเสียใจและมอบเงินให้แก่ญาติผู้เสียชีวิตหรือผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงอื่นๆ ซึ่งถ้าผู้อ่านนั้นอาจจะรู้สึกได้ว่ามันเป็นสิ่งที่ดีแล้ว แต่การสร้างโรงละครเพียงเพื่อทำตาม “สิ่งที่ทำสืบต่อกันมา” ในสถานการณ์ที่ผู้ได้รับผลกระทบยังอยู่ในภาวะความเสียใจจากการสูญเสียคนที่รัก การพบเห็นเหตุการณ์อันโหดร้าย หรือแม้กระทั่งความรู้สึกผิดหรือคับแค้นใจ และอื่นๆอีกนับไม่ถ้วนนั้นเป็นสิ่งที่สมควรแล้วหรือในฐานะผู้ปกครอง ภาพการแสดงในโรงละครแห่งรัฐที่ “ตัวประกอบ” หรือ “ผู้ชม” อย่างประชาชนต้องเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการแสดงภายใต้ความรู้สึกอันหนักอึ้งภายในจิตใจซึ่งไม่สามารถอธิบายเป็นคำพูดได้ การแสดงในครั้งนี้จะยังถือว่าเป็นการแสดงที่ประสบความสำเร็จหรือสมควรอยู่หรือไม่ ผมเองก็ไม่อาจตอบแทนทุกคนได้เช่นกัน หากแต่ประสงค์ให้ทุกคนได้ลองมองภาพของพิธีการต่างๆ ในสังคมภายใต้แนวคิดรัฐนาฏกรรมที่อาจทำให้คุณได้มองเห็นเรื่องที่ “เคยชิน” เป็นเรื่องที่น่าสนใจและน่าศึกษาต่อไป

สุดท้ายนี้ หลายคนอาจจะสงสัยว่าทำไมผมถึงยกเนื้อเพลงข้างต้นมาเริ่มบทความนี้ เพียงแค่ผมอยากให้ทุกคนได้เห็นว่า แนวคิดรัฐนาฏกรรมหรือโรงละครแห่งรัฐนั้นถูกใช้เป็นเครื่องมือเพื่อจุดประสงค์ในด้านต่างๆ มาตั้งแต่อดีต ซึ่งค่อยๆ ฝังความคิดแห่งรัฐลงไปในจิตใต้สำนึกของเราจากรุ่นสู่รุ่น ซึ่งมันจะดีหรือไม่ดี ผมอาจไม่สามารถพูดมันได้เต็มปาก แต่หากพิจารณาหลักฐานอันเด่นชัดในช่วงเวลาที่ผ่านมาที่ผู้คนจำนวนมากต่างวิพากษ์วิจารณ์ประเพณีเช่นนี้ในแนวทางที่ต่างกันออกไป ในอนาคตอีกไม่นาน พวกเราก็อาจจะได้เห็นความเปลี่ยนแปลงอันเกิดจาก “ตัวประกอบ” ในโรงละครแห่งรัฐซึ่งกล้าที่จะลุกขึ้นยืนเดินออกจากโรงละคร หรือตะโกนเพื่อแสดงความคิดเห็นของตนต่อการแสดงที่รัฐทำมาอย่างช้านาน เพราะโลกอาจไม่ใช่ละครที่ทุกคนจะต้องแสดง และฝืนทนยิ้มในโรงละครที่ตนไม่ได้ต้องการ

 

 

 
ปีที่แต่ง (พ.ศ.)
2565
ผู้แต่ง

วสุพล ยอดเกตุ

หน่วยงานสนับสนุน

หัวข้อ
Related Content

แนวหน้าต่อต้านคอร์รัปชัน : เปิดผลดัชนีภาพลักษณ์คอร์รัปชันล่าสุด ไทยยังอาการหนัก เหมือนเดิม!

จากการที่องค์กรความโปร่งใสนานาชาติ หรือ Transparency International (TI) ได้เปิดเผยผลดัชนีภาพลักษณ์คอร์รัปชัน หรือ Corruption Perception Index (CPI) ของปี 2023 เมื่อวันที่ 30 มกราคมที่ผ่านมา ผลในปีนี้ไทยได้คะแนน 35 จากคะแนนเต็ม 100 คะแนน คิดเป็นอันดับที่ 108 จาก 180 ประเทศทั่วโลกที่ได้รับการประเมิน ซึ่งหากเทียบกับผลในปี 2022 ที่ไทยได้ 36 คะแนน และอยู่ในลำดับที่ 101 ก็จะเห็นได้ว่าคะแนน CPI ไม่ดีขึ้นเลย

แนวหน้าต่อต้านคอร์รัปชัน : อำนาจที่ประชาชนเลือกมอบให้ใครก็ได้ ทำยังไงไม่ให้ไปตกอยู่กับคนโกง

ทุกคนรู้ไหมว่า ถ้าเราช่วยกันสอดส่อง ผู้แทนที่เราเลือกก็จะทุจริตได้ยากขึ้น จากกรณีกำนันนกที่เป็นข่าวดังเมื่อเดือนก่อนถือเป็นตัวอย่างของผู้ที่ใช้อำนาจที่ได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชนในท้องถิ่นในทางที่ผิด เพราะหลังจากได้รับเลือกตั้งเป็นกำนัน เขาได้รับโครงการก่อสร้างจากงบประมาณเกือบทั้งหมดที่ส่งมาพัฒนาจังหวัดทำให้สามารถใช้เงินซื้ออำนาจรัฐที่เอื้อให้เกิดระบบอุปถัมภ์ แถมยังทำให้ตำรวจบางคนมาอยู่ใต้อำนาจ และอยู่เหนือกฎหมายได้

แนวหน้าต่อต้านคอร์รัปชัน : ทั้งโกง ทั้งกิน แล้วชาติจะอยู่ได้หรือ

ธรรมาภิบาลกับประชาธิปไตยควรมีอะไรมากกว่า ? ประเทศไทยอาจสิ้นชาติ ถอดบทเรียนจากเรื่องเล่าของเหงียน เกา กี อดีตนายกรัฐมนตรีของเวียดนามใต้ที่ประเทศล่มสลายเพราะการคอร์รัปชัน สอดคล้องกับประเทศไทยตอนนี้ที่การโกงกระจายไปหลายหน่วยงาน หลายสาขาอาชีพ ไม่ใช่แค่ในองค์กรใหญ่ ๆ

You might also like...

บทความวิจัย : กลไกป้องปรามการทุจริตของภาคประชาชนผ่านการสอดส่องและเสนอแนะ

การดำเนินกลไกป้องปรามการทุจริตผ่านคณะกรรมการธรรมาภิบาลจังหวัดที่เน้นการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน ภาคธุรกิจเอกชน และสมาชิกสภาท้องถิ่นที่ไม่ใช่ผู้บริหารในการตรวจสอบและติดตามการดำเนินโครงการจะทำให้เกิดความโปร่งใสและความคุ้มค่าของการดำเนินโครงการ

บทความวิจัย : การเสริมสร้างเครือข่ายการต่อต้านการทุจริตขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในจังหวัดกาญจนบุรี

แนวทางการพัฒนาเครือข่ายการต่อต้านทุจริตขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น คือ การส่งเสริมการมีส่วนร่วมและการสื่อสารระหว่างกันของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย การสร้างความเข้าใจให้แก่ประชาชน การสร้างตัวอย่างที่ดี การสร้างสังคมหิริโอตัปปะ และการสนับสนุนระบบการร้องเรียน ความโปร่งใส การป้องกันการทุจริต รวมถึงการมีหลักเกณฑ์ในการคัดเลือกผู้บริหาร

KRAC คัดสรร เล่างานวิจัยไทย | ส่งเสริมธรรมาภิบาลให้กว้างไกลด้วยการสร้างรางวัลให้องค์กร

พาทุกคนมาศึกษาจุดเริ่มต้นของธรรมาภิบาลในประเทศไทยช่วงหลังวิกฤติเศรษฐกิจไทย 2540 ที่นำมาสู่การมอบรางวัลเพื่อส่งเสริมธรรมาภิบาลไทย ซึ่งจะทำให้เห็นถึงพัฒนาการและภาพรวมของธรรมาภิบาลในประเทศไทยมากขึ้น และการมีธรรมาภิบาลจะช่วยลดคอร์รัปชันได้อย่างไร ?