แล้วอะไรคือคอร์รัปชัน

การศึกษานิยามของคำว่า “คอร์รัปชัน” มีต้นกำเนิดและความหมายที่ถูกอธิบายผ่านองค์ความรู้ในการมองเรื่องของการคอร์รัปชันที่แตกต่างหลากหลาย แต่จุดร่วมที่สำคัญประการหนึ่งของการให้นิยามการคอร์รัปชัน คือ ความคิด การกระทำ หรือการตัดสินใจของตัวบุคคล เช่น เจ้าหน้าที่รัฐ ข้าราชการ นักการเมือง นักธุรกิจ หรือประชาชนที่ใช้อำนาจหรือหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้ได้มาซึ่งผลประโยชน์ส่วนตัว

คอร์รัปชันเป็นปัญหาที่มีความรุนแรง และกระจายตัวอยู่อย่างกว้างขวางทั่วโลกทั้งในภาครัฐและเอกชน และผลกระทบของการทุจริตคอร์รัปชันนับเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ เศรษฐกิจ การเมือง สังคม และคุณภาพชีวิตในด้านต่าง ๆ ของประชาชน สร้างความเหลื่อมล้ำระหว่างชนชั้นในสังคมให้กว้างยิ่งขึ้น ซึ่งคำว่า “คอร์รัปชัน” (Corruption) มีรากศัพท์มาจากภาษาละตินว่า “Corrumpere” ซึ่งมาจากสองคำรวมกัน คือคำว่า “Com” (Together) ซึ่งแปลว่าร่วมกัน หรือด้วยกัน กับคำว่า “Rumpere” (To Break) ที่แปลว่าทำให้เสียหาย หรือทำลาย เมื่อนำมารวมกันจึงมีความหมายว่า “การร่วมกันทำลายบางสิ่งบางอย่างลงไป”

ต่อมาคำว่า “คอร์รัปชัน” ได้ถูกนำมาใช้กับการอธิบายการร่วมกันทำลาย และละเมิด หรือไม่ปฏิบัติตามจริยธรรม หรือธรรมเนียมปฏิบัติทั่วไปของสังคม และมีความหมายในเชิงแสลงที่หมายถึง สถานการณ์ที่ขมุกขมัวในมุมมองทางศีลธรรมทางการเมือง เพราะเกี่ยวพันกับสถานการณ์ที่ไม่ชัดเจน ไม่โปร่งใส รวมไปถึงสถานการณ์ที่เป็นความลับ จึงนำมาสู่การกระทำของเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ร่วมกันหาประโยชน์ให้กับตนเองหรือบุคคลอื่น

ส่วนคำว่า “คอร์รัปชัน” ที่ใช้ในปัจจุบัน อาจพิจารณาได้จากการให้คำนิยามโดยนักวิชาการ และองค์กรระหว่างประเทศ ตามแนวคิดของศาสตร์ต่าง ๆ ที่เป็นพื้นฐานของงานวิชาการนั้น ๆ เช่น แนวคิดรัฐศาสตร์ที่หมายถึง การที่บุคคลใช้ประโยชน์ที่ได้จากการทำงานภาครัฐเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัว หรือแนวคิดเศรษฐศาสตร์ที่หมายถึง การละเมิดกฎระเบียบที่กำกับดูแลการจัดสรรทรัพยากรของรัฐโดยเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้อง ในขณะที่องค์กรระหว่างประเทศที่มีพันธกิจเกี่ยวข้องกับการต่อต้านคอร์รัปชันได้ให้คำนิยามคอร์รัปชันว่าหมายถึง การใช้อำนาจที่ได้รับมอบหมายในทางมิชอบเพื่อจะให้ได้มาซึ่งประโยชน์ส่วนตน

สำหรับประเทศไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 ระบุว่า “คอร์รัปชัน” (เป็นคำกริยา) หมายถึง โกง เบียดบัง ทุจริต ฉ้อราษฎร์บังหลวงรับสินบน และยังให้ความหมายของคำว่า “ทุจริตต่อหน้าที่”เอาไว้ด้วยว่าหมายถึง การปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใดในตำแหน่งหรือหน้าที่ หรือในพฤติการณ์ที่อาจทำให้ผู้อื่นเชื่อว่ามีตำแหน่งหรือหน้าที่ หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหรือหน้าที่ เพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบสำหรับตนเองหรือผู้อื่น ซึ่งความหมายนี้ สอดคล้องกับที่สถาบันพระปกเกล้า (2547) ได้ให้คำจำกัดความการทุจริตประพฤติมิชอบว่าหมายถึง การใช้ตำแหน่งงานสาธารณะ การใช้อำนาจในทางมิชอบเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัว หรือเพื่อประโยชน์ของปัจเจกบุคคล หรือกลุ่มบุคคล

จะเห็นได้ว่า นิยามของคำว่าคอร์รัปชัน มุ่งเน้นไปที่ความคิด การกระทำ หรือการตัดสินใจของตัวบุคคลเป็นหลัก จึงอาจสรุปได้ว่า “คอร์รัปชัน” คือ การกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ ข้าราชการ นักการเมือง รวมถึงนักธุรกิจเอกชน และประชาชนทั่วไปที่เกี่ยวข้องที่ใช้อำนาจหน้าที่ทั้งของรัฐและของเอกชน เพื่อผลประโยชน์ส่วนตัว โดยครอบคลุมถึงการกระทำหลายอย่าง เช่น การให้สินบน การกรรโชก การใช้อิทธิพล การเล่นพรรคเล่นพวก การโกงการฟอกเงิน การฉ้อฉล ซึ่งล้วนเป็นพฤติกรรมการคอร์รัปชันที่พบเห็นได้ในสังคม

เอกสารอ้างอิง
รูปแบบ APA

ต่อภัสสร์ ยมนาค และสุภัจจา อังค์สุวรรณ. (2566). (ต่อต้าน) คอร์รัปชัน 101 ((Anti) Corruption 101). กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

ปีที่แต่ง (พ.ศ.)
กุมภาพันธ์ 2567
ผู้แต่ง
  • ศูนย์ความรู้เพื่อความร่วมมือในการต่อต้านคอร์รัปชัน และส่งเสริมธรรมาภิบาลในระดับภูมิภาค

หน่วยงานสนับสนุน
05_โลโก้ KRAC
หัวข้อ
Related Content

แล้วอะไรคือคอร์รัปชัน

การศึกษานิยามของคำว่า “คอร์รัปชัน” มีต้นกำเนิดและความหมายที่ถูกอธิบายผ่านองค์ความรู้ในการมองเรื่องของการคอร์รัปชันที่แตกต่างหลายหลาย แต่จุดร่วมที่สำคัญประการหนึ่งของการให้คำนิยามการคอร์รัปชัน คือ…

หันมองสถาบันและการคอร์รัปชันที่เป็นอยู่

แนวคิดเกี่ยวกับ “สถาบัน” เป็นแนวคิดที่สามารถใช้อธิบายถึงปรากฏการณ์คอร์รัปชันที่มีความซับซ้อน
และเกี่ยวข้องกับมิติทั้งในด้านเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม …

รู้จัก CPI เพื่อเข้าใจสถานการณ์คอร์รัปชัน

ในปัจจุบัน ดัชนีภาพลักษณ์การคอร์รัปชัน หรือ Corruption Perceptions Index (CPI) นับว่าเป็นดัชนีที่ได้รับการยอมรับมากที่สุดจากรัฐบาล ภาควิชาการ และนักลงทุนทั่วโลก …

You might also like...

บทความวิจัย : การประเมิน “เครื่องมือประเมิน” พิชิตความโกงของ ป.ป.ช. กรณีศึกษาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในจังหวัดเชียงราย

เมื่อการประเมิน ITA ถูกประเมินเสียเอง พบว่า เครื่องมือประเมินคุณธรรมความโปร่งใสของ ป.ป.ช. ไม่สามารถบรรลุวัตถุประสงค์ที่มุ่งแก้ไขปัญหาทุจริตคอรัปชั่นในหน่วยงานภาครัฐได้ (กรณีศึกษา จังหวัดเชียงราย)

บทความวิจัย : การทุจริตเชิงโครงสร้างในระบบเลือกตั้ง

การพิจารณาปัญหาการทุจริตการเลือกตั้งในการเลือกตั้งแต่ละระบบ และปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการทุจริตการเลือกตั้ง เพื่อเป็นข้อมูลและฐานในการถกเถียงเกี่ยวกับระบบการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคต

แนวหน้าต่อต้านคอร์รัปชัน : ปฏิวัติไม่ใช่ทางออก : การแก้ปัญหาคอร์รัปชันอย่างยั่งยืนในสังคมไทย

“ถ้ารัฐบาลนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งขึ้นโกง ก็ปฏิวัติเสียดีกว่า เอาคนดีมาจัดการนักการเมืองโกง” วาทกรรมที่คุ้นหูนี้สะท้อนความคิดที่ฝังรากลึกในสังคมไทยมาอย่างยาวนาน แต่เมื่อย้อนดูประวัติศาสตร์ การรัฐประหารที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าในประเทศไทย กลับไม่เคยแก้ปัญหาคอร์รัปชันได้อย่างยั่งยืน ตรงกันข้าม ปัญหากลับทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ สะท้อนให้เห็นว่าการใช้อำนาจเผด็จการเด็ดขาดไม่ใช่คำตอบ แต่กลับเป็นการให้อำนาจประชาชนอย่างแท้จริงผ่านระบอบประชาธิปไตยที่เข้มแข็งต่างหาก