ชวนศึกษารูปแบบองค์กรปกครองท้องถิ่นสหรัฐฯ
สหรัฐอเมริกา หนึ่งในประเทศมหาอำนาจของโลกที่มีทั้งการเมืองที่มั่นคง เศรษฐกิจที่เข้มแข็ง รวมทั้งมีอิทธิพลต่อโลกในหลายด้าน เช่น วัฒนธรรม วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี นอกจากนี้ประเทศสหรัฐอเมริกายังสามารถจัดการคอร์รัปชันได้ดีเป็นอันดับที่ 24 ของโลกจากการจัดอันดับดัชนีการรับรู้การทุจริต (Corruption Perception Idex) ขององค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International)
KRAC จึงอยากชวนมาศึกษาว่าประเทศสหรัฐอเมริกามีแนวทางแก้ปัญหาคอร์รัปชันอย่างไร โดยเน้นไปที่ “องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น” เพราะเป็นภาคส่วนที่มีความใกล้ชิดกับประชาชนและเป็นภาคส่วนสำคัญที่จะช่วยเสริมโครงสร้างการต่อต้านคอร์รัปชันที่เข้มแข็งระดับชาติได้ โดยเนื้อหาข้อมูล มาจาก งานวิจัยเรื่อง “การป้องกันและปราบปรามการทุจริตในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น” โดย ศาสตราจารย์ ดร.สมคิด เลิศไพฑูรย์ และคณะ (2555)
ก่อนอื่นต้องอธิบายคร่าว ๆ เกี่ยวกับโครงการบริหารขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นประเทศสหรัฐอเมริกา โดยเริ่มจากรูปแบบการปกครองของประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งเราเรียกกันว่าเป็นรูปแบบสหพันธรัฐ ประกอบไปด้วย 50 มลรัฐ หากเปรียบกับไทยก็คล้ายกับจังหวัด เช่น นิวยอร์ก เท็กซัส ฟลอลิด้า ที่เราเคยได้ยิน เพียงแต่มลรัฐในประเทศสหรัฐอเมริกานั้นมีความเป็นอิสระในการบริหารสูงมาก ตัวอย่างที่ชัดเจนคือทุกรัฐจะมีรัฐธรรมนูญเป็นของตัวเอง และกำหนดรูปแบบการปกครองเองได้
ในแต่ละมลรัฐจะมีรัฐบาลกลาง ภายใต้รัฐบาลกลางจะมีการแบ่งพื้นที่ดูแลที่เรียกว่าเคาท์ตี้ (County) ซึ่งในหนึ่งมลรัฐจะมีหลายเคาท์ตี้เปรียบเหมือนเขตในประเทศไทย และภายในพื้นที่ของเคาท์ตี้ จะมี 2 หน่วยงาน 1. คือเทศบาล (Municipal) หรือจะเรียกว่าซิตี้ก็ได้ เป็นหน่วยงานที่ดูแลพื้นที่รองจากเคาท์ตี้แต่ไม่ได้ขึ้นตรงต่อเคาท์ตี้ มีรูปการจัดเก็บภาษีของตัวเอง 2. คือทาวน์และทาวน์ชิพ (Town and Township) เป็นหน่วยงานดูแลพื้นที่รองลงมาจากเคาท์ตี้เช่นกัน แต่ขึ้นตรงและได้รับการสนับสนุนจากเคาท์ตี้ แต่จะมีขอบเขตที่เล็กกว่าเทศบาล ซึ่งทั้งสามหน่วยงานที่ว่ามาคือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีหน้าที่ในการดูแลประชาชนในพื้นที่ของตัวเอง เช่น การดูแลงานด้านตุลาการ การรักษาความปลอดภัย การจัดการเลือกตั้งการ จัดการสาธารณสุข การจัดวิทยาลัยเทคนิคและวิทยาลัยชุมชน เป็นต้น
แม้ดูเหมือนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นค่อนข้างจะมีอิสระในการบริหารแต่ไม่ว่าจะเคาท์ตี้ เทศบาล หรือทาวน์และทาวน์ชิพก็ต้องปฏิบัติตามอำนาจของมลรัฐ มลรัฐสามารถใช้อำนาจเด็ดขาดในการบังคับให้ท้องถิ่นปฏิบัติตามนโยบายที่ต้องการ หรือจะยุติโครงการหรือกิจกรรมบางอย่างก็ได้ นอกจากนี้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นยังมีอำนาจในการควบคุม และการตรวจสอบเผื่อป้องกันการคอร์รัปชัน ตัวอย่างเช่น ฝ่ายตุลาการของมลรัฐจะตรวจสอบการใช้อำนาจหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอยู่เสมอเพื่อไม่ให้มีการใช้อำนาจหน้าที่เกินขอบเขต นอกจากนี้สภานิติบัญญัติของมลรัฐจะมีส่วนเข้ามาควบคุมเกี่ยวกับการกําหนดอัตราภาษี การออกกฎหมาย และมีการตรวจสอบบัญชีขององค์ปกครองท้องถิ่นอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม แม้จะมีมาตรการควบคุม ก็ไม่ได้แปลว่าจะป้องกันไม่ให้เกิดคอร์รัปชันได้ จากการศึกษายังพบว่าองค์ปกครองส่วนท้องถิ่นสหรัฐยังมีการคอร์รัปชันหลายรูปแบบเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการจ่ายสินบนหรือก็คือ การให้ข้อเสนอบางอย่างเพื่อแลกเปลี่ยนกับผลประโยชน์บางอย่างซึ่งทำให้รัฐเสียผลประโยชน์ การกรรโชกหรือข่มขู่เพื่อรีดไถเงิน การยักยอกคือการยึดหรือเอาไปอย่างผิดกฎหมาย ซึ่งในภาษาการเมืองเรียกว่า graft หรือกรณีที่เกิดขึ้นจริงเช่น คดี “Black Horse Cavalry” ที่สมาชิกสภานิติบัญญัติของรัฐนิวยอร์กรีดทรัพย์จากบริษัทเอกชนหลายบริษัท
จากการคอร์รัปชันที่ยังเกิดขึ้น องค์ปกครองส่วนท้องถิ่นสหรัฐอเมริกาจึงได้มีแนวทางแก้ปัญหาดังกล่าวดังนี้
- ควรมีการนำประมวลจริยธรรมมาใช้ในการควบคุมพฤติกรรมของเจ้าหน้าที่ เพราะประมวลจริยธรรมจะเป็นสิ่งที่บอกเจ้าหน้าที่ว่าสิ่งใดสามารถทำได้และสิ่งใดทำไม่ได้ หรือกล่าวได้ว่าจะเป็นเครื่องมือในการบอกแนวทางของพฤติกรรมที่ห้ามกระทำและควรให้กระทำให้มีความชัดเจน
- ควรจัดให้มีกฎหมายที่กำหนดถึงความมีผลประโยชน์ขัดกันของผู้ดำรงตำแหน่งต่างๆ
- ควรมีการเปิดเผยกระบวนการจัดทำนโยบายแก่สาธารณชน
- ควรมีการประกาศถึงผลประโยชน์และความเกี่ยวข้องทางนโยบายต่างๆ ของบุคคลที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการดำเนินการในเรื่องนั้นๆ
- ควรมีการเปิดเผยข้อมูลการประชุมของฝ่ายบริหาร สภา หรือคณะกรรมการต่างๆ ของท้องถิ่น เพื่อให้ทราบถึงสาเหตุในการตัดสินใจหรือการออกนโยบายต่างๆ รวมถึงให้มีการจดบันทึกข้อมูลที่ได้จากการประชุมไว้ด้วย
- ควรมีการกำหนดและบังคับใช้มาตรการจำกัดการใช้จ่ายเงินในการเลือกตั้ง โดยให้การเปิดเผยเงินที่มีการบริจาคให้แก่พรรคการเมือง นักการเมืองในระดับท้องถิ่น รวมถึงเจ้าหน้าที่ของรัฐ และห้ามคู่สัญญาขององค์กร สหภาพแรงงาน กลุ่มทางการค้าหรือบริษัทเป็นผู้บริจาคเงินให้แก่พรรคการเมือง นักการเมืองในระดับท้องถิ่น รวมถึงเจ้าหน้าที่ของรัฐ
- การบังคับใช้กฎหมาย ตัวกฎหมาย และนโยบายที่นำไปใช้ควรมีการปรับให้เข้ากับสภาพหรือเงื่อนไขของแต่ละท้องถิ่น และควรให้เจ้าหน้าที่ท้องถิ่น หรือลูกจ้างของท้องถิ่นได้มีส่วนร่วมในการกำหนดกฎหมายด้วย นอกจากนี้ควรให้เผยแพร่มาตรการในการควบคุมหรือต่อต้านการคอร์รัปชันไว้ในเอกสารเดียวกัน และมีการกำหนดบทลงโทษไว้ชัดเจน พร้อมทั้งอบรมให้เจ้าหน้าที่ได้ทราบถึงมาตรการเหล่านั้น เพื่อให้พนักงานได้แสดงถึงความเข้าใจในความรับผิดชอบของตน และพนักงานเหล่านั้นจะต้องทำการลงนามอย่างชัดแจ้งว่าตนได้รับทราบและเข้าใจถึงธรรมชาติและวัตถุประสงค์ของการต่อต้านการคอร์รัปชันด้วย
แม้ประเทศไทยและสหรัฐอเมริกาจะมีรูปแบบการบริหารจัดการขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและปัจจัยหลาย ๆ ด้านที่ต่างกัน แต่จากแนวทางดังกล่าวในหลายข้อสามารถนำมาปรับใช้กับการแก้ปัญหาคอร์รัปชันในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นประเทศไทยได้ อาทิ เรื่องการเปิดข้อมูลขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้เป็นสาธารณะที่แม้ปัจจุบันจะมีการเปิดอยู่บ้างแต่ก็ไม่ได้เปิดทั้งหมด เรื่องการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับนโยบายท้องถิ่น เทียบกับข่าวในประเทศไทยที่เรามักจะเห็นชาวบ้านออกมาประท้วงโครงการต่าง ๆ ในท้องถิ่นเพราะชาวบ้านไม่มีส่วนร่วมมาตั้งแต่ต้นจึงเกิดปัญหาในภายหลัง หรือเรื่องการเสริมความรู้ความเข้าใจเรื่องของการต่อต้านคอร์รัปชันให้กับเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งจะทำให้เจ้าหน้าที่มีความรับผิดชอบ และเข้าใจวัตถุประสงค์การต่อต้านคอร์รัปชันเพื่อจะได้ไม่กระทำความผิด
นอกจากการศึกษาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในประเทศสหรัฐอเมริกา ยังได้ศึกษาแนวทางการป้องกันคอร์รัปชันของประเทศอื่น ๆ เช่น ญี่ปุ่น ฝรั่งเศส ออสเตรเลีย ซึ่งสามารถอ่านเพิ่มเติมได้ในงานวิจัยเรื่อง “การป้องกันและปราบปรามการทุจริตในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น” โดย ศาสตราจารย์ ดร.สมคิด เลิศไพฑูรย์ และคณะ (2555)
#คอร์รัปชัน #ทุจริต #ท้องถิ่น #องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น #รัฐบาล #อบต #อบจ #Corruption #KRAC
——————
คอลัมน์ “KRAC คัดสรร เล่างานวิจัยไทย” เป็นบทความเล่างานวิจัยไทยด้านการต่อต้านคอร์รัปชัน ที่หยิบยกหนึ่งในประเด็นของงานวิจัยในมุมมองของผู้ปฏิบัติการ เพื่อปูพื้นฐานความรู้และความเข้าใจเรื่องการคอร์รัปชัน และการต่อต้านคอร์รัปชันในมิติต่าง ๆ ภายใต้บริบทของประเทศไทย
สมคิด เลิศไพฑูรย์, ศิรินทร์รัตน์ กาญจนกุญชร, วิไลลักษณ์ อยู่สำราญ, นิรมัย พิศแข และอัจจิมา ฉัตรแก้ว. (2555). การป้องกันและปราบปรามการทุจริตในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น. สถาบันวิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
- ศูนย์ความรู้เพื่อความร่วมมือในการต่อต้านคอร์รัปชัน และส่งเสริมธรรมาภิบาลในระดับภูมิภาค
หัวข้อ
KRAC คัดสรร เล่างานวิจัยไทย I ในสังคมที่มีความร่วมมือหรือความไว้เนื้อเชื่อใจกันสูง รัฐจะสร้างประโยชน์จากข้อค้นพบนี้อย่างไร ?
มุมมองของประชาชนต่อหน่วยงานรัฐ หนึ่งกลุ่มจ่ายภาษี อีกกลุ่มเข้ามาทำหน้าที่พัฒนาบริการสาธารณะให้เกิดประโยชน์ แต่มีหลายครั้งที่โครงการไม่ตอบสนองความต้องการของประชาชน เช่น ศาลาสร้างทิ้งไว้ไม่มีคนใช้ จนบางครั้งประชาชนต้องลงแรงทำกันเอง
KRAC คัดสรร เล่างานวิจัยไทย | หลังฉากความสำเร็จการพัฒนาโครงการ งบประมาณถึงมือชาวบ้านหรือมือใคร ?
ทราบหรือไม่ว่ายังมีอีกหลายโครงการที่ใช้งบประมาณจำนวนมหาศาลในการพัฒนาชุมชน แต่กลับสูญเปล่า หรือไม่คุ้มค่ากับที่ตั้งใจไว้ ทำให้ชาวบ้านที่ฝันไกลว่าอยากให้ชุมชนพัฒนาแค่ไหน แต่งบประมาณกลับไปไม่ถึง
KRAC คัดสรร เล่างานวิจัยไทย | ลดการโกง ผ่านการสร้างวัฒนธรรมชุมชนที่ดี
หากกล่าวถึง “สาเหตุของคอร์รัปชัน” สิ่งแรก ๆ ที่หลายคนนึกถึงอาจเป็น นักการเมืองที่จ้องจะโกงหรือตัวกฎหมายที่มีช่องว่างให้คนโกง แต่จริง ๆ แล้วเรื่องใกล้ตัวอย่าง “วัฒนธรรมชุมชน” ก็เป็นหนึ่งในกลไกที่เอื้อให้เกิดการคอร์รัปชันได้เช่นกัน