ลงมือสู้โกง : นักการเมืองเลว” แล้วใครดี ?

ช่วงนี้บรรยากาศการเมืองคึกคักกันมาก เพราะอีกไม่กี่วันก็จะถึงการเลือกตั้งปี 2566 แต่ละพรรคต่างนำเสนอนโยบายของตัวเองกันเต็มที่ ทั้งส่งเสริมสวัสดิการ ปรับค่าแรงขั้นต่ำ ลดค่าใช้จ่ายสาธารณูปโภค และอื่นๆ นับไม่ถ้วน และทุกครั้งที่มีการเลือกตั้งสิ่งที่มักจะตามมาคือ “วาทกรรมทางการเมือง”

วาทกรรมการเมือง (Political Discourse) กล่าวโดยสรุป คือแนวคิดที่ให้ความสนใจและความสำคัญในกิจกรรมของการสื่อความหมายทางภาษา การแสดงความคิดทางการเมือง โดยมีการถ่ายทอดเพื่อดำรงรักษา หรือนำการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองไปด้วย ข้อมูลจากบทความ วาทกรรมการเมือง (Discourse) โดย ธนชาติ แสงประดับธรรมโชติ (2553) ซึ่งวาทกรรมการเมืองอยู่คู่กับสังคมไทยมาอย่างยาวนาน หากย้อนกลับไปก่อน พ.ศ. 2494 เกิดวาทกรรม “ภายใต้ดวงอาทิตย์นี้ ไม่มีสิ่งใดที่ตำรวจไทยทำไม่ได้” โดย พลตำรวจเอกเผ่า ศรียานนท์คงพอจะเป็นประโยคที่คุ้นหูอยู่บ้าง หรือช่วงพ.ศ. 2535 วาทกรรม “เสียสัตย์เพื่อชาติ” โดย พลเอกสุจินดา คราประยูร มาจนถึงการเลือกตั้งปี’62 ที่ผ่านมา ก็มีการผลิตวาทกรรมใหม่อย่าง “สู้ไปกราบไป” มาใช้ ส่วนวาทกรรมที่บทความนี้จะพูดถึงเป็นวาทะที่ถูกผลิตมานานกว่า 10 ปีและยังคงอยู่เรื่อยมา คือวาทกรรม “นักการเมืองเลว”

วาทกรรมนี้ไม่สามารถระบุที่มาได้ว่าใครใช้เป็นคนแรก แต่เป็นที่รู้กันว่ามีการใช้อย่างมากช่วง พ.ศ. 2549 หลังเหตุการณ์รัฐประหาร โดยส่วนใหญ่จะหมายถึงนักการเมืองที่เข้ามาเล่นการเมืองเพื่อหาผลประโยชน์ให้ตัวเอง นักการเมืองที่ทุจริต ทำลายชาติบ้านเมือง จากประสบการณ์ผู้เขียนเองก็เคยพูดคุยกับญาติผู้ใหญ่เกี่ยวกับพรรคการเมืองที่สนใจในการเลือกตั้งที่จะมาถึง ก็ได้คำตอบว่า “ไม่อยากเลือกใครเพราะนักการเมืองมีแต่คนเลว” แนวคิดนี้สะท้อนความคิดของผู้ใช้วาทกรรม “นักการเมืองเลว” ได้เป็นอย่างดี แต่มันก็ทำให้ผู้เขียนคิดตามว่า ถ้านักการเมืองเลวแล้วใครดี ?

ในประวัติศาสตร์บริหารของประเทศถ้าไม่ใช่นักการเมือง อีกกลุ่มหนึ่งที่เข้ามาเกี่ยวพันคงเป็นใครไม่ได้นอกจากกลุ่ม “ทหาร” จากสถิติทำเนียบนายกฯ ประเทศไทย พบว่า เรามีนายกรัฐมนตรีทั้งหมด 29 คน นายกฯที่มาจากพลเรือน 16 คน และนายกฯที่มาจากทหาร 13 คน ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากการรัฐประหาร หากเทียบกันแล้วก็มีจำนวนใกล้เคียงกันมาก แบบนี้วาทกรรม “นักการเมืองเลว”ที่บอกว่านักการเมืองทุจริต หมายความว่า กลุ่มทหารไม่ทุจริตใช่หรือไม่ ?

ถ้าย้อนกลับไปในประวัติศาสตร์ ดูข้อมูลกลุ่มนักการเมืองที่มาจากทหารเองก็มีความเกี่ยวพันกับเรื่องทุจริตและความไม่โปร่งใสไม่ต่างกัน ตัวอย่าง พ.ศ. 2500 จอมพล ป.พิบูลสงคราม เคยใช้อำนาจในการบังคับให้ทหาร ตำรวจ ข้าราชการ เลือกให้ตนได้เป็นนายกฯ จนถูกเรียกว่า “การเลือกตั้งที่สกปรกที่สุด” พ.ศ. 2502-2506 จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ หลังจากเสียชีวิตก็มีคดีอื้อฉาวเรื่องการแบ่งทรัพย์สินของเหล่าภรรยาจนนำไปสู่การสอบสวนและพบว่าระหว่างที่อยู่ในตำแหน่ง จอมพลสฤษดิ์ มีการทุจริตเงินค่าส่วนลดสลากกินแบ่งรัฐบาล งบราชการลับไปเข้าบัญชีส่วนตัว และอีกหลายคดี จนถูกยึดทรัพย์จำนวนหกร้อยล้าน

และ พ.ศ. 2531-2534 ในยุคของพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ ที่แม้จะไม่ได้มาจากการรัฐประหารแต่เป็นนายกฯ ที่เติบโตมาจากเครือข่ายทหาร ในช่วงการบริหารของรัฐบาลพลเอกชาติชาย เป็นช่วงที่ถูกพูดถึงเรื่องการทุจริตอย่างมากจนถูกเรียกว่าเป็นรัฐบาล บุฟเฟ่ต์คาบิเนต (Buffet cabinet)

ข้ามมาจนถึงปัจจุบัน ตอนนี้เรามีรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่แรกเริ่มก็มาจากการรัฐประหารใน พ.ศ. 2557 แม้พลเอกประยุทธ์ไม่มีความเกี่ยวข้องกับคดีทุจริต แต่อย่างไรก็ยังมีการตั้งคำถามจากประชาชนในเรื่องความโปร่งใส ตัวอย่างเรื่องของทรัพย์สินที่มีการเปิดเผยล่าสุดใน ปี พ.ศ. 2557 แต่หลังจากนั้นผ่านมา 9 ปี ยังไม่มีการเปิดเผยเพิ่มเติม กลับมาที่คำถามที่ว่า แบบนี้วาทกรรม “นักการเมืองเลว” ที่บอกว่านักการเมืองทุจริต หมายความว่ากลุ่มทหารไม่ทุจริตใช่หรือไม่ ? ข้อมูลทั้งหมดนี้คงเป็นคำตอบให้ผู้อ่านได้

แต่บทความนี้ผู้เขียนไม่ได้จะบอกว่าทหารทุจริตและนักการเมืองพลเรือนดี ในฝั่งของนักการเมืองพลเรือนเองก็ไม่ใช่ว่าจะไม่มีการทุจริต ยกตัวอย่างอดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร ที่มีความเกี่ยวข้องกับคดีทุจริต 8 คดี (พิพากษาจำคุกแล้ว 4 คดี ยกฟ้อง 2 คดี กำลังไต่สวน 2 คดี)คดีดังๆ ที่เรามักได้ยิน เช่น คดีทุจริตโครงการหวยบนดิน คดีจัดซื้อที่ดินย่านรัชดาภิเษก และนักการเมืองพลเรือนอีกหลายคนก็มีการทุจริต อย่างไรก็ตามข้อมูลทั้งหมดที่ยกมาทำให้เราเห็นทหารและนักการเมืองพลเรือนเป็นเพียงมุมที่มีความเกี่ยวข้องกับการทุจริต แต่ยังมีทหารและนักการเมืองพลเรือนอีกมากที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการทุจริตที่ผู้เขียนไม่ได้กล่าวถึง ดังนั้นทั้งสองกลุ่มย่อมมีคนที่ทุจริตและไม่ทุจริตทั้งนั้น

กลับมาที่คำถามตั้งต้นว่า “นักการเมืองเลว” แล้วใครดี? จึงตอบว่าไม่มีคนกลุ่มไหนเลวทั้งหมด หรือดีทั้งหมด วาทกรรม “นักการเมืองเลว” จึงเป็นการกล่าวโทษอย่างเหมารวม หากพูดถึงคนทุจริตไม่จำเป็นว่าต้องเป็นนักการเมือง ทหาร แม้แต่ข้าราชการ ตำรวจ ครู ก็สามารถทุจริตเงินของประเทศได้ทั้งนั้น อีกทั้งยังเป็นวาทกรรมที่กล่าวหาผู้อื่นโดยไม่มีหลักฐาน รศ.เวียงรัฐ เนติโพธิ์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวไว้ว่า “เราไม่ได้ปฏิเสธว่านักการเมืองทุกคนดี นักการเมืองโกงมันมีจริง แต่วาทกรรม นักการเมืองเลว เป็นการบั่นทอนความเข้าใจว่าประชาธิปไตยมันคือนักการเมืองเลว”

ถ้าหากอยากจะบอกว่านักการเมืองเลวหรือทุจริตก็ควรจะพิจารณาเป็นรายบุคคล รวมทั้งควรมีหลักฐานให้เห็น ยิ่งเราอยู่ในยุคที่มีเทคโนโลยีเข้ามาอำนวยความสะดวก การเข้าถึงข้อมูลจึงไม่ใช่เรื่องยาก Corrupt 0 แพลตฟอร์มที่จัดทำขึ้นโดย องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) และ HAND Social Enterprise เพื่อช่วยให้ประชาชนสามารถตรวจสอบข้อมูลนักการเมืองได้สะดวก เพียงแค่ใส่ชื่อนักการเมืองที่อยากรู้ในเว็บไซต์ https://corrupt0.actai.co/ ก็จะพบข้อมูลสังกัดพรรค ข้อมูลบัญชีทรัพย์สินหนี้สิน ประวัติการดำรงตำแหน่ง คดีความ รวมถึงผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับนักการเมืองคนนั้น ซึ่งผู้ใช้งานสามารถเอาข้อมูลนั้นไปประเมินความเสี่ยงได้ว่านักการเมืองคนนี้มีโอกาสเข้ามาทุจริตแค่ไหน ผู้เขียนเชื่อว่าหากมีข้อมูลและหลักฐาน วาทกรรม “นักการเมืองเลว” ก็คงไม่จำเป็นอีกต่อไปเพราะเราสามารถระบุได้ว่าใครกันแน่ที่เป็นคนโกง

ปีที่แต่ง (พ.ศ.)
2566
ผู้แต่ง

สุรวัฒน์ เดวา

หน่วยงานสนับสนุน

หัวข้อ
Related Content

แนวหน้าต่อต้านคอร์รัปชัน : โอปป้า เพื่อระบบที่ดีสร้างสังคมยั่งยืน

โอปป้าจ๋าช่วยด้วยยยย ! ทำไมคอร์รัปชันยังไม่หมดไปสักที หลาย ๆ คนอาจจะสงสัยว่า ทำไมเราถึงอยากปฏิรูปการศึกษาก็ทำไม่ได้ อยากป้องกันทรัพยากรธรรมชาติก็ทำได้ยากเพราะมีคนแย่งหาผลประโยชน์กันเต็มไปหมด หรือแม้แต่การสร้างสวัสดิการที่ดีให้กับประชาชนก็ดันไม่ถึงมือประชาชนอีก ซึ่งส่วนหนึ่งอาจมาจากการคอร์รัปชันที่ยังไม่สามารถแก้ไขให้หมดไปได้นั่นเอง

แนวหน้าต่อต้านคอร์รัปชัน : เวทีต้านโกงระดับโลก เขาพูดคุยอะไรกัน

4 ประเด็นน่าสนใจจาก “Summit for Democracy 2023” การประชุมระดับโลกเมื่ออาทิตย์ที่ผ่านมา ผศ. ดร.ต่อภัสสร์ ยมนาค ผู้ร่วมก่อตั้งและที่ปรึกษา HAND Social Enterprise HANDSocialEnterprise ได้รับเชิญจากรัฐบาลเกาหลีใต้ให้ไปร่วมเสวนาในงาน Summit for Democracy 2023 หัวข้อหลักงานปีนี้คือ “การต่อต้านคอร์รัปชัน” เชื่อมโยงคำอธิบายว่า การคอร์รัปชันบ่อนทำลายประชาธิปไตย ในทางกลับกันประเทศที่ประชาธิปไตยไม่เข้มแข็งจะทำให้คอร์รัปชันสูงขึ้น

แนวหน้าต่อต้านคอร์รัปชัน : เมื่อผมเรียนรู้การต้านคอร์รัปชัน จากร้านซักผ้า

หรือนี่คือช่างเชื่อมตัวจริง ? เมื่ออาจารย์ต่อภัสสร์พาคุณไปเรียนรู้การต่อต้านคอร์รัปชันจากการตามหาร้านซักผ้าในสหรัฐอเมริกา !

You might also like...

บทความวิจัย : การสร้างความเข้มแข็งภาคประชาสังคมกับปัญหาการทุจริตขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในจังหวัดภูเก็ต

การสร้างความเข้มแข็งของเครือข่ายประชาชนในจังหวัดภูเก็ตเพื่อให้สามารถติดตามปกป้อง ตรวจสอบการทุจริตได้ ต้องอาศัยการทำกิจกรรมร่วมกัน เพื่อให้ความรู้สึกร่วมในการต่อต้านการทุจริต

บทความวิจัย : การพัฒนารูปแบบป้องกันการทุจริตเพื่อสร้างอนาคตร่วมกันของประชาชน ในอำเภอเมือง จังหวัดเลย

การพัฒนารูปแบบการป้องกันการทุจริตอย่างยั่งยืน ควรการสร้างค่านิยมด้านจริยธรรมวิชาชีพร่วมกันของพนักงาน โดยการจัดสวัสดิการอย่างเท่าเทียม และยึดหลักความโปร่งใสและความสามารถของพนักงาน เพื่อให้ภาครัฐและประชาชนสามารถตรวจสอบได้ รวมถึงมีกระบวนการที่ให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการตัดสินใจตามหลักธรรมาภิบาล

บทความวิจัย : กลไกป้องปรามการทุจริตของภาคประชาชนผ่านการสอดส่องและเสนอแนะ

การดำเนินกลไกป้องปรามการทุจริตผ่านคณะกรรมการธรรมาภิบาลจังหวัดที่เน้นการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน ภาคธุรกิจเอกชน และสมาชิกสภาท้องถิ่นที่ไม่ใช่ผู้บริหารในการตรวจสอบและติดตามการดำเนินโครงการจะทำให้เกิดความโปร่งใสและความคุ้มค่าของการดำเนินโครงการ