ลงมือสู้โกง : เมื่อประชาชนถูกฟอกด้านความยั่งยืน จากกับดักการตลาดฉาบฉวย

ยุคสมัยที่ผู้บริโภคเริ่มตระหนักถึงความเป็นอยู่และสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ส่งผลให้แบรนด์หันมาพัฒนาผลิตภัณฑ์หรือบริการโดยคำนึงถึงความยั่งยืน สิทธิมนุษยชน และสิ่งแวดล้อม โดยหารู้ไม่ว่า เราอาจจะเป็นผู้ร้ายโดยไม่ทันตั้งตัว

บนฉลากระบุว่าผลิตจาก “ธรรมชาติ” ในความเป็นจริงอาจจะไม่ได้เป็นมิตรต่อ “สิ่งแวดล้อม”เสมอไป เพราะไม่สามารถการันตีว่ากระบวนการผลิตอาจจะเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน ตัวอย่างงานสิ่งทอที่นำฝ้ายจากธรรมชาติมาผลิตเสื้อผ้าขายในอุตสาหกรรมแฟชั่น ฝ้ายยังคงต้องใช้ยาฆ่าแมลงและสารเคมีในการเพาะปลูกให้ทันต่อฤดูกาลสินค้า ซ้ำร้ายแล้วอาจจะมีแรงงานหรือเยาวชนจำนวนมากที่ถูกเอาเปรียบซึ่งพวกเขาไม่ได้รับสวัสดิการและความปลอดภัยจากบริษัทเลย

บริษัทหรือหน่วยงานที่พยายามสร้างผลกระทบทางสังคมด้วยการประชาสัมพันธ์ตัวเลขสถิติ เช่น ปริมาณการชดเชยคาร์บอน ปริมาณต้นไม้จากกิจกรรมปลูกป่า ภาพของกิจกรรม CSR หรือ CSV การต้อนรับนักท่องเที่ยว LGBTQ+ ฯลฯ อันที่จริงแล้ว ตัวเลขที่ถูกประชาสัมพันธ์ได้เกิดขึ้นจากการดำเนินกิจการหรือเพียงแค่สร้างภาพเป็นมิตรต่อผู้บริโภคเท่านั้น ซึ่งมั่นใจได้อย่างไรว่าการกระทำเหล่านั้นไม่ใช่ SDG Washing หรือ การฟอกเป้าหมายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

การฟอกเป้าหมายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG Washing) คือร่มใหญ่สำคัญที่ครอบคลุม การฟอกเขียว (Green Washing) – การประชาสัมพันธ์ด้านสิ่งแวดล้อมของธุรกิจหรือหน่วยงาน แต่ไม่เป็นไปตามสิ่งที่สื่อสารออกไป การฟอกชมพู (Pink Washing) – การส่งเสริมสิทธิทางเพศและสิทธิมนุษยชนไปตามกระแสความนิยมของตลาด เพื่อสร้างโอกาสให้กับทางธุรกิจหรือหน่วยงานนั้น และ การฟอกน้ำเงิน (Blue Washing) กล่าวคือ ความแยบยลของบริษัทหรือองค์กรที่เข้าร่วมเป็นหัวขบวนกับองค์การสหประชาชาติ (UN) ในการส่งเสริมสิทธิและเสรีภาพ ความยั่งยืนด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม แต่มิได้ปรับเปลี่ยนวิธีคิด หรือกิจกรรมในธุรกิจเลยด้วยซ้ำ

ทำไมต้อง SDG washing ด้วยละ? ก็เพราะความเย้ายวน (Temptation) และโอกาสการเติบโตทางธุรกิจที่จะดึงความสนใจให้ผู้บริโภคหรือนักลงทุนจับตามอง และอาจนำไปสู่การผูกขาดทางทรัพยากรและตลาด ดังนั้น ธุรกิจก็แค่เสียค่าใช้จ่ายเพื่อประชาสัมพันธ์หรือวางกลยุทธ์การตลาดแบบฉาบฉวย ทำกิจกรรม CSR หรือ CSV แบบที่เรียกว่าขอไปทีแล้วได้ภาพกลับมาเพื่อมีสิทธิลดหย่อนทางภาษี โดยไม่รู้ว่ากิจกรรมเหล่านั้นได้สร้างความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมหรือชุมชนมากแค่ไหน ตัวอย่างของการฟอกสีต่างๆ ได้แก่

ตลาดรับซื้อคาร์บอนเครดิตที่มีธุรกิจหรืออุตสาหกรรมพยายามซื้อคาร์บอนเครดิตเพื่อชดเชยจากกิจกรรมที่ปล่อยก๊าซคาร์บอน (Carbon-offset)แต่กลับไม่ตระหนักว่ากิจกรรมได้สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและผู้คนมากน้อยแค่ไหน ไม่มีการปรับหรือเปลี่ยนกิจกรรมทั้งห่วงโซ่อุปทาน ตลอดจนประเมินผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นอย่างรอบด้าน

การกำกับบนฉลากสินค้า ประเภทกลุ่มคำ Net Zero, Zero Carbon และ Neutral Carbon โดยพยายามบอกว่ากระบวนการผลิตไม่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอน ความจริงคือ กระบวนการผลิตในภาคอุตสาหกรรมไม่สามารถเลี่ยงการปล่อยคาร์บอนหรือก๊าซเรือนกระจกออกสู่ชั้นบรรยากาศได้ อย่างน้อยๆที่พอจะนึกออกคือกระบวนการขนส่งนั่นเอง ดังนั้นกลุ่มคำหลอกล่อเป็นเพียงการตลาดฉาบฉวยที่เราอาจจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของการฟอกเขียวโดยไม่รู้ตัว

การประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์ของแบรนด์ที่เป็นมิตรต่อกลุ่มความหลากหลายทางเพศ หรือส่งเสริมการท่องเที่ยวกลุ่มความหลากหลายทางเพศให้ชาวต่างชาติได้นำเม็ดเงินมาใช้จ่ายในประเทศ เกิดขึ้นเพื่อเป้าหมายทางการตลาด แต่ยังคงเพิกเฉย หรือมีการเลือกปฏิบัติต่อกลุ่มความหลากหลายทางเพศในประเทศ ตลอดจนการเลือกปฏิบัติทางกฎหมาย

แล้วจะทำอย่างไรเพื่อไม่ให้เผลอตัวสนับสนุนหรือเป็นส่วนหนึ่งของการตลาดแบบฉาบฉวย?

ลองคิดดูว่าอากาศที่เราหายใจ ดินที่เราใช้เพาะปลูก น้ำที่เราอุปโภคอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน การดำเนินชีวิตและสวัสดิการพื้นฐานของเรา ล้วนได้รับผลกระทบทางตรงและทางอ้อมไปโดยปริยาย ทางออกที่เป็นไปได้ คือการช่วยผลักดันให้ธุรกิจหรืออุตสาหกรรมเข้ามามีส่วนรับผิดชอบ รวมไปถึงการเปิดเผยข้อมูลอย่างโปร่งใส ทั้งนี้ การประเมินผลกระทบก็สามารถเป็นสารตั้งต้นสำหรับการตรวจสอบได้ โดยประเมินผลกระทบจากผลิตภัณฑ์หรือการดำเนินกิจการทั้งห่วงโซ่อุปทาน และการประเมินผลกระทบของการลงทุนอย่างรอบด้าน เพื่อช่วยให้นักลงทุนและบริษัทจดทะเบียนหลักทรัพย์ถูกกำกับดูแลและตรวจสอบจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง จะเห็นได้จากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ที่พยายามพัฒนากองทุนรวมเพื่อความยั่งยืน (Sustainable and Responsible Investing Fund : SRI Fund) และ ONE Report อย่างเข้มงวด

ขณะเดียวกัน ประชาชนคือฟันเฟืองสำคัญที่จะเข้ามาประกอบร่างกลไกตรวจสอบและติดตามผลดำเนินงาน ซึ่งเป็นทางแก้ไขปัญหาที่ดีที่สุด เพราะการติดตามและตรวจสอบธุรกิจหรือหน่วยงานว่าเข้าข่ายการฟอกสีหรือไม่ จะได้ผลดีที่สุดคือผู้บริโภคหรือประชาชนเอง เพราะเมื่อยิ่งประชาชนหรือผู้บริโภคเริ่มตระหนักรู้ และเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องในการตรวจสอบมากเท่าไร การฟอกเขียวก็ยิ่งทำได้ยากมากขึ้นเท่านั้น

แม้ว่าตอนนี้เรายังพูดชัดเจนไม่ได้ว่า ประชาชนมีเครื่องมือตรวจสอบกิจการหรือไม่ บทบาทหน้าที่ในการดูแลรับผิดชอบคือใคร แต่เมื่อเกิดความสงสัยและมีการตรวจสอบบนพื้นฐานข้อมูลมากเท่าไหร่ การตลาดแบบฉาบฉวยยิ่งหลอกล่อพวกเราได้น้อยลงเท่านั้น

 
ปีที่แต่ง (พ.ศ.)
2565
ผู้แต่ง

วรรณภณ หอมจันทร์

หน่วยงานสนับสนุน

หัวข้อ
Related Content

แนวหน้าต่อต้านคอร์รัปชัน : เวทีต้านโกงระดับโลก เขาพูดคุยอะไรกัน

4 ประเด็นน่าสนใจจาก “Summit for Democracy 2023” การประชุมระดับโลกเมื่ออาทิตย์ที่ผ่านมา ผศ. ดร.ต่อภัสสร์ ยมนาค ผู้ร่วมก่อตั้งและที่ปรึกษา HAND Social Enterprise HANDSocialEnterprise ได้รับเชิญจากรัฐบาลเกาหลีใต้ให้ไปร่วมเสวนาในงาน Summit for Democracy 2023 หัวข้อหลักงานปีนี้คือ “การต่อต้านคอร์รัปชัน” เชื่อมโยงคำอธิบายว่า การคอร์รัปชันบ่อนทำลายประชาธิปไตย ในทางกลับกันประเทศที่ประชาธิปไตยไม่เข้มแข็งจะทำให้คอร์รัปชันสูงขึ้น

แนวหน้าต่อต้านคอร์รัปชัน : เปิดตัว KRAC ศูนย์ความรู้ต้านโกง

คอร์รัปชันเป็นปัญหาที่มีความซับซ้อนอย่างมาก ถ้าไม่แก้ไขทุกมิติอย่างครอบคลุมผลที่ตามมาอาจกลายเป็นเพิ่มปัญหาให้สังคมได้ จึงต้องใช้วิธีที่มีประสิทธิภาพ หนึ่งในนั้นคือการใช้ความรู้ทางวิชาการ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติจึงได้ร่วมมือกับคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ จัดตั้ง “ศูนย์ความรู้เพื่อความร่วมมือในการต่อต้านคอร์รัปชัน และส่งเสริมธรรมาภิบาลในระดับภูมิภาค” (Knowledge hub for Regional Anti-corruption and good governance Collaboration: KRAC) ขึ้น เมื่อ 24 เมษายนที่ผ่านมา

แนวหน้าต่อต้านคอร์รัปชัน : สื่อสารต้านโกงอย่างไร ถึงได้ผล

ในหลายๆ ครั้งที่ผมได้มีโอกาสไปบรรยายเรื่องการต่อต้านคอร์รัปชันให้กับผู้ฟังซึ่งเป็นทั้งเจ้าหน้าที่รัฐ นิสิต นักศึกษา และประชาชนทั่วไป ข้อแนะนำหนึ่งที่มักจะได้มาคือ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรสื่อสาร นำเสนอเรื่องราวของผลกระทบจากการคอร์รัปชันที่รุนแรง เพื่อให้สังคมหวาดกลัวการคอร์รัปชันและรังเกียจคนคอร์รัปชัน เป็นการใช้พลังสังคมเพื่อกดดันให้ “คนโกงไม่มีที่ยืนในสังคม”

You might also like...

โครงการวิจัยพัฒนาฐานข้อมูลองค์ความรู้ด้านธรรมาภิบาล (Phase 2)

การศึกษาเพื่อสร้างตัวชี้วัดสำหรับการประเมินและติดตามการนำหลักธรรมาภิบาลไปใช้ในการบริหารจัดการขององค์กรในประเทศไทย พบว่า มีความเหมาะสมในการนำไปใช้ในระดับมาก และยังสามารถปรับปรุงดัชนีชี้วัดบางตัวเพื่อให้สอดคล้องการทำงานของแต่ละหน่วยงานได้

บทความวิจัย : การสร้างความเข้มแข็งภาคประชาสังคมกับปัญหาการทุจริตขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในจังหวัดภูเก็ต

การสร้างความเข้มแข็งของเครือข่ายประชาชนในจังหวัดภูเก็ตเพื่อให้สามารถติดตามปกป้อง ตรวจสอบการทุจริตได้ ต้องอาศัยการทำกิจกรรมร่วมกัน เพื่อให้ความรู้สึกร่วมในการต่อต้านการทุจริต

บทความวิจัย : การพัฒนารูปแบบป้องกันการทุจริตเพื่อสร้างอนาคตร่วมกันของประชาชน ในอำเภอเมือง จังหวัดเลย

การพัฒนารูปแบบการป้องกันการทุจริตอย่างยั่งยืน ควรการสร้างค่านิยมด้านจริยธรรมวิชาชีพร่วมกันของพนักงาน โดยการจัดสวัสดิการอย่างเท่าเทียม และยึดหลักความโปร่งใสและความสามารถของพนักงาน เพื่อให้ภาครัฐและประชาชนสามารถตรวจสอบได้ รวมถึงมีกระบวนการที่ให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการตัดสินใจตามหลักธรรมาภิบาล