ไฟฟ้าไทยแพง เพราะภาคพลังงานยังโปร่งใสไม่พอ
เมื่อก่อนเราอาจกล่าวได้ว่ามีเพียงแค่ “ปัจจัย 4” อาหาร ยา เครื่องนุ่งห่ม และที่อยู่อาศัย ก็เพียงพอต่อการดำรงชีวิตแล้ว แต่ความคิดที่ว่านั้น อาจดูล้าสมัยไป เพราะไฟฟ้าได้กลายเป็นปัจจัยที่ 5 ในชีวิตของหลาย ๆ คนไปแล้วเรียบร้อย
ลองนึกภาพวันที่ไฟฟ้าดับ หรือแบตโทรศัพท์หมดแล้วหาที่ชาร์จไม่ได้ ใครหลายคนคงรู้สึกกระวนกระวายใจ หรือถึงขั้นหงุดหงิด เพราะไม่ได้หยิบจับมือถือขึ้นมาเล่น ที่อาจจะแย่กว่านั้นคือลองคิดภาพวันที่อากาศร้อนระอุ แต่เราไม่สามารถใช้พัดลมหรือแอร์ได้ ความฉุนเฉียวคงเพิ่มเป็นอีกเท่าทวีคูณ
แต่ที่น่าสนใจก็คือ แม้ว่าไฟฟ้าจะกลายเป็นปัจจัยที่ 5 ในชีวิตประจำวันของใครหลายคน แต่เป็นที่น่ากังวลกว่าปัจจัยอื่น ๆ เพราะไฟฟ้าเป็นเพียงปัจจัยเดียวที่ราคาไม่ได้ขึ้นลงตามกลไกตลาด แต่ขึ้นลงตามการกำหนดราคาของภาครัฐ ซึ่งเราในฐานะประชาชนคนหนึ่งมีหน้าที่เพียงจ่ายเงินเท่านั้น และแทบไม่มีส่วนต่อกลไกราคาเหล่านี้เลย
เหตุผลที่เป็นเช่นนั้น เพราะโครงสร้างระบบไฟฟ้าของประเทศไทยมีความเสรีน้อย หรืออาจจะเรียกได้ว่า ระบบโครงสร้างพลังงานไฟฟ้าของไทยอยู่ในรูปแบบการผูกขาดก็คงไม่ผิดนัก เป็นกล่องดำที่คนในเท่านั้นที่รู้ ทั้งที่ใช้ทรัพยากรจากประชาชนทั้งประเทศ ฉะนั้นนอกจากเราไม่มีทางเลือกแล้ว เรายังเลือกไม่ได้อีกด้วย
ด้วยโครงสร้างที่ผูกขาดเช่นนี้ สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาคือกลไกราคาไฟฟ้าที่พวกเราใช้กันในชีวิตประจำวันจึงอยู่ในมือของคนไม่กี่คนที่วางแผนการใช้พลังงานในภาพรวมของประเทศ ถ้าวางแผนดีและถูกต้อง พลังงานที่มีก็จะถูกใช้อย่างเกิดประสิทธิภาพ
แต่สมมติเกิดสถานการณ์ที่ตรงกันข้ามล่ะ เช่น เกิดการพยากรณ์การใช้พลังงานไฟฟ้าที่เกินจริง ระบบเศรษฐกิจคาดการณ์ว่าจะเติบโตมากแต่กลับชะลอตัว การคำนวณต้นทุนพลังงานที่อิงฐานข้อมูลเก่า หรือการเลือกใช้ทรัพยากรที่ใช้ผลิตไฟฟ้าที่ไม่มีส่วนผสมผสานที่ดี
ข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้นนี้จะกลายสภาพมาเป็นต้นทุนราคาไฟฟ้าของเราทุกคนในทันที ในวันที่ต้นทุนทางพลังงานมีความผันผวนเนื่องจากโรงไฟฟ้าจำนวนมากของไทยใช้ทรัพยากรที่เกิดจากการนำเข้าจากต่างประเทศ
แล้วเราทำอะไรได้บ้างกับเรื่องเหล่านี้ คำตอบก็คือ “เราแทบจะทำอะไรไม่ได้เลย” นอกจากออกมากล่าวโทษรัฐบาลกับผู้ออกแบบแผนพลังงานไฟฟ้า เพราะว่าประเทศไทยไม่มีความเสรีของตลาดพลังงาน ผู้รับซื้อและผู้กระจายไฟฟ้าอยู่ในมือของรัฐเพียงฝ่ายเดียว
แน่นอนว่าในภาควิชาการมีการเสนอกันมาอย่างยาวนานถึงการเปิดเสรีในระบบไฟฟ้า ซึ่งมีงานวิจัยหลากหลายชิ้นรองรับถึงผลลัพธ์เชิงบวกจากการปฏิรูปโครงสร้างไฟฟ้าในภาพรวม โดยเฉพาะความสามารถในการเลือกใช้แหล่งที่มาของการผลิตไฟฟ้า การแข่งขันกันทางราคาของภาคเอกชน และที่สำคัญคือลดปัญหาความผิดพลาดในภาพรวมของการออกแบบนโยบาย
งานวิจัยจำนวนมากเกี่ยวกับการเปิดตลาดเสรีไฟฟ้าของยุโรป (Bello et al., 2016; da Silva & Cerqueira, 2017; Knittel & Roberts, 2005) สะท้อนตรงกันว่า ตลาดเสรีไฟฟ้ามีผลอย่างมากต่อการปรับตัวลงของราคาไฟฟ้าในระยะยาว แม้ว่าในช่วงเริ่มต้นของการปฏิรูปอาจเผชิญกับความผันผวนของราคาไฟฟ้าก็ตาม
ยิ่งไปกว่านั้นงานวิจัยของ Pablo Ponce และคณะ (Ponce et al., 2020) ยังชี้ให้เห็นถึงผลประโยชน์เพิ่มเติมของการเปิดเสรีไฟฟ้าภายในประเทศว่าถือเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญต่อการลดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของพลังงานหมุนเวียนหลังเปิดเสรีไฟฟ้า
เมื่อทบทวนบทเรียนจากต่างประเทศที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว ข้อเสนอเชิงนโยบายสำคัญต่อการปฏิรูปภาคไฟฟ้าของไทยที่ดีที่สุดคงหนีไม่พ้นการเปิดตลาดเสรีไฟฟ้า ให้ประชาชนมีสิทธิเลือกมากยิ่งขึ้น นี่ถือเป็นก้าวที่สำคัญที่สุดของการเสริมสร้างระบบธรรมาภิบาลในภาคพลังงาน
เพราะเมื่อเรามีทางเลือกมากขึ้น มีการแข่งขันมากยิ่งขึ้น ความโปร่งใส และประสิทธิภาพจะติดตามมา ที่สำคัญ ยังมีส่วนต่อการลดปัญหาการคอร์รัปชันเชิงนโยบาย หรือการออกแบบแนวทางการประมูลที่เอื้อต่อกลุ่มทุนบางกลุ่มอีกด้วย
ทั้งนี้ อาจไม่จำเป็นต้องเปิดเสรีไฟฟ้าทั้งประเทศ แต่ในระยะแรกอาจใช้รูปแบบนำร่องในบางพื้นที่ หรือกลุ่มอุตสาหกรรม เพื่อให้เกิดการซื้อขายไฟฟ้าทางตรงระหว่างภาคเอกชนได้ ซึ่งนี่ถือเป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาลอีกด้วย
คงถึงเวลาแล้ว ที่ประเทศไทยต้องปฏิรูปโครงสร้างระบบไฟฟ้าครั้งใหญ่ ให้มีการแข่งขันที่เพิ่มขึ้น มีความโปร่งใส ตรวจสอบได้ และสร้างผลประโยชน์สูงสุดให้กับประชาชน
เรื่อง : ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก
ภาพประกอบ: ธนากาญจน์ กันทอง
ที่มา
- Bello, A., Reneses, J., & Muñoz, A. (2016). Medium-Term Probabilistic Forecasting of Extremely Low Prices in Electricity Markets: Application to the Spanish Case. Energies, 9(3), 193. https://doi.org/10.3390/en9030193
- da Silva, P. P., & Cerqueira, P. A. (2017). Assessing the determinants of household electricity prices in the EU: a system-GMM panel data approach. Renewable and Sustainable Energy Reviews, 73, 1131–1137. https://doi.org/10.1016/j.rser.2017.02.016
- Knittel, C. R., & Roberts, M. R. (2005). An empirical examination of restructured electricity prices. Energy Economics, 27(5), 791–817. https://doi.org/10.1016/j.eneco.2004.11.005
- Ponce, P., Oliveira, C., Álvarez, V., & del Río-Rama, M. de la C. (2020). The Liberalization of the Internal Energy Market in the European Union: Evidence of Its Influence on Reducing Environmental Pollution. Energies, 13(22), 6116. https://doi.org/10.3390/en13226116
ปีที่แต่ง (พ.ศ.)
2567
ผู้แต่ง
ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก
ผู้จัดการศูนย์ KRAC
หน่วยงานสนับสนุน
หัวข้อ
Related Content
มาแล้ว !! โอกาสพัฒนาความรู้สู่การต่อต้านคอร์รัปชันอย่างมีประสิทธิภาพ
ชวนเรียนหลักสูตรต่อต้านคอร์รัปชัน และการส่งเสริมธรรมาภิบาลร่วมสมัยกับ 6 ผู้เชี่ยวชาญตัวจริง
KRAC คัดสรร เล่างานวิจัยไทย | ส่งเสริมธรรมาภิบาลให้กว้างไกลด้วยการสร้างรางวัลให้องค์กร
พาทุกคนมาศึกษาจุดเริ่มต้นของธรรมาภิบาลในประเทศไทยช่วงหลังวิกฤติเศรษฐกิจไทย 2540 ที่นำมาสู่การมอบรางวัลเพื่อส่งเสริมธรรมาภิบาลไทย ซึ่งจะทำให้เห็นถึงพัฒนาการและภาพรวมของธรรมาภิบาลในประเทศไทยมากขึ้น และการมีธรรมาภิบาลจะช่วยลดคอร์รัปชันได้อย่างไร ?
KRAC คัดสรร เล่างานวิจัยไทย | “ธรรมาภิบาล” หลักการที่ยืดหยุ่น พร้อมสร้างประสิทธิภาพ
เคยสงสัยไหมว่าทำไมหลักธรรมาภิบาลของแต่ละองค์กรถึงดูไม่เหมือนกัน บางองค์กรมี 6 หลัก บางองค์กรมี 8 หลัก ความจริงแล้วหลากหลายองค์กรทั่วโลกล้วนมีการวางแนวคิดเกี่ยวกับธรรมาภิบาลที่ต่างกัน โดยงานวิจัยเรื่อง “โครงการวิจัยพัฒนาฐานข้อมูล องค์ความรู้ด้านธรรมาภิบาล (ระยะที่ 2)” (2563) ได้ศึกษาเรื่องนี้เอาไว้