แนวหน้าต่อต้านคอร์รัปชัน : อำนาจที่ประชาชนเลือกมอบให้ใครก็ได้ ทำยังไงไม่ให้ไปตกอยู่กับคนโกง

กำนันนก หรือ “ประวีณ จันทร์คล้าย” เคยเป็นผู้ใหญ่บ้านมาก่อน หลังจากอดีตกำนันตำบลตาก้องได้เสียชีวิต เขาจึงลงสมัครกำนันและได้รับเลือกจนมาเป็น “กำนันนก” ในวันนี้ กำนันนก
จึงเป็นตัวอย่างผู้ใช้อำนาจที่ได้มาจากการเห็นชอบของประชาชนในท้องถิ่นสร้างความร่ำรวยจากการได้งานก่อสร้างจากงบประมาณเกือบทั้งหมดที่ส่งมาพัฒนาท้องถิ่นและจังหวัด เมื่อร่ำรวยขึ้นก็ใช้เงินซื้อคนเข้าพวก ใช้เงินซื้ออำนาจรัฐมาอยู่ภายในการอุปถัมภ์ได้ ซื้ออำนาจรัฐที่ติดอาวุธให้มาอยู่ใต้อำนาจ เพื่อสร้างความร่ำรวยยิ่งขึ้นไปอีก

อำนาจรัฐติดอาวุธในกรณีนี้ก็คือ ตำรวจทางหลวง ที่มีหน้าที่ดูแลการใช้ถนนให้มีความปลอดภัยและรักษาระเบียบ ข้อบังคับ จำกัดการบรรทุกน้ำหนักในการขนส่ง เพื่อป้องกันถนนพังและชำรุด แต่ตำรวจบางคนกลับใช้อำนาจหน้าที่นี้หาเงินเข้าตัว โดยเรียกเงินสินบนรายเดือนจากรถบรรทุกที่จ่ายเงินค่าสติ๊กเกอร์ มีสิทธิ์เหนือกฎหมาย บรรทุกน้ำหนักเกินกำหนดได้ เมื่อถนนพัง ก็จะมีงบประมาณส่งมาซ่อมใหม่ ทำให้คนที่เลือกกำนันนก ก็ไม่รู้สึกเดือดร้อนอะไร

ถ้าหากไม่มีกรณี นายตำรวจทางหลวงที่มารับตำแหน่งใหม่ เพื่อปราบปรามส่วยสติ๊กเกอร์ทางหลวง ถูกยิงเสียชีวิตในงานเลี้ยงประจำเดือนที่บ้านกำนันนก ต่อหน้าตำรวจที่มาร่วมงานกินเลี้ยงคืนนั้นด้วยกว่า 20 คน กำนันนก ก็คงยังจะไม่มีใครไปแตะต้องได้ต่อไปเรื่อยๆ และอาจจะมีพรรคการเมืองมาเชิญไปเข้าพรรค ได้เป็นสส. ได้เป็นถึงรัฐมนตรีในที่สุด ตามที่มีตัวอย่างมาแล้วทั้งในอดีตและปัจจุบัน

ยังมีอีกตัวอย่าง คือ “เสาไฟกินรี” งบประมาณ 871 ล้านของ อบต.ราชาเทวะ ซึ่งจัดซื้อในราคาแพงมาก นำไปปักในถนนเข้าไปในทุ่งไร้คนสัญจร จนคนมีคนเห็นแล้วถ่ายรูปมาเผยแพร่สาธารณะ จึงกลายเป็นข่าวใหญ่ไปทั้งประเทศ แต่คนในตำบลราชาเทวะ จังหวัดสมุทรปราการ ก็ยังเลือก นายก อบต. นายทรงชัย นกขมิ้น ให้ชนะเลือกตั้งกลับเข้ามาเป็นนายก อบต. ได้อีกสมัยหนึ่ง!

เล่ามาแต่เรื่องร้ายๆ แต่เรื่องดีๆ ก็มีให้เห็น เช่น อบต.ดอนแก้ว จังหวัดเชียงใหม่ ที่ได้เข้ารับรางวัลองค์กรคุณธรรมต้นแบบในปี 2563 นี้ แต่นี่ไม่ใช่ครั้งแรก เพราะ อบต.ดอนแก้วนี้ ได้รับรางวัลมาต่อเนื่องมานานนับสิบปีแล้ว ผมสนใจมาก จึงไปสอบถามรายละเอียด ได้ความว่า ที่นี่มีแต่คนดีๆ มาอยู่รวมกัน ทั้งอดีตข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ของจังหวัด และนายทหารเกษียณอายุ ที่อาสาเข้ามาทำงาน โดยไม่มีคู่แข่งจากกลุ่มนักแสวงหาประโยชน์จากงบประมาณ เพราะที่ตำบลนี้งบประมาณน้อยมาก เลยไม่มีใครสนใจจะเข้ามาทำงาน ตำบลดอนแก้ว จึงรอดปากแร้งปากกามาได้ตลอด

อีกตัวอย่าง คือ เทศบาลตำบลพลา จังหวัดระยอง ที่ทำเรื่องดีๆ ดูแลนักท่องเที่ยว ซึ่งนำมาซึ่งการพัฒนาเศรษฐกิจของท้องถิ่นเป็นอย่างดี ไม่ใช่แค่ดูแลแต่กับธุรกิจร้านค้าที่จ่ายส่วยเหมือนอีกหลายๆ ที่ เขาลงโทษสั่งปิดร้านขายอาหารริมหาด ที่มีนักเลงไปไล่นักท่องเที่ยวไม่ให้จอดรถหน้าร้าน 7 วัน ด้านเจ้าของร้านก็ยอมรับกติกาส่วนรวมโดยดี ออกมาไหว้ขอโทษยอมรับผิด ขอโอกาสปรับปรุงตัว

ทั้งหมดที่เล่ามานี้ เพื่อมาสู่ข้อสรุปของผมว่า การปกครองภายใต้ระบอบประชาธิปไตยแบบไทยไทยที่พูดกันแต่เรื่องให้ประชาชนมีสิทธิเลือกตั้งแค่นั้นไม่เพียงพอ!!! ที่เราสอนประชาธิปไตยกันในโรงเรียนแค่เพียงให้มีการเลือกตั้งหัวหน้าห้องหรือให้มีแค่สภานักเรียนแค่นั้นก็ยังไม่พอ เราจะต้องสร้างความเข้าใจว่าการใช้อำนาจเลือกตั้งตัวแทนนั้นเป็นเพียงส่วนเดียวของระบอบประชาธิปไตยเท่านั้น สิ่งสำคัญนั่นก็คือความรับผิดชอบของผู้ที่ไปเลือกตั้ง ที่ต้องดูแลให้ผู้แทนของตนที่เลือกเข้าไปให้หน้าที่อย่างซื่อสัตย์สุจริต ไม่แสวงหาผลประโยชน์เข้ากับตัวเอง ญาติ และเพื่อนฝูง

การเรียนเรื่องประชาธิปไตย ควรมีการปฏิบัติในโรงเรียนด้วย เช่น ทดลองให้หัวหน้าห้อง เก็บรวบรวมเงินกองทุนห้องจากนักเรียนทุกคน แล้วให้หัวหน้าห้องเสนอเพื่อนๆ ว่าจะเอาเงินนี้ไปทำอะไร โดยต้องให้เพื่อนทั้งห้องมีส่วนร่วมกันคิด ถกเถียงกันด้วยเหตุด้วยผล ให้แต่ละโรงเรียนเชิญนักการเมืองท้องถิ่นที่เป็นผู้ใหญ่ที่มีคนเคารพนับถือ มาเล่าให้ฟังว่าการบริหารงานในระบอบประชาธิปไตยที่ดี ท้องถิ่นและบ้านเมืองจะเจริญ โรงเรียนก็จะเจริญได้ด้วยการปฏิบัติอย่างไรบ้าง

ในต่างประเทศมีตัวอย่างการใช้ประชาธิปไตยทางตรงที่ไม่ใช่แค่เลือกตั้งครั้งเดียวแล้วจบ อย่างที่เมืองปอร์โต อัลเลเกร ประเทศบราซิล มีการใช้กระบวนการที่เรียกว่า Participatory Budgeting หรือ การมีส่วนรวมออกแบบงบประมาณ โดยเปิดข้อมูลการใช้งบประมาณประจำปีให้ประชาชนในเมืองมาถกเถียงกัน และออกเสียงลงคะแนนว่า รัฐบาลเมืองควรออกแบบการใช้งบประมาณอย่างไร ให้ตอบสนองความต้องการของประชาชนมากที่สุด

สำหรับประเทศไทย วันนี้เราเริ่มก้าวแรกในการเปิดข้อมูลงบประมาณขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศ รวมถึง กทม. ด้วยแล้ว โดยประชาชนสามารถเข้าไปดูรายการงบประมาณรายจ่ายประจำปีโดยละเอียด ในรูปแบบที่เข้าใจได้ง่าย ไม่ใช่เอกสารหนาเป็นเล่มๆ ผ่านเว็บไซต์ ACT Ai ขององค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ที่ https://localbudgeting.actai.co/ และ https://bangkokbudgeting.wevis.info/ โดย WeVis

ประชาธิปไตย ที่ไม่จบแค่การเลือกตั้งนี่ล่ะ คือ วิธีการที่จะทำให้ “อำนาจที่ประชาชนเลือกมอบให้ใครก็ได้ ไม่ให้ไปตกอยู่กับมือคนโกง” ครับ

ปีที่แต่ง (พ.ศ.)
2566
ผู้แต่ง
  • รศ.ดร.ต่อตระกูล ยมนาค
  • ผศ.ดร.ต่อภัสสร์ ยมนาค
หน่วยงานสนับสนุน

หัวข้อ
Related Content

แนวหน้าต่อต้านคอร์รัปชัน : โอปป้า เพื่อระบบที่ดีสร้างสังคมยั่งยืน

โอปป้าจ๋าช่วยด้วยยยย ! ทำไมคอร์รัปชันยังไม่หมดไปสักที หลาย ๆ คนอาจจะสงสัยว่า ทำไมเราถึงอยากปฏิรูปการศึกษาก็ทำไม่ได้ อยากป้องกันทรัพยากรธรรมชาติก็ทำได้ยากเพราะมีคนแย่งหาผลประโยชน์กันเต็มไปหมด หรือแม้แต่การสร้างสวัสดิการที่ดีให้กับประชาชนก็ดันไม่ถึงมือประชาชนอีก ซึ่งส่วนหนึ่งอาจมาจากการคอร์รัปชันที่ยังไม่สามารถแก้ไขให้หมดไปได้นั่นเอง

แนวหน้าต่อต้านคอร์รัปชัน : เวทีต้านโกงระดับโลก เขาพูดคุยอะไรกัน

4 ประเด็นน่าสนใจจาก “Summit for Democracy 2023” การประชุมระดับโลกเมื่ออาทิตย์ที่ผ่านมา ผศ. ดร.ต่อภัสสร์ ยมนาค ผู้ร่วมก่อตั้งและที่ปรึกษา HAND Social Enterprise HANDSocialEnterprise ได้รับเชิญจากรัฐบาลเกาหลีใต้ให้ไปร่วมเสวนาในงาน Summit for Democracy 2023 หัวข้อหลักงานปีนี้คือ “การต่อต้านคอร์รัปชัน” เชื่อมโยงคำอธิบายว่า การคอร์รัปชันบ่อนทำลายประชาธิปไตย ในทางกลับกันประเทศที่ประชาธิปไตยไม่เข้มแข็งจะทำให้คอร์รัปชันสูงขึ้น

แนวหน้าต่อต้านคอร์รัปชัน : เมื่อผมเรียนรู้การต้านคอร์รัปชัน จากร้านซักผ้า

หรือนี่คือช่างเชื่อมตัวจริง ? เมื่ออาจารย์ต่อภัสสร์พาคุณไปเรียนรู้การต่อต้านคอร์รัปชันจากการตามหาร้านซักผ้าในสหรัฐอเมริกา !

You might also like...

บทความวิจัย : มาตรการทางกฎหมายเกี่ยวกับการป้องกันการทุจริตในการสอบเข้ารับราชการ

แนวทางการดำเนินคดีสำหรับผู้ทุจริตการสอบคัดเลือกเข้ารับราชการ และเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาด้านการพัฒนากฎหมายการทุจริตการสอบคัดเลือกเข้ารับราชการ

บทความวิจัย : ทางออกการป้องกันและการปราบปรามทุจริตในสังคมไทย

แนวทางแก้ไขปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันในสังคมไทยต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนของสังคม รวมทั้งภาคประชาชนในการติดตามและตรวจสอบการทุจริตในภาครัฐ

บทความวิจัย : แนวทางพัฒนาจริยธรรมนักการเมืองไทย

การประเมินจริยธรรมของนักการเมืองโดยภาพรวมอยู่ในระดับต่ำ ดังนั้น จึงควรมีมาตรการพัฒนาจริยธรรม มาตรการกำหนดคุณสมบัติด้านจริยธรรม และมาตรการกำหนดบทลงโทษในกรณีทำความผิด เพื่อยกระดับจริยธรรมในนักการเมืองให้สูงขึ้น