เมื่อการต่อต้านคอร์รัปชันสามารถทำไปพร้อมกับการพัฒนาการศึกษาได้ “ด้วยการเปิดเผยข้อมูล” และ “การสอนเด็กและเยาวชน” แล้วทำอย่างไร ? วันนี้เรามีเรื่องน่าสนใจเกี่ยวกับการเปิดเผยข้อมูลมาเล่าให้คุณฟังกับ KRAC The Experience ตอน “Fertilizer to Plant Leaders in A New Force of Anti-Corruption”
ความเดิมตอนที่แล้วของ “KRAC The Experience” เราได้พาทุกท่านไปสำรวจเมืองและประเทศต่าง ๆ ที่มีการใช้ข้อมูลเปิด (Open Data) เพื่อการพัฒนาสังคมที่มีทั้งความแตกต่างและความเหมือนกับประเทศไทย จากการเดินทางของ ผศ. ดร.ต่อภัสสร์ ยมนาค ผู้อำนวยการศูนย์ความรู้เพื่อความร่วมมือในการต่อต้านคอร์รัปชัน และส่งเสริมธรรมาภิบาลในระดับภูมิภาค (KRAC) ที่ได้รับทุน Eisenhower Fellowships 2024 ในครั้งนี้เราจะพาทุกท่านมารู้จักกับองค์การที่ทำให้เห็นว่า “เพราะเด็กคืออนาคตของชาติ” และผู้ใหญ่สามารถใช้ข้อมูลเปิดเพื่อพัฒนาสังคมที่ดีให้แก่เด็กได้
“OPEN NOLA (Orleans Public Education Network – New Orleans, Louisiana)” เป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร (Non-Profit Organization: NGO) ในนิวออลีนส์ (New Orleans) ที่ขับเคลื่อนเรื่องการให้ความรู้ สร้างแรงบันดาลใจ และเตรียมความพร้อมทางการศึกษาให้กับเด็กและเยาวชนที่เป็นกลุ่มคนที่มีรายได้น้อย โดยเฉพาะกลุ่มเด็กและเยาวชนตั้งแต่ระดับอนุบาลจนถึงระดับมัธยมศึกษา (K–12: from kindergarten to 12th grade) ไปจนถึงกลุ่มผู้ปกครองในโรงเรียนรัฐบาล ผ่านการสนับสนุนเชิงนโยบายและโครงการฝึกอบรม
เนื่องด้วย OPEN NOLA มีความต้องการให้ชุมชนได้รับข้อมูลภาครัฐอย่างโปร่งใส และสร้างการมีส่วนร่วมของคนในชุมชน เพื่อเพิ่มบทบาทและอิทธิพลของชุมชนในการต่อรองเรื่องการออกแบบนโยบายสาธารณะ ซึ่งจะเป็นการสร้างโอกาสและยกระดับให้นิวออร์ลีนส์เป็นเมืองที่ผู้คนมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมผ่านการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันอย่างลึกซึ้ง ไม่ว่าจะมีพื้นหลังทางด้านเชื้อชาติ หรือสถานะทางเศรษฐกิจแบบใด อันจะมีส่วนสำคัญต่อการสร้างความโปร่งใสในการตัดสินใจนโยบายสาธารณะด้านต่าง ๆ โดยอาศัย “ข้อมูลเปิด” ที่ทุกคนในชุมชนมีร่วมกัน
โดยแนวทางดังกล่าวเริ่มต้นจากการให้ความสำคัญกับ “เด็กและเยาวชน” ที่ต้องการให้พวกเขาได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพจึงมีการใช้ข้อมูลเปิดในการพัฒนานโยบายการศึกษาที่นำไปสู่การกระจายผลต่อชุมชนผ่านการสร้างความสามารถให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลภาครัฐได้ ทำให้เกิดการพัฒนาเชิงนโยบาย เช่น นโยบายเศรษฐกิจ นโยบายแรงงาน นโยบายความปลอดภัยสาธารณะ เป็นต้น นอกจากนี้การให้ความรู้ทางการศึกษาและโครงการฝึกอบรมจะมุ่งเน้นให้เกิดพฤติกรรมและวัฒนธรรมที่เด็กและเยาวชนในสังคมไม่ทนต่อการทุจริต
ทั้งหมดที่กล่าวมาข้างต้นจะเกิดขึ้นไม่ได้หากไม่ได้รับการสนับสนุนและความร่วมมือจากภาครัฐ เนื่องจากทางรัฐบาลของเมืองมีความพยายามในการสร้างความโปร่งใสผ่านการสร้างฐานข้อมูลเปิดเพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงได้ผ่านโครงการ “NOLA Open Data” ซึ่งเป็นโครงการที่ต้องการให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลได้ง่าย โดยสามารถโทรถามข้อมูลได้ที่ศูนย์บริการโทรศัพท์ 3-1-1 ของเขตการสื่อสารนิวออร์ลีนส์ (the Orleans Parish Communication District 3-1-1 Call Center)
นอกจากนี้ยังมีการให้บริการข้อมูลเปิดผ่านเว็บไซต์ที่ชื่อว่า “NOLA GOV” (https://nola.gov) ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มออนไลน์ที่ให้ทุกคนสามารถเข้าถึงข้อมูลต่าง ๆ ของเมืองนิวออร์ลีนส์ได้ เช่น บันทึกสาธารณะ ความปลอดภัยสาธารณะ ภาษี การลงคะแนนเสียง และการแจ้งปัญหาหรือคำขอเพื่อแก้ปัญหาต่าง ๆ ไปจนถึง ที่จอดรถ และการค้นหางานหรือฝึกอบรม เป็นต้น โดยประชาชนสามารถตรวจสอบข้อมูลย้อนหลังได้ถึงปี 2021 หรือให้หน่วยงานอย่าง OPEN NOLA ที่ใช้เป็นแนวทางในการพัฒนานโยบายได้
ทั้งหมดนี้จะเห็นได้ว่า “นิวออร์ลีนส์” เป็นอีกเมืองหนึ่งเมืองที่ใช้ “ข้อมูลเปิดในการพัฒนาเมือง” ซึ่งนอกจากจะเป็นการพัฒนาเชิงโครงสร้างและการพัฒนาเชิงนโยบายแล้วยังเป็นการส่งเสริมให้เด็กและเยาวชน ตลอดจนผู้ปกครองสามารถเข้าถึงข้อมูลได้ง่ายและมีวัฒนธรรมที่ไม่ทนต่อการทุจริตจากการรับรู้ข้อมูลเปิดที่อิสระและมีมาตรฐานสู่การนำมาใช้จริง เช่น การเปิดเผยข้อมูลแผนที่และที่ดิน ที่นอกจากประชาชนจะสามารถใช้ในการเดินทางได้แล้วยังสามารถเห็นถึงข้อมูลภาษีโรงเรือนและที่ดิน (Building and Land Tax) ทั้งหมดของเมือง ซึ่งการเปิดเผยข้อมูลในลักษณะนี้ก็จะทำให้ภาคเอกชนและภาคประชาชนไม่ทนหากเห็นว่าพื้นที่ที่มีลักษณะเดียวกับตนมีการจ่ายภาษีที่น้อยกว่า
ในขณะเดียวกันหน่วยงานรัฐของไทยก็มีความพยายามในการสร้างความสามารถในการเข้าถึงข้อมูลเปิด ผ่านเว็บไซต์ “ข้อมูลเปิดกรุงเทพมหานคร” (https://data.bangkok.go.th/) โดย กทม. มีนโยบายการเปิดเผยข้อมูลของกรุงเทพมหานครที่เป็นการเปิดพื้นที่และเปิดโอกาสให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการติดตามและพัฒนานโยบาย ซึ่งถือเป็นการสร้างการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนที่เป็นรูปธรรมจากการเปิดพื้นที่และเปิดโอกาสให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการติดตามและพัฒนานโยบายที่ทำให้กรุงเทพมหานคร เป็นมหานครที่โปร่งใส เจ้าหน้าที่ทำงานอย่างสุจริต และให้ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงข้อมูลได้อย่างเสรี
ในด้านการพัฒนาการศึกษาและการสนับสนุนให้เกิดการลงมือทำในภาคการศึกษา หรือ “กลุ่มเด็กและเยาวชน” ในไทยเองก็มีความพยายามดำเนินการโดยสามารถเห็นได้จากโครงการ “โรงเรียนโปร่งใส” (https://schoolgov.actai.co) โครงการที่จัดทำขึ้นโดยบริษัท แฮนด์ วิสาหกิจเพื่อสังคม จํากัด หรือ @HANDSE ที่สนับสนุนให้นักเรียนได้มีส่วนร่วมสร้างเสริมธรรมาภิบาลในโรงเรียน พร้อมทั้งปลูกฝังความตระหนักรู้ต่อการป้องกันปัญหาคอร์รัปชัน และการเป็นพลเมืองในสังคมประชาธิปไตย ผ่านกิจกรรมสำรวจปัญหาใกล้ตัวภายในโรงเรียน และเปิดพื้นที่ให้คนทุกกลุ่มในโรงเรียนมีการแก้ปัญหาร่วมกัน รวมถึงกระตุ้นให้โรงเรียนจัดทำข้อมูลเปิดโรงเรียน (Open School Data) ที่เป็นมาตรฐานที่นักเรียน ผู้ปกครองหรือประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้ง่าย
อย่างไรก็ตามทั้ง 2 โครงการนี้ยังคงมีเรื่องที่ต้องพัฒนาต่อเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพที่มากขึ้น และหนึ่งในนั้นคือการสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนที่อาจเริ่มต้นจากการปลูกฝังตั้งแต่เด็ก เพื่อให้เด็กและเยาวชนเติบโตขึ้นมาเป็นบุคลากรที่ี่มีคุณภาพ จากการที่เราเริ่มลงมือและส่งต่อวัฒนธรรมการไม่ทนต่อการคอร์รัปชัน เพื่อให้พวกเขามาเป็นคนพัฒนาสังคมหรือประเทศชาติของเราผ่านเครื่องมือและการลงมือทำจากการได้รับการปลูกฝังที่ดี เพราะ “เด็กคืออนาคตของชาติ” และเราก็เป็นส่วนหนึ่งในการสอนและสร้างสังคมที่ดีให้แก่พวกเขา
ในครั้งนี้เราจะเห็นว่า “ข้อมูลเปิด (Open Data)” เป็นสิ่งที่สามารถใช้ในการต่อต้านคอร์รัปชันและการพัฒนา ที่แม้แต่ “ภาคการศึกษา” ก็สามารถใช้และเป็นส่วนหนึ่งในการใช้งานได้ แล้วในตอนถัดไปจะเป็นเรื่องอะไร ? ติดตามตอนต่อไปได้ใน “KRAC The Experience” ที่ KRAC Corruption เพื่อร่วมเรียนรู้การนำข้อมูลเปิดมาใช้ในการต่อต้านคอร์รัปชันไปด้วยกัน
ศูนย์ความรู้เพื่อความร่วมมือในการต่อต้านคอร์รัปชัน และส่งเสริมธรรมาภิบาลในระดับภูมิภาค
หัวข้อ
เปลี่ยน Trainees เป็น Rookies ตัวท็อปของวงการ : ชวนอ่าน Anti-Corruption 101 เพื่อปูพื้นฐานการต่อต้านคอร์รัปชัน
ชวนอ่าน Anti-Corruption 101 ที่จะช่วยปูพื้นฐานความรู้ในเรื่องการคอร์รัปชัน ผ่านแนวคิดทางวิชาการ และเรียนรู้แนวทางการต่อต้านคอร์รัปชันที่มีเนื้อหาเข้าใจง่ายสำหรับทุกคน
มาแล้ว !! โอกาสพัฒนาความรู้สู่การต่อต้านคอร์รัปชันอย่างมีประสิทธิภาพ
ชวนเรียนหลักสูตรต่อต้านคอร์รัปชัน และการส่งเสริมธรรมาภิบาลร่วมสมัยกับ 6 ผู้เชี่ยวชาญตัวจริง
คัดสรรงานวิจัยไทยต่อต้านคอร์รัปชัน ที่คุณอาจไม่รู้ (จัก) มาก่อน : ชวนอ่านสรุปงานวิจัยไทย 24 ชิ้น เพื่อทำความเข้าใจการต่อต้านคอร์รัปชัน
ชวนอ่านสรุปงานวิจัยไทยที่ KRAC คัดสรรมาให้คุณ เพื่อจะทำให้คุณเข้าใจปัญหา และวิธีการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันภายใต้บริบทของประเทศไทย