ผู้เขียนเป็นคนที่ชื่นชอบการฟังเพลงเป็นอย่างมาก ถ้าได้ไปเดินเล่นที่ห้างสรรพสินค้า หรือสถานที่ไหน แล้วบังเอิญได้ยินเสียงเพลงที่ไพเราะถูกใจ ก็อดไม่ได้ที่จะต้องรีบหยิบโทรศัพท์มือถือของตัวเองขึ้นมาเปิด Shazam (แอปพลิเคชั่นในมือถือ) เพื่อหาเพลงที่ได้ยินอยู่คือเพลงของศิลปินคนไหน ชื่อเพลงอะไร หรือถ้ายังหาไม่เจอ ผู้เขียนก็จะพยายามจำเนื้อเพลงแล้วนำไปค้นต่อใน Google จนเจอทั้งชื่อเพลงและชื่อศิลปินในที่สุด
ต้องขอบคุณโลกนี้ที่มีทั้งอินเทอร์เน็ตและเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่ทำให้การสืบค้นข้อมูลต่างๆ เป็นเรื่องง่ายดาย ใครๆก็สามารถหาคำตอบเพื่อคลายข้อสงสัยให้ตัวเองได้ภายในไม่กี่นาที กลับกัน ถ้าหากผู้เขียนพูดถึงการตั้งข้อสงสัยหรือการตั้งคำถามในโรงเรียนบ้าง เราจะสามารถสืบค้นข้อมูลเพื่อหาคำตอบเหมือนอย่างที่ผู้เขียนสงสัยและสืบค้นชื่อเพลงได้หรือไม่?
ในระยะเวลาไม่กี่ปีที่ผ่านมา เราคงจะได้เห็นความเคลื่อนไหวและการตั้งคำถามมากมายของน้องๆ เยาวชนวัยเรียน ที่มีความตื่นตัวต่อการสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นในระบบการศึกษาไทย แน่นอนว่า “โรงเรียน” สถานที่ที่เปรียบเสมือนฉากชีวิตสำคัญฉากหนึ่งของเด็กทุกคน ก็คงหนีไม่พ้นที่จะถูกตั้งคำถามและเรียกร้องคำตอบเช่นกัน จากงานวิจัยการออกแบบและการทดลองต้นแบบเครื่องมือการป้องกันปัญหาคอร์รัปชันของเยาวชน ภายใต้โครงการวิจัยเพื่อสังคมไทยไร้คอร์รัปชัน ระยะที่ 2 ได้ทำการสังเกตการณ์รวบรวมข้อมูลความเคลื่อนไหวในทวิตเตอร์เป็นระยะเวลา 3 เดือน (มกราคม – มีนาคม พ.ศ. 2563) พบว่า ผู้ใช้งานทวิตเตอร์มีการตั้งแฮชแท็ก (Hashtag) เพื่อพูดถึงประเด็นปัญหาในโรงเรียนมากถึง 16 หัวข้อ เช่น #โรงเรียนดังเขตสายไหม #โรงเรียนชื่อดังย่านศาลายา #รร.ชื่อดังย่านหอนาฬิกา เป็นต้น โดยในหัวข้อแฮชแท็กดังกล่าวสามารถสรุปประเด็นที่ผู้ใช้งานพูดถึงเกี่ยวกับโรงเรียนได้ 3 ประเด็นหลัก ได้แก่ 1.) การบริหารจัดการและการใช้งบประมาณในโรงเรียน 2.) คุณภาพการให้บริการของโรงเรียนในเชิงกายภาพ เช่น คุณภาพห้องน้ำ คุณภาพห้องเรียนและอุปกรณ์การเรียน เป็นต้น และ 3.) ความต้องการพื้นที่ในการร้องเรียนหรือพัฒนาโรงเรียนให้ดีขึ้น
จากข้อค้นพบดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่า สถานที่ที่เรียกว่า “โรงเรียน” ยังคงมีจุดมืดบางแห่งที่แสงยังส่องไปไม่ถึง ซึ่งจุดมืดนี้อาจหมายถึง “ข้อมูลโรงเรียน” ที่ยังรอการเปิดเผยสู่สาธารณะเพื่อให้ผู้ที่ได้รับประโยชน์โดยตรงอย่าง “นักเรียน”
ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอย่าง “ผู้ปกครอง ชุมชน และสังคม” เข้ามามีส่วนร่วมตรวจสอบและติดตามการทำงานของโรงเรียนได้อย่างใกล้ชิด ทำให้แสงส่องไปถึงและนั้นจะช่วยเปลี่ยนจากจุดมืดให้กลายเป็นจุดสว่างได้
การเปิดข้อมูลโรงเรียน หรือ Open School Data อาจฟังดูเป็นสิ่งใหม่ในบ้านเรา แต่ในระดับนานาชาติ การเปิดข้อมูลโรงเรียนเป็นสิ่งที่ได้รับความสนใจและมีการศึกษาพัฒนากันมาอย่างต่อเนื่อง ในปี 2014 องค์กร Open Education Working Group ได้นำเสนอมาตรฐานการเปิดข้อมูลการศึกษา (Open Education Data) ที่เป็นประโยชน์ต่อการนำไปพัฒนาคุณภาพด้านการศึกษาอย่างมีส่วนร่วมจากผู้เรียนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย โดยระบุถึงมาตรฐานข้อมูลเปิดที่จะต้องประกอบด้วย ข้อมูลด้านผู้เรียน ข้อมูลด้านหลักสูตรการศึกษา ข้อมูลด้านสถานศึกษา ข้อมูลที่ได้จากผู้เรียน/ผู้สอน และข้อมูลที่ได้จากการดำเนินงานของรัฐบาล
ทำนองเดียวกัน ในปี 2021 ที่ผ่านมา สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการวางแผนการศึกษา โดยองค์กรยูเนสโก (UNESCO International Institute for Educational Planning: IEP-UNESCO) ได้นำเสนอมาตรฐานข้อมูลเปิดโรงเรียนที่เป็นผลจากการวิจัยภายใต้หัวข้อ “การใช้ข้อมูลเปิดโรงเรียนเพื่อปรับปรุงความโปร่งใส (Transparency) และความสามารถตรวจสอบได้ (Accountability) ในภาคการศึกษา” โดยเป็นการศึกษาแนวทางการลดปัญหาคอร์รัปชันในภาคการศึกษาผ่านการปลูกฝังค่านิยมที่ถูกต้องให้กับบุคลากรและเยาวชน ซึ่งมาตรฐานดังกล่าวได้ระบุถึงชุดข้อมูลที่โรงเรียนควรพิจารณาให้มีการสำรวจและนำมาเปิดเผยต่อสาธารณะ เช่น ข้อมูลทุนอุดหนุนของโรงเรียน ข้อมูลการกำกับดูแลและการดำเนินงานของโรงเรียน ข้อมูลความพึงพอใจของผู้ปกครองและนักเรียน เป็นต้น ทั้งนี้ยังได้อธิบายถึงหลักการพื้นฐานการเปิดข้อมูลโรงเรียนด้วยว่า ต้องเป็นข้อมูลระดับโรงเรียนที่มีความครอบคลุมและมีความถูกต้องแม่นยำทุกคนสามารถเข้าถึงข้อมูลได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายหรือมีการลงทะเบียนใดๆ เพิ่มเติม และที่สำคัญที่สุดข้อมูลจะต้องเป็นปัจจุบันและสามารถนำไปใช้ต่อได้อย่างเสรี
ข้อมูลโดย IEP-UNESCO (2021) ยังนำเสนอให้เห็นว่าแนวคิดการเปิดข้อมูลโรงเรียนได้ถูกนำไปพัฒนาและเอาไปใช้จริงแล้วในหลายประเทศ ยกตัวอย่าง เช่น ประเทศเพื่อนบ้านอาเซียนอย่างประเทศอินโดนีเซียได้มีการพัฒนาแพลตฟอร์มชื่อ “Sekolah Kita” ในภาษามาเลย์ แปลว่า “โรงเรียนของเรา” ขึ้นในปี 2015 โดยการดำเนินงานของศูนย์ข้อมูลและสถิติการศึกษาและวัฒนธรรม กระทรวงศึกษาธิการและวัฒนธรรมซึ่งชุดข้อมูลที่นำมาเปิดเผยบนแพลตฟอร์มเป็นการดึงเอาข้อมูลจากระบบสารสนเทศเพื่อบริหารการศึกษา (Education Management Information System: EMIS) มาจัดทำโดยแพลตฟอร์มแสดงข้อมูลเปิดของโรงเรียนทั้งในระดับอนุบาลไปจนถึงโรงเรียนในระดับมัธยม จำนวนทั้งหมด 215,697 โรงเรียนทั่วประเทศ
อีกหนึ่งตัวอย่างจากประเทศฟิลิปปินส์ โครงการ Check My School ที่เน้นหลักการเปิดข้อมูลที่ส่งเสริมพื้นที่การมีส่วนร่วมด้วยการให้นักเรียน ผู้ปกครอง และอาสาสมัครในชุมชนร่วมตรวจสอบคุณภาพและรายงานปัญหาในโรงเรียน เพื่อนำข้อมูลการตรวจสอบที่ได้ไปเผยแพร่สู่สาธารณะผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ โดยแนวทางการทำงานดังกล่าวของโครงการช่วยสร้างแรงกดดันให้โรงเรียนทำงานพัฒนาและแก้ไขปัญหาที่ได้รับรายงานรวดเร็วมากขึ้น อีกทั้งยังช่วยเพิ่มความโปร่งใสและป้องกันปัญหาคอร์รัปชันในโรงเรียนจากการจัดสรรงบประมาณที่ไม่เหมาะสมได้อย่างเห็นผลชัดเจน
กลับมาสู่คำถามในตอนต้นว่า สุดท้ายแล้วเด็กนักเรียนในรั้วโรงเรียนไทย จะมีสิทธิตั้งคำถามและสามารถหาคำตอบให้กับข้อสงสัยที่เกิดขึ้นในโรงเรียนจากการสืบค้นข้อมูลเองได้หรือไม่? ปัจจุบันได้เริ่มมีความพยายามผลักดันให้เกิดการเปิดข้อมูลโรงเรียนในระบบการศึกษาไทยอย่างจริงจัง เช่น โครงการ We The Students โดย HAND Social Enterprise ที่สนับสนุนให้นักเรียนมีส่วนร่วมในกระบวนการตรวจสอบและสำรวจคุณภาพการบริการของโรงเรียนภายใต้การใช้หลักการเปิดเผยข้อมูล (open) ปฏิบัติอย่างมีส่วนร่วม (join) และเรียนรู้กระบวนการตรวจสอบที่เป็นไปตามข้อเท็จจริงอิงเกณฑ์มาตรฐาน (learn) ปัจจุบัน โครงการกำลังอยู่ในขั้นพัฒนาข้อมูลเปิดหรือ School Data ให้เป็นไปตามมาตรฐานการเปิดข้อมูลโรงเรียนอันประกอบด้วยข้อมูล เช่น ข้อมูลนักเรียน ข้อมูลผู้สอน ข้อมูลครุภัณฑ์ เป็นต้น เพื่อเผยแพร่บนแพลตฟอร์ม wethestudents.co ให้นักเรียนสามารถเข้าถึงและนำข้อมูลไปใช้ประกอบการสำรวจ รายงานคุณภาพการบริการของโรงเรียนต่อไป หรือ โครงการการจัดทำมาตรฐานปัจจัยพื้นที่ในการจัดการศึกษาขั้นต่ำ (Fundamental School Quality Level: FSQL) โดยความร่วมมือระหว่างองค์กร World Bank และสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ที่อาศัยเทคโนโลยีสารสนเทศในการจัดทำแผนที่สำรวจเก็บข้อมูลความขาดแคลนและความสามารถในการเข้าถึงทรัพยากรของแต่ละโรงเรียน เพื่อนำมาสร้างเป็นมาตรฐานกำหนดงบประมาณสนับสนุนที่เหมาะสมกับแต่ละโรงเรียนทั่วพื้นที่ประเทศไทย
ผู้เขียนในฐานะผู้ดูแลโครงการ We The Students ก็มีความตั้งใจเช่นกันที่จะผลักดันให้โรงเรียนทุกโรงเรียนในประเทศไทยหันมาสนใจการเปิดข้อมูลโรงเรียนและพัฒนาให้เกิดระบบการเปิดข้อมูลที่เป็นมาตรฐาน นักเรียนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียสามารถเข้าถึงและนำเอาข้อมูลไปต่อยอดเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงทั้งในโรงเรียนและในระบบการศึกษาต่อไป ซึ่งนี้จะเป็นการสร้างจุดเปลี่ยนสำคัญให้กับภาคการศึกษาไทยทั้งในด้านการพัฒนาคุณภาพและการป้องกันปัญหาคอร์รัปชันได้อย่างยั่งยืน
ธิดาภรณ์ แป๊ะสมัน
หัวข้อ
แนวหน้าต่อต้านคอร์รัปชัน : โอปป้า เพื่อระบบที่ดีสร้างสังคมยั่งยืน
โอปป้าจ๋าช่วยด้วยยยย ! ทำไมคอร์รัปชันยังไม่หมดไปสักที หลาย ๆ คนอาจจะสงสัยว่า ทำไมเราถึงอยากปฏิรูปการศึกษาก็ทำไม่ได้ อยากป้องกันทรัพยากรธรรมชาติก็ทำได้ยากเพราะมีคนแย่งหาผลประโยชน์กันเต็มไปหมด หรือแม้แต่การสร้างสวัสดิการที่ดีให้กับประชาชนก็ดันไม่ถึงมือประชาชนอีก ซึ่งส่วนหนึ่งอาจมาจากการคอร์รัปชันที่ยังไม่สามารถแก้ไขให้หมดไปได้นั่นเอง
แนวหน้าต่อต้านคอร์รัปชัน : เวทีต้านโกงระดับโลก เขาพูดคุยอะไรกัน
4 ประเด็นน่าสนใจจาก “Summit for Democracy 2023” การประชุมระดับโลกเมื่ออาทิตย์ที่ผ่านมา ผศ. ดร.ต่อภัสสร์ ยมนาค ผู้ร่วมก่อตั้งและที่ปรึกษา HAND Social Enterprise HANDSocialEnterprise ได้รับเชิญจากรัฐบาลเกาหลีใต้ให้ไปร่วมเสวนาในงาน Summit for Democracy 2023 หัวข้อหลักงานปีนี้คือ “การต่อต้านคอร์รัปชัน” เชื่อมโยงคำอธิบายว่า การคอร์รัปชันบ่อนทำลายประชาธิปไตย ในทางกลับกันประเทศที่ประชาธิปไตยไม่เข้มแข็งจะทำให้คอร์รัปชันสูงขึ้น
แนวหน้าต่อต้านคอร์รัปชัน : เมื่อผมเรียนรู้การต้านคอร์รัปชัน จากร้านซักผ้า
หรือนี่คือช่างเชื่อมตัวจริง ? เมื่ออาจารย์ต่อภัสสร์พาคุณไปเรียนรู้การต่อต้านคอร์รัปชันจากการตามหาร้านซักผ้าในสหรัฐอเมริกา !