คอร์รัปชันกำลังขโมยอะไรไปจากระบบการศึกษา ?
“คอร์รัปชันในระบบการศึกษา” เป็นหนึ่งในความเลวร้ายที่เราเห็นได้บ่อยครั้งในสังคมไทย ทั้งที่ระบบการศึกษาควรเป็นกลไกที่สร้างบุคลากรที่มีคุณภาพ ส่งเสริมให้เยาวชนของชาติได้พัฒนาอย่างเต็มที่ แต่ในความเป็นจริงกลับมีสิ่งที่เรียกว่าคอร์รัปชันพยายามขโมยบางอย่าง และขัดขวางอนาคตของเยาวชนไทย
จึงอยากชวนดู 3 กรณีศึกษาที่ทำให้เห็นว่าคอร์รัปชันกำลังขโมยอะไรไปจากระบบการศึกษาไทยบ้าง และชวนหาคำตอบว่าแล้วเราจะมีส่วนร่วมป้องกันปัญหานี้ได้อย่างไร ผ่านงานวิจัย เรื่อง “ประชาสังคมกับการเสริมสร้างธรรมาภิบาลท้องถิ่น เพื่อพัฒนาระบบและกลไกในการป้องกันการทุจริตคอร์รัปชัน กรณีศึกษาจังหวัดนครราชสีมา” (2561) โดย ปรีชา อุยตระกูล และคณะ ที่ได้ศึกษาธรรมาภิบาลและการคอร์รัปชันในองค์กรปกครองท้องถิ่น หน่วยงานการศึกษาในจังหวัดนครราชสีมา
หนึ่ง คอร์รัปชันขโมยประกันสุขภาพของนักเรียน
กรณีศึกษานี้เกิดขึ้นในปี 2554 เมื่อผู้บริหารโรงเรียนมีพฤติกรรมไม่โปร่งใส ทำให้ถูกกล่าวหาว่าบริหารเงินและพัสดุ ไม่เป็นไปตามระเบียบของราชการ จึงนำไปสู่การตรวจสอบ ทำให้พบว่าผู้บริหารได้ทำการจัดซื้อจ้างโดยลงชื่อในเอกสารการจัดซื้อจ้างเองทั้งหมด หรือก็คือปลอมลายเซ็นและทำเอกสารปลอม ในการเบิกจ่ายการทำประกันหมู่ของนักเรียน แต่สุดท้ายก็ไม่ได้นำเงินไปจ่ายให้บริษัทประกันจริง ทำให้คดีนี้ผู้บริหารถูกพิจารณาว่ามีความผิดและถูกให้ปลดออกจากราชการครู แน่นอนว่าผลกระทบที่เกิดขึ้นคือความเสียหายของงบประมาณทางราชการ และ ความเชื่อมั่นต่อระบบการศึกษาของสังคมที่ลดลง และที่สำคัญคือ สิทธิ์ในการรักษาที่นักเรียนควรจะได้รับกลับต้องหายไปเพราะการคอร์รัปชัน
สอง คอร์รัปชันขโมยการพัฒนาทักษะด้านกีฬาของนักเรียน
กรณีศึกษานี้เกิดขึ้นในปี 2555 ที่สมาชิกผู้แทนฯ ฟากรัฐบาลได้มีการแปรญัตติงบประมาณเพื่อสร้างสนามฟุตซอลให้กับโรงเรียนในไทย แบ่งเป็นโรงเรียนขนาดเล็ก 2.5 ล้านบาท และโรงเรียนขนาดใหญ่ 5 ล้านบาท โดยในจังหวัดนครราชสีมามีทั้งหมด 56 โรงเรียน ซึ่งหลังจากสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาเห็นชอบแล้วโรงเรียนก็ได้จัดตั้งครูเป็นคณะกรรมการรับผิดชอบและดำเนินโครงการ แต่ไม่นานหลังสนามสร้างเสร็จได้แค่ปีเดียวก็พบว่ายางของสนามฟุตซอลเริ่มโก่งตัว นำไปสู่การสืบสวนจนพบว่า ยางที่นำมาปูสนามฟุตซอลไม่ตรงมาตรฐานกับที่ผู้รับเหมาเสนอไว้ และโครงการสร้างสนามฟุตซอลมีการทุจริตโดยมีผู้เกี่ยวข้องตั้งแต่ระดับครูไปจนถึง ส.ส. จำนวนมากกว่า 100 คน ทำให้สุดท้ายแล้วโครงการที่ดูเหมือนจะส่งเสริมให้เด็กเล่นกีฬา พัฒนาทักษะ กลับกลายเป็นสนามฟุตซอลที่ใช้งานไม่ได้จริง
สาม คอร์รัปชันขโมยงบประมาณที่ควรพัฒนาการศึกษา
เรื่องนี้เกิดขึ้นเมื่อสำนักงานตรวจสอบภาคพิเศษได้ลงพื้นที่ตรวจสอบ สำนักงานการศึกษานอกระบบและการศึกษา อำเภอเมืองจัดนครราชสีมา 8 แห่ง อำเภออื่น ๆ 37 แห่ง และที่อ่านบ้านหนังสืออัจฉริยะ 102 แห่ง นอกจากนี้ พบว่าหลายที่มีการบริหารจัดการอย่างไม่มีประสิทธิภาพ ใช้เงินไปอย่างเปล่าประโยชน์ รวมถึงการเบิกจ่ายอย่างไม่ถูกต้อง และเมื่อสืบค้นไปเรื่อย ๆ จนพบการทุจริต เช่น การใช้จ่ายผิดประเภทนำเงินไปใช้ตกแต่งอาคาร ผ้าม่าน ซื้อแอร์ มีการเบิกเงินเบี้ยเลี้ยงเท็จ จัดกลุ่มฝึกอาชีพเท็จ นักเรียนนักศึกษาที่ไม่มีตัวตน หักค่าหัวคิววิทยากร ฯลฯ ซึ่งผลที่ตามมาทำให้งบประมาณของรัฐสูญเสียไปโดยเปล่าประโยชน์ อุปกรณ์ไม่พร้อม นักเรียนนักศึกษาก็ไม่ได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพแบบที่ควรจะเป็น
จากผลการศึกษาชี้ให้เห็นว่า การคอร์รัปชัน การบริหารที่ไม่มีประสิทธิภาพ และความโลภที่อยากทุจริตของคน ส่งผลเสียมากมายต่อระบบการศึกษา และทำให้ผู้เรียนไม่ได้พัฒนาการเรียนรู้และทักษะอย่างเต็มที่ และทำให้ต้องเสียงบประมาณไปอย่างเปล่าประโยชน์ โดยในงานวิจัยได้มีข้อเสนอแนะในการพัฒนากลไกเพื่อการต่อต้านคอร์รัปชัน 6 ข้อ ดังนี้
- ให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับโครงการใด ๆ ก็ตามที่ได้จัดทำได้มีส่วนร่วมในการจัดการ
- โรงเรียนต้องเผยข้อมูล มีการประชาสัมพันธ์ และสร้างความรู้ความเข้าใจผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกคน
- การจัดซื้อจัดจ้างระดับโรงเรียนจะต้องมีการแต่งตั้งคณะทำงานที่ยึดตามหลักความโปร่งใส
- ต้องมีระบบร้องเรียน และร้องทุกข์ที่มีประสิทธิภาพ
- สร้างจิตสำนึก และค่านิยมเกี่ยวกับการต่อต้านคอร์รัปชัน
- มีการกำกับ ให้ความรู้ และประเมินผล จัดทำคู่มือเพื่อส่งเสริมเรื่องธรรมาภิบาล
จาก 3 กรณีศึกษาที่ยกตัวอย่างมา อาจเกิดขึ้นเพราะระบบการศึกษายังขาดแนวปฏิบัติที่ดีข้อใดข้อหนึ่งจากแนวทางทั้ง 6 ข้อนี้ ดังนั้นหากจะพัฒนาการศึกษาในอนาคตเพื่อไม่ให้ต้องสูญเสียอะไรบางอย่างไปกับการคอร์รัปชัน จึงต้องนำแนวทางดังกล่าวมาปรับปรุงเพื่อลดความเสียหายจากคอร์รัปชันในระบบการศึกษาได้ เพื่อที่อนาคตของชาติก็จะสามารถพัฒนาการเรียนรู้ได้อย่างเต็มที่ และสร้างสังคมไทยที่ไร้คอร์รัปชันได้จริง
การทุจริตในระบบการศึกษาดังกล่าว เป็นเพียงเนื้อหาส่วนหนึ่งจากงานวิจัยเท่านั้น ยังมีเนื้อหาส่วนอื่น เช่น การปกครองท้องถิ่นโดยภาพรวม และแนวทางการส่งเสริมธรรมาภิบาลขององค์กรปกครองท้องถิ่น โดยสามารถอ่านเพิ่มเติมได้ในงานวิจัย เรื่อง “ประชาสังคมกับการเสริมสร้างธรรมาภิบาลท้องถิ่น เพื่อพัฒนาระบบและกลไก ในการป้องกันการทุจริตคอร์รัปชัน กรณีศึกษาจังหวัดนครราชสีมา” (2561) โดย ปรีชา อุยตระกูล และคณะ
#การศึกษา #นครราชสีมา #ปกครองท้องถิ่น #ท้องถิ่น #ทุจริต #โกง #KRAC #KRACCorruption
——————
คอลัมน์ “KRAC คัดสรร เล่างานวิจัยไทย” เป็นบทความเล่างานวิจัยไทยด้านการต่อต้านคอร์รัปชัน ที่หยิบยกหนึ่งในประเด็นของงานวิจัยในมุมมองของผู้ปฏิบัติการ เพื่อปูพื้นฐานความรู้และความเข้าใจเรื่องการคอร์รัปชัน และการต่อต้านคอร์รัปชันในมิติต่าง ๆ ภายใต้บริบทของประเทศไทย
- ศูนย์ความรู้เพื่อความร่วมมือในการต่อต้านคอร์รัปชัน และส่งเสริมธรรมาภิบาลในระดับภูมิภาค
หัวข้อ
KRAC คัดสรร เล่างานวิจัยไทย | CPI ไม่ใช่ทุกคำตอบของปัญหาคอร์รัปชัน
หากเราต้องการเห็นภาพรวมการทุจริตในประเทศไทยจริง ๆ การพูดคุยหรือเก็บข้อมูลจากประชาชน อาจจะเป็นคำตอบที่ถูกต้องมากกว่า ซึ่งนี่ก็เป็นวิธีการที่งานวิจัย เรื่อง “คอร์รัปชันในระบบราชการไทย การสำรวจทัศนคติ ประสบการณ์ของหัวหน้าครัวเรือน” ใช้ในการเก็บข้อมูลเพื่อให้เห็นภาพการคอร์รัปชันในไทย มุมมองและประสบการณ์ของประชาชน
KRAC คัดสรร เล่างานวิจัยไทย | 3 เคสกลโกง เปิดโปงทุจริตการศึกษา
ทั้งที่ระบบการศึกษาควรเป็นกลไกที่สร้างบุคลากรที่มีคุณภาพ ส่งเสริมให้เยาวชนของชาติได้พัฒนาอย่างเต็มที่ แต่ในความเป็นจริงกลับมีสิ่งที่เรียกว่าคอร์รัปชันพยายามขโมยบางอย่าง และขัดขวางอนาคตของเยาวชนไทย