KRAC คัดสรร เล่างานวิจัยไทย | ชวนถอดรหัส “วัฒนธรรมองค์การต้านโกง” จาก ฮ่องกง สิงคโปร์และฟินแลนด์

ปัจจุบันปัญหาคอร์รัปชันยังเป็นวิกฤตสำคัญที่ส่งผลไปทั่วไปทุกมุมโลก ไม่เว้นแม้แต่ประเทศไทย

ประเทศไทยที่เผชิญปัญหานี้มาอย่างยาวนานและทุกรัฐบาลก็พยายามหาทางแก้ไขมาตลอด โดยในช่วง พ.ศ. 2556-2559 ที่ผ่านมา รัฐบาลไทยได้กำหนดยุทธศาสตร์ชาติว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ระยะที่ 2 (พ.ศ. 2556-2560) ซึ่งมีเป้าหมายในการสร้างค่านิยมสุจริตให้กับประชาชน ให้ทุกคนมีคุณธรรม ไม่ยุ่งเกี่ยวกับการทุจริต และต่อมาในระยะที่ 3 (พ.ศ. 2560-2564) ได้มีการบูรณาการเป้าหมายให้สังคมไทยทุกภาคส่วนร่วมกันต่อต้านการทุจริต ไม่ว่าจะเป็นสถาบันครอบครัว สถาบันทางการศึกษา สถาบันวิชาชีพ สถาบันศาสนา และสถาบันสื่อมวลชน เพราะรัฐมองกว่าองค์การเหล่านี้มีความสำคัญในการปลูกฝังค่านิยมสุจริต

 

จากประเด็นที่กล่าวมา KRAC จึงอยากชวนคุณมาศึกษาการสร้างวัฒนธรรมองค์การเพื่อต้านโกงจากงานวิจัยเรื่อง “การสังเคราะห์รูปแบบ กลไกและแนวทางการปลูกฝัง เจตคติและวัฒนธรรมสุจริตเพื่อการป้องกันและปราบปรามการทุจริต” (2563) โดย ธิฏิรัตน์ พิมลศรและคณะ ที่ได้ศึกษาการต่อต้านการทุจริตโดยการปลูกฝังค่านิยมสุจริตให้กับองค์การทางสังคมและการนำไปปรับใช้ในแนวทางที่เหมาะสม เพื่อผลักดันดัชนีชี้วัดภาพลักษณ์คอร์รัปชัน (CPI) ของไทยให้มากกว่าร้อยละ 50 โดยศึกษาจากเอกสารวิชาการและสัมภาษณ์ผู้ที่เกี่ยวข้องกับองค์การในไทย 

 

และหนึ่งในเรื่องน่าสนใจที่ KRAC จะนำมาเล่าวันนี้คือ กรณีศึกษาวัฒนธรรมองค์การเพื่อป้องกันการทุจริตจากเขตปกครองพิเศษฮ่องกง ประเทศสิงคโปร์ และประเทศฟินแลนด์ ซึ่งเป็นเขตปกครองพิเศษและประเทศที่สามารถต่อต้านคอร์รัปชันได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเราได้สรุปแนวทางของหนึ่งเขตปกครองพิเศษและทั้งสองประเทศมา ดังนี้

ฮ่องกง หรือเขตบริหารพิเศษฮ่องกงแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน

หากเรามองดูประวัติศาสตร์ฮ่องกงจะพบเห็นการทุจริตมาอย่างยาวนาน ตั้งแต่ยุคอาณานิคม จนกระทั่งช่วงปี 1960-1970 ที่การทุจริตฝังรากลึกในวงจรธุรกิจและการเมือง มีการเรียกรับค่าน้ำร้อนน้ำชาเพื่ออำนวยความสะดวกต่าง ๆ อย่างแพร่หลาย

 

แต่จุดเปลี่ยนสำคัญเกิดขึ้นหลังคดีอื้อฉาวของ Peter Godber ในปี 1973 อดีตรองผู้บัญชาการตำรวจที่มีทรัพย์สินจำนวนมากโดยไม่สามารถอธิบายที่มาได้ นอกจากนี้ยังเกิดการทุจริตอย่างหนักในฮ่องกงช่วงวิกฤตเศรษฐกิจปี 1997 ทำให้ฮ่องกงหันมาปราบปรามทุจริตอย่างจริงจังด้วยแนวทางหลายวิธี ได้แก่ 

  1. การจัดตั้ง ICAC: การก่อตั้งคณะกรรมการอิสระป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ICAC) เป็นองค์การอิสระที่มีอำนาจเต็มในการสอบสวนและดำเนินคดีผู้ทุจริต ทำให้การต่อสู้กับการทุจริตเป็นไปอย่างโปร่งใสและมีประสิทธิภาพ 

  2. ยุทธศาสตร์ 3 ด้าน : ICAC ใช้ยุทธศาสตร์ 3 ด้านในการต่อต้านการทุจริต คือ การสอบสวน การป้องกัน และการให้การศึกษา ซึ่งครอบคลุมทั้งการปราบปรามและการสร้างจิตสำนึก 
  3. ความร่วมมือจากทุกภาคส่วน : การแก้ไขปัญหาการทุจริตไม่ใช่แค่หน้าที่ของรัฐบาล แต่ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม 
  4. การปลูกฝังค่านิยมสุจริต: ฮ่องกงให้ความสำคัญกับการปลูกฝังค่านิยมสุจริตตั้งแต่ระดับเยาวชน ผ่านการศึกษา การอบรม และการสร้างความตระหนักรู้ในสังคม
  5. กฎหมายและการบังคับใช้: ฮ่องกงมีกฎหมายที่เข้มงวดในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต และมีการบังคับใช้อย่างจริงจังและต่อเนื่อง ตัวอย่างกฎหมาย เช่น The Prevention of Bribery Ordinance (POBO) เป็นกฎหมายกำหนดบทลงโทษเกี่ยวกับการรับสินบนในรูปแบบต่าง ๆ เช่น การรับของขวัญ ซองแดงวันปีใหม่ และ Misconduct in Public Office (MIPO) กฎหมายที่ควบคุมพฤติกรรมการใช้อำนาจหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ของรัฐ เช่น เจ้าหน้าที่รัฐที่มีทรัพย์สินมากและไม่สามารถชี้แจงที่มาได้ หรือใช้ชีวิตที่หรูหราฟุ่มเฟือยเกินกว่าเงินเดือนที่ตนได้รับจะถูกตั้งข้อหาว่าทุจริต

และด้วยปัจจัยทั้งหมดนี้ ฮ่องกงจึงสามารถเปลี่ยนแปลงจากสังคมที่มีการทุจริตอย่างแพร่หลายไปสู่สังคมที่มีค่านิยมสุจริตมากยิ่งขึ้น เห็นได้จากดัชนีภาพลักษณ์คอร์รัปชันที่ฮ่องกงได้รับ 84 คะแนนจาก 100 คะแนนเต็ม ซึ่งถือว่ามีคะแนนที่สูงเป็นอันดับที่ 14 ของโลก

สิงคโปร์

ในช่วงก่อนปี 2502 สิงคโปร์เป็นประเทศภายใต้อาณานิคมของอังกฤษที่มีปัญหาการทุจริตจากหลายปัจจัย เช่น กฎหมายไม่ครอบคลุม กำลังคนไม่เพียงพอสำหรับหน่วยงานต่อต้านการทุจริต แต่หลังจากได้รับเอกราช ประเทศสิงคโปร์ก็ค่อย ๆ เปลี่ยนแปลงตัวเองจนกลายเป็นประเทศที่มีความโปร่งใสสูงสุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วยการดำเนินการหลายวิธีการ ได้แก่

  1. ความเป็นอิสระขององค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน : สิงคโปร์จัดตั้งสำนักงานสืบสวนการทุจริต (CPIB) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีความอิสระสูง ทำให้สามารถปฏิบัติงานได้อย่างตรงไปตรงมาปราศจากการแทรกแซงทางการเมือง มีอำนาจในการสืบสวนและดำเนินคดีทุจริตที่ครอบคลุมทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน รวมถึงชาวสิงคโปร์ในต่างประเทศ 
  2. กฎหมายที่เข้มงวดและครอบคลุม: สิงคโปร์มีกฎหมายต่อต้านการทุจริตที่เข้มงวดและมีบทลงโทษที่รุนแรง เช่น การปรับ การจำคุก และการยึดทรัพย์สิน นอกจากนี้ กฎหมายยังครอบคลุมการทุจริตทุกรูปแบบ ทั้งการให้และรับสินบน การใช้อำนาจในทางมิชอบ และการฟอกเงิน 
  3. ระบบราชการที่โปร่งใสและมีประสิทธิภาพ: รัฐบาลสิงคโปร์ให้ความสำคัญกับการสร้างระบบราชการที่โปร่งใสและมีประสิทธิภาพ โดยยึดหลักธรรมาภิบาลในการบริหารงาน มีการกำหนดมาตรฐานจริยธรรมที่เข้มงวดสำหรับข้าราชการ และมีระบบตรวจสอบที่เข้มแข็ง 
  4. ระบบคัดเลือกและพัฒนาบุคลากร: สิงคโปร์มีระบบการคัดเลือกบุคลากรเข้าสู่หน่วยงานภาครัฐที่เข้มงวด โดยเน้นที่ความรู้ความสามารถและคุณธรรม นอกจากนี้ยังมีระบบการพัฒนาบุคลากรอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ข้าราชการมีความรู้และทักษะที่จำเป็นในการปฏิบัติงานอย่างมีประสิทธิภาพและซื่อสัตย์ 
  5. การให้เงินเดือนและสวัสดิการที่สูง: ข้าราชการและนักการเมืองในสิงคโปร์ได้รับเงินเดือนและสวัสดิการที่สูงเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ ซึ่งช่วยลดแรงจูงใจในการทุจริตได้ 
  6. การปลูกฝังค่านิยมสุจริตตั้งแต่เยาว์วัย: รัฐบาลสิงคโปร์ให้ความสำคัญกับการปลูกฝังค่านิยมสุจริตตั้งแต่ระดับเยาวชน ผ่านการศึกษาในโรงเรียนและมหาวิทยาลัย รวมถึงการรณรงค์สร้างความตระหนักรู้ในสังคม 
  7. บทบาทของสื่อมวลชน: แม้จะมีการควบคุมสื่ออย่างเข้มงวด แต่สื่อมวลชนในสิงคโปร์ก็มีบทบาทสำคัญในการสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับปัญหาการทุจริตและส่งเสริมค่านิยมสุจริตในสังคม

ฟินแลนด์

แม้ประเทศฟินแลนด์จะมีปัญหาทุจริตอยู่บ้าง ตั้งแต่การทุจริตระดับเล็กๆ เช่น การจ่ายสินบนและผลประโยชน์ทับซ้อนที่เกี่ยวข้องกับภาคการเมือง ไปจนถึงการติดสินบนในการทำธุรกิจทั้งในประเทศและในต่างประเทศ

 

แต่ฟินแลนด์ก็เป็นประเทศที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นประเทศที่มีความโปร่งใสสูงและมีการทุจริตต่ำจากการประเมินความโปร่งใสโดยองค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International) ซึ่งฟินแลนด์อยู่ในอันดับที่ 1-5 ตั้งแต่ พ.ศ. 2538-2561 โดยวิธีการของฟินแลนด์ มีดังนี้ 

  1. สภาพสังคมที่เอื้อต่อความสุจริต: ฟินแลนด์มีพื้นฐานสังคมที่แข็งแกร่ง ด้วยระบบสวัสดิการที่ครอบคลุมและการศึกษาที่มีคุณภาพ ทำให้ประชาชนมีความเท่าเทียมกันทางเศรษฐกิจและสังคม นอกจากนี้สังคมฟินแลนด์ยังให้ความสำคัญกับความซื่อสัตย์และความรับผิดชอบ ทำให้การทุจริตเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้ในสังคม ปัจจัยทั้งหมดนี้ทำให้ฟินแลนด์เป็นประเทศที่มีความเสี่ยงในการทุจริตต่ำ 
  2. ระบบการเมืองที่โปร่งใสและตรวจสอบได้: ฟินแลนด์มีระบบการเมืองแบบประชาธิปไตยที่มีการกระจายอำนาจ ทำให้เกิดการตรวจสอบและถ่วงดุลระหว่างรัฐบาลกลาง รัฐบาลท้องถิ่น และประชาชน รวมถึงองค์กรอิสระ เช่น ผู้ตรวจการของรัฐสภาที่ทำหน้าที่ตรวจสอบการใช้อำนาจของรัฐบาลและเจ้าหน้าที่รัฐ 
  3. ระบบคุณธรรมและจริยธรรม: ฟินแลนด์ให้ความสำคัญกับการปลูกฝังคุณธรรมและจริยธรรมในทุกภาคส่วนของสังคม โดยเฉพาะในภาครัฐ มีการกำหนดประมวลจริยธรรมสำหรับข้าราชการและนักการเมือง เพื่อป้องกันการขัดกันแห่งผลประโยชน์ อีกทั้งยังส่งเสริมความซื่อสัตย์สุจริตอีกด้วย 
  4. การส่งเสริมความโปร่งใสและการมีส่วนร่วมของประชาชน: รัฐบาลฟินแลนด์ส่งเสริมความโปร่งใสในการบริหารงานภาครัฐ โดยเปิดเผยข้อมูลและเอกสารราชการ และส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล 
  5. การศึกษา: ระบบการศึกษาของฟินแลนด์มีคุณภาพสูง และเน้นการปลูกฝังค่านิยมสุจริตและความรับผิดชอบต่อสังคมตั้งแต่ระดับเยาว์วัย นอกจากนี้ ยังมีการควบคุมคุณภาพและจริยธรรมของครูอย่างเข้มงวด ทั้งหมดนี้ทำให้ฟินแลนด์สามารถสร้างวัฒนธรรมต่อต้านคอร์รัปชันได้สำเร็จด้วยการผสานปัจจัยหลายด้าน ตั้งแต่สังคม เศรษฐกิจ การเมือง และวัฒนธรรม โดยเน้นที่การป้องกัน การสร้างจิตสำนึก และการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในสังคม 

กุญเเจสู่ความสำเร็จในการป้องกันการทุจริตจากบทเรียนของ 3 ประเทศ

จากกรณีศึกษาของฮ่องกง สิงคโปร์ และฟินแลนด์ เราจะเห็นว่าการสร้างวัฒนธรรมองค์การจากการอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม การมีกฎหมายที่เข้มงวดและการบังคับใช้อย่างจริงจัง สามารถนำไปสู่ความสำเร็จในการป้องกันการทุจริตได้ และบทเรียนจากทั้ง 3 ประเทศนี้สามารถนำมาปรับใช้ได้กับประเทศไทยได้หลายมิติ ไม่ว่าจะเป็น 

  1. ด้านการสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับปัญหาการทุจริตและผลกระทบต่อสังคมในวงกว้าง 
  2. การส่งเสริมให้ผู้นำในทุกระดับเป็นแบบอย่างที่ดีในการดำเนินชีวิตและการทำงานอย่างซื่อสัตย์สุจริต 
  3. การพัฒนาระบบการบริหารจัดการภายในองค์การให้มีประสิทธิภาพ โปร่งใส และตรวจสอบได้ 
  4. ส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการตรวจสอบและเฝ้าระวังการทุจริต นอกจากนี้การปฏิรูปการศึกษาเพื่อปลูกฝังค่านิยมสุจริตตั้งแต่เยาว์วัย และการสร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคมในการต่อต้านการทุจริตก็เป็นสิ่งสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม 

การสร้างวัฒนธรรมองค์การต้านโกง จึงเป็นหนทางสู่การพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน ถึงเวลาแล้วที่เราทุกคนจะร่วมมือกันสร้างสังคมที่โปร่งใสและเป็นธรรม เพื่ออนาคตที่ดีของประเทศไทย 

 

งานวิจัยเรื่อง “การสังเคราะห์รูปแบบ กลไกและแนวทางการปลูกฝัง เจตคติและวัฒนธรรมสุจริตเพื่อการป้องกันและปราบปรามการทุจริต” (2563) โดย ธิฏิรัตน์ พิมลศรและคณะ ยังมีการศึกษาเกี่ยวกับวัฒนธรรมองค์การเพื่อสร้างค่านิยมสุจริตอื่น ๆ เช่น แนวคิดการขององค์การในประเทศไทย รูปแบบกลไกของการสร้างค่านิยมสุจริต สามารถามารถอ่านสรุปประเด็นสำคัญของงานวิจัยเพิ่มเติมได้ที่ลิงก์ด้านล่าง 

คอลัมน์ “KRAC คัดสรร เล่างานวิจัยไทย” เป็นบทความเล่างานวิจัยไทยด้านการต่อต้านคอร์รัปชัน ที่หยิบยกหนึ่งในประเด็นของงานวิจัยในมุมมองของผู้ปฏิบัติการ เพื่อปูพื้นฐานความรู้และความเข้าใจเรื่องการคอร์รัปชัน และการต่อต้านคอร์รัปชันในมิติต่าง ๆ ภายใต้บริบทของประเทศไทย

ที่มา

ธิฏิรัตน์ พิมลศรีล, ศิรภัสสรศ์ วงศ์ทองดี, นิติพล ธาระรูป, ณัฐวดี ลิ้มเลิศเจริญวนิช และธนันต์ ไพรเกษตร. (2563). โครงการวิจัยการสังเคราะห์รูปแบบ กลไกและแนวทางการปลูกฝังเจตคติและวัฒนธรรมสุจริตเพื่อการป้องกันและปราบปรามการทุจริต. สำนักงานคณะกรรมการป้องกัน และปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ.

ปีที่แต่ง (พ.ศ.)
2568
ผู้แต่ง
  • ศูนย์ความรู้เพื่อความร่วมมือในการต่อต้านคอร์รัปชัน และส่งเสริมธรรมาภิบาลในระดับภูมิภาค
หน่วยงานสนับสนุน
05_โลโก้ KRAC
โลโก้คณะเศรษฐศาสตร์ (ภาษาไทย)

หัวข้อ
Related Content

KRAC คัดสรร เล่างานวิจัยไทย | ไขแนวคิด พิชิตความสำเร็จของหน่วยงานรัฐ ในการสร้างธรรมาภิบาล ตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี

สร้างความสำเร็จในหน่วยงานด้วย “หลักธรรมาภิบาล” ตามแผน ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี โดยมีตัวอย่าง 6 หน่วยงานรัฐไทยที่ไขแนวคิด พิชิตความสำเร็จในการสร้างธรรมาภิบาล…ปัจจัยความสำเร็จเหล่านี้เป็นอย่างไรบ้าง ? และผลลัพธ์ของการมีธรรมาภิบาลจะเป็นเช่นไร ? มาร่วมหาคำตอบไปพร้อมกัน

KRAC คัดสรร เล่างานวิจัยไทย | โควิด-19 ส่งผลอย่างไรต่อสถานการณ์คอร์รัปชันและธรรมาภิบาล ?

การแพร่ระบาดของโควิด-19 ไม่ได้ส่งผลกระทบแค่สุขภาพและเศรษฐกิจ แต่ยังทำให้การต่อต้านคอร์รัปชันและธรรมาภิบาลเผชิญความท้าทายใหม่ ๆ เช่น การใช้อำนาจพิเศษของรัฐ ความไม่เท่าเทียมที่เพิ่มขึ้น และการจัดซื้อจัดจ้างแบบฉุกเฉินที่เสี่ยงต่อการทุจริต แล้วเราจะฟื้นฟูผลกระทบเหล่านี้ได้อย่างไร ?

You might also like...

บทความวิจัย | ประเด็นด้านจริยธรรมจากเทคโนโลยีการเรียนรู้ออนไลน์

การเรียนรู้ผ่านเทคโนโลยีออนไลน์มีประโยชน์มากมาย แต่ในอีกด้านก็เกิดปัญหาเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะปัญหาด้านจริยธรรมที่เชื่อมโยงการทุจริตทางวิชาการ

บทความวิจัย | มูลเหตุที่ก่อให้เกิดการทุจริตคอร์รัปชันในองค์การบริหารส่วนตำบล: ความคิดเห็นของกำนันและผู้ใหญ่บ้านจังหวัดลำปาง

กรณีศึกษาในองค์การบริหารส่วนตำบลจังหวัดลำปาง พบว่ากลไกการตรวจสอบยังไม่สามารถยับยั้งการทุจริตคอร์รัปชันได้ ดังนั้น จึงควรปรับปรุงมาตรการในการตรวจสอบอย่างเข้มข้น เพราะการมีระบบการตรวจสอบที่เข้มแข็ง สามารถลดการกระทำทุจริตคอร์รัปชันได้อย่างเป็นรูปธรรม

บทความวิจัย: การขจัดปัญหาทุจริตคอร์รัปชันในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐในประเทศไทย

การจัดการปัญหาคอร์รัปชันในการจัดซื้อจัดจ้างด้วยการปลูกฝังจริยธรรมและคุณธรรมอาจไม่เห็นผลในทันที เนื่องจากกระบวนการนี้ต้องใช้เวลาหลายชั่วอายุคน เพื่อหาทางออกที่เห็นผลในระยะสั้นและเป็นรูปธรรม บทความนี้จึงนำเสนอแนวทางที่มีประสิทธิภาพและสามารถปรับใช้ได้อย่างรวดเร็ว