รัฐและการแทรกแซงสื่อ

เพื่อศึกษาความสามารถในการเข้าถึงสื่อสาธารณะของคนไทย รวมทั้งคุณภาพของข้อมูลข่าวสารที่ประชาชนได้รับ เนื่องจากสื่อจะต้องมีอิสระจากอำนาจการเมือง และการแทรกแซงจากรัฐ เพื่อเสนอข่าวสารอย่างตรงไปตรงมา และสามารถสืบหาข้อมูลข่าวสารเชิงลึกเกี่ยวกับการทุจริตของภาครัฐได้อย่างเสรี

ประเทศไทยจำเป็นต้องปรับยุทธศาสตร์การต่อต้านการคอร์รัปชันจากแบบเดิมที่เน้นการบังคับใช้กฎหมาย และกลไกภาครัฐ ซึ่งเป็นระบบ “จากบนลงล่าง” (top-down) มาเป็นระบบ “จากล่างขึ้นบน” (bottom-up) หมายความว่า การต่อต้านการคอร์รัปชัน จะต้องอาศัยการมีส่วนร่วมอย่างแข็งขันจากภาคประชาสังคม ซึ่งปัจจัยสำคัญในการเสริมพลังของประชาชน คือ การเข้าถึงข้อมูลข่าวสารที่ครบถ้วนและทันการณ์ เพื่อติดตามและตรวจสอบการทุจริตคอร์รัปชันของภาครัฐได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ด้วยเหตุนี้ จึงต้องมีการศึกษาความสามารถในการเข้าถึง “สื่อสาธารณะ” ของประชาชน (ในความหมายของ “สื่อที่เผยแพร่ในระดับสาธารณะ”) รวมทั้งคุณภาพของข้อมูลข่าวสารที่ประชาชนได้รับ เนื่องจากข้อมูลของสื่อ มีอิทธิพลอย่างกว้างขวางต่อแนวคิด และการรับรู้ของประชาชน สื่อจึงต้องมีอิสระจากอำนาจการเมือง และการแทรกแซงจากรัฐ เพื่อนำเสนอข่าวสารอย่างตรงไปตรงมา และเป็นกลาง อีกทั้ง ยังช่วยให้สื่อมีเสรีภาพในการสืบหาข้อมูลข่าวสารเชิงลึกเกี่ยวกับการทุจริตของภาครัฐ

สรุปประเด็นจากงานวิจัย

  • ช่องทางของรัฐในการเเทรกเเซงสื่อ : ในประเทศไทย รัฐบาลสามารถแทรกแซงการทำงานของสื่อได้ 3 ช่องทาง ได้เเก่ (1) การใช้อำนาจตามกฎหมายกำกับดูแลเนื้อหาสื่อ (2) การใช้อำนาจในฐานะที่เป็นเจ้าของสื่อ และในฐานะผู้ให้สัมปทาน และ (3) การใช้งบโฆษณาประชาสัมพันธ์ของรัฐเพื่อซื้อสื่อ
  • การใช้อํานาจตามกฎหมายกํากับดูแลเนื้อหาสื่อ : ประเทศไทยมีกฎหมาย 2 ฉบับที่ให้อำนาจรัฐดำเนินการกำกับดูแลเนื้อหาสื่อ ได้แก่ พระราชบัญญัติการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551  ซึ่งใช้กำกับดูแลเนื้อหาของสื่อโทรทัศน์และวิทยุ และพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550  ซึ่งใช้กำกับดูแลเนื้อหาสื่ออินเทอร์เน็ต 
  • การใช้อํานาจในฐานะที่เป็นเจ้าของสื่อ และในฐานะผู้ให้สัมปทาน : สื่อโทรทัศน์และวิทยุในประเทศไทย ถูกกำกับเชิงโครงสร้างโดยหน่วยงานของรัฐ ผ่านฐานความเป็นผู้ให้บริการโดยตรง หรือเป็นผู้ให้สัมปทานแก่บริษัทเอกชน แสดงให้เห็นว่าสถานีแบบฟรีทีวีภาคพื้นดินระบบแอนะล็อกในประเทศไทยทั้งหมด 6 สถานี อยู่ภายใต้การบริหารของหน่วยงานรัฐ หรือถูกบริหารภายใต้ระบบสัมปทานถึง 5 แห่ง ได้เเก่ ช่อง 3 ช่อง 5 (ททบ. 5) ช่อง 7 ช่อง 9 (โมเดิร์นไนน์) ช่อง 11 (NBT)
  • สำหรับสื่อหนังสือพิมพ์ รัฐจำเป็นต้องใช้วิธี “ซื้อ” หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง คือ การแทรกแซงผ่านการเป็นลูกค้าที่ซื้อพื้นที่โฆษณาประชาสัมพันธ์ เพื่อสร้างอำนาจต่อรองกับบริษัทหนังสือพิมพ์ เนื่องจากในระบอบประชาธิปไตย การใช้อำนาจแทรกแซงการทำงานของสื่อหนังสือพิมพ์เป็นเรื่องยากมากขึ้น จากการที่สิทธิและเสรีภาพของสื่อเอกชนประเภทนี้ ได้รับการรับรองตามรัฐธรรมนูญ รัฐจึงไม่สามารถสั่งปลดนักข่าว หรือควบคุมเนื้อหาของหนังสือพิมพ์ได้โดยตรงอย่างในสมัยที่มีพระราชบัญญัติการพิมพ์ พ.ศ. 2484
  • การศึกษากฎระเบียบว่าด้วยการใช้จ่ายงบประมาณประชาสัมพันธ์ในต่างประเทศ กรณีศึกษาประเทศออสเตรเลีย แคนาดา สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส และสหรัฐอเมริกา เพื่อนำมาเป็นแบบอย่างให้กับประเทศไทย สรุปประเด็นที่น่าสนใจ ดังนี้ (1) มีการกำหนดแผนงานประชาสัมพันธ์ส่วนกลางในแต่ละปีงบประมาณ เพื่อให้การประชาสัมพันธ์ของแต่ละหน่วยงานสอดคล้องกัน และมีประสิทธิภาพ (2) การใช้งบประมาณประชาสัมพันธ์ต้องอยู่บนพื้นฐานของความคุ้มค่า และมีเหตุผลเพียงพอ รวมถึงต้องมีการประเมินความคุ้มค่าหลังการดำเนินโครงการ เพื่อเป็นมาตรฐานสำหรับโครงการต่อไป (3) การจัดซื้อจัดจ้างเพื่อผลิตสื่อโฆษณาของรัฐ เป็นแบบรวมศูนย์ เพื่อลดความซ้ำซ้อน และต้องมีระเบียบปฏิบัติที่รัดกุม และขั้นตอนที่โปร่งใส และ (4)  มีกฎหมายควบคุมเนื้อหาในสื่อประชาสัมพันธ์ เพื่อป้องกันการใช้เงินแผ่นดินหาเสียงส่วนตัว และเพื่อให้สอดคล้องกับภาระหน้าที่
  • การศึกษามาตรฐานและจรรยาบรรณวิชาชีพของสื่อในต่างประเทศ ได้เเก่ กรณีศึกษาประเทศสวีเดน เดนมาร์ก เนเธอร์แลนด์ ฟินแลนด์ เยอรมนี ลักเซมเบิร์ก และสหราชอาณาจักร พบว่ามีการแบ่งรูปแบบการกำกับดูแล 2 รูปแบบ ได้เเก่ (1) การกำกับดูแลกันเองที่สภาวิชาชีพสื่อ หรือภาคประชาชน (สื่อและประชาชนทั่วไป) เป็นทั้งผู้ร่างและผู้บังคับใช้มาตรฐาน และจรรยาบรรณวิชาชีพ และ (2) การกำกับดูแลร่วมกันระหว่างรัฐ กับสื่อ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่สาธารณชนว่าไม่มีการเล่นพรรคเล่นพวกเกิดขึ้น
  • คณะผู้วิจัย เสนอแนวทางการป้องกันรัฐซื้อสื่อไว้ 2 แนวทาง สรุปได้ ดังนี้
    1. ออกกฎระเบียบว่าด้วยการใช้งบโฆษณาประชาสัมพันธ์ของรัฐ เพื่อสร้างความโปร่งใสของ “ผู้ซื้อโดยต้องมีการออกกฎหมายว่าด้วยการโฆษณาประชาสัมพันธ์ของรัฐ เพื่อกำหนดกรอบการใช้งบประมาณ เพื่อซื้อพื้นที่ประชาสัมพันธ์ในสื่อเอกชน โดยกฎหมายดังกล่าวต้องมีบทบัญญัติที่สำคัญ 4 ด้าน ได้เเก่ (1) จัดทำคำนิยามในส่วน “หน่วยงานของรัฐ” และ “เงินแผ่นดิน” (2) กำหนดเนื้อหาของโฆษณาประชาสัมพันธ์ของรัฐ เช่น กฎหมายดังกล่าวต้องมีบทบัญญัติห้ามไม่ให้สื่อประชาสัมพันธ์ที่ใช้งบประมาณของรัฐ มีชื่อ รูป หรือเสียงของผู้ซื้อสื่อปรากฏในพื้นที่สื่อ (3) กระบวนการใช้งบประมาณ ต้องมีการกำหนดแผนงานโฆษณาประชาสัมพันธ์และวงเงินล่วงหน้าในแต่ละปีงบประมาณ ก่อนการเบิกจ่ายงบประมาณ และ (4) ให้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน เป็นผู้บังคับใช้กฎหมายนี้
    2. การสร้างมาตรฐาน และจรรยาบรรณวิชาชีพสื่อ เพื่อสร้างความเข้มแข็งของ “ผู้ขาย” ซึ่งก็คือบริษัทสื่อ ได้เเก่ (1) กําหนดให้สื่อหนังสือพิมพ์ทุกฉบับ เข้าร่วมเป็นสมาชิกขององค์กรวิชาชีพสื่อ เช่น สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ เพื่อให้มาตรฐานและจรรยาบรรณวิชาชีพ ถูกบังคับใช้ได้จริง โดยเฉพาะการออกบทลงโทษสื่อหนังสือพิมพ์ที่ละเมิดข้อกําหนด (2) ให้สภาวิชาชีพ มีคณะกรรมการที่เป็นตัวแทนจากภาคประชาสังคมในสัดส่วนที่เท่ากับตัวแทนของผู้ประกอบวิชาชีพสื่อ เจ้าของสื่อและบรรณาธิการ เพื่อสร้างความชอบธรรม และความน่าเชื่อถือในการบังคับใช้มาตรฐานและจรรยาบรรณวิชาชีพสื่อ
  •  
เอกสารอ้างอิง
รูปแบบ APA

กิตติพงศ์ สนธิสัมพันธ์. (2559). รายงานทีดีอาร์ไอ ฉบับที่ 123 เดือนธันวาคม 2559 เรื่อง รัฐเเละการแทรกเเซงสื่อ. สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ).

ปีที่แต่ง (พ.ศ.)
2559
ผู้แต่ง
  • กิตติพงศ์ สนธิสัมพันธ์
หน่วยงาน

หัวข้อ
Related Content

โครงการศึกษาเรื่องการแสวงหาผลประโยชน์จากการอนุญาต โดยใช้อำนาจรัฐ

ศึกษาการตรวจสอบดุลพินิจของฝ่ายปกครองในการออกใบอนุญาต และศึกษากฎหมายต่างประเทศเพื่อเสนอแนะมาตรการทางกฎหมายในการป้องกันการแสวงหาผลประโยชน์จากการอนุญาตโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐ

โครงการศึกษามาตรการแทรกแซงตลาดข้าวเพื่อป้องกันการทุจริต: การแสวงหาค่าตอบแทนส่วนเกินและเศรษฐศาสตร์การเมืองของโครงการรับจำนำข้าวเปลือก

เพื่อประมาณการต้นทุน รายรับ การขาดทุน ต้นทุนสวัสดิการสังคมของโครงการรับจํานําข้าวเปลือก และประมาณการผลตอบแทนส่วนเกินที่ตกแก่กลุ่มบุคคลต่าง ๆ เพื่อวิเคราะห์การแสวงหาค่าเช่า และศึกษาการทุจริตของผู้ที่เกี่ยวข้อง

โครงการวิจัยและประสานงานเพื่อสังคมไทยไร้คอร์รัปชัน

เพื่อออกแบบงานวิจัยสำหรับแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันบนฐานการมีส่วนร่วมของประชาชนและภาคส่วนต่าง ๆ รวมถึงพัฒนาระบบและเครื่องมือใหม่ในการป้องกันและลดคอร์รัปชันในระดับพื้นที่

โครงการวิจัยเพื่อสังคมไทยไร้คอร์รัปชัน ระยะที่ 2

จัดทำข้อเสนอการมีส่วนร่วมของประชาชนเพื่อต่อต้านการคอร์รัปชัน โดยเน้นแนวทางการวิจัยเพื่อทำความเข้าใจปัญหาคอร์รัปชันจากมุมมองของประชาชน ด้วยกระบวนการวิจัยเชิงปฏิบัติการอย่างมีส่วนร่วม (PAR) และกระบวนการ Design Thinking เต็มรูปแบบ

You might also like...

บทความวิจัย : การสร้างความเข้มแข็งภาคประชาสังคมกับปัญหาการทุจริตขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในจังหวัดภูเก็ต

การสร้างความเข้มแข็งของเครือข่ายประชาชนในจังหวัดภูเก็ตเพื่อให้สามารถติดตามปกป้อง ตรวจสอบการทุจริตได้ ต้องอาศัยการทำกิจกรรมร่วมกัน เพื่อให้ความรู้สึกร่วมในการต่อต้านการทุจริต

บทความวิจัย : การพัฒนารูปแบบป้องกันการทุจริตเพื่อสร้างอนาคตร่วมกันของประชาชน ในอำเภอเมือง จังหวัดเลย

การพัฒนารูปแบบการป้องกันการทุจริตอย่างยั่งยืน ควรการสร้างค่านิยมด้านจริยธรรมวิชาชีพร่วมกันของพนักงาน โดยการจัดสวัสดิการอย่างเท่าเทียม และยึดหลักความโปร่งใสและความสามารถของพนักงาน เพื่อให้ภาครัฐและประชาชนสามารถตรวจสอบได้ รวมถึงมีกระบวนการที่ให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการตัดสินใจตามหลักธรรมาภิบาล

บทความวิจัย : กลไกป้องปรามการทุจริตของภาคประชาชนผ่านการสอดส่องและเสนอแนะ

การดำเนินกลไกป้องปรามการทุจริตผ่านคณะกรรมการธรรมาภิบาลจังหวัดที่เน้นการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน ภาคธุรกิจเอกชน และสมาชิกสภาท้องถิ่นที่ไม่ใช่ผู้บริหารในการตรวจสอบและติดตามการดำเนินโครงการจะทำให้เกิดความโปร่งใสและความคุ้มค่าของการดำเนินโครงการ