KRAC Hot News I ปลดล็อกรังนกจากถ้ำสู่บ้านอย่างไร ให้โปร่งใสไร้ทุจริต

ปลดล็อกรังนกจากถ้ำสู่บ้านอย่างไร ให้โปร่งใสไร้ทุจริต

 

กระเช้ารังนกผูกโบว์สีแดง เป็นของขวัญยอดนิยมในช่วงเทศกาลต่าง ๆ ส่งผลให้รังนกมีราคาสูงขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องจากความต้องการบริโภครังนกทั้งในประเทศไทยและในตลาดจีนเพิ่มสูงขึ้น ธุรกิจรังนกจึงสร้างรายได้มหาศาลให้กับเศรษฐกิจไทยในปัจจุบัน โดยปัจจุบันมีมูลค่าตลาดส่งออกอยู่ที่อันดับ 3 ของโลก

จากมูลค่าการส่งออกที่เกิดขึ้น ส่งผลให้ในช่วงเดือนตุลาคม 2567 พรรคเพื่อไทยจึงได้เดินหน้าผลักดันเรื่องรังนกถ้ำสู่รังนกบ้าน ตามประกาศที่แถลงในนามพรรคเพื่อไทยว่า “ปลดล็อก #รังนก จากถ้ำสู่บ้าน เปลี่ยนธุรกิจ “สีเทา” สู่ “สีทอง” ช่วงชิงโอกาสในตลาดพรีเมียม” เพื่อผลักดันให้ธุรกิจรังนกบ้านเป็นความหวังในการพัฒนาเศรษฐกิจของไทย และสร้างรายได้ให้กับผู้ประกอบการรายย่อยเพิ่มมากขึ้น โดยมุ่งผลักดันธุรกิจรังนกในกลุ่ม “รังนกบ้าน” เพื่อให้ผู้ประกอบการรายย่อยได้ดำเนินธุรกิจอย่างถูกต้องตามกฎหมาย เหมือนกับกลุ่ม “รังนกถ้ำ” ซึ่งมีกฎหมายรองรับ 

อย่างไรก็ดี การดำเนินการตาม พ.ร.บ. อากรรังนกอีแอ่น พ.ศ. 2540 จำเป็นต้องได้รับการอนุญาตจากรัฐ ผ่านการประมูลสัมปทานเกาะในราคาที่สูง จึงทำให้ที่ผ่านมาเกิดการผูกขาดและเก็บผลประโยชน์ไว้โดยนายทุนกลุ่มใหญ่เพียงไม่กี่รายที่เป็นผู้ได้รับผลประโยชน์จากการเป็นเจ้าของสัมปทานรังนก โดยเป็นที่รู้กันทั่วไปว่าการแบ่งปันผลประโยชน์ในธุรกิจรังนกถ้ำของไทย มีการใช้กลวิธีต่าง ๆ ทั้งถูกกฎหมายและผิดกฎหมาย และมีความเกี่ยวพันกับธุรกิจผิดกฎหมายอื่น ๆ อีกหลายประเภท ซึ่งมีงานวิจัยที่ทำการศึกษากระบวนการสัมปทานรังนกของไทยไว้หลายเรื่อง

ยกตัวอย่าง งานของ เกษม จันทร์ดำ (2550) เรื่อง “รังนกแอ่น: อำนาจ ความขัดแย้ง และความมั่งคั่ง” ได้ระบุถึงวิธีการแสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบระหว่างแรงงานเก็บรังนก เจ้าของสัมปทาน ข้าราชการ นักการเมือง และนายทุนท้องถิ่นเพื่อให้ได้มาซึ่งผลตอบแทนส่วนเกิน เช่น การให้สินบนเจ้าหน้าที่รัฐ แก้ไขสัญญาเพื่อเอื้อประโยชน์แก่ตนเอง และจ่ายสินบนให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องต่าง ๆ ตลอดกระบวนการให้สัมปทาน

นอกจากนี้ ยังมีงานวิจัยที่ศึกษากระบวนการสัมปทานรังนกและการประเมินความสุ่มเสี่ยงต่อการเกิดการทุจริตโดยเฉพาะ ได้แก่ งานของ ต่อภัสสร์ ยมนาค และวัชรพงศ์ รติสุขพิมล (2562) เรื่อง “กระบวนการและการตรวจสอบการให้สัมปทานรังนกในภาคใต้ของประเทศไทย” ที่ชี้ให้เห็นว่า หากขาดการตรวจสอบกระบวนการสัมปทานตามกฎหมายและการป้องกันที่ดี จะเปิดโอกาสให้มีการแสวงหาค่าเช่าทางเศรษฐกิจที่เอื้อให้เกิดการทุจริตได้

โดยสามารถนำข้อเสนอแนะจากงานวิจัยดังกล่าวไปประยุกต์ใช้ได้ ดังนี้

  1. หนึ่ง การประเมิน 3 จุดเสี่ยงในกระบวนการที่อาจะนำไปสู่การแสวงหาค่าเช่าทางเศรษฐกิจที่อาจเกี่ยวข้องกับการทุจริตในธุรกิจรังนก ได้แก่ (1) บทบาทของคณะกรรมการที่มีอำนาจครอบคลุมสัมปทานตั้งแต่ต้นจนจบ (2) ระบบตรวจสอบที่ขาดความเหมาะสมกับโครงสร้างและสภาวการณ์ของอุตสาหกรรมรังนกถ้ำ ทำให้ข้อมูลไม่โปร่งใส (3) ผู้ดำเนินงานตามระเบียบที่มีหน้าที่ตรวจสอบเป็นบุคคลภายในคณะกรรมการเอง และไม่มีการตรวจสอบจากบุคคลภายนอก
  2. การปรับโครงสร้างคณะกรรมการจัดเก็บอากรรังนกเพื่อกระจายอำนาจในการตรวจสอบถ่วงดุล โดยการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบเพิ่มเติม ประกอบด้วย ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และกรรมการอิสระที่มีความเชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ ปักษีวิทยา นิเวศวิทยา และการจัดการข้อมูล
  3. การส่งเสริมให้เกิดการจัดเก็บและบริหารจัดการข้อมูลอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อเป็นพื้นฐานในการออกแบบปรับปรุงกระบวนการต่าง ๆ ตามข้อเสนอแนะ โดยมีหน่วยงานทำหน้าที่จัดเก็บข้อมูลให้เป็นไปตามมาตรฐาน มีความต่อเนื่อง และไม่ถูกบิดเบือนจากการขาดการตรวจสอบ

ซึ่งประเด็นข้อเสนอเรื่องการจัดเก็บและบริหารจัดการข้อมูลการดำเนินธุรกิจรังนก สอดคล้องกับข้อเสนอแนะจากงานวิจัยของ อนันต์ อภิชัยนันท์ (2563) เรื่อง “ปัญหาและแนวทางการควบคุมเหตุรำคาญที่เกิดจากการประกอบกิจการรังนกบ้าน ศึกษากรณีการร้องเรียนต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน” พบปัญหาการตรวจสอบข้อร้องเรียนจากประชาชน เพราะขาดข้อมูลการขึ้นทะเบียนประกอบกิจการรังนกบ้าน จึงเสนอให้หน่วยงานของรัฐหรือส่วนท้องถิ่น จัดทำฐานข้อมูลการประกอบกิจการรังนกบ้านในทุกพื้นที่ เพื่อประโยชน์ในเรื่องการพิจารณาอนุญาต ประกอบกิจการ การขึ้นทะเบียนสถานประกอบกิจการ และการควบคุมตรวจสอบเพื่อไม่ให้มีการฝ่าฝืนกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไป

ดังนั้น การแก้ไขกฎหมาย กฎระเบียบ และหลักเกณฑ์เพื่อรองรับการดำเนินกิจการรังนกแอ่น ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาโดยคณะกรรมาธิการวิสามัญ จึงควรคำนึงถึงประเด็นเรื่องความโปร่งใสในกระบวนการขอใบอนุญาต การตรวจสอบ และการบริหารจัดการข้อมูลร่วมด้วย เพื่อให้การปลดล็อกรังนกจากถ้ำสู่บ้าน มีความโปร่งใสไร้ทุจริต ซึ่งจะเป็นจุดเริ่มต้นในการวางแนวทางกำกับดูแลกระบวนการประกอบธุรกิจบ้านนกแอ่นกินรังของประเทศไทยต่อไป

สำหรับท่านใดที่สนใจ สามารถอ่านข้อมูลงานวิจัยแบบละเอียดเพิ่มเติม ได้ที่ลิงก์ที่มาด้านล่าง

 
เรื่อง: สุภัจจา อังค์สุวรรณ
ภาพประกอบ: ธนากาญจน์ กันทอง
ปีที่แต่ง (พ.ศ.)
2567
ผู้แต่ง

สุภัจจา อังค์สุวรรณ

นักวิจัยอาวุโส ศูนย์ KRAC

หน่วยงานสนับสนุน
05_โลโก้ KRAC
โลโก้คณะเศรษฐศาสตร์ (ภาษาไทย)

หัวข้อ
Related Content

KRAC คัดสรร เล่างานวิจัยไทย | ส่งเสริมธรรมาภิบาลให้กว้างไกลด้วยการสร้างรางวัลให้องค์กร

พาทุกคนมาศึกษาจุดเริ่มต้นของธรรมาภิบาลในประเทศไทยช่วงหลังวิกฤติเศรษฐกิจไทย 2540 ที่นำมาสู่การมอบรางวัลเพื่อส่งเสริมธรรมาภิบาลไทย ซึ่งจะทำให้เห็นถึงพัฒนาการและภาพรวมของธรรมาภิบาลในประเทศไทยมากขึ้น และการมีธรรมาภิบาลจะช่วยลดคอร์รัปชันได้อย่างไร ?

KRAC คัดสรร เล่างานวิจัยไทย | “ธรรมาภิบาล” หลักการที่ยืดหยุ่น พร้อมสร้างประสิทธิภาพ

เคยสงสัยไหมว่าทำไมหลักธรรมาภิบาลของแต่ละองค์กรถึงดูไม่เหมือนกัน บางองค์กรมี 6 หลัก บางองค์กรมี 8 หลัก ความจริงแล้วหลากหลายองค์กรทั่วโลกล้วนมีการวางแนวคิดเกี่ยวกับธรรมาภิบาลที่ต่างกัน โดยงานวิจัยเรื่อง “โครงการวิจัยพัฒนาฐานข้อมูล องค์ความรู้ด้านธรรมาภิบาล (ระยะที่ 2)” (2563) ได้ศึกษาเรื่องนี้เอาไว้

You might also like...

บทความวิจัย : การพัฒนารูปแบบป้องกันการทุจริตเพื่อสร้างอนาคตร่วมกันของประชาชน ในอำเภอเมือง จังหวัดเลย

การพัฒนารูปแบบการป้องกันการทุจริตอย่างยั่งยืน ควรการสร้างค่านิยมด้านจริยธรรมวิชาชีพร่วมกันของพนักงาน โดยการจัดสวัสดิการอย่างเท่าเทียม และยึดหลักความโปร่งใสและความสามารถของพนักงาน เพื่อให้ภาครัฐและประชาชนสามารถตรวจสอบได้ รวมถึงมีกระบวนการที่ให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการตัดสินใจตามหลักธรรมาภิบาล

บทความวิจัย : กลไกป้องปรามการทุจริตของภาคประชาชนผ่านการสอดส่องและเสนอแนะ

การดำเนินกลไกป้องปรามการทุจริตผ่านคณะกรรมการธรรมาภิบาลจังหวัดที่เน้นการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน ภาคธุรกิจเอกชน และสมาชิกสภาท้องถิ่นที่ไม่ใช่ผู้บริหารในการตรวจสอบและติดตามการดำเนินโครงการจะทำให้เกิดความโปร่งใสและความคุ้มค่าของการดำเนินโครงการ

บทความวิจัย : การเสริมสร้างเครือข่ายการต่อต้านการทุจริตขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในจังหวัดกาญจนบุรี

แนวทางการพัฒนาเครือข่ายการต่อต้านทุจริตขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น คือ การส่งเสริมการมีส่วนร่วมและการสื่อสารระหว่างกันของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย การสร้างความเข้าใจให้แก่ประชาชน การสร้างตัวอย่างที่ดี การสร้างสังคมหิริโอตัปปะ และการสนับสนุนระบบการร้องเรียน ความโปร่งใส การป้องกันการทุจริต รวมถึงการมีหลักเกณฑ์ในการคัดเลือกผู้บริหาร