เพื่อศึกษาบริบทของชุมชน ทุนทางสังคม และสถานการณ์ธรรมาภิบาลและการคอร์รัปชันในระดับพื้นที่ รวมถึงระบบและกลไกทางสังคมต่อการจัดการ และป้องกันปัญหาโดยชุมชนมีส่วนร่วม
งานวิจัยเรื่องนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาบริบทชุมชน ทุนทางสังคม และสถานการณ์เรื่องธรรมาภิบาลและปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันในพื้นที่อย่างมีส่วนร่วม โดยใช้ระเบียบวิธีวิจัยเพื่อท้องถิ่น (Community Based Research : CBR) และการวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม (Participatory Action Research : PAR) โดยมีศูนย์ประสานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น จังหวัดน่าน เป็นผู้ออกแบบกระบวนการ
โดยมุ่งศึกษาระบบและไกทางสังคมในพื้นที่ต่อการจัดการ และป้องกันปัญหาการคอร์รัปชันแบบชาวบ้าน รวมถึงศึกษาข้อมูลความรู้ของท้องถิ่นในด้านสถานการณ์ปัญหา นิยามความหมาย และทัศนคติต่อการคอร์รัปชันในรูปแบบต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ เพื่อเป็นองค์ความรู้สำคัญในการทำความเข้าใจปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับปัญหาการคอร์รัปชันในพื้นที่ ที่สอดคล้องกับบริบทวัฒนธรรม ความเชื่อ เเละวิถีชีวิตของคนในพื้นที่อย่างเเท้จริง
สรุปประเด็นจากงานวิจัย
- ผลการศึกษาเรื่องปัญหาการคอร์รัปชันของคนในพื้นที่ สามารถสรุปเหตุการณ์การคอร์รัปชันได้ จำนวน 14 เหตุการณ์ ดังนี้ (1) การกินเปอร์เซ็นต์ในการจัดซื้อจัดจ้าง (2) ระบบเงินทอน หรือวิ่งงาน (3) การเสนอราคาในลักษณะสมยอมกัน (4) การแจ้งข้อมูลจัดซื้อจัดจ้างเฉพาะกลุ่มของตนเองเท่านั้น (5) การยืมชื่อผู้รับจ้างรายอื่น (6) การปิดบังข้อมูลโครงการ (7) การใช้เส้นสายในการคัดเลือกคน (8) การรับสินบนในการแต่งตั้ง โยกย้าย หรือซื้อตำแหน่ง (9) การยึดบัญชีและบัตรเอทีเอ็มของชาวบ้านเพื่อรับเงินจากโครงการ (10) การใช้วัสดุก่อสร้างที่ไม่ได้คุณภาพ (11) การปล่อยปละละเลย หรือรู้เห็นเป็นใจกับผู้รับจ้าง (12) โครงการไม่เกิดประโยชน์จริง (13) โครงการไม่ผ่านการประชาคมหมู่บ้าน และ (14) ถูกผู้มีอิทธิพลบังคับข่มขู่ โดยผลการจัดทำประเด็นดังกล่าว สามารถสรุปได้ว่ามุมมองของชาวบ้านที่มีต่อการคอร์รัปชันนั้น ค่อนข้างหลากหลาย เช่น การคดโกง ที่มีทั้งการคดโกงแบบเจ้าหน้าที่ และแบบชาวบ้าน การทำสิ่งผิดกฎหมายและความไม่โปร่งใส่ การให้และรับสินบน การทุจริตต่อหน้าที่
- ผลจากการจัดเวทีชาวบ้าน เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ พบว่าสถานการณ์คอร์รัปชันส่วนใหญ่ที่พบในพื้นที่ เป็นประเด็นเกี่ยวกับการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ การแก้ปัญหาภัยพิบัติ งบพัฒนา และงบจัดซื้อจัดจ้างที่เข้ามาในพื้นที่ เช่น โครงการปลูกป่า การขุดลอกลำน้ำ การสร้างฝายชะลอน้ำ การทำแนวกันไฟป่า สำหรับสาเหตุของการคอร์รัปชัน เช่น ความเคยชิน รายได้ของชาวบ้านไม่เพียงพอ การทำตามผู้นำ หรือความรักสงบที่ไม่อยากเข้าไปยุ่งเรื่องของคนอื่น ในขณะที่การดำเนินงานป้องกันและแก้ไขปัญหาคอร์รัปชัน เป็นการทำงานที่ภาคประชาชนร่วมกันหาทางตรวจสอบการทำงานของภาครัฐ และมุ่งสร้างเครือข่ายเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารในการตรวจสอบการทำงานของภาครัฐในพื้นที่ รวมทั้งการใช้กฎระเบียบทางสังคมในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นรายกรณี
- ผลจากการศึกษาโดยใช้วิธีวิจัยเพื่อท้องถิ่น แสดงให้เห็นว่าแม้อำเภอบ่อเกลือจะอยู่ห่างไกลจากตัวเมือง ชาวบ้านส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกร และไม่ได้มีความรู้ที่สูงนัก แต่ชาวบ้านก็มีความตื่นตัวต่อปัญหาการคอร์รัปชัน โดยเฉพาะการดำเนินโครงการด้านการจัดการทรัพยากร ซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องกับวีถีชีวิต ความเชื่อ และความเป็นอยู่ของประชาชน ส่งผลให้ชาวบ้านจำนวนไม่น้อย รวมตัวกันเพื่อจัดการกับปัญหาการคอร์รัปชันที่เกิดขึ้นในพื้นที่ ซึ่งผลจากการดำเนินงานภายใต้โครงการวิจัย ได้มีส่วนสำคัญในการสร้างความมั่นใจให้กับชาวบ้านในการก้าวข้ามความกลัว ที่เป็นผลพวงมาจากปัญหาการคอร์รัปชัน รวมถึงการสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมในการติดตาม เเละตรวจสอบการทำงานที่เป็นระบบมากขึ้น เพื่อให้เกิดกลไกเฝ้าระวังการคอร์รัปชันในพื้นที่ ที่สอดคล้องกับปัญหาเเละบริบทในพื้นที่ได้
อภิสิทธิ์ ลัมยศ, สุทธิรา อุดใจ และดวงพร ยังรักษ์. (2561). โครงการแนวทางการเสริมสร้างธรรมาภิบาลท้องถิ่นและการเฝ้าระวังติดตามการคอร์รัปชันโดยชุมชนมีส่วนร่วม กรณีศึกษา : พื้นที่อำเภอบ่อเกลือ จังหวัดน่าน. สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.).
- อภิสิทธิ์ ลัมยศ
- สุทธิรา อุดใจ
- ดวงพร ยังรักษ์
โครงการสำรวจการรับรู้และความเข้าใจด้านการขัดกันแห่งผลประโยชน์ (Conflict of Interest) ของเจ้าหน้าที่รัฐในองค์การบริหารส่วนจังหวัดของประเทศไทย
ศึกษาและสํารวจข้อมูลระดับการรับรู้ของเจ้าหนาที่รัฐในองค์การบริหารส่วนจังหวัดที่มีต่อความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับความขัดแย้งแห่งผลประโยชน์ (Conflict of Interest) เพื่อลดพฤติกรรมความขัดแย้งแห่งผลประโยชน์ในอนาคต
โครงการศึกษาพรมแดนและช่องว่างความรู้เรื่องคอร์รัปชันและธรรมาภิบาล เพื่อสนับสนุนการจัดทำแผนบูรณาการด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ปี พ.ศ. 2566-2570
ศึกษาพัฒนาการของงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการคอร์รัปชันและธรรมาภิบาลในประเทศไทย เพื่อจัดทำข้อเสนอแนะต่อแนวทางการสนับสนุนการพัฒนางานวิจัยในประเด็นคอร์รัปชัน และธรรมาภิบาลในอนาคต
โครงการวิจัยและประสานงานเพื่อสังคมไทยไร้คอร์รัปชัน
เพื่อออกแบบงานวิจัยสำหรับแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันบนฐานการมีส่วนร่วมของประชาชนและภาคส่วนต่าง ๆ รวมถึงพัฒนาระบบและเครื่องมือใหม่ในการป้องกันและลดคอร์รัปชันในระดับพื้นที่
โครงการวิจัยเพื่อสังคมไทยไร้คอร์รัปชัน ระยะที่ 2
จัดทำข้อเสนอการมีส่วนร่วมของประชาชนเพื่อต่อต้านการคอร์รัปชัน โดยเน้นแนวทางการวิจัยเพื่อทำความเข้าใจปัญหาคอร์รัปชันจากมุมมองของประชาชน ด้วยกระบวนการวิจัยเชิงปฏิบัติการอย่างมีส่วนร่วม (PAR) และกระบวนการ Design Thinking เต็มรูปแบบ