วิเคราะห์ผลกระทบของนโยบายประชานิยม และกําหนดกรอบนโยบายที่เหมาะสม เพื่อเสนอแนะแนวทางและมาตรการการหลีกเลี่ยงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากนโยบายประชานิยม
สถานการณ์การทุจริตของประเทศไทยในองค์รวม และที่แยกย่อยออกเป็นภาคสังคมด้านต่าง ๆ มีรูปแบบโครงสร้าง และความสัมพันธ์ที่หลากหลาย และซับซ้อนมากขึ้น โดยเฉพาะการทุจริตเชิงนโยบาย ซึ่งเป็นปัญหาที่พบมากขึ้นในปัจจุบัน ทั้งการกําหนดนโยบายของพรรคการเมือง การใช้อํานาจอย่างไม่โปร่งใส ก่อให้เกิดผลเสียต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศอย่างมหาศาล
การวิจัยเรื่องนี้ จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาและวิเคราะห์ผลกระทบของนโยบายประชานิยมของรัฐบาลไทย เปรียบเทียบความแตกต่างระหว่างนโยบายประชานิยม กับ นโยบายรัฐสวัสดิการ และสร้างเกณฑ์สําหรับกําหนดกรอบนโยบายที่เหมาะสมของรัฐบาล เพื่อเสนอแนะแนวทางและมาตรการหลีกเลี่ยงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากนโยบายประชานิยม
โดยใช้วิธีการวิจัยเชิงคุณภาพ ได้แก่ การวิจัยเอกสาร การวิเคราะห์ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย การจัดสนทนากลุ่ม การสัมภาษณ์เชิงลึก การทำวงล้ออนาคต การวิเคราะห์ต้นทุนผลประโยชน์ และการรับฟังความคิดเห็น โดยผู้ให้ข้อมูลหลัก เป็นผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งในภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม นักวิชาการ และประชาชนจํานวนทั้งสิ้น 137 คน ที่เกี่ยวข้องกับนโยบายประชานิยมทั้ง 8 โครงการ ได้แก่ (1) โครงการพักหนี้เกษตรกรรายย่อย และประชาชนผู้มีรายได้น้อย (2) โครงการบัตรสินเชื่อเกษตรกร (3) โครงการมาตรการรถยนต์คันแรก (4) โครงการจัดการเรียนการสอนโดยใช้คอมพิวเตอร์พกพา (แท็บเล็ต) (5) โครงการรับจํานําข้าวเปลือก (6) โครงการเพื่อออกแบบและก่อสร้างระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน และระบบแก้ไขปัญหาอุทกภัยของประเทศไทย (7) โครงการลดอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล และ (8) โครงการบ้าน ธอส. (ธนาคารอาคารสงเคราะห์) เพื่อที่อยู่อาศัยแห่งแรก
สรุปประเด็นจากงานวิจัย
- ผลการวิจัย พบว่านโยบายประชานิยมของรัฐบาลไทยจํานวน 8 โครงการ สามารถจําแนกประเด็นนโยบายออกเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ (1) นโยบายที่เกี่ยวข้องกับเกษตรกร และการพยุงสินค้าเกษตร (2) นโยบายด้านการศึกษา (3) นโยบายที่เกี่ยวข้องกับคุณภาพชีวิต และความเป็นอยู่ และ (4) นโยบายการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ โดยโครงการที่ส่งผลกระทบทางบวกเป็นส่วนใหญ่และค่อนข้างมีความคุ้มค่าสูง ได้แก่ โครงการบัตรสินเชื่อเกษตรกร โครงการบ้าน ธอส. (ธนาคารอาคารสงเคราะห์) เพื่อที่อยู่อาศัยแห่งแรก และโครงการลดอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล ส่วนโครงการที่ส่งผลกระทบทางลบเป็นส่วนใหญ่และมีความคุ้มค่าน้อย ได้แก่ โครงการพักหนี้เกษตรกรรายย่อย และประชาชนผู้มีรายได้น้อย โครงการรับจํานําข้าวเปลือก โครงการจัดการเรียนการสอนโดยใช้คอมพิวเตอร์พกพา (แท็บเล็ต) โครงการมาตรการรถยนต์คันแรก และโครงการเพื่อออกแบบและก่อสร้างระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน และระบบแก้ไขปัญหาอุทกภัยของประเทศไทย
- ผลการวิจัย พบว่า นโยบายประชานิยมแตกต่างจากนโยบายรัฐสวัสดิการในสามประเด็น ได้เเก่ หนึ่ง ความต่อเนื่องของนโยบาย สอง เป้าหมายในการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่เท่าเทียม และยั่งยืนของประชาชน และสาม ภาระทางการคลัง โดยนโยบายประชานิยมเป็นเพียงนโยบายระยะสั้น ที่ใช้เป็นกลยุทธ์ในการสร้างคะแนนนิยมของนักการเมืองเพื่อให้ชนะการเลือกตั้ง ทำให้อาจไม่มีการสานต่อเมื่อเปลี่ยนรัฐบาล และกลายเป็นการสร้างภาระทางการคลังต่อไป ในขณะที่นโยบายรัฐสวัสดิการ จะมีความต่อเนื่องในรัฐบาลทุกชุด เนื่องจากเป็นบทบาทหลักของรัฐในการกระจายความมั่งคั่งอย่างชอบธรรม และมีความรับผิดชอบต่อประชาชนทุกกลุ่มผ่านระบบการจัดเก็บภาษีที่มีประสิทธิภาพ
- มาตรการสําหรับการหลีกเลี่ยงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากนโยบายประชานิยม รวมทั้งการขยายตัวของนโยบายประชานิยมในรูปแบบต่าง ๆ สามารถจําแนกประเด็นนโยบายออกเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่
- นโยบายที่เกี่ยวข้องกับเกษตรกรและการพยุงสินค้าเกษตร ควรเน้นที่ความจำเป็นและวคามต้องการที่แท้จริงของเกษตรกร
- นโยบายด้านการศึกษาต้องส่งเสริมการพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน และทักษะการเรียนรู้ตลอดชีวิตของผู้เรียนเป็นสําคัญอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม
- นโยบายที่เกี่ยวข้องกับคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ ต้องคํานึงถึงความคุ้มค่าของงบประมาณที่ใช้ไปกับความต้องการจําเป็นและการคัดกรองประชาชนกลุ่มเป้าหมาย
- นโยบายการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ ควรส่งเสริมให้มีการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน
- จากผลการวิจัย มีข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย เช่น การจัดทํานโยบายควรมีการสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในทุกมิติ รัฐบาลควรมีการศึกษาถึงกฎหมาย ข้อกําหนด หรือระเบียบราชการต่าง ๆ อย่างรอบคอบ และดําเนินการตามอย่างเคร่งครัด ในด้านข้อเสนอแนะสําหรับการทําวิจัยในอนาคต เช่น มีการศึกษาเชิงลึกในแต่ละกลุ่มนโยบายสาธารณะ เช่น นโยบายการเกษตร นโยบายการศึกษา นโยบายพัฒนาคุณภาพชีวิต หรือนโยบายการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และการพัฒนาหลักสูตรฝึกอบรมประชาชนเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจและการรู้เท่าทันนักการเมือง จะทําให้รับมือ และหลีกเลี่ยงการเกิดนโยบายประชานิยมได้อย่างยั่งยืน
- สำหรับข้อเสนอเเนะต่อสํานักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ในการป้องกันผลกระทบจากนโยบายประชานิยม สามารถดำเนินการในรูปแบบภาคีเครือข่าย ได้ 3 ระยะ ได้แก่ ระยะต้นน้ำ ดําเนินงานร่วมกับคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ในการคัดกรองผู้สมัครตําแหน่งทางการเมือง สร้างภาคีเครือข่ายกับภาคประชาสังคมในแต่ละพื้นที่ในการให้ความรู้เกี่ยวกับการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตย ระยะกลางน้ำ เน้นบทบาทของสํานักงาน ป.ป.ช. ในการสร้างภาคีเครือข่ายในรูปแบบที่มุ่งตรวจสอบการนํานโยบายไปปฏิบัติ และ ระยะปลายน้ำ เป็นการสร้างภาคีเครือข่ายการปราบปรามผู้ที่ทุจริต การใช้กระบวนการตรวจสอบทรัพย์สินของผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมือง และนำผู้กระทําผิดทางการเมืองมาลงโทษ
พสชนัน นิรมิตรไชยนนท์, อริศรา เล็กสรรเสริญ, กมลพร สอนศรี และวรรณชลี โนริยา. (2561). โครงการนโยบายประชานิยม : ผลกระทบและแนวทางการรับมือ. สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ.
- พสชนัน นิรมิตรไชยนนท์
- อริศรา เล็กสรรเสริญ
- กมลพร สอนศรี
- วรรณชลี โนริยา
หัวข้อ
โครงการศึกษาเรื่องการแสวงหาผลประโยชน์จากการอนุญาต โดยใช้อำนาจรัฐ
ศึกษาการตรวจสอบดุลพินิจของฝ่ายปกครองในการออกใบอนุญาต และศึกษากฎหมายต่างประเทศเพื่อเสนอแนะมาตรการทางกฎหมายในการป้องกันการแสวงหาผลประโยชน์จากการอนุญาตโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐ
โครงการศึกษามาตรการแทรกแซงตลาดข้าวเพื่อป้องกันการทุจริต: การแสวงหาค่าตอบแทนส่วนเกินและเศรษฐศาสตร์การเมืองของโครงการรับจำนำข้าวเปลือก
เพื่อประมาณการต้นทุน รายรับ การขาดทุน ต้นทุนสวัสดิการสังคมของโครงการรับจํานําข้าวเปลือก และประมาณการผลตอบแทนส่วนเกินที่ตกแก่กลุ่มบุคคลต่าง ๆ เพื่อวิเคราะห์การแสวงหาค่าเช่า และศึกษาการทุจริตของผู้ที่เกี่ยวข้อง
โครงการพัฒนากฎหมายป้องกันและปราบปรามการทุจริต
เพื่อศึกษาเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 244 มาตรา 245 ประกอบมาตรา 221 เกี่ยวกับการวางระบบการร่วมมือกันทำงานขององค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ เพื่อกำหนดมาตรการ และวิธีการทำงานร่วมมือกันของ
องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตเชิงนโยบายอย่างมีประสิทธิภาพ
ประสิทธิผล