KRAC คัดสรร เล่างานวิจัยไทย | How to ส่งเสริมองค์กรภาคประชาชนให้ต่อต้านคอร์รัปชันได้อย่างเข้มแข็ง

รัฐจะช่วยองค์กรภาคประชาชนต้านโกงอย่างไรได้บ้าง ? 

 

“คอร์รัปชัน” ยังเป็นปัญหาที่รุนแรงในหลายประเทศทั่วโลก และแม้ว่าภาครัฐของแต่ละประเทศจะพยายามแก้ปัญหาให้ลดลงไปเท่าไร ก็ยังมีปัญหาใหม่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ  CSO หรือองค์กรภาคประชาชน (Civil Society Organization) จึงมีความสำคัญอย่างมาก เพราะหากประชาชนมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาคอร์รัปชันร่วมกับรัฐ ก็จะทำให้การต่อต้านคอร์รัปชันมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

อย่างไรก็ตาม CSO เองยังจำเป็นต้องมีหลายปัจจัยที่ในการส่งเสริมการต่อต้านคอร์รัปชัน ซึ่งงานวิจัย เรื่อง “การพัฒนาบทบาทภาคประชาสังคมเพื่อต่อต้านการทุจริตในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ” (2558) โดย ปัณณ์ อนันอภิบุตร และสุทธิ สุนทรานุรักษ์ ได้ทำการศึกษา CSO ใน 16 ประเทศ เพื่อค้นหาปัจจัยนั้น

KRAC Corruption จึงได้หยิบยกกรณีศึกษาการต่อต้านคอร์รัปชันของ 4 ประเทศในภูมิภาคเอเชียพร้อม “ปัจจัยด้านรูปแบบการรวมกลุ่ม” ที่ช่วยสนับสนุนการทำงานของ CSO มาเล่าให้ฟัง

4 ประเทศในภูมิภาคเอเชียที่งานวิจัยได้ศึกษาคือ อินเดีย ปากีสถาน อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ ที่อยู่ในสถานการณ์คอร์รัปชันที่ไม่ค่อยดีนัก และอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกัน ซึ่งเป็นผลมาจากเหตุการณ์คอร์รัปชันในประเทศที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้ เช่น ในอินเดียมีผลสำรวจจาก India Fraud Survey (2012) ที่พบว่าการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐมีความเสี่ยงในการคอร์รัปชันสูง โดยเฉพาะการจัดซื้อจัดจ้างในกองทัพ ในปากีสถานพบว่า แต่ละปีรัฐบาลจะสูญเสียเงินไป 4,000 ล้านดอลลาร์ไปกับการคอร์รัปชัน ในอินโดนีเซียมีการพบคดีคอร์รัปชันสนามกีฬาในเมือง Hambalang โดยอดีตรัฐมนตรี และในฟิลิปปินส์ ผลการสำรวจจากดัชนี Transformation Index พบว่ายังมีการคอร์รัปชันในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างอยู่มากที่รัฐยังไม่สามารถแก้ปัญหาได้ 

แม้ทั้ง 4 ประเทศจะมีสถานการณ์ที่ไม่ค่อยสู้ดี แต่ก็มีแนวโน้มความโปร่งใสมากขึ้นในช่วงปี 2010-2013 ซึ่งปัจจัยสำคัญมาจากการเคลื่อนไหวของประชาชน เช่น ในอินเดียมี CSO หลายองค์กรที่ขึ้นมามีบทบาทในการต่อต้านคอร์รัปชัน ตัวอย่างเช่น

อินเดีย

Transparency International India องค์กร CSO ที่รับแนวทางการต่อต้านคอร์รัปชันมาจาก Transparency International หรือองค์กร 5 th Pillar of India ที่ได้สร้างสัญลักษณ์ Zero Rupee เพื่อต่อต้านการจ่ายสินบน ในปากีสถาน มี TI Pakistan เป็นศูนย์กลางของ CSO ในปากีสถานในการต่อต้านคอร์รัปชัน ซึ่งช่วยขับเคลื่อนให้ปากีสถานโปร่งใสมากขึ้น

อินโดนีเซีย

หลังเกิดวิกฤตการณ์คอร์รัปชันได้มีการรวมตัวของภาคประชาชนเกิดเป็นองค์กร Indonesia Procurement Watch ที่มีบทบาทในการสร้างความรู้ด้านการต่อต้านคอร์รัปชันและความโปร่งใสให้กับสังคม รวมถึงร่วมติดตามโครงการต่าง ๆ ของภาครัฐ

ฟิลิปปินส์

ได้มีการก่อตั้งองค์กร Procurement Watch Inc. โดยภาคประชาชนที่เข้ามาส่วนร่วมในการตรวจสอบโครงการรัฐ หรือองค์กร PCIJ ที่มีส่วนในการสนับสนุนสื่อมวลชนในการรายงานข่าวการคอร์รัปชัน 

แม้จะอยู่ในสถานการณ์คอร์รัปชันที่รุนแรงแต่ทั้ง 4 ประเทศก็มีแนวโน้มที่กำลังดีขึ้นซึ่งปฏิเสธไม่ได้เลยว่า CSO เป็นหัวใจสำคัญที่ทำให้การต่อต้านคอร์รัปชันประสบความสำเร็จ งานวิจัยจึงได้วิเคราะห์ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ CSO ประสบความสำเร็จเอาไว้ทั้งหมด 3 ปัจจัย 

ปัจจัยที่ 1 การมีบทบัญญัติทางกฎหมายเพื่อรองรับการทำงานของ CSO :

โดยพบว่า ทั้ง 4 ประเทศมีบทบัญญัติตามรัฐธรรมนูญในการรวมตัวกันเป็นองค์กรโดยประชาชน เช่น ในอินเดียจะมีการบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญมาตรา 19 ในปากีสถานมีการบัญญัติไว้ในมาตรา 4 เช่นเดียวกับในอินโดนีเซียมีการบัญญัติเรื่องการจัดมูลนิธิเพื่อพัฒนาเป็น CSO เอาไว้อย่างชัดเจน รวมถึงฟิลิปปินส์ที่กฎหมายรองรับให้มีการจัดตั้ง CSO และมี Code of Conduct เพื่อป้องกันไม่ให้ CSO การเป็นเครื่องมือทางการเมือง 

ปัจจัยที่ 2 การที่รัฐเป็นผู้สนับสนุนและไม่เป็นอุปสรรคขัดขวางการทำงานของ CSO :

โดยหลักการทั่วไป เมื่อรัฐให้มีการรวมกลุ่ม CSO รัฐจะต้องสนับสนุนและไม่ขัดขวาง แต่ในอินเดียและปากีสถานพบว่ามีการขัดขวางจากรัฐเพราะมองว่า CSO ขัดขวางการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐ แต่ในอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์รัฐบาลของทั้งสองประเทศไม่ได้ขัดขวางทั้งทางตรงและทางอ้อม รวมทั้งได้มีการสนับสนุน เช่น รัฐบาลฟิลิปปินส์ที่เปิดโอกาสให้ CSO เข้ามามีส่วนร่วมในการปฏิรูปกฎหมายจัดซื้อจัดจ้าง และร่วมเป็นผู้สังเกตการณ์ ทำให้เห็นว่า CSO จะทำงานได้ราบรื่นหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับว่ารัฐจะขัดขวางหรือสนับสนุน 

ปัจจัยที่ 3 บทบาทการทำงานของ CSO ในเชิงรุก (Proactive Role) :

หนึ่งปัจจัยที่สร้างความสำเร็จคือการสร้างความเคลื่อนไหวที่ชัดเจน เช่น ในอินเดีย นายอันนา ฮาซาเร่ นักเคลื่อนเพื่อต่อต้านคอร์รัปชันได้เป็นผู้นำจุดกระแสการเดินขบวนประท้วงเพื่อผลักดันให้สภาออกกฎหมายการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร (Rights to Information Act 2005) ในปากีสถาน TI Pakistan ได้ทำงานร่วมกับภาครัฐในการติดตามตรวจโครงการจัดซื้อจัดจ้าง สนับสนุนให้มีการใช้ข้อตกลงคุณธรรม (Intergrity Pact) นอกจากนี้ยังมีองค์กร CRCP และ PILDAT ที่ช่วยผลักดันให้มีกฎหมายการเปิดข้อมูล ส่วนในฟิลิปปินส์ มีการเดินขบวนประท้วงนักการเมืองที่คอร์รัปชัน และมีสนับสนุนให้ CSO ท้องถิ่น เช่น กลุ่ม G-watch หรือ CCAGG ร่วมตรวจสอบติดตามงบประมาณโครงการรัฐ 

ปัจจุบัน ประเทศไทยเองก็มี CSO ที่ทำงานการต่อต้านคอร์รัปชัน เช่น องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย), HAND Social Enterrpise, KRAC Corruption และอีกมากมายรวมถึงประชาชนทั่วไปที่พร้อมร่วมมือในการต่อต้านคอร์รัปชัน ซึ่งการต่อต้านคอร์รัปชันจะสำเร็จหรือไม่นั้นอาจขึ้นอยู่กับทั้งสามปัจจัย รัฐเองต้องมีการสนับสนุนทั้งในด้านกฎหมายและเปิดโอกาสให้ภาคประชาชนได้มีส่วนร่วมในการเข้าถึงข้อมูล รวมถึงภาคประชาชนเองก็ต้องมีการเคลื่อนไหวเชิงรุกที่ชัดเจน ซึ่งถ้าหากสามารถทำได้ประเทศไทยก็มีโอกาสที่จะเพิ่มแนวโน้มความสำเร็จในการต่อต้านคอร์รัปชัน คล้ายกับกรณีศึกษาจากทั้ง 4 ประเทศ  

ข้อมูลนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งจากงานวิจัยเรื่องนี้ ซึ่งยังมีผลการศึกษาด้านการทำงานของ CSO จากอีก 12 ประเทศ เช่น อาร์เจนตินา ลัตเวีย แอฟริกา เป็นต้น โดยสามารถอ่านเพิ่มเติมได้จากงานวิจัยเรื่อง “การพัฒนาบทบาทภาคประชาสังคมเพื่อต่อต้านการทุจริตในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ” โดย ปัณณ์ อนันอภิบุตร และสุทธิ สุนทรานุรักษ์ (2558)

#CSO #องค์กรภาคประชาสังคม #ประชาสังคม #ประชาชน #องค์กรอิสระ #ทุจริต #โกง #KRAC #KRACCorruption

——————

คอลัมน์ “KRAC คัดสรร เล่างานวิจัยไทย” เป็นบทความเล่างานวิจัยไทยด้านการต่อต้านคอร์รัปชัน ที่หยิบยกหนึ่งในประเด็นของงานวิจัยในมุมมองของผู้ปฏิบัติการ เพื่อปูพื้นฐานความรู้และความเข้าใจเรื่องการคอร์รัปชัน และการต่อต้านคอร์รัปชันในมิติต่าง ๆ ภายใต้บริบทของประเทศไทย

ปีที่แต่ง (พ.ศ.)
2567
ผู้แต่ง
  • ศูนย์ความรู้เพื่อความร่วมมือในการต่อต้านคอร์รัปชัน และส่งเสริมธรรมาภิบาลในระดับภูมิภาค
หน่วยงานสนับสนุน
05_โลโก้ KRAC
โลโก้คณะเศรษฐศาสตร์ (ภาษาไทย)

หัวข้อ
Related Content

เปลี่ยน Trainees เป็น Rookies ตัวท็อปของวงการ : ชวนอ่าน Anti-Corruption 101 เพื่อปูพื้นฐานการต่อต้านคอร์รัปชัน

ชวนอ่าน Anti-Corruption 101 ที่จะช่วยปูพื้นฐานความรู้ในเรื่องการคอร์รัปชัน ผ่านแนวคิดทางวิชาการ และเรียนรู้แนวทางการต่อต้านคอร์รัปชันที่มีเนื้อหาเข้าใจง่ายสำหรับทุกคน

คัดสรรงานวิจัยไทยต่อต้านคอร์รัปชัน ที่คุณอาจไม่รู้ (จัก) มาก่อน : ชวนอ่านสรุปงานวิจัยไทย 24 ชิ้น เพื่อทำความเข้าใจการต่อต้านคอร์รัปชัน

ชวนอ่านสรุปงานวิจัยไทยที่ KRAC คัดสรรมาให้คุณ เพื่อจะทำให้คุณเข้าใจปัญหา และวิธีการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันภายใต้บริบทของประเทศไทย

You might also like...

บทความวิจัย : การเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากสัญญาประกันภัยโดยทุจริต

การรวบรวมกรณีศึกษาเกี่ยวกับคดีการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากสัญญาประกันภัยโดยทุจริตทั้งในและต่างประเทศ เพื่อศึกษาแนวทางการตัดสินคดี

บทความวิจัย : การประยุกต์ใช้เทคนิคการตอบสนองเชิงสุ่ม สําหรับศึกษาพฤติกรรมเชิงปกปิดของนักศึกษาสาขาสถิติประยุกต์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี

นำเสนอเทคนิคการตอบสนองเชิงสุ่มของกรีนเบิร์ก เพื่อศึกษาพฤติกรรมเชิงปกปิดอันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงเรื่องระบบความคิด ค่านิยม และพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมของวัยรุ่น ซึ่งหมายรวมถึงพฤติกรรมที่เกี่ยวข้องกับการทุจริต

บทความวิจัย : คอร์รัปชันกับขนาดที่เหมาะสมที่สุดของรัฐบาล

แนวคิด “ขนาดที่เหมาะสมที่สุดของรัฐบาล” โดย Barro ละเลยปัจจัยเรื่องการคอร์รัปชันในหน่วยงานรัฐ จนนำไปสู่การตั้งคำถามและการศึกษา ซึ่งพบว่า การคอร์รัปชันส่งผลกระทบเชิงลบต่ออัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจสูงสุด